ที่มา มติชน
(ที่มา หน้า 3 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2554)
1 ใครสั่งฆ่าประชาชน
1 ดีแต่พูด ทำไม่เป็น
1 ปัญหาข้าวยากหมากแพง แม้กระทั่งไข่ แม้กระทั่งน้ำมันปาล์ม อันเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งมาจากภาคใต้แท้ๆ ก็มีปัญหา
ใครเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องอึดอัด
เพราะพื้นที่กรุงเทพมหานครถือได้ว่าเป็นพื้นที่ในลักษณะฐานที่มั่นมาอย่างยาวนานของพรรคประชาธิปัตย์
ยาวนานตั้งแต่แรกก่อตั้งพรรคเมื่อเดือนเมษายน 2489
ยาวนานตั้งแต่ยุค นายควง อภัยวงศ์ ยาวนานตั้งแต่ยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตกทอดมาถึงยุค นายชวน หลีกภัย ยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
คล้าย กับคำถามที่เสนอมาจากประชาชนมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. อันสามารถโยงไปยังความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์
แต่อย่าลืม 91 ศพ อย่าลืมคนบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน และอย่าลืมที่ถูกจับกุมร่วม 300 คน
เป็นไปไม่ได้หรอกที่เมื่อมีคนตาย 91 ศพ มีคนบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน มีคนถูกจับกุมในขอบเขตทั่วประเทศร่วม 300 คน
ทุกอย่างจะเงียบหายไปราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น
แม้มหากวีบางท่าน นักสิทธิมนุษยชนบางท่าน นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมบางท่าน จะโหยหาอาลัยต่อตึกรามที่ถูกวางเพลิง
แต่ญาติผู้เสียชีวิตย่อมต้องอาลัยหาต่อคนในครอบครัวของเขา
แต่ญาติผู้ได้รับบาดเจ็บ ต้องนอนแบ็บอยู่โรงพยาบาล ขาดการดูแลอย่างอบอุ่น ย่อมได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน
ยิ่งญาติของผู้ที่ถูกจับกุมคุมขัง ยิ่งมากด้วยความรู้สึก
คน เหล่านี้ก็อยู่ในสภาพแทบไม่แตกต่างไปจากคนที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ นองเลือดเมื่อเดือนตุลาคม 2516 เหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2519 เหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
น่าเศร้าที่เวลาผ่านมา 1 ปี นอกจากยังมิได้มีการนำคดีขึ้นฟ้องร้องในศาลสถิตยุติธรรม ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า ใครสั่งฆ่าประชาชน
กระสุนที่สังหารมาจากคำสั่งและการตัดสินใจของผู้ใด
น่าเศร้าที่เมื่อเผชิญกับคำถามจากผู้ได้รับผลกระทบ แรงสะเทือนจากสถาน การณ์เมื่อเดือนเมษายน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
แม้กระทั่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด
ทั้งๆ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่อาสาตนเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกคำรบหนึ่ง
ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ โยนความผิดให้กับ "ชายชุดดำ"
โดยที่เวลาผ่านมา 1 ปี ไม่ว่าดีเอสไอ ไม่ว่าตำรวจ ไม่ว่าทหารที่ถือปืนเข้าไปไล่ยิงประชาชน ก็ไม่มีคำตอบว่าชายชุดดำเป็นใคร
คำถามจึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เป็นคำถามไปยัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นคำถามไปยัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทเป็นอย่างสูง
ไม่ว่า 2 คนนี้จะยังอยู่ในตำแหน่งนี้หรือไม่ คำถามก็ยังดังกึกก้องอยู่
เป็น คำถามที่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีก่อการร้ายก็พร้อมอย่างเต็มที่ที่จะสู้คดี เป็นคำถามที่รัฐบาลซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการออกคำสั่งอันนำไปสู่การสลายการ ชุมนุม ก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะนำคดีไปสู่การพิจารณาในศาลสถิตยุติธรรม
ทั้งๆ ที่เวลาของเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 1 ปีเศษ
จึงช่วยไม่ได้ที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นคำตอบสำหรับคำถามว่า ใครสั่งฆ่าประชาชน
เพราะว่ากรณีเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมหาศาล ล้มตายจำนวนมาก บาดเจ็บจำนวนมาก ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก
คำตอบจากการเลือกตั้งเป็นเพียงคำตอบ 1 ก่อนนำไปสู่อีกหลายคำตอบที่จะตามมา