ที่มา มติชน
อดีต คณบดีนิเทศฯ ระบุ "ตุลาการ" ฟ้องสื่อ "ปรากฏการณ์ใหม่" น่าสนใจ ศาลถูกตรวจสอบมากขึ้น ระบอบ ประชาธิปไตยทุกองค์กรย่อมถูกตรวจสอบได้ ย้อนถามไทยเสรีจริงหรือไม่ จี้สอบเนื้อหาคลิปด้วย
นาง สุกัญญา สุดบรรทัด ส.ว.สรรหา อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ถึงกรณีตุลาการรัฐธรรมนูญฟ้อง “มติชน” ข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทและทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากกรณีเผยแพร่คลิปลับ ว่า เรื่องนี้ละเอียดอ่อน และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนที่ศาลจะฟ้องสื่อ ซึ่งศาลอาจมีความรู้สึกว่าตกเป็นเป้าและได้รับผลกระทบโดยตรงจากกรณีคลิปลับ ทั้งนี้ แต่การที่สังคมอาจจะไม่แตะศาล แต่วันนี้มีความน่าสนใจว่า ทำไมช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ศาลถูกตรวจสอบมากขึ้น
"ในระบอบประชาธิปไตย ทุกองค์กรย่อมต้องถูกตรวจสอบได้ แต่ปัญหาคือ ตอนนี้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นบางส่วน แต่ส่วนที่ไม่เป็นนี้แหละ อาจเกิดปัญหา โดยบางองค์กรเราไม่สามารถตรวจสอบได้ และเขาก็หาเหตุผลมารองรับว่า ทำไมถึงตรวจสอบไม่ได้ แน่นอนว่า บางโอกาสเราเคารพตรงนั้น แต่อย่างนักการเมือง ถ้ามีคลิปสื่อก็ตรวจสอบ แต่คนบางกลุ่มเราไม่สามารถไปกระทำเช่นนั้นได้ ผลคือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตรงนี้มันจึงชี้ว่า ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตามหลักการ ทั้งนี้ ในอดีตคนค่อนข้างเชื่อความยุติธรรมของศาล แต่ทำไมวันนี้ศาลถูกกระทบกระทั่ง จึงเป็นประเด็นที่น่าคิดด้วย" นางสุกัญญา กล่าว
เมื่อถามว่า ตุลาการเลือกที่จะฟ้องคนเผยแพร่คลิปรวมไปถึงสื่อแทนที่จะก้าวออกมาพร้อมรับ การถูกตรวจสอบในเนื้อหาที่ปรากฏ นางสุกัญญา กล่าวว่า เนื้อหาในคลิปต้องถูกตรวจสอบด้วยว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่ใช่ถูกละเลยไป ตอนนี้ความจริงครึ่งหนึ่งถูกนำไปขยายผล ซึ่งก็คือการฟ้องคนที่เผยแพร่ แต่ความจริงอีกครึ่งหนึ่งที่เป็นเนื้อหาในคลิป วันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่าเป็นอย่างไรแน่ ซึ่งหากมีการหาความจริงเพียงครึ่งเดียวแบบนี้ ไม่เป็นผลดีต่อตัวองค์กรนั้นๆ เอง
เมื่อถามว่า เส้นแบ่งเรื่องการตรวจสอบศาลอยู่ตรงไหนหากเทียบกับกรณีในต่างประเทศเพราะศาล ควรจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน นางสุกัญญา กล่าวว่า ขึ้นกับประเทศนั้นๆ ให้ความสนใจกับสิทธิเสรีภาพของสื่อแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าความจริงนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งปัญหาของสื่อไทยในช่วงนี้คือการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ซึ่งองค์กรนานาชาติก็ลดเกรดความมีสิทธิเสรีภาพของสื่อไทยมาก อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งที่มาคู่กันด้วยคือ สื่อต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาสื่อก็ถูกวิจารณ์เหมือนกันในเรื่องนี้ ซึ่งทำให้โดนหาเหตุในการฟ้องร้อง แต่ช่วงที่ผ่านมา องค์กรสื่อก็ได้หารือเรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณของสื่ออยู่ตลอด ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ดีในการป้องกันการถูกหาเหตุให้ฟ้องร้อง