ที่มา ประชาไท
เส้นทางที่ ‘เสียงข้างน้อย’ ใช้ตรวจสอบยับยั้งการปกครองโดย
‘เสียงข้างมาก’ ได้นั้น คือ ซอยแคบๆ ที่แยก ‘ประชาธิปไตย’ ออกจากถนนสู่
‘เผด็จการ’
แต่เพื่อไม่ให้ ‘เสียงข้างน้อย’ กลายเป็น ‘เผด็จการ’ เสียเอง
(ดังที่เคยบานปลายไปสู่เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ หรือ ‘14 ตุลา’)
การตรวจสอบยับยั้งที่ว่าจึงทำได้ก็แต่โดย ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’
‘ความยินยอม’ นี้ไม่อาจเป็นเพียง ‘ความสำนึกตรึกคิด’
และไม่ว่าจะตรึกคิดไปพร้อมกับเสียงเพลงแห่งศีลธรรมอันสูงส่งเพียงใด
แต่การตรึกคิดที่ว่า ต้องถูกตราขึ้นในรูปแบบของ ‘กฎหมาย’
ซึ่งประกันสิทธิต่างๆ ให้แก่ ‘เสียงข้างน้อย’
ซึ่งสิทธิที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ก็คือ ‘สิทธิในการฟ้องคดี’ นั่นเอง
‘ตุลาการ’ จึงถูกสร้างมาเพื่อประกันสิทธิของ ‘เสียงข้างน้อย’
ให้สามารถยื่นกระดาษบางๆ เพียงไม่กี่แผ่น
แต่ทำให้ความประสงค์อันหนักแน่นของ ‘เสียงข้างมาก’ ชะงักงันได้
โดยไม่ต้องใช้รถถังหรือกระสุนปืน
ดังนั้น แม้ ‘รัฐสภา’ จะตรากฎหมายให้อำนาจ ‘วุฒิสภา’ ใช้
‘เสียงข้างมาก’ คัดเลือก กสทช. 11 คน มาเป็นผู้จัดการประมูล 3จี
แต่การใช้อำนาจของ กสทช. ก็ย่อมถูก ‘เสียงข้างน้อย’ เช่น นักวิชาการอิสระ
หรือ ผู้บริโภค เพียงคนเดียว หรือสมาคมมูลนิธิเพียงไม่กี่แห่ง ใช้ช่องทาง
‘ศาล’ เพื่อตรวจสอบยับยั้งการประมูลได้เช่นกัน
ผู้ที่ศรัทธาในประชาธิปไตย จึงไม่ควรมีปัญหากับ ‘ผู้ที่ไปฟ้องคดี’
แต่หากจะมี ก็อาจต้องมีในกรณีที่ ‘ศาล’ ปล่อยให้ ‘เสียงข้างน้อย’
เข้าไปบีบคั้นจนทำลาย ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’ ในที่สุด
การฟ้องคดี 3จี นั้น ‘เสียงข้างมาก’ ยินยอมให้ ‘เสียงข้างน้อย’ ฟ้อง
‘ศาลปกครอง’ ได้ เฉพาะกรณีที่ ‘เสียงข้างน้อย’ นั้น “เดือดร้อนหรือเสียหาย
หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้”
หากศาลเห็นว่า ‘เสียงข้างน้อย’
เป็นผู้ที่ห่วงใยและหวังดีโดยคาดเดาถึงอนาคต
แต่ไม่มีหลักฐานที่ทำให้เห็นความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
‘เสียงข้างน้อย’ เหล่านั้น ก็ย่อมมาศาลโดยปราศจาก ‘ความยินยอม’ ของ
‘เสียงข้างมาก’
ส่วนเรื่องที่ ราคาตั้งต้นการประมูลนั้นต่ำไป หรือ
การจัดแบ่งชุดคลื่นทำให้เกิดการ ‘ฮั้ว’ กันนั้น ในท้ายที่สุด
‘เสียงข้างน้อย’ ก็ยังต้องอาศัย ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’
มาเป็นเหตุผลในการอ้าง ซึ่ง ‘ความยินยอม’ ในการประมูล ก็คือ พ.ร.บ.
องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 45 ประกอบ มาตรา 41
(ตราขึ้นตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 47) ซึ่งบัญญัติว่า
“[การประมูลคลื่น 3จี โดย กสทช.]
ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค
และระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ
และประโยชน์สาธารณะอื่น
รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการ
กระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ
ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
กฎหมายกำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดการประมูลไว้กว้างๆ เพียงเท่านี้
ส่วนหลักเกณฑ์และรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น กฎหมายให้ ‘กสทช.’
เป็นผู้ไปดำเนินการตั้งราคาและจัดแบ่งชุดคลื่นความถี่ให้สม “ประโยชน์สูงสุดของประชาชน” โดยไม่มีกฎหมายข้อใดที่กำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดราคาให้สูง หรือ รีดกำไรเข้ารัฐ
ตรงกันข้าม กสทช. ถูกกำหนดให้คำนึงถึง “การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” ซึ่ง
ในมุมของ กสทช. ก็อาจอธิบายว่า การตั้งราคาที่สูงไป หรือ
การปล่อยให้มีการแย่งชุดคลื่นกันได้มากเกินไป
อาจทำให้ผู้เข้าประมูลบางรายไม่สามารถ “แข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” ในที่สุด ฯลฯ (ดูเพิ่มที่ https://sites.google.com/site/verapat/3g)
หากผู้ใดจะไม่เห็นด้วยก็ไม่แปลก หากมี กสทช. ตั้งมาพร้อมกัน 2 ชุด ก็อาจเห็นไม่ตรงกันเสียด้วยซ้ำ
แต่ด้วยเหตุที่ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ไม่สมบูรณ์แบบ และแม้ กสทช.
ทั้ง 11 คน จะไม่อาจเป็นผู้แทนของคนทั้งประเทศ แต่ กสทช.
ก็มาจากการเสนอชื่อคัดสรรโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม
และถูกคัดเลือกโดยวุฒิสภาที่อย่างน้อยก็ยังมีความเชื่อมโยงบางส่วนกับ
ประชาชน และด้วยเหตุนี้ ‘เสียงข้างมาก’ จึงมอบดุลพินิจให้แก่ กสทช.
ในการจัดการประมูลเพื่อ “ประโยชน์สูงสุดของประชาชน”
คำถามที่ตามมาก็คือ ‘ศาล’ ที่เชื่อมโยงกับประชาชนน้อยยิ่งกว่า กสทช. นั้น สมควรจะเข้าไปตีความ “ประโยชน์สูงสุดของประชาชน” เพื่อตรวจสอบยับยั้งราคาตั้งต้นการประมูล หรือ การจัดแบ่งชุดคลื่น ที่ กสทช. ได้ดำเนินการมา ได้มากน้อยเพียงใด ?
แน่นอนว่า หาก ‘เสียงข้างน้อย’ พบหลักฐาน ‘การทุจริต’
ที่ชี้ให้เห็นว่าการประมูลครั้งนี้จัดขึ้นโดย ‘เลือกปฏิบัติ’
ระหว่างผู้เข้าประมูล หรือเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนแทนที่จะยึด “ประโยชน์สูงสุดของประชาชน”
หรือโดยใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ เช่น กำหนดตัวเลขราคาขึ้นมาลอยๆ
โดยปราศจากคำอธิบายใดๆ ‘ศาล’ ในฐานะที่พึ่งของ ‘เสียงข้างน้อย’
ย่อมชอบที่จะอาศัยหลักฐานที่ว่าเข้าไปตรวจสอบยับยั้งการประมูลได้
แต่ตรงกันข้าม หากสิ่งที่ ‘เสียงข้างน้อย’ นำเสนอต่อ ‘ศาล’
เป็นแต่เพียงความห่วงใยและหวังดีบนพื้นฐานของ ‘ความสำนึกตรึกคิด’ ของ
‘เสียงข้างน้อย’ ที่ประสงค์จะเข้าไปกำหนดเสียเองว่า “ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ” นั้นคืออะไร ก็เท่ากับว่า ‘เสียงข้างน้อย’ มิได้รับ ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’
แต่ ‘เสียงข้างน้อย’ กำลังอาศัย ‘ศาล’ มาบิดเบือน ‘ความยินยอม’ ของ ‘เสียงข้างมาก’ ให้แปรเปลี่ยนไปตามใจประสงค์ของตนเสียเอง.
---
บทวิเคราะห์กฎหมายเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 3จี อ่านเพิ่มได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/3g