ที่มา ประชาไท
(18 ต.ค.55) นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ บอร์ด กทค. กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กทค. ว่า ในวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค.) จะส่งหนังสือรับรองผลการประมูลใบอนุญาต 3G คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้กับผู้ชนะประมูล 3G ทั้ง 3 ราย โดยมีบริษัท เอกชนเข้าร่วมประมูล 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ประมูลคลื่นความถี่ได้ในราคา 14,625 ล้านบาท บริษัท ดีแทค เนควอร์ค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ประมูลคลื่นความถี่ไปในราคา 13,500 ล้านบาทเท่ากัน รวมทั้งสามรายประมูลคลื่นความถี่ไปในมูลค่า 41,625 ล้านบาท โดยผู้ชนะทั้ง 3 รายต้องจ่ายเงิน 3 งวด แบ่งเป็นปีแรก 50% และปีที่ 2 อยู่ที่ 25% และปีที่ 3 อยู่ที่ 25% ของเงินที่ประมูลได้ ภายใน 90 วัน และจะได้ใบอนุญาตครอบครองคลื่น 15 ปีทันทีใน 7 วัน
กรรมการ กทค. กล่าวต่อว่า การลงมติของบอร์ด กทค.เพื่อรับรองผลการประมูล 3G ครั้งนี้ ถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ส่วนเงินที่ได้จากการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G จะนำส่งเข้ารัฐให้เร็วที่สุด แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไร เพราะต้องรอให้เอกชน 3 ราย ส่งเงินเข้ามาทั้งหมดก่อน โดยคาดการณ์ว่าจากนั้นประมาณ 3 เดือน จะสามารถนำส่งเข้ารัฐได้ อย่างไรก็ตาม หากหักค่าใช้จ่ายในการจัดประมูลประมาณ 20 ล้านกว่าบาท
ต่อข้อถามถึงการกำกับดูแลเอกชนนั้น กรรมการ กทค.กล่าวว่า ระยะแรกในการกำกับดูแล ต้องดูว่าผู้ประกอบการมีการแข่งขันกันมากหรือไม่ และต้องดูต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย ซึ่งขณะนี้ มีต้นทุนการประกอบกิจการอยู่แล้ว ซึ่ง กสทช. ต้องเอามาดูว่าเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ โดยคาดว่าหลังจากนี้ 6 เดือน จะสามารถบอกความชัดเจนได้ พร้อมยืนยันว่า การกำกับดูแลต้องถูกลงกว่าเดิม
สำหรับการประชุม กทค.ครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 ราย ได้แก่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร กสทช.ด้านการศึกษา วัฒนธรรม และพัฒนาสังคม นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฎหมาย นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ด้านเศรษฐศาสตร์ และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
โดยการประชุมเริ่มตั้งแต่เวลา 11.00-15.00 น. ใช้เวลารวม 4 ชั่วโมง โดยสำนักงาน กสทช. ได้ถ่ายทอดเสียงให้สื่อมวลชนรับฟัง ที่ชั้น 2 อาคารหอประชุม ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มีการแจ้งว่าจะถ่ายทอดภาพด้วยแต่เกิดขัดข้องทางเทคนิค จึงได้แค่เสียงอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กำลังถ่ายทอดสดเสียงการประชุมนั้น มีเนื้อหาที่ถกเถียงกันซ้ำไปซ้ำมาจนทำให้บอร์ด กทค. 2 คน ประกอบด้วย นายประเสริฐ และ พล.อ.สุกิจ วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม ทำให้ พ.อ.เศรษฐพงค์ ต้องตัดบทบอกให้ที่ประชุม กทค.ลงมติรับรองผลการประมูล 3G ของ กสทช. ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2555
ผลปรากฏว่า การลงมติรับรองผลการประมูลใบอนุญาต 3G ของ กทค. มีมติบอร์ด 4-1 โดย นพ.ประวิทย์ ไม่รับรองผล และขอดูเอกสารการเคาะราคาการประมูลทั้ง 7 ครั้งก่อน ส่งผลให้ที่ประชุมบอร์ดขอปิดเสียงถ่ายทอดสดเพื่อนำเอกสารมาอธิบายให้ นพ.ประวิทย์ ฟังประมาณ 5 นาที จึงได้เปิดเสียงถ่ายทอดสด และได้สรุปผลการลงมติรับรองการประมูล 3G ของบอร์ด กทค.
สำหรับประเด็นที่ นพ.ประวิทย์ ตั้งข้อสังเกตนั้นมีหลายเรื่อง อาทิ เรื่องราคาตั้งต้ที่ต่ำเกินไป และการออกหลักเกณฑ์ประมูลที่ไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน รวมถึงการออกประกาศเพื่อทำประชาพิจารณ์ไม่สอดคล้องตามเวลาที่กำหนด
"สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค" ยื่นถอด กสทช. ส่อผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว
ด้าน บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและธรรมาภิบาลฯ วุฒิสภา โดยมี รสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน หลังพบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. เข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว)
บุญยืน กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังมาก เพราะเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา กสทช. ในรอบ 44 คน เพื่อส่งต่อให้วุฒิสภาคัดเลือกเหลือ 11 คน ขณะที่เลือกเข้ามาแต่ละคน นับว่ามีประวัติหน้าที่การงานดี และแสดงวิสัยทัศน์ที่ดีมาก ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม แต่เมื่อเข้ามากลับเปลี่ยนไป พร้อมยืนยันว่า สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคจะไม่หยุดตรวจสอบ กสทช.แน่นอน
นอกจากนี้ บุญยืนระบุว่า สิ่งที่รับไม่ได้คือ การทำหลักเกณฑ์ก่อนการประมูลจนสามารถเอื้อให้บริษัทที่มีอยู่ในตลาดเพียงแค่ 3 ราย ได้เข้ามาประมูล โดยมองว่า นี่ไม่ได้เรียกว่า การประมูล แต่คือการประเคน มากกว่า กสทช.กำลังเล่นลิเก หรือเล่นจำอวดหน้างานศพให้สังคมดู
ด้านรสนา ประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตและธรรมาภิบาลฯ วุฒิสภา กล่าวว่า กรรมาธิการได้รับเรื่องจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคไว้ตรวจสอบ เนื่องจากเป็นหน้าที่ที่ในความรับผิดชอบ ส่วนประเด็นที่ยื่นให้ตรวจสอบนั้น เป็นประเด็นเดียวกันกับที่สังคมเกิดข้อสงสัย โดยเฉพาะทำผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว หรือไม่ ซึ่งหากผลสอบออกมาพบว่าผิดปกติ จะต้องดูว่าจะส่งผลสอบไปให้หน่วยงานใดเอาผิดตามความรับผิดชอบ เหมือนเช่นที่เคยส่งให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาแล้ว
ประชาชนห้าหมื่นกว่า ลงชื่อถอดถอน กสทช.
ตัวแทน เครือข่ายภาคประชาชน นำโดยกลุ่มลูกศิษย์หลวงตามหาบัว กว่า 50 คน นำรายชื่อประชาชนใส่ลังมาประมาณ 30 ลัง รวมทั้งหมด 57,904 รายชื่อ ยื่นต่อนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ถอดถอนกรรมการ กสทช.
นิคม กล่าวว่า ขณะนี้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว โดยหลังจากนี้จะนำไปตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อที่ยื่นมา จากนั้นจะส่งต่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามกระบวนการถอดถอน โดยอาจใช้เวลานานกว่า 2 เดือน นอกจากนี้ ยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังมากในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการเลือก กสทช.ชุดนี้ โดยเฉพาะผลการจัดประมูลเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ราคาไม่เกิดการแข่งขันมากถึง 6 ใบ ขณะที่โดยรวมที่ได้เข้ารัฐนับว่าเป็นราคาที่ต่ำมาก
สุริยะใสชะลอยื่นศาลปกครองไต่สวนเรื่อง 3G - รอฟังคำสั่งคดีก่อน
สุริยะ ใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (กลุ่มกรีน) กล่าวว่า วันนี้ (18 ต.ค.) ตัดสินใจจะไม่ไปศาลปกครองกลางเพื่อยื่นคำฟ้องเพิ่มเติม กรณีที่บอร์ด กทค. จะนัดประชุมเพื่อลงมติรับรองผลการประมูลใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อน ที่ 3G โดยจะขอรอฟังคำสั่งในคดีที่ได้ยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้ก่อน
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีประมูล 3G 2 คดี
ศาล ปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในคดีที่ฟ้องเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 3G รวม 2 คดี คือ กรณีที่สมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค ยื่นฟ้อง กสทช. ขอให้เพิกถอนประกาศสำนักงาน กสทช.เรื่องรายชื่อผู้เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สากลย่าน 2100 กิกะเฮิรตซ์ เนื่องจากบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูล มี นายจอน ทราวิส เอ็ดดี้ อัลดุลลาห์ สัญชาติอเมริกัน เป็นผู้มีอำนาจลงนาม จึงเข้าลักษณะขัดต่อประกาศ กสทช.เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคน ต่างด้าว
โดยเหตุที่ศาลไม่รับคำฟ้อง เพราะสมาคมฯ ไม่ใช่ผู้มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการประมูล ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งโดยตรง จึงไม่มีผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่จะโต้แย้งขอให้ศาลเพิกถอนประกาศ กสทช.ดังกล่าว
ส่วนที่อ้างว่า การที่ กสทช.ประกาศให้บริษัท ดีเทค เนทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูล จะส่งผลทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ ตกอยู่ในความควบคุมอิทธิพลของคนต่างด้าว เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เห็นว่า หากบริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาต ย่อมต้องไม่ดำเนินการใดๆ อันเป็นการขัดต่อข้อห้ามตามประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว มิเช่นนั้น บริษัทดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามข้อ 8-12 ตามประกาศดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าเหตุการณ์ดังที่สมาคมฯ กล่าวอ้างอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ในอนาคต ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือความเสียหายแก่ประโยชน์ส่วนรวม หรือสาธารณะยังไม่มีความแน่นอน และ กสทช.ก็ได้มีมาตรการควบคุมดูแลมิให้บริษัทดังกล่าวกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติ ต่างๆ อยู่แล้ว นอกจากนั้น หากอนาคตเหตุการณ์เป็นไปตามที่สมาคมฯกังวลใจ คือ บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตถูกครอบงำโดยคนต่างด้าว สมาคมฯก็ย่อมเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ และมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ แต่ในขณะนี้สมาคมฯยังไม่ใช่เป็นผู้เดือดร้อนเสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
ส่วนคดีที่ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ และพวกรวม 3 คนฟ้อง กสทช.ว่า ออกหลักเกณฑ์และจัดการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทร คมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ โดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เพราะการเรียกเก็บเงินประมูลขั้นต่ำ 4,500 ล้านบาท จากเอกชนผู้เข้าประมูล อาจทำให้ กสทช.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้ตามกฎหมาย
ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องโดยให้เหตุผลว่า เงินที่ได้จากการประมูลหลังหักค่าใช้จ่ายย่อมตกเป็นของแผ่นดิน กสทช.จึงหาได้เป็นเจ้าหนี้ของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับ กิจการโทรคมนาคมดังกล่าวแต่อย่างใด และหากมีกรณีที่ กสทช.จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้เงินประมูลคลื่นความถี่ หรือหนี้อื่นใด ก็เป็นเพียงการดำเนินการแทนรัฐเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีกรณีที่ กสทช.จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ได้รับใบอนุญาตอันเป็นผลเนื่องมาจากการออก ประกาศของ กสทช.ตามที่ พล.ร.อ.ชัย กับพวก กล่าวอ้าง ดังนั้น ในกรณีนี้จึงหาได้มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นแก่ประโยชน์สาธารณะตามที่ พล.ร.อ.ชัย กับพวก เข้าใจแต่อย่างใด พล.ร.อ.ชัย กับพวกจึงไม่อาจอาศัยเหตุดังกล่าวนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 1, 2 ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1, 2