ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ "ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร"
อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นำเสนองานวิจัยศึกษา เรื่อง "จุดเปลี่ยนชนบทไทย"
ความน่าสนใจของงานวิจัยทีม ดร.ยุกติก็คือ การเปิดโฉมหน้าชนบทไทย ที่ทีมวิจัยเรียกว่า "ชนบทใหม่"
ดร.ยุกติเปิดภาพว่า "ชนบทใหม่" มีตัวแบบหลายตัวแบบ
แต่ตัวแบบที่ถูกพูดถึงมากในสังคมไทยก็คือ ตัวแบบชุมชนท้องถิ่น
ที่อาจจะมองว่าชนบทถูกทุนนิยมทำลาย หรือสูญเสียพลังท้องถิ่นดั้งเดิม
อีกแบบคือ ชุมชนท้องถิ่นอุปถัมภ์ ซึ่งจะพ่วงมาด้วยความคิดทางการเมือง เช่น
การเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งผู้อุปถัมภ์ไม่ใช่การเลือกตั้งผู้แทนฯ
แล้วการเลือกตั้งไม่สะท้อนนโยบายแต่เป็นการเลือกบุคคล เลือกพรรคมากกว่า
แต่ปัจจุบัน หลังพฤษภาคม 2535 และหลังรัฐธรรมนูญ 2540 กระทั่งการนำมาสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่
หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ทีมวิจัยมองว่าเราไม่สามารถเข้าใจ ด้วยตัวแบบเก่า ต่อไป
เพราะตัวแบบชนชั้นกลางเดิมที่เราเข้าใจ ไม่สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังได้อีกต่อไป
ฉะนั้น งานวิจัยสรุปว่าการเมืองไทยหลังพฤษภาคม 2535 เกิดชนชั้นกลางเก่า
ซึ่งเป็นฐานมวลชนของคนเสื้อเหลือง ส่วนชนชั้นกลางใหม่เป็นฐานมวลชนของคนเสื้อแดง
อาจารย์ยุกติชี้ว่า ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ชนบทใหม่มีลักษณะท้องถิ่นนิยมกับการเมืองไทยเกิดขึ้น
ฉะนั้น เราไม่สามารถมองข้ามได้ว่า
พรรคการเมืองหรือนโยบายของพรรค การเมือง ไม่มีผลกับชีวิตของผู้คน มีผล
แต่มีผลเป็นหย่อม ๆ (เท่านั้น) แต่ถามว่า ใครคือชนชั้นกลางที่ว่านี้
คำตอบก็คือ เป็นคน "ยอดหญ้า" ไม่ใช่รากหญ้า หรือไม่ใช่เป็นคนที่จน
แต่คนกลุ่มนี้มีความรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ถูกกระทำ ไม่ได้รับความเป็นธรรม
ซึ่งไม่ใช่เป็นประเด็นเศรษฐกิจ แต่เป็นประเด็นด้านการเมือง
ผมใช้คำว่า ประชดตนว่าเป็น "ไพร่" แต่หลายคนไม่ได้เป็นไพร่ในความหมายที่แท้จริง
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ชนชั้นกลางใหม่
จริง ๆ แล้วเป็น "พลเมืองโลกในหมู่บ้าน" อย่างที่ ศ.ชาร์ลส์ คายส์ ให้ความหมายไว้ ซึ่งก็คือ
เขายังมีลักษณะเชิงท้องถิ่น มีความผูกพันกับท้องถิ่นอยู่
แต่เขามีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้น
และไม่ใช่โลกเฉพาะที่อยู่ในเมือง เท่านั้น แต่เป็นโลกที่ไกลออกไปด้วย
อาจารย์ยุกติสรุปว่า ฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนของ "ชนบทใหม่"
ขณะที่พลวัต ทางเศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่นได้เปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจการเมืองให้กับคนในชนบทมากขึ้น
และต้องการการเมืองของการเลือกตั้ง
โดยไม่แบ่งสีที่สำคัญ ชาวชนบทไม่สามารถกลับไสูดอากาศประชาธิปไตยน้ำเน่าได้อีกต่อไป หมายความว่า
การเมืองที่ผ่านมา อย่างน้อยในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้อากาศแบบใหม่กับคนในชนบท
เพราะการเมืองระบบเลือกตั้งได้สถาปนาตัวเอง เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ในท้องถิ่นไปแล้ว
ซึ่งอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อ่านงานวิจัยของผมแล้วบอกว่า "ไม่เชื่อว่ามีชนบทไทยอีกต่อไปแล้ว"