ที่มา ประชาไท
Fri, 2012-09-21 21:42
กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ใช้งบประมาณ 7 ล้านบาทของสภาฯ พาสื่อมวลชน 39 คน ไปทัวร์ยุโรปในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม ช่วงปลายเดือนกันยายน 2555 กลายเป็นข่าวทอล์กออฟเดอะทาวน์ซึ่งน่าจะไม่จบง่ายๆ ไม่ใช่เพราะนักการเมือง หรือ หน่วยราชการไทย หรือ คนทำสื่อไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อน
เรื่องจริงคือ คนทำสื่อในประเทศไทยส่วนใหญ่มักเดินทางฟรีด้วยเงินคนอื่นเป็นอาชีพหลักและ ไม่เป็นข่าว (เหมาะสมหรือผิดหลักจริยธรรมอัน “สูงส่ง” หรือไม่ เป็นอีกประเด็น) แต่ครั้งนี้ที่เป็นข่าวเพราะคนจ่ายเงินไม่ใช่บริษัทเอกชนซึ่งจัดทัวร์เพื่อ ผลประโยชน์ทางการขาย หรือเพื่อภาพลักษณ์องค์กรว่าช่วยเหลือสังคมบ้าง ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติบ้าง ช่วยอนุรักษ์/พัฒนาศิลปะ-วัฒนธรรมบ้าง ฯลฯ
ประเด็นคือ ผู้ที่จ่ายเงินงวดนี้คือ รัฐสภา หมายถึงเป็นงบประมาณของรัฐที่มาจากภาษีอากรของประชาชน และสื่อมวลชนที่ร่วมทริปก็มีแต่ “ฝ่ายแดง” หรือฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทั้งหมด แม้บางคนมีชื่อว่าเป็นนักวิชาการ ก็ทำงานสื่อด้วย เช่น พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และวิโรจน์ อาลี ซึ่งจัดรายการให้วอยซ์ทีวีทั้งคู่ และแม้เจ้าตัวจะอ้างว่าไปในนามนักวิชาการ แต่ในงบประมาณของสภาฯ ก็ระบุว่าทั้งคู่ได้รับเชิญในฐานะสื่อมวลชน
วิโรจน์ อาลี ไปในนามผู้จัดรายการวอยซ์ทีวี และ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ไปในนามคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ซึ่งมีข่าวว่าคม ชัด ลึก ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย
ยิ่งกว่านั้น ในรายชื่อลูกทัวร์ ยังมีบรรดาคนใกล้ชิดทั้งที่นามสกุลเดียวกับประธานรัฐสภาและที่ไม่ใช่ร่วม เดินทางไปอีกต่างหาก
มีการตรวจสอบข่าวนี้กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะจากสื่อเครือผู้จัดการ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสื่อเลือกข้างแดง และผลจากการตรวจสอบก็คือ โปรแกรมทัวร์เจ็ดล้านครั้งนี้ เห็นๆ ว่าเป็นทัวร์เพื่อความบันเทิงมากกว่าเพื่อการศึกษาดูงาน แถมยังมีการพาไปดูฟุตบอลนัดสำคัญระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล เสียอีก เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทัวร์ คือ จักรพันธ์ ยมจินดา “มีเส้นสาย” กับสยามสปอร์ตซึ่งมีที่นั่งวีไอพีในสนาม
เสียงก่นด่าคุณสมศักดิ์และคนทำสื่อสาย “แดง” ดังระงม ยิ่งกว่าเสียงกบและอึ่งอ่างในสายฝน โดยเฉพาะคนทำสื่อสายแดงที่ถูกด่าว่า ไหนล่ะ จริยธรรมสูงส่งกันดีนัก ไอ้พวกอ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ที่แท้ก็มาแอบใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวกันหน้าด้านๆ
ทัวร์นี้มีชื่อหรูว่า โครงการดูงานรัฐสภา สื่อ และวิชาการ โดยงบประมาณ 7 ล้านบาทที่ใช้ไปนั้น เป็นงบประมาณปี 2555 ซึ่งจะถึงกำหนดสิ้นปีงบประมาณ ในวันที่ 30 กันยายน
ตามโปรแกรมทัวร์ซึ่งกำหนดโดยบริษัททัวร์ Skylight Elegance ระบุว่า ในวันที่ 20 กันยายน คณะทัวร์จะเข้าชมรัฐสภาอังกฤษ ระบบจัดเก็บข้อมูล และระบบการทำงานของรัฐสภาอังกฤษ โดยในช่วงกลางวันไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารโฟร์ซีซั่นส์ ลอนดอน (Four Seasons London) จากนั้นในช่วงค่ำไปรับประทานอาหารที่บลูมเบอรี ลอนดอน (Bloomsbury London) และเข้าพักที่โรงแรมปาร์ก พลาซา เวสต์มินสเตอร์ (Park Plaza Westminster) จากนั้นในวันที่ 21 กันยายน จะไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) ชมพิพิธภัณฑ์ ดิ อิมพีเรียล วอร์ มิวเซียม (The Imperial War Musem) วันที่ 22 กันยายน ชมสำนักงาน ดิ อีโคโนมิสต์ กรุ๊ป (The Economist Group) และพาไปซื้อของที่โบโรห์มาร์เกต (Borough Market)
จากนั้น ในวันที่ 23 กันยายน จะไปเยี่ยมชมสถานีโทรทัศน์บีบีซี กรุงลอนดอน ช่วงบ่ายไปชมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ฟุตบอลคู่แดงเดือด ระหว่างสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล วันที่ 24 กันยายน เดินทางโดยรถไฟไปประเทศฝรั่งเศส วันที่ 25 กันยายน เยี่ยมชมรัฐสภาฝรั่งเศส ช่วงบ่ายพาชมพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ช่วงค่ำรับประทานอาหารแบบฝรั่งเศสบนเรือที่ล่องแม่น้ำเซนน์ วันที่ 26 กันยายน นั่งรถโค้ชไปกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อเยี่ยมชมรัฐสภายุโรป และวันสุดท้ายที่ 27 กันยายน ไปเยี่ยมชมอะตอเมียม (Atomium) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ของประเทศเบลเยียม ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงค่ำ
ข้าราชการในรัฐสภา และสื่อมวลชนสายรัฐสภา หรือพูดง่ายๆ ว่านักข่าวที่เน้นทำข่าวต่างๆ ในบริบทรายรอบรัฐสภา แต่ไม่ยักได้รับเชิญร่วมทัวร์นี้ เห็นโปรแกรมทัวร์ก็รำพึงออกมาดังๆ ว่า นี่เป็นการดูงานในระหว่างเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปนะนั่น สงสัยว่าประธานรัฐสภาคงใช้สินบนนำเที่ยวล่อใจสื่อมวลชนพวกเดียวกันให้สนับ สนุนการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.....และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แน่เลย
จริงๆ เราคงบอกไม่ได้ว่า สื่อสายแดงที่ได้รับเชิญไปเที่ยวยุโรปครั้งนี้ จะสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพียงเพราะได้ไปเที่ยวยุโรปสามประเทศ เพราะถ้าพวกเขาเป็นสื่อที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยหรือเป็นสื่อไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่มีสติปัญญา เขาก็คงตั้งใจทำความเข้าใจสิ่งที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอและในที่สุดก็อาจเห็น ว่ามีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล สมควรหรือไม่ควรสนับสนุนอยู่เอง
ที่เราควรบอกได้ก็คือ ความจริงสื่อไม่ควรรับเชิญไปงานแบบนี้ เพราะเหตุว่านี่เป็นงบประมาณรัฐ และมันควรนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่เพื่อพาพวกพ้องไปเที่ยว แต่จะโทษคนทำสื่อที่รับเชิญก็ไม่เต็มปากอีก เพราะในการรับคำเชิญแต่ละครั้ง คนทำสื่อไม่รู้หรอกว่า ผู้ร่วมทริปเป็นใคร พวกพ้องเดียวกันไหม ฝักใฝ่การเมืองแบบไหน เชียร์พรรคไหน มัวแต่ดีใจเขาเชิญมาก็รีบตอบรับ กว่าจะรู้ว่าใครไปบ้าง ก็มักจะหลังจากส่งพาสปอร์ตให้บริษัททัวร์ไปแล้ว นอกจากนั้น การรับเชิญไปโน่นนี่นั่น ก็ยังกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวงการสื่อไทย ทุกวันนี้ภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐต่างๆ ล้วนจัดงบประมาณเพื่อพาสื่อไปดูงานโน่นนี่นั่น และคนทำสื่อก็เดินทางไปดูงานโน่นนี่นั่นกันตลอดปี ซึ่งบางครั้งก็ “ดู” งานประมาณสองวัน เที่ยวและช็อปปิ้งอีกห้าวัน
ที่ว่ามานี้ ไม่ใช่เฉพาะคนทำสื่อ แต่หมายถึงข้าราชการและคนทำงานในหน่วยงานต่างๆ ด้วย บางงานที่มีการออกบูทของหน่วยราชการในต่างประเทศนั้น เอาเข้าจริงๆ คนที่มีรายชื่อมาทำงาน หนีไปเที่ยวเกือบหมด เหลือคนเฝ้าบูทคนเดียวซึ่งมักเป็นเจ้าหน้าที่ระดับเล็กมาก หรือไม่ก็โมเมจ้างคนไทยในพื้นที่มานั่งเฝ้าบูทด้วยข้ออ้างว่า จะได้ใช้ภาษาท้องถิ่นสื่อสารกับคนมาเที่ยวงาน
ในแวดวงคนทำสื่อ เรื่องรับเชิญไปต่างประเทศ เป็นเรื่องชวนอึดอัดอดสูใจเท่ากับลิงโลดใจ เพราะรายรับของคนทำสื่อที่ไม่ใช่เจ้าของสื่อนั้น เมื่อหักกลบลบหนี้กับรายจ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว พูดกันตามตรงว่าไม่พอจะขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในโซนยุโรปและอเมริกา คำเชิญร่วมทัวร์ร่วมทริปของแต่ละองค์กรที่ส่งมา จึงเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้คนทำสื่อ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมีโอกาสสอบชิงทุนไปดูงานกับใครเขา ได้เห็นโลกภายนอกบ้าง
ความอยากเดินทางเห็นโลก บางครั้งก็ทำให้คนทำสื่อและเจ้าของสื่อซึ่งดีใจไม่ต้องควักกระเป๋าเอง ลืมความรู้สึกอึดอัดอดสูใจว่า เอ๊ะ เขาเชิญเราหรือคนทำงานของเราไปเที่ยวฟรีๆ นี่มันมีมูลค่านะ มันต่างอะไรกับการรับสินบนไหม ? และถึงนักข่าวจะกลับมารายงานข่าว แต่ เอ๊ะ ข่าวอย่างนี้หรือบทความอย่างนี้ มันจะถือว่าเขียนจากพื้นฐานความคิดแบบไหนกันล่ะ เป็นข่าวพีอาร์ บทความพีอาร์ไหม เชื่อถือได้หรือไม่ได้ หรือมันเป็นส่วนหนึ่งของการธุรกิจสื่อ แยกส่วนออกจากข่าวรายวัน แต่เอ๊ะ ข่าวรายวันของเรา แยกออกจากการครอบงำทางความคิดของกลุ่มการเมืองที่ให้เงินสนับสนุนการผลิต สื่อของเราหรือเปล่านะ?
มีคำถามมากมายถ้าอยากถาม และความจริงก็อาจไม่มีคำถาม ถ้าสื่อไม่อ้างจริยธรรมอัน “สูงส่ง” มากนัก ในเวลาที่พยายามเอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ผู้เขียนเองก็ไม่ใช่คนดีเลิศ ยอมรับว่าเคยได้เที่ยวฟรีอยู่บ้างแต่ไม่บ่อยนัก และส่วนใหญ่เป็นทริปในประเทศ ทริปต่างประเทศมักขี้เกียจไปวุ่นวาย พูดแบบขำๆ ก็คือ ชีวิตนี้ได้รับเชิญไปสวิสเซอร์แลนด์ห้าครั้ง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เคยไปสักครั้ง
ย้อนกลับมาเรื่องทริปต่างประเทศว่าเคยเป็นชนวนทะเลาะเบาะแว้งในกอง บรรณาธิการหลายแห่ง เพราะคนทำข่าวที่กว้างขวาง มีแหล่งข่าวมาก หรือทำข่าวสายธุรกิจ สายท่องเที่ยว สายสังคม สายข่าวต่างประเทศ สายข่าวพลังงาน ก็มักจะได้รับเชิญบ่อยจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่มีงบประมาณบ้าง จากสายการบินบ้าง บริษัททัวร์บ้าง บริษัทผลิตเครื่องสำอางบ้าง ฯลฯ ต่างๆ นานา
นักข่าวสายไกลปืนเที่ยงที่ไม่เคยได้รับเชิญ หรือนักข่าวสายเดียวกันที่กว้างขวางน้อยกว่า หรือไม่ใช่ระดับหัวหน้าจึงไม่ได้รับเชิญ ก็จะเกิดอาการน้อยอกน้อยใจว่า ทีไปทำข่าวต่างจังหวัดในแดนกันดารส่งเราไป ไปต่างประเทศไม่เห็นให้เราไปบ้างเลย เกิดเป็นอาการแย่งกันไปต่างประเทศ ไม่แย่งกันไปต่างจังหวัด และแย่งกันไปเที่ยว ไม่ได้แย่งกันไปทำงาน
เพื่อแก้ปัญหานี้ หลายๆ องค์กรสื่อจึงหันมาใช้วิธี “เวียนคิว” หมายถึงแม้แหล่งข่าวเชิญระบุชื่อ กองบรรณาธิการก็ไม่ให้ระบุชื่อ แล้วจัดรายชื่อนักข่าวเข้าคิว ถึงคิวใครคนนั้นก็ไป เว้นเสียแต่การเชิญนั้นเกี่ยวข้องกับข่าวซึ่งเฉพาะทางจริงๆ และนักข่าวที่จะไป ไม่มีความรู้เรื่องนั้นเลย ก็ต้องสลับคิว เช่น ได้รับเชิญให้เดินทางตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไปรัสเซีย แม้คิวจะมาถึงนักข่าวสายการศึกษา ก็ต้องตัดคิวคืนนักข่าวสายต่างประเทศ
วิธีจัดคิวนี้นอกจากจะลดปัญหาน้อยอกน้อยใจลงได้ระดับหนึ่ง ก็ยังกลายเป็นคุณูปการให้บรรดานักข่าวเริ่มคิดว่า ฉันควรทำได้ทุกข่าว ไม่ใช่หมกหมุ่นทำอยู่แต่ข่าวประจำสาย จนจะกลายเป็นข้าราชการกระทรวงอยู่แล้ว เป็นต้น
การรับเชิญแบบนี้ ถามว่า นักข่าวเขียนข่าวตามใจผู้เชิญไหม แม้แน่นอนว่าคำตอบคือ ไม่ มันก็ซ่อนนัยความพยายามแก้ตัวของนักข่าวและบรรณาธิการในแง่ของความเป็นอภิ สิทธิชน นอกจากนั้น มันก็ยังซ่อนอคติซ้อนอคติเมื่อนักข่าวต้องพยายามคัดค้านข้อดีของสิ่งที่ แหล่งข่าวพยายามนำเสนอ (อย่างไม่เป็นธรรมชาติ) เพื่อให้ตัวเองสบายใจว่า ฉันไปเที่ยวฟรีก็จริงแต่ฉันไม่ได้ถูกซื้อตัวนะ ซึ่งหากมองไปยาวๆ เราก็คงปฏิเสธยากว่า สายสัมพันธ์ที่โยงใยกันอยู่ระหว่างคนทำสื่อกับแหล่งข่าวได้เกิดขึ้นแล้วจาก การร่วมทริปแบบนี้
ดังนั้น วันข้างหน้าหากองค์กรหรือบุคคลที่เป็นแหล่งข่าวเกิดปัญหา การนำเสนอข่าวในรูปแบบที่ผ่อนหนักเป็นเบาให้กับแหล่งข่าว จึงอาจเกิดขึ้นได้ และแม้โดยหลักการประชาสัมพันธ์จะบอกว่า การยืดอกรับความจริงดีกว่าการปกปิดแก้ตัว แต่สายสัมพันธ์ระหว่างแหล่งข่าวกับสื่อก็น่าจะช่วยให้การเปิดตัวรับความจริง เกิดขึ้นได้อย่างสวยงามกว่า
หลายปีก่อน เมื่อผู้เขียนทำหน้าที่บรรณาธิการ Focus ในหนังสือพิมพ์ The Nation ที่ประชุมคณะบรรณาธิการ กำหนดให้ระบุท้ายบทความของผู้เขียนแต่ละคนที่เขียนเรื่องราวจากการได้รับ เชิญไปเที่ยวฟรีว่า เธอหรือเขาได้รับการสนับสนุนให้เดินทางจากหน่วยงานใด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าดี แต่ปัจจุบัน สื่อในเครือมีมากขึ้น การระบุอาจไม่ครบครัน นอกจากนั้น หลายปีผ่านไป รูปแบบการทำธุรกิจสื่อก็มีการเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้ หลายองค์กรสื่อรวมทั้งเครือเนชั่น ต่างจัดนำเที่ยวเองในรูปแบบต่างๆ
เรื่องคนทำสื่อเที่ยวฟรีนี้ คาดว่าเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป และประชาชนทั่วไปก็คงหมั่นไส้และเหยียดหยามคนทำสื่ออยู่ไม่น้อย เมื่อครั้งผู้เขียนและช่างภาพไปทริปตามรอยโกษาปานที่ฝรั่งเศสกับอาจารย์ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยาเพื่อถ่ายทำสารคดีของบริษัทเอ็นบีซี ก็มีผู้ร่วมทริปบางคนพูดจาถากถางว่าสื่อเที่ยวฟรี จึงต้องชี้แจงว่าเดินทางมาทำงานด้วยเงินบริษัท และเมื่อไปร่วมทริปต่างๆ ในอุษาคเนย์กับอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กว่าผู้ร่วมทริปจะเข้าใจกันว่า ผู้เขียนใช้เงินสะสมส่วนตัวเป็นค่าเดินทางเองเพราะอยากได้ความรู้เป็นข้อมูล เอาไปทำงานต่อ ก็ถูกซุบซิบนินทาหมั่นไส้ไปแล้วหลายทริป
เพื่อนชาวต่างประเทศที่ทำงานในวงการสื่อบอกว่า พวกเขาไม่เคยเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยเงินสนับสนุนจากบริษัทเอกชนที่ เป็นสปอนเซอร์โฆษณา หรือจากหน่วยงานรัฐ ความจริงสื่อไทยที่ชอบอ้างจริยธรรมก็น่าจะทำอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่อย่างนั้น ก็ยอมรับความจริงแล้วไม่ต้องอ้างจริยธรรมให้ใครหมั่นไส้
ทุกวันนี้เส้นแบ่งของคนทำเนื้อหาสื่อกับคนหาทุนหรือหาโฆษณา (รายได้) บางลงมากจนเกือบไม่เห็นเส้น ถ้าพิจารณาดีๆ จะพบว่าบางครั้งคนทำเนื้อหาหลายคนแทบไม่ได้ทำเนื้อหาอะไรนอกจากโฆษณาประชา สัมพันธ์แบบเนียนๆ ให้กับบริษัทโฆษณาที่เป็นผู้สนับสนุน หรือ บริษัทสื่อของตนที่มีกิจกรรมเสริมต่างๆ มากมายเพื่อความอยู่รอด หรืออีกนัยคือเพื่อความเจริญเติบโตทางธุรกิจขององค์กร (ถ้าเก่งหน่อยหรือมือถึง ผู้ทำเนื้อหาก็อาจสามารถเสนอเนื้อหาแบบเนียนๆ ผ่านเนื้อหาประชาสัมพันธ์ และจะว่าไป นี่เป็นเรื่องของการประลองความสามารถกันเลยทีเดียว)
จริยธรรมอันเคร่งครัดของสื่อนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็มาจากโลกตะวันตก โลกครึ่งๆ กลางๆ แบบไทย ก็อาจเป็นแบบไทยๆ คือมีหลักการเอาไว้ เพื่อให้ได้ใช้ปาก “พูด” ข่มคนอื่นว่าฉันมีหลักการดูดีแบบสากล แต่ปฏิบัติอย่างไรก็เรื่องของฉัน ทำให้คิดถึงหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทยซึ่งคงรู้จริงมาหลายทศวรรษแล้ว ว่า สื่อคือธุรกิจชนิดหนึ่ง ดังนั้น แต่ไหนแต่ไรมา นักข่าวหนังสือพิมพ์จีนจึงหาข่าวด้วย ขายโฆษณาเข้าหนังสือพิมพ์ด้วย รับเที่ยวฟรีแลกโฆษณาด้วย เป็นที่เยาะเย้ยไยไพของนักข่าวชาวไทยที่ถือตัวว่ามีจริยธรรมสูงส่งมาเนิ่น นาน
เขียนทั้งหมดนี้ ไม่ได้สนับสนุนให้นักข่าววิ่งไปหาโฆษณาเพิ่มรายได้ หรือแสดงตัวเป็นอภิสิทธิชนเที่ยวฟรีกันเถิดจะเกิดผล เพียงแต่เปิดประเด็นไว้ให้ช่วยกันพิจารณา