ที่มา ประชาไท
ฉลองรายอ – ชาวมุสลิมนับพันคนร่วมฟังเทศนาธรรมหลังละหมาดวันรายอ เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 26 ตุลาคม 2555
ที่สนามศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา (ภาพจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ศอ.บต.)
หลังการละหมาดมีการอ่านคุตบะห์หรือการเทศนาธรรม เสร็จละหมาดมุสลิมทุกคนจะมีการจับมือให้สลาม พร้อมกับการขออภัยซึ่งกันและกันในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นต่อกันในช่วงที่ ผ่านมา หลังจากนั้น แต่ละคนต่างรีบไปร่วมกันเชือดสัตว์พลีทาน หรือกุรบาน สำหรับคนที่ตั้งใจไว้ ได้แก่ อูฐ วัว ควาย แพะหรือแกะ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ทั้งแก่ผู้ยากไร้ เพื่อนบ้านรวมทั้งเก็บไว้รับประทานเอง
บรรยากาศดังกล่าว เกิดขึ้นเช่นเดียวกับชุมชนมุสลิมทั้งหลายทั่วโลก รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในพื้นที่สัตว์ที่ใช้เชือดเป็นสัตว์พลีทานส่วนใหญ่จะเป็นวัว ทั้งนี้ตลอดทั้งวันโดยเฉพาะในช่วงก่อนและหลังละหมาดทุกมัสยิดจะมีการกล่าวคำ สรรเสริญพระเจ้า “อัลลอฮุอักบารฺ”ดังกึกก้องไปทั่ว
วันอีดิ้ลอัฏฮาเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม ตรงกับวันที่ 10 เดือนซูลฮิจญะห์ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ตามปฏิทินอิสลาม โดยปีนี้เป็นปีฮิจเราะฮฺศักราช(ฮ.ศ.)ที่ 1433 เป็นวันเดียวกับผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย กำลังประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
สำหรับความสำคัญของวันอีดิ้ลอัฎฮา นายอับดุลสุโก ดินอะ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม กล่าวไว้ในบทความชื่อ “เทศกาลฮัจญ์ มุสลิมในประเทศเฉลิมฉลองอย่างไร” ว่า พิธีฮัจญ์ เป็นการรวมตัวของประชาชาติมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ที่ก้าวพ้นพรมแดนแห่ง ชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้เดินทางไปประกอบพิธฮัจญ์ จะฉลองวัน"อีดิลอัฎฮา"ด้วยศาสนกิจและศาสนกุศลมากมายโดยเฉพาะเชือดสัตว์เพื่อ พลีทานเป็นสวัสดิการชุมชน
“วันตรุษอีดิลอัฎฮา เป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำว่า อีด แปลว่า รื่นเริง เฉลิมฉลอง และ อัฎฮา แปลว่า เชือดสัตว์พลีทาน ดังนั้น วันตรุษอีดิลอัฎฮา จึงหมายถึง วันเฉลิมฉลองการ เชือดสัตว์เพื่อพลีทานเป็นสวัสดิการชุมชน” นายอับดุลสุโก กล่าว
นายอับดุลสุโก กล่าว่า การเชือดกุรบ่านดังกล่าว เริ่มได้หลังจากจากละหมาดอีดิ้ลอัฎฮาไปจนถึงเวลาละหมาดอัสรีในช่วงเย็นของ วันอีดิ้ลอัฎฮาวันที่ 4 หรือระหว่างวันที่26 - 29 ตุลาคมของปีนี้
ทั้งนี้ วันอีดิ้ลอัฎฮาปีนี้ กระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศอนุมัติให้ทหารกองประจำการที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีความ ประสงค์จะไปประกอบศาสนกิจในวันอีดิลอัฎฮา ปีฮิจเราะฮฺศักราช 1433 ได้หยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ มีกำหนด 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 - 28 ตุลาคม 2555 ส่วนข้าราชการอื่นๆ ให้ใช้สิทธิ์การลาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นวันก่อนถึงวันอีดิ้ลอัฎฮา เรียกว่าวันอารอฟะห์ เป็นวันที่ชาวมุสลิมได้ถือศีลอดด้วยอีกหนึ่งวัน และยังตรงกับวันครบรอบ 8 เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชน 85 คน จากการสลายการชุมนุมและการขนย้ายผู้ชุมนุมโดยการนอนทับกันบนรถของทหาร หรือเรียกว่าเหตุการณ์ตากใบ
ในวันดังกล่าว มีองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรในพื้นที่ เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ได้ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมรำลึกถึง เหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมๆกับร่วมปฏิบัติศาสนกิจในวันดังกล่าวด้วย ได้ การถือศีลอด การละหมาดฮายัตและการอ่านบทสวนอุทิศผลบุญถึงผู้เสียชีวิต
**********************************************************
แถลงการณ์ในวาระครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์ตากใบ
เหตุการณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่มีการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมของประชาชนที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ ตากใบ จังหวัดนราธิวาส จนนำไปสู่การสูญเสีย และมีการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งในหลายเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำละเมิด และเป็นเหตุการณ์ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า “อากาศคือฆาตกร”
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดูแลไม่ได้ให้ความจริงใจใน การแก้ปัญหา แม้ว่าจะมีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ตาม แต่ก็เทียบไม่ได้กับการสูญเสียชีวิต สูญเสียอิสรภาพ สูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมีพึงได้ ด้วยเพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการละเมิดสิทธิ ทำลายหลักสิทธิมนุษยชนจนหมดสิ้น แต่การกระทำดังกล่าวก็มิได้มีการพิสูจน์การกระทำความผิด มีแต่เพียงผู้นำกองทัพและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ออกมาแก้ต่างแทนเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการนำเงินภาษีของประชาชนไปซื้อเครื่องมือยุทโธปกรณ์ต่างๆ ก็ส่อไปในทางทุจริตและก็ยังไม่เห็นว่าหน่วยงานใดจะออกมาตรวจสอบความจริง ด้วยเพราะกลัวอำนาจมืดที่แฝงอยู่ในกองทัพ
ด้วยเหตุการณ์เหล่านี้ที่ปรากฏต่อสังคม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จึงยื่นข้อเรียกร้องและขอประณามการกระทำดังกล่าว
1.การกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเห็นเชิงประจักษ์แล้วว่านโยบายที่ได้กำหนดขึ้นมานั้นไม่สามารถตอบสนอง หรือใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่ยิ่งกลับไปสร้างภาระและละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง
2.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนบัดนี้ได้ครบรอบ 8 ปี แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงขอเรียกร้องให้มีการชำระประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และให้นำตัวผู้สั่งการ ผู้กระทำในเหตุการณ์ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้สูญเสียและให้สืบ สวนสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ระดับเหนือนโยบาย ระดับนโยบาย จนถึงระดับปฏิบัติการ
3.ขอประณามกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นสากลทั้งระบบ และตั้งข้อสังเกตถึงคำพิพากษาตลอดจนการทำหน้าที่ของศาลและอัยการ
4.ขอประณามอย่างรุนแรงต่อเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันนั้น โดยกำลังหลักที่ใช้คือทหารและตำรวจปฏิบัติการพิเศษภายใต้การประกาศกฎอัยการ ศึก ซึ่งไม่มีเหตุสมควรที่จะใช้กฎหมายดังกล่าว
5.ลดการใช้อำนาจในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชนและดูแลความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)
*******************
ข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการที่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)ได้เฝ้าติดตามการแก้ปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดมา จึงได้มีข้อเสนอต่อระดับนโยบาย ดังนี้
1.เสนอให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมแล้วว่ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเข้ามาแก้ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ การตัดสินของศาลยังมีความไม่เป็นมาตรฐานของความยุติธรรม และอำนาจของศาลก็ไม่ได้มาจากประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจทั้งสามควรจะเป็นของประชาชน อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติล้วนแล้วแต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชน ยกเว้นเพียงอำนาจตุลาการเท่านั้น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาโดยประชาชนเป็นผู้เลือก การเลือกผู้พิพากษาที่เป็นคนในท้องถิ่นเข้าไปตัดสินคดีจะสามารถทำให้เข้าใจ รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น และไม่เป็นการไปกดทับความเป็นมนุษยชน และอำนาจที่มาจากประชาชนก็สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้
2.เสนอให้มีการร่างนโยบายที่มาจากประชาชนโดยแท้จริงและเสนอให้ยกเลิกการใช้ นโยบาย เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่เข้าใจในแก่นสารของนโยบายดัง กล่าว และมีการปฏิบัติตามนโยบายอย่างเข้าใจผิด เข้าไม่ถึงประชาชน และยัดเยียดการพัฒนา ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ดีถ้าผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เห็นว่าการแก้ปัญหาในพื้นที่ควรจะให้ประชาชนมีบทบาทในการกำหนดชะตากรรมของตน เอง และได้ร่วมกำหนดนโยบายที่เป็นของประชาชนเพื่อการแก้ปัญหาอย่างถูกทางและมี ส่วนร่วม
3.เสนอให้เลิกการใช้อำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ปิดกั้นการแสดงออก การละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนให้ดูแลรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ โดยให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นโดยไม่ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ
4.เสนอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก, พรก.ฉุกเฉิน และห้ามนำกฎหมายพิเศษมาใช้กับเหตุการณ์ทางการเมือง เพราะกฎหมายดังกล่าวล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างผู้บริสุทธิ์ โดยเสนอให้ใช้กฎหมายปกติในพื้นที่