ที่มา ประชาไท
20 ต.ค. 55 - หนังสือพิมพ์แนวหน้ารายงาน ว่าพระครูอรุณธรรมนุวัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุฟ้าผ่ายักษ์บริเวณพระปรางค์องค์เล็ก ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของวัดอรุณราชวราราม จนเศียรยักษ์หักออกเป็น 2 ท่อน ว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ห่วงใยวัดอรุณ ตั้งแต่ช่วงเช้ามีประชาชนให้ความสนใจ ความเสียหายของเศียรยักษ์ ซึ่งทั้งสื่อและประชาชนอาจจะมองถึงเหตุอาเพศ หรือลางร้าย แต่ก็ไม่อยากให้คิดเช่นนั้น อยากให้มองเป็นเรื่องของธรรมชาติ และเป็นอุบัติเหตุจากอุปกรณ์สายล่อฟ้าเก่าชำรุด หากมองอีกมุม เทวดาอาจจะมาอนุโมทนา ที่ทางรัฐบาล และทุกฝ่าย มาบูรณะพระปรางค์วัดอรุณ ซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ เป็นได้
ด้าน นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากร จะเข้าไปตั้งนั่งร้านในวันที่ 21 ต.ค. เพื่อบูรณะเศียรยักษ์บนพระปรางค์องค์เล็กของวัดอรุณแล้ว โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมทั้งจะตรวจสอบระบบสายล่อฟ้าว่า มีจุดใดชำรุดหรือไม่ เพื่อป้องกันเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก
นอกจากนี้ยังได้หารือกับ พระครูอรุณธรรมานุวัตร เกี่ยวกับการจัดระบบการเข้าเขตพุทธาวาสของวัดอรุณ เนื่องจากพบว่า ขณะนี้มีนักท่องเที่ยว หรือแม้แต่วัยรุ่นบางส่วน นุ่งสั้น และแต่งกายไม่เหมาะสมกับเขตวัดเป็นจำนวนมากขึ้น กรมศิลปากร จึงเห็นว่า ควรจะจัดสร้างห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าให้แก่ นักท่องเที่ยว หรือคนไทยเอง ได้เปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทางวัดได้เตรียมไว้ เช่น ผ้าถุง หรือเสื้อคลุ่มต่างๆ ที่สำคัญทางวัดและกรมศิลปากร เห็นด้วยกับการให้นักท่องเที่ยว หรือพุทธศาสนิกชน ถอดรองเท้าในเขตพุทธาวาส โดยเฉพาะการขึ้นบริเวณพระปรางค์ของวัดอรุณฯ เพราะพระปรางค์เป็นสถานที่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยให้ความเคารพอย่างสูง ให้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั้งของคนไทยและชาวต่างชาติในการเข้า วัด ทั้งนี้แนวทางดังกล่าว ในหลายประเทศที่มีพุทธศาสนสถานหรือวัด ก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น ในประเทศพม่า ต้องถอดรองเท้าตั้งแต่ทางเข้าวัด เป็นต้น
"เรื่องการนุ่งสั้น มีตัวอย่างให้เห็นที่วัดพระแก้ว หากคนไทยหรือชาวต่างชาติ แต่งกายไม่เหมาะสมก็จะไม่ให้เข้าเขตพระบรมมหาราชวัง ส่วนบริเวณวัดพระแก้ว ก็จะมีบางจุดที่ต้องถอดรองเท้า ซึ่งผมคิดว่า การถอดรองเท้าเข้าเขตพุทธาวาส เป็นสิ่งที่ดี และจะมีการนำร่องที่วัดอรุณฯเป็นแห่งแรกก่อน หลังจากนั้น จะประสานกับวัดสำคัญๆในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ใช้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน เพื่อให้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยและชาวต่างชาติในการ เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เคารพสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งจะต้องมีการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวให้เข้าใจธรรมเนียม ปฏิบัติดังกล่าวด้วย หากทุกฝ่ายร่วมกันปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะมีการขอความร่วมมือทุกวัดทั่วประเทศร่วมกันใช้แนวทางดัง กล่าว"อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว