ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ แฟ้มคดี
ห้วงเวลานี้ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างมากของรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
เพราะโดนเรื่องในทางลบรุมเร้าอย่างหนักหน่วง
ไม่ว่าเป็นปัญหาการเมืองทั้งกรณี 'คลิปลับ' คดียุบพรรคประชาธิปัตย์
ปัญหาฮึ่มๆ กับพรรคร่วมรัฐบาล
ล่าสุดเจอปัญหาภัยธรรมชาติน้ำท่วมอย่างรุนแรงซ้ำกระหน่ำ
จนถูกก่นด่าไปทั้งเมืองที่ไม่เตรียมแผนรับมือ
ไม่มีแม้กระทั่งศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยเหลือ
นี่ยังไม่นับเรื่องเก่าอย่างเหตุม็อบเสื้อแดง 91 ศพ
ที่แม้จะทำไม่รู้ไม่ชี้ แต่ก็ถูกทวงถามไม่เว้นวัน
ทั้งจากกลุ่มเสื้อแดง ที่รวมตัวเฉพาะกิจกันทุกสัปดาห์
และดูเหมือนผู้ชุมนุมจะมากขึ้นๆ ทุกๆครั้ง
และที่ส่งผลกระทบอย่างแรงอีกทางคือ
การติดตามทวงถามความคืบหน้าการตายของผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น
ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นบินมาคารวะที่เกิดเหตุด้วยตัวเอง
และยังให้เอกอัครราชทูตทวงถามความคืบหน้าเป็นระยะๆ
และคงจี้ถามต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่า
'คนของเขา' รวมไปถึง 'คนของเรา'
สูญเสียเพราะฝีมือของใครกันแน่!??
l 'แกนนอน'เสื้อแดงรวมพล
ถูกมองอย่างหยามหยันมาตั้งแต่แรกกับการรวมตัวของกลุ่ม 'วันอาทิตย์สีแดง'
นำโดย 'บ.ก.ลายจุด'นายสมบัติ บุญงามอนงค์
ซึ่งเคลื่อน ไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิตมาโดยสันติวิธี
เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าจะเน้นความรุนแรง
อย่างที่รัฐบาลรวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามสร้างภาพ
และออกประกาศ เตือนไม่ให้ประชาชนเข้าร่วม
จากห้วงแรกที่มีเพียงกลุ่มเล็กๆ เดินสายผูกผ้าแดงเป็นสัญลักษณ์ตามจุดต่างๆ
ที่มีผู้เสียชีวิต เริ่มมีกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมสมทบ
ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุดนัดรวมพลกันที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีคนฝ่าฝนไปร่วมเกือบ 3 หมื่นคน
ท่ามกลางปฏิบัติการของฝ่ายรัฐที่พยายามยับยั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งด่านสกัดจับ
ตรวจค้นแบบละเอียดยิบ หรือปล่อยข่าวจะเกิดเหตุวินาศกรรมระหว่างการชุมนุม ฯลฯ
แต่เหล่านั้นก็ไม่สามารถยับยั้งมวลชนที่ไปรวมตัวกัน
เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบกับทุกชีวิตที่สูญเสีย และบาดเจ็บ
รวมไปถึงการปลดปล่อย 'ผู้ต้องหา' ที่ถูกยัดห้องขังในคดีผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
การจับกุมผู้ชุมนุมในความผิดตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง
ที่แสดงให้เห็นถึง 2 มาตรฐาน' ระหว่างคนเสื้อเหลือง และเสื้อแดง
เพราะขณะที่กลุ่มเสื้อแดงถูกจับดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
ทั้งยังห้ามประกันตัว ในจำนวนนี้มีทั้งนักเรียน-นักศึกษารวมอยู่ด้วย
แต่เสื้อเหลือง ซึ่งถูกแจ้งข้อหาเดียวกันเมื่อครั้งชุมนุมยึดทำเนียบ และสนามบิน
ไม่มีสักคนเดียวที่ต้องติดคุกในข้อหาดังกล่าว
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลให้ทุกครั้งที่เสื้อแดงนัดชุมนุม จึงมีคนมาร่วมมากขึ้นๆ
จนนายสมบัติ ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็น 'แกนนอน' เพราะไม่อยากเป็นแกนนำ
ประกาศชัดเจนว่า 'เสื้อแดง' ยังไม่ตาย
และคงไม่มีวันตายจนกว่าจะทวงถามความยุติธรรม
ให้กับผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจากคำสั่งของรัฐบาลชุดนี้!!!
l ประกาศท้าทายไปเรื่อยๆ
ในการชุมนุมครั้งใหญ่ที่ จ.พระนครศรี อยุธยา นายสมบัติ
ประกาศเจตนารมณ์ท้าทายรัฐบาลไปเรื่อยๆ
"รัฐบาลพยายามส่งความกลัวมาให้ประชาชน
รัฐบาลเผด็จการและนิยมใช้วิธีหยิบอำนาจทางกฎหมาย
ตลอดจนอาวุธสงคราม เข้าเข่นฆ่าทำร้ายทำลายจนประชาชนหวาดกลัว
แม้แต่การขายรองเท้าแตะของที่นี่
ยังกลายเป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศชาติ
ซึ่งเป็นเรื่องแปลกไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่เป็นระดับโลกเลยก็ว่าได้"
'รองเท้าแตะ' ในที่นี้คือรองเท้าแตะ
ที่กลุ่มเสื้อแดงสกรีนรูปหน้านายอภิสิทธิ์ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศอฉ. ซึ่งเริ่มแพร่ระบาดไปทั่ว
ตำรวจเคยจับกุมแม่ค้าที่นำมาวางขายโดยอ้างว่าทำผิดพ.ร.บ.ความมั่นคง
นายสมบัติ ระบุอีกว่า
เรื่องผิดกฎหมายร้ายแรงอย่างการนำอาวุธสงครามไปยิงประชาชน
ปรากฏว่าดีเอสไอ หรือศอฉ.ยังไม่รู้ว่าใครยิง
ถามว่าถ้าอย่างนี้คนพวกนี้เรียกว่าอะไร ประเทศนี้มันตอแหลแรง
เรื่องนี้สะท้อนถึงการปกครองที่ไม่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย
ส่วนตัวไม่คาดหวังให้รัฐบาลมีจิตใจสำนึก
เพราะเคยขอร้องนายอภิสิทธิ์พูดคำว่าขอโทษกับประชาชน
แค่นี้ยังพูดไม่ได้ อ้างว่ากลัวเสียรูปคดี!??
"ประเด็นก็คือ ต้องการวาทกรรมการก่อการร้ายขึ้นมา
คนที่ตายทั้งหมดคือคนที่ก่อการร้าย โดยรัฐมีความชอบธรรม
แต่ถ้าขอโทษแสดงว่ารัฐบาลเป็นผู้ก่อการร้ายเสียเอง
และต้องรับผิดชอบต่อคนตาย ต่อสังคม และสิ่งที่กระทำลงไป"
บ.ก.ลายจุด ยืนยันว่า
ทุกวันอาทิตย์เราจะเพิ่มสีแดงให้มากยิ่งขึ้น ทุกจังหวัดทุกสัปดาห์
โดยใช้วิธี 1 คนชวน 1 คน
ถ้ารัฐบาลมีเวลาทำงาน 70 สัปดาห์
ขณะที่คนเสื้อแดงมี 50,000 คน ภายใน 1 สัปดาห์
จะมีคนเสื้อแดงเพิ่มขึ้นอีก 50,000 คน
ถ้าทำไปเรื่อยๆ จนได้ 10 ล้านคน เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
l ทูตญี่ปุ่นจี้อีก-ฆ่านักข่าว
ไม่เพียงแต่กลุ่มเสื้อแดงที่รวมพล
เพื่อเรียกร้องหาผู้ก่อเหตุฆ่าหมู่คนไทยด้วยกันเท่านั้น
แต่ที่ส่งผลสะเทือนไม่น้อยไปยังรัฐบาลโดยตรง คือ
กรณีผู้สื่อข่าวต่างชาติ 2 รายมาเสียชีวิตระหว่างทำข่าวม็อบเสื้อแดง
คือ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์
ซึ่งถูกยิงตายวัน 'ขอคืนพื้นที่' 10 เมษายน และ
นายฟาบิโอ โพเลนกี นักข่าวอิสระชาวอิตาลี
ในส่วนของนายฮิโรยูกิ
ตำรวจสน.ชนะ สงคราม เจ้าของพื้นที่เคยสอบปากคำพยานหลายปาก
ให้การตรงกันว่า เห็นกระสุนพุ่งมาจาก 'แนว ทหาร'
เพราะนายฮิโรยูกิ ถูกยิงขณะอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม
ที่กำลังประจันหน้ากับฝ่ายทหาร บริเวณใกล้โรงเรียนสตรีวิทยา
ในภายหลังที่คดีนี้โอนไปให้ดีเอสไอ
สำนวนการสอบปากคำพยานชุดนี้เหมือนถูกเก็บใส่ลิ้นชัก!??
และผ่านเวลามาหลายเดือนก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
หลังเกิดเหตุนายคัตซึยะ โอกาดะ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น
เดินทางมาวางดอกไม้และคารวะดวงวิญญาณของเพื่อนร่วมชาติบริเวณจุดเกิดเหตุ
การที่รมว.ต่างประเทศ ซึ่งในรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลกถือว่
าเป็นผู้บริหารประเทศลำดับต้นๆ และมีความสำคัญเป็นรองก็แค่ผู้นำเท่านั้น
เพราะ เป็นเสมือนตัวแทนประเทศ มาแสดงออกเช่นนี้ถือว่าไม่ธรรมดา
แต่รัฐบาลไทยดูเหมือนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักในการคลี่คลายคดีนี้
ดีเอสไอได้แต่อ้ำๆ อึ้งๆ
พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องว่าอยู่ระหว่างการสอบสวน
จึงทำให้ นายโนบุเอกิ อิโต อัครราชทูต
ฝ่ายการเมือง ของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
นายจุน มารุยาม่า เลขานุการเอกและผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ
นายซึคาสะ โอโมริ เลขานุการโท ต้องออกมาจี้เรื่องนี้อีกครั้ง
ระหว่างไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา
นายโนบุเอกิ กล่าวว่า สถานทูตญี่ปุ่น ต้อง การทราบว่า
นายฮิโรยูกิ เสียชีวิตจากสาเหตุใด และใครเป็นคนฆ่า
เพราะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น อดีตรมต. และรมว.ต่างประเทศญี่ปุ่นคนปัจจุบัน
ให้ความสนใจในคดีนี้มาก
"หลังสิ้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยบอกว่า
คดีจะสรุปภายใน 60 วัน และ
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
บอกจะสรุปภายใน 45 วัน แต่สงสัยว่าจนถึงขณะนี้มีความคืบหน้าไปเท่าไหร่แล้ว"
l งามหน้าสื่อโลกลดอันดับ
การตายของนักข่าวต่างชาติ รวมไปถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น
ยังส่งผลกระทบด้านลบให้เมืองไทย
เมื่อองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอส เอฟ)
ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จัดอันดับเสรีภาพสื่อในประเทศไทย
ให้อยู่อันดับ 153 จากทั้งหมด 178 ประเทศ
ประเทศไทยตกมาถึง 23 อันดับเมื่อเทียบปีที่แล้ว
ดีกว่าฟิลิปปินส์ ที่อยู่อันดับ 156 เพียงนิดเดียวเท่านั้น
โดยฟิลิปปินส์
เกิดเหตุสังหารหมู่นักข่าว 30 คนที่ลงพื้นที่หาเสียงพร้อมนักการเมือง
ในจังหวัดมากินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศ
ซึ่งนับเป็นการโจมตีผู้สื่อข่าวที่ร้ายแรงที่สุดในโลก
ทั้งการที่สื่อโลกออกมาลดอันดับ ที่เหมือนกับตบหน้าเมืองไทย
และประจานไปทั่วโลก การออกมาจี้คดีของสถานทูตญี่ปุ่น
รวมไปถึงความเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ
ของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง
จะทำให้เหตุฆ่าหมู่กลางกรุงเทพฯ ถูกพูดถึงไปเรื่อยๆ
โดยยากที่จะให้คนส่วนใหญ่ลืมเลือนไปได้
และเชื่อว่าทุกอย่างจะไม่ยุติง่ายๆ จนกว่าจะมีผู้รับผิดชอบต่อการตายครั้งนี้
แม้ตอนนี้การหาข้อเท็จจริงจะทำไม่ได้ หรือไม่อยากทำ
เพราะผู้รับผิดชอบ
หรือผู้เกี่ยวข้องกับการตายหมู่ 91 ศพยังมีอำนาจมากมายในมือ
แต่บุคคลเหล่านี้ย่อมไม่สามารถสืบทอดอำนาจไปได้ตลอดกาล!??