ที่มา thaifreenews
ปรองดองฉบับ “นิติราษฎร์” จำแนก 4 กลุ่มก่อนนิรโทษกรรม
นิติราษฎร์เสนอการจำแนกกลุ่มต่างๆ เพื่อนิรโทษกรรมกับติดตามลงโทษ บนฐานค้นหา
“ความจริง” โดยเสนอเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมยันเคลื่อนต่องานช้าง
ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ที่จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล และสถาบันการเมือง
ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า ตนไม่ชอบคำว่า ปรองดอง เพราะถูกคนกลุ่มหนึ่งนำไปใช้เรียบร้อยแล้ว และความหมายที่แท้จริงก็ถูกใช้อย่างบิดเบือน ส่วนข้อเสนอของเรา เราเคยคุยในหมู่นิติราษฎร์มาแล้วหลายครั้ง และได้ข้อสรุปตามคำประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ 34 (ซึ่งจะออกฉบับสมบูรณ์ประมาณเดือนมิถุนายน) คือ หนึ่งเราจะไม่นิรโทษกรรมทุกฝ่าย หรือยึดตามแบบข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า เพราะว่าสถาบันพระปกเกล้าไม่พูดเรื่องม.112 และใครทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
แต่สิ่งที่คณะนิติราษฎร์จะทำ คือ เราจะไม่นิรโทษกรรมกับเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการทั้งหลาย เพราะประเทศไทยเกิดเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งหลายหน ถ้าเรายอมให้ทำแบบนี้ต่อไปก็จะเกิดการฆ่าหมู่ทางการเมืองอีก ครั้งนี้ต้องยืนยันว่าจะไม่ทำแบบนั้นอีกต่อไป หมายความว่าเราเสนอให้สืบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการให้หมด
ทีนี้มาดูรายละเอียดว่าเราจะทำแบบไหน ทุกวันนี้เวลาเราพูดเรื่องนิรโทษกรรมจะพูดแบบเหมารวมหมด ซึ่งเราไม่เอา ในขณะเดียวกันหลายฝ่ายก็รู้สึกอ่อนล้าจากความขัดแย้ง ก็อยากเคลียร์ให้จบ เราจึงเสนอว่าต้องแยกการกระทำออกมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร49 ออกมาเป็นชุด ดังนี้
หนึ่ง การกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้สั่งการทั้งหลาย จะไม่มีการนิรโทษกรรม จะต้องมีการสืบสวนข้อเท็จจริงกันต่อไปว่าใครเป็นคนสั่ง ใครกระทำความผิด ซึ่งจากข้อเสนอนี้ก็มีข้อโต้แย้งว่า "ดูเจ้าคิดเจ้าแค้นมากเกินไป เจ้าหน้าที่ผู้น้อยที่ทำตามคำสั่งของผู้บัญชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จะทำ อย่างไร ทำไมถึงไม่ปล่อยเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย" อยากเรียนว่า ตามกฎหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา17เขียนไว้ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการไปโดยสมควรแก่เหตุ ไม่เลือกปฏิบัติ ทำตามอำนาจของตุลาการ เจ้าหน้าที่ก็จะพ้นผิดโดยอัตโนมัติ หมายความว่า หากไม่กระทำเกินกว่าเหตุ เช่น เจตนาไปยิงคนตายด้วยสไนเปอร์ เลือกปฏิบัติ เจตนาฆ่า ก็จะพ้นผิดตามกฎหมายโดยไม่ต้องใช้การนิรโทษกรรม
สอง กลุ่มผู้ชุมนุมหรือบรรดาประชาชนทั้งหลาย ซึ่งเราตั้งคำถามไว้ว่า คนที่ถูกกล่าวหา หรือมีความผิดละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือกฎหมายความมั่นคง และคดีอาญาที่ลหุโทษ มีความผิดเล็กๆน้อยๆ พวกนี้เสนอให้นิรโทษทันที
สาม คือกลุ่มที่ไม่เข้ากลุ่มที่หนึ่งและสอง คือ ประชาชนทั่วไปที่มีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งการเมือง มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองที่เชื่อมโยงมาตั้งแต่ 19 กันยาฯ เราไม่นิรโทษกรรมทันที แต่ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่าเกี่ยวกับรัฐประหาร 19 กันยาฯหรือไม่ ถ้าเกี่ยวกับ 19 กันยาฯ นิรโทษ ไม่เกี่ยวกับ 19 กันยา ไม่นิรโทษต้องดำเนินคดีต่อ ในระหว่างที่กรรมการชุดนี้กำลังวินิจฉัยชี้ขาดว่าเกี่ยวกับความขัดแย้ง 19 กันยาฯหรือไม่ คนที่ถูกจับกุมคุมขังให้มีการปล่อยไปก่อน แล้วค่อยพิจารณาโทษ
สี่ กลุ่มที่โดนคำพิพากษาตัดสินให้จำคุกหรือยังมีคดีติดตัว ที่เป็นคดีที่ริเริ่มมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสีย หายแก่รัฐ (คตส.) เสนอให้ (ตามข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร) เริ่มต้นคดีใหม่ทั้งหมด เช่น คดีทักษิณก็ให้เริ่มต้นใหม่คดีใหม่ แต่ไม่นิรโทษกรรมคุณทักษิณ
ฉะนั้นจะเห็นว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ใช่
การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง
การที่จะทำให้ข้อเสนอนี้เป็นรูปธรรมได้ เราเสนอให้ทำในกรอบของรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องการขัดรัฐธรรมนูญ เช่น ถ้าทำในรูปของพ.ร.บ.ก็อาจจะมีคนไปร้องว่า ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไปลบล้างคำพิพากษา ไปแทรกแซงอำนาจศาลหรือกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นจึงนำไปใส่ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้การเขียนในรัฐธรรมนูญยังมีข้อดีแฝงไว้ คือ ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอได้ โดยใช้ชื่อ 50,000 ชื่อ
ข้อเสนอของนิติราษฎร์มีมาก จนหลายคนงงว่าจะทำอะไรกันบ้าง ซึ่งภายในระยะหนึ่งปีข้างหน้าที่คิดว่าจะต้องทำให้มากขึ้น คือ
หนึ่ง เรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหารตามที่ได้เสนอไปเมื่อปีที่แล้ว การลบล้างผลพวงรัฐประหารต้องทำเพื่อเป็นการทำลายสถาบันรัฐประหารในสังคมไทย ถ้าทำสำเร็จจะไม่มีใครกล้าทำรัฐประหาร
สอง ดำเนินการขจัดความขัดแย้งตามสูตรของนิติราษฎร์ตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งจะทำให้การสังหารหมู่ประชาชนยากมากขึ้นเพราะจะถูกดำเนินคดีหมด
สาม ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ และสถาบันการเมือง เพื่อปรับโครงสร้างของประเทศ ถ้าทำสำเร็จ โครงสร้างทางสมดุลอำนาจของประเทศจะเปลี่ยนไปมาก
อันนี้เป็นประเด็นในทางกฎหมาย ในทางการเมืองการปรองดองที่กำลังจะทำกันอยู่อย่างข้อเสนอของสถาบันพระปก เกล้า ซึ่งตนเห็นว่ามีข้อดีอยู่ เช่น บทที่ว่าด้วยตัวอย่างการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองจากต่างประเทศ 10 ประเทศ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องทฤษฎี เกี่ยวกับความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน และทฤษฎีเรื่องความปรองดองแห่งชาติ แต่สองส่วนที่ดีมากนี้ถูกทำลายลงทั้งหมดจากข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าฯเอง เพราะทฤษฎี เกี่ยวกับความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน และทฤษฎีเรื่องความปรองดองแห่งชาติ ไม่ว่าจะใช้ตำรากี่เล่มก็เหมือน กันหมด คือ ต้องพูดความจริง ประเด็นต้นเหตุความขัดแย้งต้องกล้าพูดออกมาให้หมดทุกเรื่อง แต่ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าไม่พูดเรื่องม.112 ใครทำรัฐประหารก็ไม่พูด เรื่องสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ให้พูดแล้วจะปรองดองกันได้อย่างไร
ธีระ สุธีวรางกูร นักวิชาการคณะนิติ ราษฎร์ กล่าวว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์ ใจความสำคัญจะอยู่กับสถาบันหลักๆ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ และศาล เรา จึงถูกตั้งคำถามมากว่าเป็นใครมาจากไหนถึงมาแตะในเรื่องที่สำคัญอย่างนี้ พวกเราคิดว่า เรื่องที่สมควรจะพูดบ้าง มันต้องควรมีคนพูด คนที่มีความสามารถพูดก็ไม่ยอมพูด เราก็เลยต้องออกมาพูด ในช่วงที่ผ่านมา เราก็เจอศึกหนักมากมาย
เรา ก็ต้องมาคุยกันว่าบทบาทของเราจะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญก็ต้องทำ การประกาศไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ทำให้กองทัพไม่พอใจ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้น และเราต้องทำความเข้าใจ คือ อาจมีพรรคการเมืองไม่พอใจพวกเรา สถาบันต่างๆ อาจมองพวกเราว่าพวกอยู่ไม่สุข ตนต้องการรับฟังคำแนะนำด้วยว่าถ้าผมเจอเหตุการณ์แบบนี้ ผมควรจะปฏิบัติอย่างไร ความเห็นของท่านอาจจะเข้าสู่ที่ประชุมของนิติราษฎร์ด้วย
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า เวลานิติราษฎร์เสนออะไรไป เราไม่ได้เรียกร้องให้พวกท่านเชื่อ หรือทำตาม ถ้าท่านอ่านแล้วก็เพิ่มเติมเหตุผล ณ ปัจจุบันสิ่งที่นิติราษฎร์ต้องการคือให้สังคมนำข้อเสนอนิติราษฎร์ไปพูดคุย กันด้วยเหตุผล อ่านแล้วจะเห็นแย้ง หรือเห็นต่าง ก็คุยกันด้วยเหตุผล นี่คือ สิ่งที่นิติราษฎร์เสนอโดยผ่านมุมมองของกฎหมาย
ที่มา: เว็บไซต์ประชาธรรม
http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_20052012_01