ที่มา Voice TV
ส.ส.ร.ปี 2540 ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน
โดยเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติในการสั่งชะลอแก้ไข
รัฐธรรมนูญวาระ 3 ด้านอัยการสูงสุดย้ำหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
จะต้องเป็นมาตราแรก ๆ ที่ต้องแก้ไข เหตุเพราะถูกตีความกว้างมากเกินไป
จนกลายเป็นปัญหา
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เกือบ 20 คน นำโดยนายคณิน บุญสุวรรณ
พลตำรวจเอก สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ และ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช
นัดประชุมหารือถึงการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับวินิจฉัยคำร้องแก้รัฐ
ธรรมนูญตามมาตรา 68
โดยเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับคำร้องจากบุคคลโดยตรงได้
เนื่องจากตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ
บัญญัติให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเท่านั้น
และตาม มาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นต้นแบบของมาตรา 68
ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ก็บัญญัติให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถตีความขยายอำนาจแล้วรับคำร้องจากบุคคลโดยตรง
และสั่งชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการใช้อำนาจก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติ
อย่างชัดเจน
ด้านศาสตราจารย์พิเศษจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด
กล่าวระหว่างการสัมมนารับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการ
พัฒนากฎหมาย ถึงปัญหาของมาตรา 68
ที่ให้สิทธิ์แก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐ
ธรรมนูญว่า กฎหมายมาตรานี้ถูกตีความกว้างเกินไป หากมีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา
68 จะต้องเป็นมาตราแรกที่ต้องได้รับการแก้ไข
โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับเรื่อง
และการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้รัฐสภานั้นเข้าข่าย
เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่
นายจุลสิงห์
ยังกล่าวถึงการที่อัยการสูงสุดไม่ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่มี
ผู้ร้องยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาใน
ขณะนี้อาจเข้าข่ายเป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง ตามมาตรา 68ว่า
มาตรานี้กำหนดชัดเจน
ต้องเป็นการกระทำเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภานั้นเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้อยู่
แล้ว จึงไม่เข้าข่ายตามมาตรา 68 จึงไม่ยื่นเรื่องสั่งฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ