ที่มา ประชาไท
Wed, 2012-06-27 17:29
ในการรายการสัมมนาเรื่อง "จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี
ประชาธิปไตย" โดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันนโยบายศึกษา
โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ที่อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น
ในการสัมมนาวันแรกคือวันที่ 21 มิ.ย. ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้นำเสนอหัวข้อ
"ทัศนียภาพของการต่อต้าน: เรื่องเล่าของการปฏิวัติสยามในสื่อร่วมสมัย"
โดยการนำเสนอดังกล่าว
ผู้นำเสนอระบุไว้ในบทคัดย่อว่าเป็นการนำเอาแนวคิดเรื่องการจ้องมอง (the
gaze) มาเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้กรอบศึกษาวัฒนธรรมทัศนา (visual culture)
หรือวัฒนธรรมทางสายตา
มาพิจารณาวามเป็นการเมืองของสื่อร่วมสมัยกับการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการ
ปฏิวัติสยามและการเมืองร่วมสมัย
ซึ่งจะเห็นได้ว่าการมองเห็นมิใช่เพียงแค่การอ่านหรือการมองเห็นเพื่อความสุข
เพลิดเพลินจากการได้เห็นสิ่งสวยงามแต่อย่างเดียว
เพราะถึงแม้มนุษย์ได้สร้างสรรค์วัตถุในรูปแบบและวิธีการต่างๆ
เพื่อความสุขเพลิดเพลินจากการมองเห็น เช่น อาคาร งานศิลปะ หรือภาพยนตร์
ตลอดจนสื่อร่วมสมัยอย่างอินเทอร์เน็ตมีนัยสำคัญต่อการสร้างหรือแต่งเติม
เพิ่มความหมายและนำไปสู่การรับรู้เกี่ยวกับ 2475
และสร้างวาทกรรมประชาธิปไตยในหลากมุมมอง
ทั้งส่วนที่เป็นการสนับสนุนและยอมรับความสำคัญของการปฏิวัติสยาม
ในขณะที่ภาพและเรื่องเล่าที่ปรากฏในสื่อจำนวนไม่น้อยพยายามลดทอนความสำคัญ
ของการปฏิวัติสยาม และทำให้กลายเป็นเพียงปัญหาเรื่องความไม่พร้อม
การชิงสุกก่อนห่าม การเร่งรุกสร้างประชาธิไตยมากเกินไป
และทำให้เกิดรอยด่างในทฤษฎีรัฎฐาธิปัตย์ของไทย เป็นต้น
ในบทความจะได้สำรวจแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมทัศนา
พัฒนาการเรื่องเล่าเกี่ยวกับศิลปะในไทย แนวคิดเรื่องพระราชนิยม
การสร้างแบบความงามผ่านสถาบันการศึกษาด้านศิลปะที่สำคัญ เช่น
มหาวิทยาลัยศิลปากร และผลงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทย
การนำเสนอยังชี้ให้เห็นว่า
พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้การแพร่หลายของสื่อมีมากขึ้นและขยายเรื่องเล่าของ
การปฏิวัติสยาม ตลอดจนพยายามเชื่อมโยงการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในหลายมิติ
และในตอนท้ายยังมีการนำเสนอถึงตำแหน่งแห่งที่และสุนทรียศาสตร์ของการต่อสู้
ในวาทกรรมประชาธิปไตยที่ปรากฏในสื่อบนท้องถนนอีกด้วย