ที่มา ประชาไท
Fri, 2012-06-22 04:44
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการ ทหาร และพลเรือน นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ทำการปฏิวัติประชาธิปไตย เปลี่ยนผ่านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทำให้สังคมไทยมีความเจริญก้าวหน้าในหลายด้านด้วยกัน อาทิ ในทางการเมือง-การปกครอง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และเป็นครั้งแรกที่ได้ประกาศให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และยังดำเนินการให้ไทยเป็นเอกราชสมบูรณ์ด้วยการยกเลิกสนธิสัญญาเสียเปรียบ กับนานาชาติ รวมทั้งออกกฎหมายให้ทันสมัย ในทางสังคม ได้ยกเลิกอภิสิทธิ์ตามฐานันดรของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ และยกระดับการศึกษาทั้งในภาคบังคับ และการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ในทางเศรษฐกิจ มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ สร้างสาธารณูปโภค ปรับปรุงระบบภาษี ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก นับได้ว่าการปฏิวัติ 2475 ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น เนื่องจากคณะราษฎรมีฐานอำนาจอยู่กับข้าราชการขุนนางเป็นหลัก ยังไม่มีฐานอำนาจจากประชาชน จึงประนีประนอมกับกลุ่มขุนนางนิยมเจ้า ไม่ได้รื้อทิ้งโครงสร้างเดิมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้หมดไป ในที่สุดฝ่ายทหารของกลุ่มนิยมเจ้าก่อการรัฐประหาร ทำลายล้างคณะราษฎรจนหมดอำนาจทางการเมือง ในขณะเดียวกันได้ฟื้นฟูอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นพลังการเมืองจารีตนิยมที่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนา ประชาธิปไตย และความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้
อาจกล่าวได้ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมายังไม่แล้วเสร็จ เจตนารมณ์คณะราษฎรถูกทำลายและถูกบิดเบือน ดังเช่นวันชาติไทย 24 มิถุนายน และการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ถูกทำลายไป ตลอดจนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มักจะอ่อนแอและต้องสยบยอมกับอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งครอบงำอยู่เหนืออำนาจทางการทหาร และตุลาการในสังคมไทย
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำลายประชาธิปไตยและนิติรัฐลงไปจนย่อยยับ นำความหายนะมาสู่สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจตุลาการได้ยอมรับการรัฐประหารและกลายเป็นเครื่องมือ การแทรกแซงทางการเมือง อันเป็นที่มาของปัญหาสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม จนสร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย
ประชาชนได้รวมตัวกันต่อต้านการรัฐประหาร และผลผลิตของการรัฐประหาร จนถูกเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้อาศัยสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ด้วยการใช้มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ดำเนินคดีและจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองจำนวนมาก
ในโอกาสครบรอบ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. สนับสนุน พรบ.ปรองดองที่เสนอโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และปลดปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน ซึ่งถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งนี้ ยกเว้นความผิดที่มีต่อชีวิตและการก่อการร้าย
2. รัฐบาลต้องเปิดเผยความจริงทั้งหมดในเหตุการณ์สังหารโหดทางการเมืองระหว่าง เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อยู่เบื้องหลังและผู้สั่งการ เพื่อให้มีการดำเนินคดี และให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียชีวิต
3. รัฐบาลต้องลงสัตยาบรรณรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงกระทำต่อประชาชนในอนาคต
4. รัฐบาลต้องประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันชาติไทย และจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อสร้างคุณค่าประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
5. รัฐบาลต้องแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
6. รัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เป็นประชาธิปไตย ทำการปฏิรูปกองทัพให้มีทหารอาชีพรับใช้ประเทศชาติ และประชาชน ปฏิรูปตุลาการให้เชื่อมโยงกับประชาชน และเป็นหลักประกันในกระบวนการยุติธรรม ทำการแก้ไขเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม แก้ไขความยากจน จัดทำระบบภาษีก้าวหน้า สร้างรัฐสวัสดิการอย่างทั่วถึง
ประชาชนต้องสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในสังคมไทย เป็นไปตามเจตนารมณ์ 24 มิถุนายน 2475 มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ ไม่กลัวความยากลำบาก ในที่สุดชัยชนะย่อมเป็นของประชาชนอย่างแน่นอน