ที่มา ประชาไท
Thu, 2012-06-21 02:23
ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ จะเป็นประธานในการประชุมลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพอีกครั้ง โดยมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยมีวาระที่สำคัญ คือ การรักษาโรคเอดส์และไตวายเรื้อรังมาตรฐานเดียว ในโอกาสนี้อยากจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้เพิ่มการรักษาโรคมะเร็งมาตรฐานเดียว ทั้ง 3 กองทุนด้วย โดยมีเหตุผลดังนี้
1) มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2548-2552 พบว่า สาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 1 ของคนไทย คือ โรคมะเร็ง ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด ทั้งสิ้น 56,058 คน คิดเป็น อัตราการตาย 88.34 ต่อ 100,000 คน รองลงมา คือ อุบัติเหตุและการเป็นพิษ 35,304 คน คิดเป็น 55.63 ต่อ 100,000 คน โรคหัวใจ 18,375 คน คิดเป็น 28.96 ต่อ 100,000 คน ตามลำดับ จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า มะเร็งเป็นทุกข์อันดับ 1 ของคนไทย
2) สิทธิประโยชน์ การจ่ายเงินให้หน่วยบริการ แนวทางการรักษา และการเข้าถึงยาราคาแพง มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้สวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่ครอบคลุมผู้มีสิทธิจำนวน 5 ล้านคนนั้น มีสิทธิประโยชน์ วิธีการจ่ายเงินให้หน่วยบริการ ตลอดจนการเข้าถึงยาราคาแพงดีที่สุด โดยจะขอยกตัวอย่างราคาแพง จำนวน 6 ชนิด อยู่ภายใต้ “โครงการเบิกจ่ายตรงสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งค่าใช้จ่ายสูง (OCPA)” ของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการฯ ที่ดูแลโดยกรมบัญชีกลาง มีรายละเอียดดังตารางที่ 1 ดังนี้
3) คุณภาพการรักษา โดยพิจารณาจากอัตราการรอดเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ ระหว่าง 2 ระบบ คือ บัตรทองและประกันสังคม โดยใช้ข้อมูล ปี 2552 และ 2553 พบว่า โรคมะเร็งตับ พบว่าผู้ป่วยของบัตรทองมีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 12.4 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 52.9 และ 50.5 ตามลำดับ และผู้ป่วยระบบประกันสังคม มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 5.3 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 29.6 และ 12.4 ตามลำดับ โรคมะเร็งปอด พบว่าผู้ป่วยของบัตรทอง มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 14.6 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 63.3 และ 60.2 ตามลำดับ และผู้ป่วยระบบประกันสังคม มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 7.3 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 29.5 และ 17.2 ตามลำดับ มะเร็งปากมดลูก พบว่าผู้ป่วยบัตรทอง มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 20.1 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 89.1 และ 85.0 ตามลำดับ และผู้ป่วยระบบประกันสังคม มีระยะเวลารอดชีวิตเฉลี่ย 14.8 เดือน อัตรารอดชีวิตในระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 75.0 และ 64.5 ตามลำดับ ผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าในภาพรวมนั้นผู้ป่วยภายใต้บัตรทองได้รับ การดูที่ดีกว่าระบบประกันสังคม
ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของคนไทย การได้รับยาราคาแพง รวมทั้งคุณภาพการรักษาขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ภายใต้กองทุนอะไร ดังนั้นจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ คือ
1)
ปรับสิทธิประโยชน์ และวิธีการรักษามะเร็งทุกโรค ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพง ที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 ระบบ
2) ปรับวิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการ ให้เป็นอัตราเดียวกัน ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก โดยเฉพาะผู้ป่วยในขอให้จ่ายอัตราต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ (relative weight, RW) ที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ
3) ขอให้รัฐบาล ให้ความสำคัญกับการรณรงค์ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ (primary prevention) และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง (risk group finding) เช่น การตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิใบไม้ในตับ การใช้สารเคมีในอาหาร เป็นต้น เพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้เป็นมะเร็ง
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า มะเร็งนั้นเป็นทุกข์อันดับหนึ่งของคนไทยในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมียาใหม่ๆ ดีๆ แต่คนไทยกว่า 60 ล้านคนก็ไม่มีสิทธิเข้าถึง มีเฉพาะข้าราชการและครอบครัวเพียง 5 ล้านคน เท่านั้น ที่เหลือหากอยากได้ยาก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง คงมีแต่เศรษฐีเท่านั้นที่มีโอกาสได้ใช้ยาราคาแพงเหล่านี้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่