ที่มา ประชาไท
พีระศักดิ์ ชัยธรรม
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รวบรวมพยานหลักฐานออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวนบันทึกหลักฐานเป็นวี ดีโอเทปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จึงขอศาลอนุมัติหมายจับ จนกระทั่งวันที่ 30 เมษายน 2554 เมื่อนายสมยศได้นำคณะท่องเที่ยวไปกัมพูชา ได้ยื่นเอกสารการเดินทางให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จึงถูกจับกุมตัวนำส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำตัวไปขังไว้กองปราบปรามอยู่ 2 คืน แล้วส่งไปฝากขังต่อ 84 วันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2554
วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 พนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญารัชดาภิเษก กล่าวหาว่านายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นผู้จัดทำ จัดจำหน่ายนิตยสาร Voice of Taksin ปีที่ 1 ฉบับที่ 15 ปักษ์หลังกุมภาพันธ์ 2553 หน้าที่ 44 – 47 และฉบับที่ 16 ปักษ์แรกมีนาคม 2553 เรื่อง 6 ตุลา แห่งปี 2553 หน้าที่ 45 – 47 ทั้งสองบทความเป็นของผู้ใช้นามปากกา “จิตร พลจันทร์” มีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ในวันที่ 12 กันยายน 2554 ศาลนัดพร้อมตรวจสอบบัญชีพยานฝ่ายโจทก์ – จำเลย และนัดหมายการไต่สวน โดยเริ่มจากการสืบพยานโจทก์ที่ต่างจังหวัดประกับไปด้วยจังหวัดสระแก้ววัน ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 จังหวัดเพชรบูรณ์วันที่ 19 ธันวาคม 2554 จังหวัดนครสวรรค์วันที่ 16 มกราคม 2555 จังหวัดสงขลาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555
นายสุวิทย์ ทองนวลและนายคารม พลพรกลาง ทนายความ ได้ยื่นคำร้องให้การสืบพยานฝ่ายโจทก์ในต่างจังหวัดให้มาไต่สวนที่กรุงเทพ โดยทางฝ่ายจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ทั้งนี้เนื่องจากการเคลื่อนย้ายนักโทษจากเรือนจำกรุงเทพไปต่างจังหวัดจะ ต้องถูกล่ามโซ่ ตีตรวน ไม่อนุญาตให้เข้าห้องน้ำระหว่างเดินทางเพื่อป้องกันการหลบหนี อีกทั้งยังต้องถูกคุมขังในเรือนจำในแต่ละจังหวัดล่วงหน้าเป็นเวลานาน โดยที่นายสมยศ ได้เปิดเผยว่าเรือนจำต่างจังหวัดมักมีสภาพแออัด สภาพความเป็นอยู่ยากลำบากเป็นอย่างมาก สภาพเช่นนี้ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานนักโทษ แต่ศาลยกคำร้องดังกล่าว นายสมยศ จึงต้องทุกข์ทรมานเป็นเวลากว่า 5 เดือนด้วยกัน (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์)
พยานฝ่ายโจทก์ประกอบไปด้วยทหาร, นักศึกษาฝึกงานที่ DSI, เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ, เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, พนักงานสอบสวน, พนักงานนิตยสาร Voice of Taksin ทั้งหมด, ได้อ่านบทความทั้งสองฉบับที่ทางพนักงานสอบสวน DSI นำมาให้อ่าน โดยเน้นเฉพาะข้อความบางท่อนเป็นการเฉพาะเจาะจงที่มีความเห็นกันว่า บทความทั้งสองใช้ชื่อตัวละคร เป็นการสื่อความหมายที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
ทนายความได้ซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ เกิดขึ้นจากการดำเนินคดีของ DSI ในภาวะความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งมีฝ่ายหนึ่งใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่อง มือทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นเหตุให้การดำเนินคดีความมาตรา 112 ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
พยานฝ่ายจำเลยประกอบด้วยนักวิชาการ คนเสื้อแดง กรรมการสิทธิมนุษยชน นายสมยศ ได้เบิกความในชั้นศาลว่า ไม่ใช่ผู้เขียนบทความดังกล่าว แต่เป็นนายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเขียนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ฉบับที่ 2 เป็นต้นมา ได้อ่านอย่างคราว ๆ พบว่าเป็นงานเชิงวรรณกรรมการเมือง มีข้อความสื่อความหมายถึง ฝ่ายอำมาตย์ทั้งในด้านรูปภาพประกอบ และเนื้อหาที่ปรากฏ อีกทั้งผู้เขียนเป็นอดีตรัฐมนตรี เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นงานเขียนประจำ และต่อเนื่อง และถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่ละคน ไม่ใช่บรรณาธิการที่ต้องรับผิดตามกฎหมายเป็นไปตาม พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550
เช่นเดียวกับนักวิชาการอาทิ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล, ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ดร.สุดสงวน สุธีสร และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเห็นว่าบทความสื่อความหมายถึงกลุ่มอำมาตย์หรือกลุ่มนิยมเจ้า (Royalist) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทาง การเมืองที่ผ่านมา
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังระบุอีกว่าทั้งสองบทความมีเจตนาจะเตือนสติให้ทุกฝ่ายระมัดระวังในเรื่อง ความรุนแรงเพราะความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตมักนำมาสู่ความรุนแรง
นายสุวิทย์ ทองนวลและนายคารม พลพรกลาง ทนายความ ยังได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวล กฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2550 โดยคำร้องระบุว่ามาตรา 112 ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดไว้ ซึ่งเท่ากับไม่ให้โอกาสฝ่ายที่ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ความจริงว่า ไม่ได้กระทำความผิดซึ่งเป็นการกำจัดสิทธิประชาชน อีกทั้งไม่ควรจัดความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามมาตรา 112 ไว้ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงควรเป็นเรื่องที่กระทบต่อการดำรงอยู่ ของราชอาณาจักรหรือประเทศชาติเท่านั้น
ในขณะที่การกำหนดโทษจำคุก 3 – 5 ปี ไม่สอดคล้องกับหลักพอสมควรแก่เหตุ เมื่อเทียบกับมาตรา 116 ซึ่งเป็นการกระทำที่มีความร้ายแรงมากกว่า 112 การกระทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย การก่อความไม่สงบ ฯลฯ กำหนดเพียงไม่เกิน 7 ปี โดยมิได้ระบุโทษขั้นต่ำไว้ ซึ่งทำให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจในการลงโทษจำคุกแก่ผู้ที่กระทำความผิดตาม มาตรานี้ต่ำเท่าใดก็ได้
ในคำร้องดังกล่าวยังระบุอีกว่า พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐ ธรรมนูญ การดูหมิ่นกษัตริย์จะกำหนดโทษสูงกว่าการดูหมิ่นกฎหมายบ้านเมืองไม่ได้แต่ อย่างใด เพราะเท่ากับนำสถานะของพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับ หลักการประชาธิปไตย
นายสมยศ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังจากการไต่สวนเสร็จสิ้นว่า “ได้ พูดความจริงทั้งหมดแล้ว ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนที่เปิดกว้างสำหรับเสรีภาพทางความคิดเห็น ยังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเต็มที่ เพราะเป็นเพียงเหยื่อของกฎหมายไม่เป็นธรรม ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน”
การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนเชิดชูบูชาหรือการ ต่อต้านคัดค้านถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ใช่อาชญากรที่ต้องถูกลงโทษทัณฑ์ด้วยการจองจำ จนสูญเสียอิสรภาพเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน
การต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขา และเป็นการยืนยันในสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการต่อสู้ของเขา และนักโทษทางการเมืองทุกคนที่ถูกจองจำในขณะนี้จะไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน