ที่มา ไทยรัฐ
ที่ศาลอาญา เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 ก.พ. ศาลมีคำพิพากษาคดีฟ้องนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อายุ 59 ปี อดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายวิชัย จึงรักเกียรติ อายุ 58 ปี อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร น.ส.สุจินดา แสงชมพู อายุ 57 ปี อดีตนิติกร 9 ชช. น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อายุ 49 ปี อดีตนิติกร 8 ว. และน.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อายุ 44 ปี อดีตนิติกร 7 ว. เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีการโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 พ.ย.40 ทำให้รัฐได้รับความเสียหายจากการไม่ได้เก็บภาษีมูลค่า 270 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมดไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157 เมื่อเห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่มีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บภาษี ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร หรือเจ้าพนักงานผู้พิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีอากร แต่เป็นเพียงผู้ พิจารณาข้อกฎหมายเท่านั้น แม้ความเห็นของจำเลยจะไม่ ตรงกับความเห็นของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งความเห็นของ คตส. ก็เป็นความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างเท่านั้น ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันได้เป็นเรื่องปกติ นายสุชาติ วันเสี่ยน คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. พยานโจทก์ เบิกความยอมรับว่า คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจไม่พบว่าจำเลยทั้งห้าได้รับประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทำโดยทุจริต และมิได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการให้สูงขึ้นผิดปกติ ประกอบกับวันที่คุณหญิงพจมานให้หุ้นแก่นายบรรณพจน์นั้นเป็นวันเดียวกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่า ในเวลาต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ข้าราชการกรมสรรพากรจะช่วยเหลือนายบรรณพจน์ในช่วงเวลาดังกล่าว
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูล ปรากฏว่า มีคำสั่งกระทรวงการคลังให้ไล่จำเลยทั้งหมดออกจากราชการจำเลยอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจากราชการต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลย มีลักษณะเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมายยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งแต่ประการใด จากพยานหลักฐานยังไม่ อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด แต่เนื่องจาก ก.พ. ต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ แต่สำหรับศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับให้ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล ดังนั้น ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงที่ปรากฏในสำนวน โดยไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล จำเลยทั้งหมดจะมีความผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานต่างๆที่ปรากฏ และจากพยานหลักฐานต่างๆของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้ามีเจตนาทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลับได้ความว่า จำเลยใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มความสามารถตามหน้าที่ โดยไม่มีเจตนาทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด ข้อต่อสู้ ของจำเลยรับฟังได้ พิพากษายกฟ้อง
ท้ายคำพิพากษานายชีพ จุลมนต์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีบันทึกความเห็นแย้งกับคำพิพากษาขององค์คณะเจ้าของสำนวนในหลายประเด็น ใจความว่า มีข้อสงสัยในพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และ 2 ที่จำเลยที่ 1 ออก คำสั่งยุติเรื่องการสอบสวนประเด็นซึ่งเป็นคุณแก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ทั้งที่ควรจะใช้ดุลพินิจละเอียดรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง แต่กลับไม่ให้ความสำคัญต่อข้อทักท้วง ซ้ำจำเลยที่ 1 ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมสรรพากร ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ข้อต่อสู้ ของจำเลยทั้งคู่ไม่มีน้ำหนัก เมื่อนำเหตุผลมาประกอบข้อเท็จจริงพบว่า พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 และ 2 ย่อมชี้ให้เห็นเจตนาจะช่วยเหลือเอื้อประโยชน์อันที่ควรได้โดยชอบแก่นายบรรณพจน์ ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่า 270 ล้านบาท จำเลยที่ 1-2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บันทึกความเห็นแย้งคำพิพากษาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนคดีที่จะประกอบไว้ในคำพิพากษา เพื่ออ้างอิงใช้ประโยชน์ในชั้นศาลสูงต่อไป ขณะที่นายศิโรตม์หันมาสวมกอดลูกชาย ที่ไปให้กำลังใจ ทันทีที่ฟังคำพิพากษายกฟ้อง ก่อนเดินออกจากห้องพิจารณาคดีด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ ทุกประเด็น อ้างว่าไม่ต้องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษา
นายนันทชัย อุกฤษณ์ ทนายความของนายศิโรตม์ กล่าวว่า จะนำคำพิพากษาไปเสนอต่อศาลปกครองกลาง ในคดีนายศิโรตม์ยื่นฟ้องกระทรวงการคลังที่มีมติให้ออกจากราชการตั้งแต่ปี 2549 โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม พร้อมคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ ตั้งแต่ช่วงปี 2549 ถึงปัจจุบัน โดยคดีดังกล่าวยื่นฟ้องภายหลังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ลงโทษทางวินัยของ ก.พ. มีมติให้ลดโทษจากเดิมที่ไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ เมื่อประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการพิจารณาพยานหลักฐานของศาลปกครอง ส่วนจะฟ้องกลับ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น ต้องหารือกันก่อน