ที่มา ประชาไท สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย( สนนท.) องค์กรนักศึกษาที่เริ่มต้นจากการรวมตัวขององค์การนักศึกษาจาก 14 สถาบันที่เข้ามาจัดรูปองค์กรประสานงานกันใหม่ในปี 2527 หลังการยุติบทบาทลงของศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย( ศนท.) จนกระทั่งวันนี้มีอายุถึง 26 ปี ซึ่งทุกๆ ปีจะมีการสมัชชาเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการบริหารจากบุคคลากรในองค์กรสมาชิก เพื่อเข้าไปวางยุทธศาสตร์และทำงานร่วมกับภาคประชาชน และองค์การนักศึกษาอื่นๆ อาทิ องค์กรพันธมิตรอย่างสหพันธ์นิสิตภาคอีสาน (สนนอ.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) สำหรับกรรมการบริหาร สนนท.ชุดปัจจุบันที่เข้ามาทำงานต่อหลังจากการสมัชชาเมื่อเดือนสิงหาคมในปีที่ผ่านมา มีด้วยกัน 8 คน แต่ละคนต่างก็มาจากคนละสถาบันและต่างองค์กร สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2553 สนนอ.และองค์กรภาคีในภาคอีสาน ร่วมกับ สนนท.จัดงานประชุมสัมมนากลางปีขึ้น เพื่อสรุปความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของ สนนท.นอกจากนั้นยังได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางเมืองและกำหนดการเคลื่อนไหวของ สนนท.ในอนาคตด้วย นอกจากการประชุมแกนนำนักศึกษาแล้ว ยังมีเวทีเปิดที่พูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษากับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาภายนอกและแกนนำนักศึกษาซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
เพื่อไทย
Saturday, February 6, 2010
รายงาน : ฟังนักศึกษาคุยกัน "สนนท.และองค์กรภาคีกับบทบาททางสังคม"
นายอนุธีร์ เดชเทวพร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้นักศึกษาไม่สามารถเป็นตัวนำในการเคลื่อนไหว แต่สามารถเป็นได้เพียงตัวหนุนเสริมขบวนการประชาชน เนื่องจากสภาพสังคมแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้บทบาทของนักศึกษาเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงปี2516 นั้น เนื่องจากสภาพสังคมก่อน 14 ตุลาคม 2516 เป็นเผด็จการที่ปราศจากประชาธิปไตย ดังนั้นชนชั้นกลางและนักศึกษาที่กำลังจะพัฒนาไปเป็นชนชั้นกลางจึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในด้านหนึ่ง เมื่อชนชั้นกลางพอใจกับเสรีภาพในด้านเดียวที่ไม่ใช่ความเสมอภาค เช่น การใช้ชีวิตที่สามารถไปเดินช้อปปิ้ง ไปร้องเพลง หรือทำทุกอย่างได้ตามอำเภอใจนั้น ขบวนการนักศึกษาที่ก้าวหน้าจริงๆ ที่หลงเหลือมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาจึงถูกผลักออกมาและนำมาซึ่งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งสภาพนั้นยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบัน และนักศึกษาก็อยู่ในฐานะชนชั้นกลาง
ในขณะที่ชนชั้นรากหญ้าออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาคมากขึ้น นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เป็นคนชนชั้นกลางก็เกิดทัศนะดูถูกดูแคลน ไม่เข้าใจ และมองว่าเป็นการก่อความวุ่นวายในสังคม ส่งผลให้นักศึกษาส่วนใหญ่เห็นคล้อยไปกับชนชั้นกลางที่พอใจกับเสรีภาพในการใช้ชีวิตบางส่วน พอพูดถึงความเสมอภาคก็จะมีทัศนะที่ดูถูกและแย้งขึ้นมาในทันที
อย่างไรก็ดียังมีนักศึกษาในส่วนที่ก้าวหน้าอยู่ ไม่หลงประเด็นไปกับความเป็นชนชั้นกลางที่มีทัศนะดูถูกคนรากหญ้า เส้นแบ่งที่สำคัญของนักศึกษาที่ก้าวหน้าหรือไม่นั้น ดูได้จากทัศนะต่อความเสมอภาคว่า ดูถูกหรือเห็นด้วย ทุกวันนี้ขบวนการนักศึกษาในส่วนที่ก้าวหน้าก็เป็นส่วนน้อยในหมู่นักศึกษาส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นกลาง ดังนั้นบทบาทของขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันนี้จึงไม่ใช่ลักษณะการนำอีกต่อไป ตอนนี้ส่วนที่กำลังนำและไปไกลกว่านักศึกษามากก็คือรากหญ้า
ดังนั้น บทบาทที่สำคัญของนักศึกษาที่ก้าวหน้า ควรจะเป็นการหนุนเสริมการต่อสู้ของคนรากหญ้าในทางวิชาการหรืออาศัยทักษะบางประการที่นักศึกษามี เช่น เทคนิคการค้นคว้าข้อมูล ทฤษฎี อินเตอร์เน็ต หนังสือ หรือตำราต่างๆ เพื่อหนุนขบวนการรากหญ้าให้มีความครบถ้วนมากขึ้น และประการที่สำคัญคือการลงไปศึกษากับตัวของประชาชนเอง เข้าใจความคิด ความรู้สึก เข้าใจการเรียกร้อง ความต้องการของขบวนการคนรากหญ้า ฉะนั้นเราจะสามารถมีทัศนะที่ถูกต้องไม่ไปดูถูกดูแคลนคนจนว่าโง่หรือถูกซื้อ เหมือนที่นักศึกษาจำนวนมากกำลังมีทัศนะเช่นนี้อยู่”
จากการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทและขบวนการนักศึกษานั้น พบว่าปัญหาของบทบาทนักศึกษาต่อการเคลื่อนไหวนั้นเกิดจากสาเหตุหลายประการ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวของนักศึกษาเองและทั้งที่มาจากปัจจัยภายนอก จะพบว่าในส่วนของตัวบุคคลนั้น นักศึกษาที่อยู่ในกิจกรรมนักศึกษาในยุคปัจจุบันยังขาดความมั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจในทางการเมือง เนื่องจากขาดข้อมูลในการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เพียงพอ
ในส่วนของปัจจัยภายนอกนั้น ได้แก่ สภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น สื่อที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและตกอยู่ในความควบคุมของคนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม ส่งผลให้นักศึกษาส่วนมากขาดข้อเท็จจริงในการวิเคราะห์สังคมและการเมือง นอกจากนี้กระแสบริโภคนิยมที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของนักศึกษาในยุคนี้ ส่งผลให้นักศึกษาเกิดการรวมตัวได้ยากขึ้นและถูกแบ่งแยกให้มีลักษณะปัจเจกสูงขึ้นด้วย นอกจากนั้นขบวนการนักศึกษาไม่มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นของตนเอง
นายยุทธนา ดาศรี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตภาคอีสาน เสนอแนะว่า นักศึกษาควรที่จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์สังคมในประเด็นที่เป็นประเด็นสาธารณะ และยึดมั่นในหลักการและเหตุผลของระบอบประชาธิปไตย เช่น เรื่องการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานของชนชั้นปกครอง นอกจากนั้นนักศึกษาควรศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอยู่เสมอ และมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนในการเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชน เพื่อผลักดันระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ นักศึกษาควรมีองค์กรเคลื่อนไหวกับฝ่ายประชาชนอย่างชัดเจน ไม่อยู่ในฐานะปัจเจกบุคคล นอกจากนั้นนักศึกษาควรตรวจสอบความคิดของตนเองและองค์กรเพื่อไม่ให้ถูกครอบงำจากมหาวิทยาลัยหรือการสร้างสำนึกแบบรัฐ
ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการรัฐประหาร ซึ่งบทสรุปจากการประชุมสัมมนากลางปี มีมติร่วมกันว่า แม้การรัฐประหารจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ทาง สนนท.และองค์กรร่วมเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแสดงออกของทหารในเชิงข่มขู่และคุกคามภาคประชาชน และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของทหารที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
หลังจากนั้น สนนท.จะร่วมกับองค์กรนักศึกษา เยาวชนที่ยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยจัดมหกรรมประชาธิปไตยสัญจรตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และเปิดเวทีรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยการนำรัฐธรรมนูญปี 2540เป็นต้นร่าง ซึ่งนั่นคือกิจกรรมหลักที่ สนนท.จะทำต่อไปในอนาคต