ที่มา ประชาไท สถานทูตไทยจัดเสวนา “สถานการณ์การเมืองไทย: ความเป็นมาและอนาคต” ที่ ม.ลอนดอน ทูตไทยยืนยันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง อัดสื่อนอกชอบนำเสนอแง่ลบ “สุจิต บุญบงการ” เชื่อคนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนเสื้อเหลือง แม้มีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย ชี้มาร์คพยายามเป็นทางเลือกที่สาม“ดังแคน แมคคาโก” ชี้เมืองไทย 5 ปีมานี้เกิดภาวะที่คิดว่าตัวถูกต้อง และภาวะแบ่งพวก แต่ยังเชื่อว่าจะมีทางออก หมายเหตุ โปรดติดตามรายงานส่วนที่เหลือเร็วๆ นี้
โดยผู้อภิปรายคนแรกคือ ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาเริ่มต้นจากการที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าสู่อำนาจซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับกระแสโลกาภิวัตน์ การเข้ามาสู่อำนาจของรัฐบาลทักษิณได้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาคอรัปชั่น และการไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ นำไปสู่การเริ่มต้นของขบวนการเสื้อเหลืองโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล
เพื่อไทย
Tuesday, February 2, 2010
รายงานจากลอนดอน: ทูตไทยจัดถกการเมือง ‘สุจิต บุญบงการ’ ชี้คนไทยเหลืองทั้งแผ่นดิน
เมื่อวันที่ 28 ม.ค.53 ที่ห้องประชุมบรูไน วิทยาลัยบูรพาและแอฟริกาศึกษา (School or Oriental and African Studies: SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน สถานทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรและสมาคมนักเรียนไทย SOAS ได้จัดเวทีเสวนา “สถานการณ์การเมืองไทย: ความเป็นมาและอนาคต” (Thai Political Situation: Wherefrom and Whereto?)
โดยมีนักวิชาการจากไทยและอังกฤษ 4 คน เป็นผู้อภิปราย ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.สุจิต บุญบงการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและบทบาทขององค์กรทางการเมืองต่างๆ ศ.ดร.ดังแคน แมคคาโก (Duncan McCargo) จากภาควิชารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยลีดส์ อภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ ศ.ดร.ปีเตอร์ ไรแลนด์ (Peter Leyland) จากมหาวิทยาลัยมหานครลอนดอน (London Metropolitan University) จะอภิปรายประเด็นรัฐธรรมนูญและองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อภิปรายเรื่องทางออกจากวิกฤติการเมือง
โดยเสวนาครั้งนี้มีนักศึกษาไทยจากทั่วอังกฤษ นักการทูตในกรุงลอนดอน นักวิชาการอังกฤษทางด้านเอเชียศึกษา และประชาชนไทยในอังกฤษรวมถึงพระภิกษุชาวไทย เข้าร่วมฟังราว 300 คน
สถานทูตสกัด “ใจ” ห้ามเข้าฟังเสวนา-แจกใบปลิว ส่วนบทความ “บวรศักดิ์” แจกได้
ก่อนเสวนา รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ถูกสถานทูตห้ามแจกใบปลิวที่ขึ้นหัวข้อว่า “สถานการณ์การเมืองไทยที่ว่าประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพได้ถูกทำลายไปภายใต้รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้ในการทำลายและปิดปากเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล”
โดยเจ้าหน้าที่สถานทูตพยายามไม่ให้ รศ.ใจแจกใบปลิวโดยการเรียก รปภ.ของมหาวิทยาลัยมาเชิญใจออก โดยใจประท้วงว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ ในขณะที่เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอนได้แจกเอกสาร “ความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”: เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก” ที่เขียนโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ ซึ่งเป็นเอกสารที่อธิบายว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัฒนธรรมไทย
สุดท้าย “ใจ” เข้าฟังได้ เหตุองค์กรนักเขียนช่วยลงทะเบียนให้
นอกจากนี้ทางสถานทูตไทยยังพยายามไม่ให้ใจเข้าเสวนา โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้ลงทะเบียน ในขณะที่มีนักศึกษาไทยจำนวนมากที่ไม่ได้ลงทะเบียนสามารถเข้าฟังเสวนาได้ แต่ท้ายสุดเขาก็สามารถเข้าฟังการเสวนาได้เนื่องจากสมาคมนักเขียนสากล หรือ International PEN ได้ลงทะเบียนให้เขาในนามสมาชิกองค์กร
สำหรับใบปลิวที่ รศ.ใจแจกนั้นมีเนื้อหาเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองในประเทศไทย และระบุว่า ปัจจุบันนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยและการพูดความจริงกลายเป็นอาชญากรรม มีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกระจายไปทั่วและการพยายามเซ็นเซอร์สื่ออย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้มีการพูดถึงระบบสองมาตรฐานในศาลที่ยุบพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด มีการร่างรัฐธรรมนูญของทหารที่ให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารและระบุว่าจะต้องมีการเพิ่มงบประมาณทหาร ในการขณะที่ต้องจำกัดงบประมาณทางสังคม
ใบปลิวยังเสนอว่า พวกที่สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา ดูถูกปัญญาของคนจนและต้องการหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคอดีตที่มีแต่การซื้อขายเสียงของพรรคการเมืองโดยไม่สนใจประชาชน ทางออกที่จะแก้ปัญหาสำหรับสังคมไทยคือต้องนำประชาธิปไตยกลับมา ต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องตัดกำลังกองทัพ และนำผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ
ทูตไทยยืนยันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง อัดสื่อนอกชอบนำเสนอแง่ลบ
นายกิตติ วะสีนนท์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน กล่าวเปิดเสวนาว่าในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองไทยไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นเท่าไรเนื่องจากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลถึงสามรัฐบาลในระยะเวลาไม่กี่ปี
ในความขัดแย้งนี้พระมหากษัตริย์ไทยได้ถูกดึงเข้ามาอยู่ในห้วงความขัดแย้งแม้ว่าสถาบันกษัตริย์ไทยอยู่เหนือการเมือง การเสนอข่าวโดยสำนักข่าวต่างประเทศก็เป็นไปในแง่ลบ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก เนื่องจากสำนักข่าวต่างๆ มักจะชอบรายงานข่าวที่เป็นไปในแง่ลบเป็นเรื่องธรรมดา ทูตประจำกรุงลอนดอนกล่าวด้วยว่าอย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษก็ยังชอบไปเที่ยวประเทศไทยเป็นปกติ ซึ่งอาจจะชี้วัดได้ว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายเท่าไร
หลังจากนั้นนายเดวิด บอล อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและประธานสมาคมไทย-อังกฤษ ในฐานะผู้ดำเนินรายการได้กล่าวแนะนำผู้เสวนาโดยได้กล่าวว่าการเสวนาวันนี้ตรงกับเหตุการณ์ที่สำคัญในประเทศอังกฤษ คือ วันที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษนายโทนี่ แบลร์ ถูกเชิญไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการตรวจสอบบทบาทประเทศอังกฤษในสงครามอิรัก แต่เราหวังว่าอดีตนายกฯ ทักษิณจะไม่เดินเข้ามาในห้องประชุมนี้ หลังจากนั้นนายเดวิดได้เริ่มเข้าสู่การเสวนาโดยแนะนำผู้อภิปรายทั้งสี่คน และหัวข้อที่แต่ละคนจะพูด
สุจิต ชี้เสื้อเหลืองเกิดขึ้นเพราะทักษิณคอรัปชั่น ไม่เคารพสถาบัน
หลังจากนั้นได้เกิดการรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2549 ซึ่งไม่สามารถทำลายทักษิณได้และทำให้สังคมไทยมีความแตกแยกกันเหมือนเดิม
อัดเสื้อแดงมีอดีต พคท.-ฝ่าย “สาธารณรัฐนิยม” เข้าร่วม
การเกิดขึ้นของขบวนการเสื้อแดงเป็นการเกิดขึ้นของการต่อต้านค่านิยมทางการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 คือ ค่านิยมทางจารีตประเพณีและค่านิยมอนุรักษ์นิยม กล่าวคือการเชื่อเรื่องกรรมและบุญ และการไม่ชอบการเผชิญหน้า
ขบวนการเสื้อแดงได้ดึงอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อดีตผู้นำนักศึกษา และ “นักสาธารณรัฐนิยม” เข้ามา ซึ่งขบวนการยังไม่มีความเป็นเอกภาพสักเท่าไร ประชาชนในชนบทต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา คนเสื้อแดงได้โจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และประณามรัฐบาลว่าอยู่ภายใต้การครอบงำของอำมาตย์ เพื่อที่จะต้องการที่จะทำลายชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยม (ศ.ดร.สุจิต ใช้คำว่า “conservative establishment”)
คนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนเสื้อเหลือง ชี้มาร์คพยายามเป็นทางเลือกที่สาม
ศ.ดร.สุจิต กล่าวต่อไปว่า แนวคิดอนุรักษ์นิยมยังมีบทบาทในประเทศไทย เนื่องจากแนวคิดอนุรักษ์นิยมสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าคนไทยนิยมประชาธิปไตยแต่ประชาธิปไตยที่ว่านี้ต้องสามารถไปได้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเราสามารถพูดได้ว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนขบวนการเสื้อเหลือง แม้ว่าจะมีหลายผ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการเสื้อเหลือง
สำหรับทางเลือกที่สาม แม้ว่าเราจะไม่มีผู้นำทางเลือกที่สามอย่างชัดเจน แต่พรรคประชาธิปัตย์พยายามทำตัวเป็นผู้นำของทางเลือกที่สามโดยที่มีนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำ
“แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะถูกรายล้อมด้วยกลุ่มการเมืองเก่าๆ ทำให้เขาต้องประนีประนอม แต่ผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์กำลังทำได้ดีโดยนโยบายประชานิยม ซึ่งจะทำให้กลุ่มที่สนับสนุนทักษิณอ่อนแอลงได้” ศ.ดร.สุจิต กล่าว
ศ.ดร.สุจิต กล่าวต่อไปว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปก็จะเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่าง ประชาชนในเมืองกับชนบท และคนรวยกับคนจน
ชี้ทหารมีบทเรียนแล้วจากการทำรัฐประหาร ทำอีกจะเกิดแรงต้านทั้งในและนอกประเทศ
ส่วนบทบาทของทหาร ทหารก็อาจจะทำรัฐประหารอีกครั้งถ้าสถานการณ์การเมืองเลวร้ายลงกว่านี้ ถ้าในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ศาลฎีกาได้ตัดสินยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และถ้ากลุ่มเสื้อแดงชุมนุมจนทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม ทหารก็อาจจะเข้ามามีบทบาทได้อีกครั้ง แต่ส่วนตัวของตนคิดว่าการทำรัฐประหารกับรัฐบาลประชาธิปไตยอาจจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากทหารได้มีบทเรียนแล้วว่า การทำรัฐประหารไม่ง่ายเหมือนการปกครองประเทศ และถ้ามีการรัฐประหารอีกจะมีแรงต่อต้านจากทั้งในและนอกประเทศ
ยืนยันพระมหากษัตริย์ทรงไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ศ.ดร.สุจิต กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า พระมหากษัตริย์ทรงพยายามอย่างยิ่ง เพื่อจะไม่กระทำใดๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พระองค์ไม่ได้เข้ามามีบทบาทหลังจากการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ต่อต้านอดีตนายกทักษิณและการยึดสนามบิน ศ.ดร.สุจิต กล่าวด้วยว่า การเมืองไทยมีความแตกต่างจากการเมืองอังกฤษเนื่องจากการเมืองของอังกฤษมีรัฐบาลที่มีความมั่นคง ดังนั้นสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษก็ไม่ถูกกดดันให้ทรงทำสิ่งใดเหมือนสถาบันพระกษัตริย์ในประเทศไทย ซึ่งในไทยพระมหากษัตริย์ต้องคิดอย่างหนักว่าจะทำอะไรหรือไม่ ซึ่งในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ในปี 2549 แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน แต่ในหลวงก็ไม่เข้ามามีบทบาท
ศาลตัดสินเป็นธรรม ทำให้ขบวนการหนุนทักษิณอ่อนลง เชื่อ “พลังเงียบ” คือทางออก
ศ.ดร.สุจิต กล่าวถึงสถาบันศาลว่า เราสามารถพูดได้ว่าการตัดสินคดีไม่ว่าจะเป็นคดีที่ดินรัชดาหรือกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช เราพูดได้ว่าเป็นการตัดสินที่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ และทำให้ขบวนการสนับสนุนทักษิณอ่อนแอลง
ในช่วงสรุป ศ.ดร.สุจิต กล่าวว่า เราจะเห็นว่าในอดีตในช่วงวิกฤติการเมืองทหารเข้ามายุ่งกับการเมือง แต่ทหารก็ไม่สามารถปฏิรูปประเทศไทยได้ การรัฐประหาเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากมันไม่ใช่ทางออก ดังนั้นการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของประชาชน ในระยะยาวเราต้องแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ ปัญหาคอรัปชั่น ทำให้สถาบันการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น และที่สำคัญภาคประชาสังคมมีบทบาทอย่างมากในการทำให้ประชาธิปไตยแข็งแรง ประชาธิปไตยไม่สามารถเข้มแข็งได้ถ้าภาคประชาสังคมอ่อนแอ และพลังเงียบจะเป็นทางออกเนื่องจากพวกเขาเป็นคนที่ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง
ดังแคน ชี้ปัญหาการเมืองไทยคือเน้นปฏิบัติเกิน
ศ.ดร.ดังแคน แมคคาร์โก เริ่มต้นอภิปรายว่า ตอนเช้าวันนี้ตอนที่เขานั่งรถไฟมาจากลีดส์เพื่อที่เข้ามางานเสวนาครั้งนี้ทำให้เขากลับมาคิดถึงช่วงแรกที่เริ่มสนใจการเมืองไทย ซึ่ง SOAS เป็นที่แรกที่ทำให้สนใจการเมืองไทย (หมายเหตุ: ดร.ดังแคนจบการศึกษาปริญญาโทและเอกที่ SOAS) และกล่าวต่อไปว่า “ผมพยายามจะทำความเข้าใจกับบทบาทของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในการเมืองไทยในช่วงแรกที่ผมเริ่มทำวิจัย และกลับมาในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน พล.ต.จำลองก็กลับมามีบทบาทอีกแล้ว เราเริ่มเข้าสู่วิกฤติการเมืองไทยอีกครั้ง ซึ่งผมคิดว่าปัญหาของการเมืองไทย คือ การเมืองไทยเน้นการปฏิบัติมากเกินไป (ดังแคน ใช้คำว่า excessive pragmatism)”
ดังแคน กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 13 คน มีรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ รัฐประหาร 2 ครั้ง และการเลือกตั้งเยอะมากจนนับไม่ถ้วน ผมอยากถามว่าทำไมคนไทยถึงปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ง่ายจริงๆ และเปลี่ยนความเชื่อมั่นกับนักการเมืองได้ง่ายมาก
เมืองไทย 5 ปีมานี้เกิดภาวะที่คิดว่าตัวถูกต้อง และภาวะแบ่งพวก
แต่ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่าสภาวะขาดแคลนปฏิบัตินิยม (insufficient pragmatism) หรือสภาวะที่คิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้อง (dogmatism) ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างในประเทศไทยมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก พ่อแม่คุยกันไม่ได้ เพื่อนที่ทำงานคุยกันไม่ได้ เพื่อนเก่าจากมหาวิทยาลัยที่เคยคุยกันได้ทุกเรื่องก็ไม่กล้าคุยกัน นิสัยของคนไทยที่ว่า “ไม่เป็นไร” มันหายไปแล้ว ทุกคนมีฝักฝ่ายหมด ไม่ฝ่ายหนึ่งก็ฝ่ายนั้น ฝ่ายเครือข่ายกษัตริย์ (หมายเหตุ: ศ.ดร.ดังแคนใช้คำว่า Network monarchy โดยใช้ครั้งแรกในบทความของเขาที่มีชื่อว่า “Network monarchy and legitimacy crisis in Thailand” ลงวารสาร The Pacific Review ในเดือนธันวาคมปี 2548 ซึ่งวิจารณ์ว่าความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้รัฐบาลทักษิณในช่วงนั้นเกิดจากการพยายามสร้างพื้นที่ของเครือข่ายทักษิณจากเครือข่ายกษัตริย์ ซึ่งฝ่ายหลังมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ที่มีบทบาทมาก) ฝ่ายพันธมิตรฯ ฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ฝ่ายเสื้อแดง โดยมีพื้นที่ระหว่างกันน้อยมาก ซึ่งเดี๋ยวนี้เวลาเขาเขียนบทความวิชาการ คนก็จะวิจารณ์เขาว่าผมถูกใครซื้อให้เขียนบทความนั้น
ปัญหาภาคใต้เกิดจากปัญหาการเมือง
“มาประเด็นเรื่องสถานการณ์ในภาคใต้ ผมได้ไปอยู่ภาคใต้มาประมาณหนึ่งปีเพื่อพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง ผมได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนและที่หลายๆ คนเห็นด้วยแต่ไม่กล้าเสนอในที่สาธารณะก็คือ ผมเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้เกิดจากปัญหาทางการเมือง โดยไม่ใช่ปัญหาทางสังคม-เศรษฐกิจ ไม่ใช่ปัญหาการค้ามนุษย์ ไม่ใช่ปัญหาการก่อการร้ายสากล ปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นจากเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ สิทธิเสียงประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีสิทธิหรือเสียงอะไรเลย เนื่องจากพวกเขามีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกส่งไปจากส่วนกลางและไม่มีพื้นที่อะไรมาก ประเทศไทยมีปัญหาคือมีการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมาก” ศ.ดร.ดังแคน กล่าว
ดังแคน กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้นำทหารหรือตำรวจพวกเขาบอกว่า “อาจารย์ อาจารย์เข้าใจถูกแล้ว” และว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจ แต่ไม่มีใครกล้าพูดอะไร เราต้องมีการปฏิรูประบบการเมืองไทย คนที่อยู่ภาคใต้ก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่เคารพสถาบันกษัตริย์ เป็นพวกแบ่งแยกดินแดน
เชื่อสังคมไทยยังมีทางออก
ความยุ่งยากมีความเกี่ยวโยงกับปัญหาการแบ่งแยกฝ่าย ถ้าคนที่อยู่ฝ่ายเสื้อแดงอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เสนออย่างหนึ่ง คนอย่าง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่อยู่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่เห็นด้วย ปัญหาที่คนในประเทศไม่สามารถคุยกันได้ยังเป็นปัญหาหลัก แต่อย่างไรก็ตามดังแคนยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยและสังคมไทยยังมีทางออกและสามารถเปลี่ยนแปลงได้