WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, February 3, 2010

ปูพรมค้นหาโมเดล ทลายกำแพงเหล็กสู่นครปัตตานี

ที่มา ประชาไท


ภาคประชาสังคมชายแดนใต้จัดเวทีค้นหาโมเดลการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้หลักการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญไทย ชู 3 โมเดลเป็นตุ๊กตา สังเคราะห์เป็นร่างกฎหมายเสนอผ่านสภาพัฒนาการเมือง หวังสร้างการเมืองการปกครองที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์คนมลายูชายแดนใต้

อนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจะเป็นอย่างไรยังไม่รู้ แต่จากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีความฝันถึงความสงบสุข แต่เส้นทางที่นำไปสู่ความสงบสุข จะเป็นอย่างไร ใครจะเสนอเส้นทางไหนบ้าง ก็มีความพยายามกันอยู่

อย่างเช่น ความพยายามของนักประชาสังคมกลุ่มหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พยายามเสนอรูปแบบทางการเมืองการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย

กลุ่มดังกล่าวนำโดย พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้และสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง โดยขับเคลื่อนในนามเครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กรและเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น

ล่าสุดได้ร่วมกันประชุม“แนวทางการขับเคลื่อนเชิงวิชาการในการกระจายอำนาจสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมี สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เป็นองค์กรร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ ระหว่างวันที่ 20 – 21 มกราคม 2553 ที่โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์ แอนด์ รีสอร์ท อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

เป้าหมายหลักคือการหาแนวทางในการขับเคลื่อนการหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เหมาะสมกับลักษณะพิเศษของพื้นที่ภายใต้หลักการกระจายอำนาจสูท้องถิ่น และเป็นทางออกสำหรับการแก้ปัญหาความไม่สงบได้ โดยจะนำเสนอรูปแบบหรือโมเดลไว้เป็นตุ๊กตา เพื่อรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ทั้ง 37 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวมทั้งการจัดเวทีรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ด้วย

โดยรูปแบบการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะมีการนำเสนอ มี 3 รูปแบบ หรือ โมเดล ประกอบด้วย

1.ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำเสนอโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 2.สามนครภายใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอโดยอุดม ปัตนวงษ์ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และ 3.ปัตตานีมหานคร นำเสนอโดยนายอัคคชา พรหมสูตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)

ปูพรมค้นหาโมเดลชายแดนใต้

ข้อสรุปที่ได้จากการประชุม คือ ได้จัดเตรียมทีมลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลโดยแบ่งเป็น 2 สาย คือสายพื้นที่ 6 ทีม และสายกลุ่มอาชีพอีกประมาณ 13 กลุ่ม ครอบคุลมทั้ง กลุ่มข้าราช นักการเมือง ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำศาสนา กลุ่มนักวิชาการ นักการศึกษา เยาวชน นักศึกษา ผู้ด้อยโอกาส ผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มสตรี นักธุรกิจ ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร สื่อมวลชน กลุ่มคนไทยพุทธ/ คริสต์/ จีน/อื่นๆ รวมทั้งกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยมอบหมายให้องค์กรเครือข่ายจะรับผิดชอบ

โดยการดำเนินการในส่วนนี้สภาพัฒนาการเมือง สนับสนุนงบประมาณในการจัดเวทีระดับพื้นที่ทั้ง 37 เวทีใน 37 อำเภอ ขณะที่เวทีกลุ่มอาชีพได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากมูลนิธิเอเชีย

ทั้งนี้ การจัดเวทีในระดับพื้นที่ได้เริ่มไปแล้วก่อนหน้านี้ 4 แห่ง ซึ่งการจัดเวทีทั้งหมดจะทยอยดำเนินการไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2553

จากนั้นจะตั้งคณะทำงานวิชาการร่วมระหว่างส่วนกลางกับส่วนพื้นที่ เพื่อรับข้อมูลจากเวทีต่างๆ กับทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าว มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมาเป็นรูปแบบการบริหารปกครองท้องถิ่นที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องการ และมีความเป็นไปได้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย โดยอาจมีการตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายในระยะต่อไป

โดยร่างกฎหมายที่ได้จะนำเสนอในนามสภาพัฒนาการเมืองและองค์กรเครือข่ายทั้งหมด

ในการเปิดเวทีในแต่ละอำเภอ ที่ประชุมได้กำหนดขั้นตอนหลักๆ คือ การรับฟังปัญหาโดยมีชุดคำถามเบื้องต้น เช่น อัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิมสามารถแสดงออกได้มากน้อยแค่ไหนในโครงสร้างการเมืองการปกครองปัจจุบัน ชาวบ้านจะควบคุมหรือกำหนดชีวิตตัวเองได้อย่างไร ตลอดจนความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น การปกครองพิเศษและการปกครองตนเองว่าอย่างไร

ขณะเดียวกัน ก็จะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเมืองการปกครอง รวมทั้งนำเสนอรูปแบบการบริหารปกครองท้องถิ่นทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าว และกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนโดยประชาชน

ชี้ต้นเพลิงจากโครงสร้างการเมืองเหลว

แล้วโครงสร้างการเมืองการปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาจมีส่วนส่งต่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบขึ้นด้วยนั้น มีปัญหาอะไร นั่นคือประเด็นคำถามที่มีการตั้งกันในที่ประชุมคราวนั้น

ในเอกสารสรุปการประชุมได้สรุปประเด็นนี้จากการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมไว้ดังนี้

โครงสร้างการบริหารปกครองท้องถิ่นในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบโจทย์ 1) เรื่องอัตลักษณ์มลายูปัตตานีของคนในพื้นที่ กล่าวคือ มิติของความเป็นมลายูและความเป็นอิสลามยังไม่ได้ปรากฏอยู่ในโครงสร้างการบริหารปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ไม่สามารถแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของตนได้อย่างเต็มที่ และ 2) เรื่องการตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

- ตามโครงสร้างในปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องปฏิบัติตามกรอบและนโยบายจากส่วนกลางที่มีโครงสร้างรัฐ ซึ่งมีลักษณะรวมศูนย์และสะท้อนความเป็นไทยพุทธเป็นหลัก ซึ่งแม้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นคนมุสลิมแล้ว เช่น นายธีระ มินทราศักดิ์ ที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา(ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช) แต่ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ เนื่องจากต้องทำงานโดยขึ้นกับโครงสร้างการบริหารปกครองส่วนกลาง ที่ยังมีความเป็นอัตลักษณ์ไทยพุทธอยู่มาก พิธีกรรมต่างๆที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติ (ไทยพุทธ) มีความไม่สอดคล้องกับหลักศาสนาของคนในพื้นที่

- แม้ว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และเทศบาล จะเป็นคนมุสลิมในท้องถิ่น ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่โครงสร้างการบริหารปกครองของอบต./อบจ./เทศบาล ก็ไม่สามารถทำให้ผู้นำองค์กรมีอำนาจในการกำหนดและตัดสินใจเชิงนโยบาย ในระดับที่สามารถจะตอบสนองต่ออัตลักษณ์และความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นปัญหาว่า ชุมชนไม่สามารถใช้สิทธิของตนเองได้อย่างที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิชุมชน สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจาก

1. ติดขัดที่ระเบียบราชการ บางครั้ง หากจะดำเนินการอะไรจะติดระเบียบราชการที่เขียนคลุมเอาไว้ เช่น ต้องการออกแบบก่อสร้างอาคารที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นก็ไม่สามารถทำได้ เพราะจังหวัดไม่อนุมัติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า อาคารสำนักงาน อบต.หรือเทศบาล จะมีลักษณะคล้ายๆกันหมด ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในสังคม

2. ต้องทำตามคำสั่งจากส่วนกลาง คือ หากเป็นโครงการของรัฐบาล ท้องถิ่นจะต้องทำอย่างเร่งด่วน โดยสามารถยกเว้นระเบียบได้ ไม่ต้องผ่านการอภิปรายในที่ประชุมสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หากเป็นโครงการที่ท้องถิ่นต้องการจะทำ เช่น โครงการที่เกี่ยวกับศาสนา กลับจะต้องมานั่งคุย (ล็อบบี้) กับนายอำเภอ ซึ่งเป็นผู้อนุมัติข้อบัญญัติขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น บางครั้งต้องจัดค่าคอมมิสชั่นให้ด้วย และไปไกลถึงขั้นที่จะต้องมานั่งคุยกันก่อนเลือกตั้งว่า จะให้เท่าไหร่อย่างไร

นอกจากนี้ หลายสิ่งหลายอย่างในท้องถิ่นที่ดูแล้วรู้สึกไม่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม เช่น การไม่กำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับสถานบันเทิงหรือแหล่งอบายมุขต่างๆ หรือ การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการกำหนดจากส่วนกลางที่คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม

- การเลือกตั้งในพื้นที่ทั้งสายการเมืองและสายศาสนา ทำให้ชุมชนเกิดความแตกแยก กลายเป็นเรื่องของเงินและผลประโยชน์ เกิดการคอร์รัปชั่น(ทุจริต) มีการแก่งแย่งชิงดีกัน ทำให้โครงสร้างการเมืองในระดับรากหญ้าเกือบจะล่มสลาย ผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่นทะเลาะกัน

- โดยทั่วไป ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่นระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับอบต. มีความขัดแย้งสูงมาก ผู้ใหญ่บ้านและอบต. ไปกันคนละทาง โดยทั้งสององค์กรนี้ต่างมาจากการเลือกตั้ง โดยมีฐานเลือกตั้งของตัวเอง

ปัญหานี้พบเห็นได้ทั่วประเทศ แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีอีกองค์กรหนึ่งที่มีอำนาจและบทบาทต่อคนในพื้นที่อย่างมาก คือ โต๊ะอิหม่าม(ผู้นำศาสนาประจำมัสยิดในชุมชนมุสลิม) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ท้องถิ่นและมาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน โดยประชาชนรู้สึกเคารพอิหม่ามด้วยใจว่า เป็นผู้นำสูงสุดของเขา และเป็นตัวขับเคลื่อนในการปกครองชุมชนในอิสลาม และให้การยอมรับมากกว่าผู้ใหญ่บ้านและ อบต.

โต๊ะอิหม่ามจะเป็นผู้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหา เช่น ความขัดแย้งเรื่องมรดก ทรัพย์สิน หรือเมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ชาวบ้านก็จะไปหาโต๊ะอิหม่ามให้ดำเนินการ แต่กฎหมายกลับไม่ได้ให้อำนาจโต๊ะอิหม่ามไว้ ทั้งที่เป็นผู้นำที่ประชาชนให้ความเคารพและยอมรับสูงสุด มากกว่าผู้ใหญ่บ้านและอบต. ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่บ้านและอบต.ที่เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ทำให้ประชาชนอาจเกิดความเกรงกลัว ปัจจุบัน ถ้าเป็นเรื่องปกครองก็ไปหาผู้ใหญ่บ้าน ด้านเงินก็ไปหา อบต. ส่วนด้านศาสนาก็ไปหาโต๊ะอิหม่าม

- คนที่จะมาลงสมัครเลือกตั้งเป็นนายก อบต.ได้ ต้องใช้เงินอย่างน้อย 1 ล้านบาท ทำให้คนเก่งๆดีๆที่สามารถชี้นำสังคมได้ดี และอยากทำงาน เข้ามาสู่ระบบการเมืองไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่า การเลือกตั้งเพียงวิธีเดียวไม่น่าจะใช่คำตอบ อาจจะต้องมีการสรรหาด้วย

- งบประมาณเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ให้การกระจายอำนาจไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนกลางยังคงไม่ยอมถ่ายโอนงบประมาณมายังท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นจะทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้

- ปัจจุบัน แม้ว่า อบจ./อบต./เทศบาล บางส่วนจะถูกมองว่า มีผู้นำหรือสมาชิกที่ไม่มีคุณภาพ แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มว่า จะได้คนที่มีความรู้เข้ามาพัฒนาท้องถิ่นได้มากขึ้น จึงอยากให้มองด้วยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในขณะนี้ ก็ยังเปิดช่องและมีโอกาสที่จะช่วยเหลือชุมชนได้มาก ยังสามารถเป็นความหวังของคนในชุมชนได้อยู่ อีกทั้ง ชาวบ้านมีความรู้มากขึ้น และเริ่มที่จะมีการตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันมากขึ้นกว่าในอดีต

วาดฝันอนาคตท้องถิ่นอัตลักษณ์มลายู

นอกจากนี้ ในที่ประชุมเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความเห็นและนำเสนอถึงการบริหารปกครองท้องถิ่นภายใต้รัฐธรรมนูญไทยที่ต้องการจะเห็นในอนาคต โดยหลักการ คือ ต้องเป็น “การเมืองคุณธรรม'

เป็นการเมืองการปกครองที่ยึดหลักจริยธรรมและความยุติธรรม การคอร์รัปชั่นต้องหมดไป รูปแบบการบริหารปกครองจะต้องพยายามปิดโอกาสไม่ให้มีการคอร์รัปชั่นและการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง

- ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศาสนาคือวิถีชีวิต ดังนั้น ศาสนาจึงมีความเกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงต้องหาจุดร่วมที่ผสมผสานผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่นได้อย่างลงตัวให้ได้

- ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ จะต้องมีอำนาจในการตัดสินใจและบริหารจัดการอย่างแท้จริง ผ่านกลไกในระดับต่างๆที่ได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม มิใช่เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพียงเพื่อให้อำนาจเปลี่ยนมือไปอยู่กับอีกกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น

โดยประชาชนต้องสามารถมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการคิดริเริ่ม กำหนด ตัดสินใจ และประเมินผลนโยบายที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ซึ่งการมีส่วนร่วมนี้ จะต้องอยู่ในระดับที่สามารถสร้างความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมในนโยบายและการดำเนินงานอย่างแท้จริง

- ผู้นำควรตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

- ผู้นำชุมชน 4 เสาหลัก หมายถึง ฝ่ายปกครอง คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายบริหาร คือ นายก อบต. อบจ. และเทศบาล ผู้นำศาสนา เช่น โต๊ะอิหม่าม และผู้นำทางธรรมชาติหรือผู้นำกลุ่มในชุมชน จะต้องสามารถผสมผสานกันได้ทั้งในวิธีคิดและการทำงาน

- กลไกการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองน่าจะมีความจำเป็น ซึ่งอาจจะดำเนินการในรูปของโรงเรียนผู้นำการเมืองยุคใหม่ โดยอบรมผู้ที่จะมาเป็นผู้นำชุมชนว่า สังคมอยากจะให้ผู้นำของเขาเป็นอย่างไร

ในขณะที่รูปแบบการบริหารปกครองท้องถิ่นที่ต้องการเห็นนั้น เช่น

- ผู้นำควรต้องเป็นคนในพื้นที่ และมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ การเลือกตั้งดังกล่าวอาจพิจารณาเพื่อความเหมาะสมได้ว่า ควรจะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงเพียงครั้งเดียว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการซื้อเสียงได้ง่าย หรือจะเลือกหลายครั้งเพื่อคัดกรองอย่างรอบคอบให้ได้ผู้ที่เหมาะสมที่สุด

- การได้มาของสมาชิกสภาท้องถิ่น จะต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การเลือกตั้งและการสรรหา ซึ่งในส่วนของการสรรหานั้น ผู้ที่เข้ามาจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมและความรู้เป็นที่ประจักษ์ ไม่เป็นตัวแทนที่จะถูกชี้นำจากใคร

ทั้งนี้ อาจจะนำโครงสร้างทางการบริหารปกครองของประเทศมาเลเซียและประเทศในตะวันออกกลาง มาเป็นตัวอย่างหนึ่งในการพิจารณา เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการเมืองอิสลามในตะวันออกกลาง ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตท่านนบีมุฮัมมัด(ศาสดาแห่งอิสลาม) คือมีทั้งการเลือกตั้ง และมีสภา “ซูรอ” ซึ่งเป็นการสร้างผู้นำกลุ่ม แทนผู้นำเดี่ยว โดยใช้ระบบการปรึกษาหารือ/เสวนาพูดคุยในกระบวนการคิดและตัดสินใจ

- โต๊ะอิหม่ามควรจะมีอำนาจตามกฎหมายในฐานะผู้นำชุมชน เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ศูนย์รวมของการพูดคุย ซึ่งเป็นหัวใจของชุมชนคือมัสยิด

- ต้องมีศาลชารีอะห์ซึ่งเป็นส่วนของกระบวนการยุติธรรมน่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่

- การจัดโซนนิ่งสถานที่บันเทิงในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็น โดยไม่ต้องยกเลิก แต่ควรมีการจัดระเบียบให้มีที่ทางอย่างชัดเจน เป็นต้น

ความท้าทายที่อาจต้องเผชิญ

แต่การผลักดันเพื่อก้าวข้ามไปสู่จุดที่ผู้เข้าร่วมประชุมต้องการได้นั้น ยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ด้วย ข้อคิดเห็นถึงความท้าทายจากที่ประชุมดังกล่าว มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ เช่น รูปแบบการบริหารปกครองท้องถิ่นที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยหรือไม่

ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงมีความเข้าใจเรื่องการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยอมให้มีการใช้ภาษาและการปกครองตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างไร

ส่วนประชาชนในพื้นที่เอง ก็ยังมีความรู้ความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตยที่ค่อนข้างจำกัดอยู่

ดังนั้น อาจจะต้องมีการเสริมสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ประชาชน เพื่อให้มีความเข้มแข็งและความสามารถในการตรวจสอบผู้นำของตนเอง มิให้ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็อาจจะไม่ฟังเสียงของประชาชน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ถึงแม้จะมีรูปแบบการบริหารปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมกับคนในพื้นที่เพียงไหนก็คงจะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

สิ่งที่ต้องตระหนักและคำนึงถึงอยู่เสมอคือ รูปแบบการบริหารปกครองท้องถิ่นจะต้องมาจากความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ห้ามไปคิดแทน มิเช่นนั้น เรื่องนี้จะกลายเป็นแค่เรื่องของชนชั้นนำเพียงไม่กี่คนเท่านั้น สุดท้ายชาวบ้านไม่ได้อะไรที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

สิ่งที่อาจจะต้องระมัดระวังในอนาคต คือ หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่แล้ว สถานการณ์อาจเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ หรือกลายมาเป็นการต่อสู้กันเองอย่างรุนแรง ระหว่างกลุ่มต่างๆในพื้นที่ ไม่ว่ากลุ่มอิทธิพล กลุ่มขบวนการ กลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มข้าราชการเก่า ฯลฯ

การขับเคลื่อนที่จะเข้มข้นของภาคประชาสังคมในพื้นที่หนนี้ จะสามารถทลายกำแพงเหล็กที่กั้นระหว่างอำนาจรัฐไทยกับฝ่ายที่ต้องการแยกเป็นรัฐอิสระ ที่กำลังห้ำหั่นกันอยู่ จะสร้างจุดเชื่อมร้อยที่เป็นไปได้ของทั้งสองฝ่ายและตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้หรือไม่ เชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามอยู่ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแต่ไหน

อย่างน้อยก็เป็นจังหวะและโอกาสหนึ่งที่อาจมีไม่ง่ายนัก ที่เรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองชายแดนใต้ขนานใหญ่ถูกปลุกกระแสขึ้นในสังคม กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

ซึ่งนั่นอาจเป็นโอกาสดีด้วยซ้ำในการผลักดันเรื่องนี้ อย่างที่ “อัคคชา พรหมสูตร” ผู้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ.... บอกว่า "เพราะการเมืองอ่อนปวกเปียกอยู่ แต่ถ้าการเมืองเข้มแข็งมากการเสนอเรื่องนี้อาจเป็นไปไม่ได้เลย”

000

3 โมเดลตุ๊กตาค้นหาของจริง?

ต่อไปนี้คือ หลักการและเหตุผลของการกระจายอำนาจทั้ง 3 รูปแบบที่มีการนำเสนอเพื่อการปกครองชายแดนใต้

000

1. ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี

โมเดลนี้เป็นผลมาจากการวิจัยที่ใช้เวลารวมแล้วประมาณ 3 ปี โดยดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2551

รูปแบบนี้ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ

1) เน้นเรื่องการสร้างความสมดุลในกลุ่มผู้นำฝ่ายต่างๆ รวมทั้งประชาชนกลุ่มต่างๆในพื้นที่
2) ต้องสะท้อนสำนึกทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และชาติพันธุ์
3) ต้องสอดคล้องเข้ากันกับโครงสร้างรัฐที่มีอยู่ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากอำนาจรัฐ และสามารถปฏิบัติได้จริง

รูปแบบการบริหารปกครองที่เหมาะสมกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรบริหารแบบพิเศษ อำนวยการการแก้ปัญหาและการกระจายอำนาจ อาศัยโครงสร้างกระทรวงในการดูแลพื้นที่ โดยมี

รัฐมนตรีทบวง ซึ่งมาจากระบบรัฐสภาปกติทำหน้าที่ในการกำกับดูแล

ปลัดทบวง ที่เป็นข้าราชการประจำ ทำหน้าที่คล้ายกับผอ.ศอ.บต.ในการดูแลข้าราชการประจำต่างๆ

รองปลัดทบวง จะมาจากผู้ว่าฯประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่นายอำเภอจะเป็นนายอำเภอเหมือนเดิมหรือเป็นผอ.เขตก็ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของทบวง เช่นเดียวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ไม่ได้ยกเลิกไป เพียงแต่จะขึ้นอยู่กับทบวงนี้

สมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นส่วนของภาคประชาชน ซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายในพื้นที่ โดยเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่มาจากการสรรหา ทำหน้าที่ควบคุมและกลั่นกรองการทำงานของทบวงอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะต่างจากสภาที่ปรึกษาของ ศอ.บต.เพราะจะมีอำนาจสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

องค์กรปกครองท้องถิ่น คือ อบจ./อบต./เทศบาล ที่มีอยู่เดิมจะคงไว้ แต่จะเพิ่มองค์ประกอบทางด้านศาสนาวัฒนธรรมและชาติพันธุ์เข้ามาให้เข้มแข็งขึ้น คือ มีสภาซูรอ หรือสภาผู้นำทางจิตวิญญาณเข้ามาอยู่ด้วย (กึ่งๆ สภาวัฒนธรรม) ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการจัดการท้องถิ่นกับสภาของท้องถิ่น สามารถออกกฎหมาย และออกกฎบัญญัติของตัวเองได้ โดยไม่ได้รื้อสภาท้องถิ่นของเดิมที่มีอยู่ออก ทำให้มีจุดเชื่อมต่อประสานกันทั้งของเก่าที่มีอยู่เดิม (อบต.) และของใหม่ (สภาซูรอ)

รูปแบบนี้จะเป็นการถ่ายโอนอำนาจ (Devolution) อย่างเต็มรูป เพราะจะผ่านมาทางทบวงโดยตรง โดยมีสมัชชาประชาชนฯควบคุมอยู่ด้วย อำนาจของกระทรวงมหาดไทยจะถูกแทนที่โดยทบวงนี้ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน จะถูกโอนมาสังกัดทบวงนี้ ซึ่งจะทำให้บทบาทของท้องถิ่นมีมากขึ้น การถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่นจะถูกจัดการโดยทบวงนี้เพียงผู้เดียว ทำให้เป็นไปโดยง่ายขึ้น รูปแบบนี้เป็นการดัดแปลงมาจากโมเดลของอังกฤษและญี่ปุ่น ให้เข้ากับโครงสร้างการปกครองของบ้านเรา

เราอาจจะต้องมาถกเถียงพูดคุยเพื่อตกลงกันทางการเมืองก่อนว่าโครงสร้างนี้จะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งหากยอมรับได้แล้ว เราจะต้องมานั่งคิดในรายละเอียดกันต่อไป เพื่อหาสูตรในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้รัฐ หรือภาษีจะจัดการอย่างไร จะมีเงินอุดหนุนหรือไม่อย่างไร งบประมาณที่มาจากภาษีท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร

000

2. สามนครภายใต้ ศอ.บต.
นายอุดม ปัตนวงษ์

อำนาจในการปกครองควรจะต้องอยู่ในมือของประชาชน ประชาชนจะต้องมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเองได้ ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เป็นการปกครองโดยผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางมาโดยตลอด โครงการต่างๆจึงมาจากส่วนกลางทั้งสิ้น ประชาชนแทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ

รูปแบบการบริหารปกครองที่เหมาะสมกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นครปัตตานี นครยะลา และนครนราธิวาส ภายใต้ศอ.บต. โดยในแต่ละนครจะมี

ผู้ว่านคร มาจากการเลือกตั้ง เหมือนผู้ว่าฯกทม. สามารถที่จะกำหนดนโยบายเองได้ เช่น เรื่องการศึกษา เป็นต้น

สภานคร โดยสมาชิกจะมาจากการเลือกตั้ง

สภาอาวุโส (สภาซูรอ) โดยสมาชิกจะมาจากการสรรหา เพื่อกำกับดูแลการทำหน้าที่ของสมาชิกสภานครอีกชั้นหนึ่ง

ผอ.เขต มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่านคร ซึ่งเขตนี้ได้ปรับมาจากอำเภอเดิม

ผอ.แขวง มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่านคร ซึ่งแขวงนี้ได้ปรับมาจากตำบลเดิม

นครทั้งสามนี้จะอยู่ภายใต้ศอ.บต. ซึ่งมีนายกฯเป็นผอ.และผู้ว่าฯเดิมในพื้นที่เป็นรองผอ.ศอ.บต. ซึ่งถือว่าเป็นส่วนกลางที่ทำหน้าที่กำกับดูแลไม่ให้ไม่ให้ท้องถิ่นออกนอกลู่ นอกทาง ทั้งนี้ แม้ผู้ว่านครจะอยู่ภายใต้ศอ.บต. แต่ก็จะมีอิสระเหมือนผู้ว่ากทม. การอยู่ใต้ศอ.บต.นี้เป็นเพียงเรื่องของสายการกำกับดูแล ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา โดยภายในศอ.บต.นี้ จะมี

สภาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้(รวมสามจังหวัด) ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติการกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง

ข้าราชการส่วนภูมิภาคในพื้นที่ทั้งหมด เช่น ป่าไม้ เกษตร เป็นต้น ที่โอนมาขึ้นกับศอ.บต.เพื่อ ให้การใช้งบประมาณของกระทรวงต่างๆ มีเอกภาพ เกิดบูรณาการมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคไปเลย แต่อาจจะยกเลิกนายอำเภอไป

รูปแบบนี้เป็นการตัดการปกครองส่วนภูมิภาคออกไป โดยให้ส่วนท้องถิ่นไปขึ้นตรงกับส่วนกลางเลย เช่นเดียวกับกทม.ที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย

องค์กรปกครองท้องถิ่น คือ อบจ./อบต./เทศบาล ควรยกเลิกไป เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนทั้งในเรื่องของงบประมาณและพื้นที่การบริหารจัดการ โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นขณะนี้ มีเป็นจำนวนมากไม่น้อยกว่า 50 องค์กร ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาลภายในจังหวัดเดียวกัน ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในเรื่องของงบประมาณและพื้นที่การบริหารจัดการ เช่น อบจ.มีบทบาทในการดูแลประชาชนน้อยมาก งบประมาณก็น้อย อีกทั้ง อบจ.ก็ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง เพราะพื้นที่ทั้งหมดเป็นของเทศบาลและอบต. อบจ.จึงไม่มีบทบาทหน้าที่จริง และในแง่กฎหมาย อบจ. ถือเป็นนิติบุคคลที่ซ้อนนิติบุคคลคืออบต.และเทศบาล

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าสมาชิก อบจ.นั้น เป็นผู้แทนของประชาชนในส่วนใดในเมื่อพื้นที่ทั้งหมด เขาก็มีผู้แทนประชาชนแล้ว ทำให้มีผู้แทนซ้อนผู้แทน เพราะทั้งนายก อบจ. อบต. และเทศบาล และสมาชิกก็มาจากเลือกตั้งกันหมด

ในขณะที่เทศบาลแต่ละจังหวัด ก็มีทั้งเทศบาลนคร เมือง และตำบลมากมาย งบประมาณที่รัฐอุดหนุนจึงถูกสับเป็นเบี้ยหัวแตกหมดในการจัดสรรให้แต่ละ เทศบาลไปบริหารจัดการในอาณาจักรของตนเองเท่านั้น ซึ่งก็ต้องจัดสรรงบไปในส่วนของเงินเดือนเสียส่วนใหญ่ อีกทั้งประชาชนในแต่ละพื้นที่ก็ได้รับบริการไม่เท่าเทียมกันอีก คนในเทศบาลนครได้รับการดูแลที่ดีกว่าในเมืองและตำบล ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

000

3. ปัตตานีมหานคร
นายอัคคชา พรหมสูตร

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ.... ลอกแบบมาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528

รูปแบบการบริหารปกครองที่เหมาะสมกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานีมหานคร ซึ่งรวมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยมี

ผู้ว่าปัตตานีมหานคร มาจากการเลือกตั้ง เหมือนผู้ว่าฯ กทม.

สภาปัตตานีมหานคร ซึ่งสมาชิกสภาจะมาจากการเลือกตั้ง 20 คน และการสรรหา (10 คน) ที่มาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งผู้นำศาสนา นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ทหาร ตำรวจ นักกฎหมาย นักการศึกษา ผู้นำชุมชน นักธุรกิจ เป็นต้น โดยสามารถออกข้อบัญญัติของท้องถิ่น เช่น เรื่องการศึกษาและวัฒนธรรมได้

สภาเขต ซึ่งสมาชิกสภาจะมาจากการเลือกตั้ง โดยเขตนี้ได้ปรับมาจากอำเภอเดิม

ผอ.เขต มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่านคร

ผอ.แขวง มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่านคร ซึ่งแขวงนี้ได้ปรับมาจากตำบลเดิม

รูปแบบนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับของกทม. ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ประการหนึ่งว่ารูปแบบดังกล่าวนี้สามารถเป็นไปได้จริง ในทางปฏิบัติตามกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาได้ และการที่รวมพื้นที่ทั้งหมดเป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ก็เพื่อที่จะให้สามารถจัดหา งบประมาณได้มากขึ้นทั้งนี้ทั้งนั้น รูปแบบดังกล่าวนี้เป็นเพียงตุ๊กตาที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อีกมากในช่วงระหว่างการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่