ที่มา Thai E-News
29 พฤษภาคม 2555
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา Time Up Thailand "จดหมายเปิดผนึก คัดค้าน พรบ. ปรองดองฉบับหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2549"
29 พฤษภาคม 2555
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(คปค.)
ประกาศยึดประเทศและโค่นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกต้ังมาจากประชาชนในเวลา
22.54 น. คืนวันที่ 19 กันยายน 2549
และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเวลาเกือบเที่ยงคืน ในวันที่ 20
กันยายน คปค. ออกประกาศฉบับที่ 3/2549 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง ให้วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี
และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ
ให้คณะองคมนตรีดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
ให้ศาลคงอำนาจหน้าที่ต่อไป ในวันที่ 22 กันยายน เวลา 12.00 น.
โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถ่ายทอดเทปบันทึกภาพ
พิธีรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง
เป็นประมุข และในวันที่ 1 ตุลาคม คปค. ประกาศใช้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2549 ทั้งนี้ในมาตรา 37
ระบุนิรโทษกรรคผู้ก่อการรัฐประหารทั้งหมด
“ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร
หรือในทางตุลาการ
รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น
ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ
และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น
หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
นี่คือธรรมเนียมปฏิบัติของการรัฐประหารในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งที่ 9 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผ่านไป 6 ปี
นอกจากไม่มีผู้ร่วมในการทำการรัฐประหารโค่นกระบวนการประชาธิปไตยแม้แต่คน
เดียว(อีกครั้งหนึ่งแล้ว) ได้รับโทษจากการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้
หัวหน้าคณะรัฐประหารยังได้ก่อตั้งพรรคการเมืองและนั่งอยู่ในสภาในฐานะ
"ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
(กมธ.ปรองดอง) สภาผู้แทนราษฎร" โดยขณะนี้ได้ชงร่าง
"พระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ" ที่ระบุว่า “
อันเป็นไปตามประเพณีที่ประเทศไทยเคยปฏิบัติมาแล้วหลายครั้งและเป็นไปตาม
มาตรฐานสากลด้วยการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอันมีสาเหตุจากความขัดแย้ง
ทางการเมืองที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2548 จนถึงวันที่ 10
พฤษภาคม 2554”
ทั้งนี้ พรบ.ปรองดอง หรือ พรบ. นิรโทษกรรมฉบับนี้ ในหลายมาตรา
เป็นการให้นิรโทษกรรมเหมาเข่ง
ทั้งผู้ที่สมคววรจะได้รับการนิรโทษกรรมทางการเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งได้แก่
3.1) บรรดาการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง
หรือการแสดงออกทางการเมือง และทั้งกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบในการก่อความรุนแรง
3.2) การกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดๆ
อันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามในเหตุการณ์ มาตรา 4)
ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3
อยู่ในระหว่างการสอบสวนให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนผู้นั้น ...ฯลฯ
ครอบคลุมระยะเวลา มาตรา 3) ...ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2548
จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 หากมีการกระทำใดเป็นความผิดตามกฎหมาย
ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป
และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
นอกจากนี้ในพรบ. ฉบับนี้ในมาตรา 5 ระบุว่า
“ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายของ
องค์กรหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการ
ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค. ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19
กันยายน พ.ศ.2549 หรือการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร
หรือหน่วยงานอื่นใดอันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติของ
องค์กรหรือของคณะบุคคลดังกล่าว
มิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด”
ทางรัฐบาลจะประเมินความเสียหายของประเทศไทยนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549
และจะชดเชยได้อย่างไร
ถ้าไม่นำตัวผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำรัฐประหารมารับผิดชอบ
และเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารทำรัฐประหารโค่นประชาธิปไตยได้อีกในอนาคต
แน่นอนว่าการทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีเสถียรภาพ สันติสุข
พูนสุข และอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายร่วมของประชาชนทุกคนในประเทศไทย
แต่เราไม่เห็นว่า พรบ.
ปรองดองที่เต็มไปด้วยช่องโหว่และข้อกังขาฉบับนี้ของพลเอกสนธิ
หัวหน้าคณะรัฐประหารโค่นการเมืองประชาธิปไตยเมื่อปี 2549
จะสามารถยุติความขัดแย้งในสังคมไทยได้ และไม่มีทางที่การผ่าน พรบ. ฉบับนี้
จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้
รังแต่จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ถ้าประเทศไทยไม่ได้ปักหมุดแห่งการยึดมั่น
เคารพและปฏิบัติตามหลักการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลและมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
ประเทศจะก้าวไปข้างหน้า
นักการเมืองที่เป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือก
จะต้องกล้าหาญในการนำประเทศด้วยการยึดมั่นในหลักการ ด้วยความซื่อตรง
ซื่อสัตย์ ยุติธรรม
โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศทั้งทาง
ตรง(การเลือกตั้ง) และทางอ้อม อาทิการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
และการร่วมแสดงพลังประชามติในประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนต่างๆ
ทั้งนี้การปรองดองและนิรโทษกรรมเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่ต้องให้ประชาชน
ร่วมตัดสินใจ
จึงขอเสนอแนะมายังคณะรัฐบาลและรัฐสภา ดังต่อไปนี้
1. ขอให้ถอนญัตติการพิจารณาร่างพรบปรองดองแห่งชาติ ฉบับพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ออกจากวาระการพิจารณาโดยทันที
2. ขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการปรองดอง โดยที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่ประกอบจากทุกภาคส่วน (ย้ำว่าทุกภาคส่วน โดยเฉพาะต้องมีตัวแทนจากครอบครัวและตัวผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง) เพื่อร่างข้อเสนอ ทางเลือก เพื่อทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนร่วมลงประชามติ
3. ในระหว่างนี้ขอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งนักโทษคดีมาตรา 112 และพรบ.คอมพิวเตอร์ทุกคนโดยทันที และหยุดดำเนินคดีทั้งหมดจนกว่าจะได้ผลการลงประชามติ
จึงเรียนมาด้วยความเชื่อมั่นยิ่งว่า ขณะนี้รัฐบาลก็เดินหน้าได้ ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งผลักดันเรื่องการปรองดองอย่างเร่งด่วนเช่นนี้ จนละเลยต่อหลักการแห่งความยุติธรรม(ทางความแพ่งและทางอาญา) ต่อผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนทุกคน ทั้งนี้คณะรัฐบาล คณะผู้แทนในรัฐสภาทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมทั้งประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสถาบันในประเทศไทย ต้องการเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า และเชื่อว่าจำนวนไม่น้อยพร้อมร่วมกันนำพาประเทศผ่านความคิดต่างทางการเมือง ด้วยความยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ประชาชนทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ประเทศสันติสุข ยุติธรรม พูนสุข และยั่งยืนอย่างแท้จริง
ขอแสดงความนับถือ
ACT4DEM
แอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย