WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, April 10, 2010

‘ตาสว่าง’ ปลายทางการต่อสู้ของประชาชนแดง

ที่มา Thai E-News




การต่อสู้ในยุทธการผ่านฟ้ามีนา’53 เพื่อชิงเอาชัยชนะ แต่หากต้องพ่ายแพ้ก็ไม่อาจหาคำพูดใดมาอธิบายได้นอกจาก“มันเป็นพระประสงค์ของเทวดาผู้ยิ่งใหญ่” (แยก)ราชประสงค์มิอาจทำให้ประชาชน(แดง)สมประสงค์


โดย คุณTyranical Red

หมายเหตุไทยอีนิวส์:Tyranical Redเขียนบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ ภายใต้สมมุติฐานว่า การเคลื่อนไหวรณรงค์ของเสื้อแดงรอบนี้อาจรู้อยู่แล้วว่ายุทธการล่าสุดนี้อาจประสบความพ่ายแพ้ แต่ก็เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์หูตาสว่างทั้งแผ่นดิน ซึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวในเชิงปฏิวัติประชาชนในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามเป็นทัศนะของผู้เขียน โดยที่ไทยอีนิวส์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยทั้งหมด


“…ถ้าคนเสื้อแดงแพ้ จะเกิดการปฏิวัติโดยประชาชน…”
-จรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำ นปช.,31มีนาคม 2553, ไทยพีบีเอส

เป้าหมายสองระดับของฝ่ายนำ

เป้าหมายที่แท้จริงของ นปช.ภายใต้การนำของสามเกลอ ผมเชื่อตามที่พวกเขาประกาศว่า คือ การยุบสภา

ส่วนเป้าหมายของดูไบ คือ ลากคอหัวหน้าใหญ่ออกมา โดยใช้ยุทธศาสตร์“ความพ่ายแพ้” เพื่อนำไปสู่การเปิดโปงหัวหน้าใหญ่ตัวจริงและคนเสื้อแดงจะหันมาสู้กับหัวหน้าใหญ่ตัวจริง

จึงเท่ากับเป็นการขยายความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับหัวหน้าอำมาตย์เบอร์รองๆ ไปสู่หัวหน้าอำมาตย์เบอร์หนึ่ง เชื่อว่าปัจจุบันมวลชนส่วนข้างมากยังเชื่อว่าเบอร์หนึ่งไม่เกี่ยว แต่เบอร์รองๆลงมาเกี่ยวข้องทุกคน และอีกมากที่รู้ว่าเบอร์หนึ่งเกี่ยว แต่ก็ไม่คิดจะสู้กับเบอร์หนึ่ง

ความพ่ายแพ้จะทำให้คนเหล่านั้นตาสว่างและหันมาสู้กับเบอร์หนึ่งเสียที ขณะเดียวกันยังเป็นการขยายความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายที่ส่วนใหญ่สู้กันในแนวทางสันติให้เป็นสงครามประชาชน(เรียกในชื่ออื่นว่า การปฏิวัติโดยประชาชน สงครามกลางเมือง เป็นต้น) ซึ่งแนวทางการใช้ความรุนแรงจะค่อยๆเพิ่มระดับขึ้น มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆจนอาจจะสำคัญพอๆกับแนวทางสันติได้ในอนาคต(กล่าวให้สั้นที่สุดเพียงประโยคเดียว คือ การเปลี่ยน“ความพ่ายแพ้”ให้เป็น“ตาสว่าง” และเปลี่ยน “การปฏิรูป” ให้เป็น“การปฏิวัติ”)

สิ่งที่แกนนำ นปช.อย่างจรัล ดิษฐาอภิชัย พูดว่า “…ถ้าคนเสื้อแดงแพ้ จะเกิดการปฏิวัติโดยประชาชน…” นั้นคงมาจากประสบการณ์การต่อสู้ที่ยาวนานหลายสิบปีที่เห็นว่าเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่อาจบานปลายไปสู่การปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคนได้โดยไม่ยากนัก

ผมเชื่อแน่ว่าแกนนำ นปช.ส่วนใหญ่คงไม่มีใครคิดไปถึงขั้นนั้นแน่ เพราะดูจากข้อเรียกร้องยุบสภาเป็นข้อเรียกร้องที่ต่ำมาก และคงเป็นความบังเอิญที่ไปสอดคล้องกับความคิดของดูไบมากกว่า

การเคลื่อนไหวใหญ่รอบนี้ดูจะเป็นภาคบังคับพอสมควร ตามที่เคยประกาศไปปลายปีที่แล้ว ที่จริงการเคลื่อนไหวใหญ่เป็นระยะๆดูจะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการรักษาขบวน แต่ท่าทีของดูไบก็ไม่ค่อยสนับสนุนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งหนึ่งในสามเกลอประกาศไว้ราวกับว่าเป็นสงครามครั้งสุดท้าย ถ้าแพ้ก็ตายหรือไม่ก็หามออกจากสนามรบอะไรทำนองนั้น

แต่ตอนนี้ดูไบจะสนับสนุน(แม้ไม่เต็มที่)เพราะเป็นการเคลื่อนไหวหลังการยึดทรัพย์ การยึดทรัพย์ทำให้การเจรจาประนีประนอมดูเหมือนจะถึงทางตันจริงๆ(แม้จะถูกยึดแค่สองในสาม แต่ที่จริงคือการยึดหมด เพียงแต่เป็นการยึดด้วยคดีอื่นๆที่จะตามมาอีกเยอะ คือยึดจนไม่พอจะยึด) เชื่อว่าการเคลื่อนไหวรอบนี้เหมือนการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายของดูไบที่ต้องการให้อีกฝ่ายมาเจรจาประนีประนอมซึ่งเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว

หากยังไม่ยอมดูไบก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเดินหน้าล้มทั้งระบบจริงๆเสียที ผมเชื่อว่าดูไบพอใจที่จะได้เงินคืนหนึ่งในสามมากกว่าจะต่อสู้แบบล้มล้างให้ตายกันไปข้างหนึ่ง โดยไม่รู้ว่าจะได้ชัยชนะหรือไม่ สู้เอาหนึ่งในสามไว้ก่อนพร้อมๆกับหลุดพ้นจากคดีไม่ดีกว่าหรือ ส่วนจะหาเพิ่มทีหลังไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากอีกฝ่ายไม่เอาด้วยก็จะได้ถือโอกาสนี้ยกระดับการต่อสู้ไปให้สุดทางถึงระดับตาสว่างทั้งแผ่นดินและถอนรากถอนโคนกันจริงๆเสียที

ถ้าต้องไปไกลจนสุดทางจริงๆ ความพ่ายแพ้ในยุทธการครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างที่สุด เพื่อนำไปสู่การยกระดับการต่อสู้อย่างก้าวกระโดด เหมือนกับเหตุการณ์ 13 ตุลา ยิ่งพ่ายแพ้ย่อยยับและสูญเสียอย่างหนักเท่าใดก็ยิ่งส่งผลดีต่อการยกระดับมวลมหาประชาชนไปสู่อาการ“ตาสว่าง”มากขึ้นเท่านั้น แต่อาจต้องแลกกับการบาดเจ็บล้มตายมากเช่นเดียวกัน ความพ่ายแพ้จะเป็นบทพิสูจน์ว่าคนเสื้อแดงเดินมาสุดทางแล้ว ฝ่ายศัตรูไม่ยอมอ่อนข้อให้แม้แต่น้อย จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องทำการปฏิวัติล้มทั้งระบอบเพื่อสร้างรัฐไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ยุทธการผ่านฟ้า-ราชประสงค์ ทำไมดูไบจึงสนับสนุนแบบครึ่งๆกลางๆ

ตอนแรกประเมินกันว่าคนเข้าร่วมชุมนุมน่าจะมีไม่ต่ำกว่าสามแสน(หมายถึงตัวเลขที่แท้จริง ส่วนตัวเลขทางการเมืองอาจจะห้าแสน หนึ่งล้าน) คือ ภาคเหนือหนึ่งแสน อีสานหนึ่งแสน ภาคกลางห้าหมื่น กรุงเทพห้าหมื่น ที่เหลือภาคใต้ห้าพัน แต่มาจริงประมาณครึ่งของที่ประเมิน(คนเข้าร่วมจริงๆในวันที่ 14 มีนาคม ประมาณแสนห้าหมื่นถึงสองแสนเท่านั้น) ตัวเลขที่แท้จริงฝ่ายทหารและตำรวจสามารถประเมินได้ใกล้เคียงมากทีเดียว (ที่สำคัญคนเหล่านั้นส่วนใหญ่ที่มาโดย ส.ส. ถูกมอบหมายให้มาแค่ช่วงสั้นๆ3-5 วัน เท่านั้น)

เข้าใจว่าดูไบคงประเมินอย่างถี่ถ้วนแล้วว่ายุทธการผ่านฟ้าฯถึงอย่างไรคงไม่ชนะ แต่จะไม่หนุนสามเกลอเสียทีเดียวก็ดูจะหักด้ามพร้าด้วยเข่าเกินไป จึงหนุนแบบครึ่งๆกลางๆ อย่างที่บอกสามเกลอมีอิทธิพลต่อดูไบมาก แม้ดูไบจะเป็นเหมือนกล่องดวงใจ แต่ดูไบก็ต้องพึ่งพาสามเกลอมากมายมหาศาล สามเกลอจึงน่าจะมีอำนาจต่อรองสูงมากกว่ากลุ่มการเมืองใด เพราะการต่อสู้ที่ผ่านมาภายใต้การนำของสามเกลอส่งผลสะเทือนต่อฝ่ายตรงข้ามมากกว่าการต่อสู้โดยกลุ่มการเมืองอื่นแม้แต่ในสภาที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเสียอีก(เอาเข้าจริงสามเกลอคนหนึ่งก็มีบทบาทในสภาและในพรรคมากพอสมควรด้วยซ้ำไป)

ตอนแรกดูไบทำท่าจะหนุนแค่ช่วงสั้นๆ แต่ตอนหลังเปลี่ยนใจเพราะเห็นว่ารัฐบาลใช้วิธีปล่อยให้แห้งตาย จากเดิมที่ตอนแรกหลายฝ่ายประเมินว่าจะเกิดการปราบปราม เมื่อฝ่ายรัฐเลือกที่จะไม่ใช้กำลัง หากไม่หนุนต่อก็จะทำให้การเคลื่อนไหวรอบนี้แทบสูญเปล่า แพ้ง่ายเกินไป ประกอบกับ นปช.เคลื่อนขบวนทั่วกรุงในวันที่ 20 มีนาคม กระแสคนกรุงตอบรับดีมาก การไม่สนับสนุนท่ามกลางกระแสสูงดูจะไม่เป็นผลดีกับดูไบ ทั้งที่รู้ว่าคงยากที่จะเปลี่ยนผลลัพธ์ของการต่อสู้ ยังไงก็แพ้ จะแพ้มากแพ้น้อยเท่านั้น

เป็นไปได้เหมือนกันว่าดูไบอาจจะลังเล คือ ใจหนึ่งคงอยากได้อะไรติดมือเป็นชัยชนะรายทางบ้างเหมือนกัน(เพราะกระแสสูงจึงน่าเสี่ยงสนับสนุนต่อไป) เช่น ถ้ายุบสภาสำเร็จ เลือกตั้งใหม่ได้เป็นรัฐบาลก็อาจจะนิรโทษกรรมพ้นคดี ได้กลับบ้าน ฯลฯ ก็ยังดี เผลอๆได้กลับสู่อำนาจอีกก็จะทำอะไรได้อีกเยอะด้วยตัวเอง การต่อสู้ให้แนวทางตาสว่างเป็นการลงทุนระยะยาวที่แพงไปหน่อยโดยที่ไม่รู้จะบรรลุผลเมื่อไหร่ คืออันไหนได้ก่อนก็คว้าไว้ก่อน แต่ถ้าไม่ได้ก็สู้ยาวในเป้าหมายใหญ่ก็ยังไม่สาย

การนำของสามเกลอที่ดูไบกำลังพยายามปรับเปลี่ยน

ที่ผ่านมาสามเกลอเกือบจะผูกขาดการนำทั้งหมด ดูไบกำลังเกลี่ยการนำโดยเพิ่มบทบาทของบรรดา ส.ส.เพื่อไทยภายในขบวน นปช.ให้มากขึ้น เป็นไปได้ว่าต่อในเราอาจจะเห็นคนทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ๆขึ้นมามีบทบาทในขบวน นปช.มากขึ้นก็เป็นได้ ขณะเดียวกันดูไบก็กำลังสร้างขบวนการอีกขบวนหนึ่งคู่ขนานกับ นปช. ไว้เป็นทางเลือกหรือคู่แข่งกับ นปช.ในอนาคต ขบวนการคู่ขนานนี้อาจจะมีแนวทางหรือมีลักษณะหลายๆอย่างที่ได้รับอิทธิพลจากคนประเภทแดงจัด เช่น จักรภพ สุรชัย ชูพงษ์ ฯลฯ(เผลอๆ สองสามคนที่กล่าวถึงเข้ามามีส่วนโดยตรงในขบวนการคู่ขนานนี้ด้วย)

สามเกลอมีลักษณะบางอย่างคล้ายๆเนวิน คือ มีอิทธิพลมากเกินไปจนเกือบจะขี่คอดูไบอยู่แล้ว แต่กรณีเนวินจัดการได้ง่ายกว่าเพราะไม่ได้นำมวลชนอย่างเข้มแข็งใหญ่โตขนาดนี้ ขณะเดียวกันเนวินก็เลือกที่จะจากไปแทนที่จะเลือกต่อสู้แข่งขันภายในพรรค โดยเปรียบเทียบแล้วสามเกลอในระยะปีเศษมานี้มีอิทธิพลต่อดูไบมากกว่าสมัยเนวินเรืองอำนาจเสียอีก

อย่างไรก็ตามการกำจัดสามเกลอแบบที่เคยทำกับเนวินนั้นจะส่งผลกระทบกับขบวนการคนเสื้อแดงอย่างมาก การจะหาคนที่มีความสามารถสูงและได้รับการยอมรับจากมวลชนระดับเดียวกับสามเกลอเป็นเรื่องยากมาก การเก็บสามเกลอไว้ดูจะเป็นประโยชน์กว่า แต่ต้องหาทางลดบทบาทสามเกลอด้วยการเพิ่มบทบาทของกลุ่มอื่นๆขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลกับสามเกลอ เช่น คนในพรรคเพื่อไทยดังที่กล่าวมาแล้ว และประการสำคัญเชื่อว่าดูไบคงรู้ดีว่าขบวนการคนเสื้อแดงภายใต้แนวทางแบบสามเกลอคงไม่อาจไปถึงเป้าหมายสูงสุดได้(แม้สามเกลอจะรู้ดีว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง แต่สามเกลอคงไม่คิดสู้กับสิ่งนั้นอย่างจริงจัง)

ดังนั้นหากต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางก็คงต้องหาทางทำให้ส่วนอื่นๆขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งทำให้สามเกลออ่อนกำลังลงไปก่อน นั่นคือ ความพ่ายแพ้ในยุทธการผ่านฟ้า-ราชประสงค์ จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การนำของสามเกลอถูกตั้งคำถามมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนอะไรๆก็คงจะง่ายกว่าที่เป็นอยู่

บทเรียนการนำและการตัดสินใจในสงกรานต์เลือด

ปัญหาใหญ่คือจะจำกัดความพ่ายแพ้ไม่ให้เสียหายหนักจนไม่อาจฟื้นคืนชีพได้ในเวลาอันสั้นได้อย่างไร?

การนำที่ค่อนข้างเบ็ดเสร็จของสามเกลอ นำไปสู่การผิดพลาดในเหตุการณ์สงกรานต์เลือด(เช่น การประกาศไม่ชนะไม่เลิก การยกระดับไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น) และการตัดสินใจไม่ยอมถอย/สลายการชุมนุม แม้แต่ในคืนวันที่ 12 เมษายน 2552 ที่มีการหารือเรื่องนี้กันอย่างเคร่งเครียด จนในที่สุดต้องยอมจำนนอย่างหมดทางสู้ในวันรุ่งขึ้น

เบื้องหลังการตัดสินใจไม่ถอยในคืน 12 เมษายน 52

12 เมษายน 2552 เหตุการณ์คับขันเข้าขั้นวิกฤติ ผู้ชุมนุมถูกทหารปิดล้อมไม่ให้ส่งเสบียงและน้ำ ทหารเปิดทางให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านแต่ไม่อนุญาตให้คนเข้าไปชุมนุมเพิ่ม(ว่ากันว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนเสื้อแดงสองคนถูกสังหารเพราะพยายามเข้าไปในที่ชุมนุมและอาจกระทบกระทั่งกับทหารที่ตั้งด่านอยู่ จึงถูกสังหาร) มีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนมาขึ้นเวทีในช่วงกลางวัน เช่น จาตุรนต์ ฉายแดง วัลลภ ปิยะมโนธรรม หมอลักษ์ เรขานิเทศ ตอนเย็นเริ่มมีการปะทะกับทหารประปรายโดยรอบพื้นที่ชุมนุม โดยเฉพาะถนนราชดำเนินระหว่างแยกมิสกวันกับลานพระบรมรูปทรงม้า และมีการเผาตึกกรมอาชีวศึกษาแต่โชคดีที่ไฟไม่ลาม มีการก่อกวนโดยรอบ มีเสียงดังคล้ายระเบิดเป็นระยะ(คาดว่าเป็นประทัดยักษ์) มีเสียงปืนดังเป็นระยะในตอนกลางคืน รวมทั้งชาวบ้านนางเลิ้งสองคนก็ถูกยิงตายในคืนนั้น

ตอนเย็นนั้นมีการหารือกันในหมู่แกนนำความจริงวันนี้และ นปช. แกนนำบางคนเสนอให้หาทางถอย เช่น เสนอให้ถอยไปสนามหลวง มีการอภิปรายกันพอสมควรจนเกือบจะเป็นฉันทามติว่าต้องถอย แต่หนึ่งในสามเกลอให้เหตุผลว่าถ้าถอยเท่ากับยอมแพ้และจะไม่สามารถนำมวลชนได้อีก(ในอนาคต) โดยยืนกรานว่ายังไงก็ไม่ถอย แต่ก็จะไม่สู้ ถ้าฝ่ายรัฐจะจับก็ให้เข้ามาจับในท่ามกลางฝูงชน ทำให้สามเกลออีกคนหนึ่งเห็นด้วย ส่วนสามเกลอตัวหัวหน้าไม่แสดงท่าทีใดๆ แกนนำที่เหลือก็ไม่มีใครพูดอะไรอีก นั่นเท่ากับว่ามติแกนนำในเย็นวันนั้นคือ ไม่ถอย ไม่สู้ อยากจะจับให้เข้ามาจับกลางฝูงชน

การตัดสินใจ ถอย-ไม่ถอย หากต้องเพลี่ยงพล้ำในยุทธการผ่านฟ้า มีนา’53

เข้าใจว่าแกนนำหลายคนคงสรุปบทเรียนจากเมษาปีที่แล้วว่าจะไม่ดึงดันต่อสู้จนต้องพ่ายแพ้ย่อยยับอีกในรอบนี้ ถ้าถึงที่สุดแล้วเดินหน้าไปต่อไม่ได้ก็จะถอย แต่จากบทเรียนเมษาคือมีจังหวะที่จะถอยได้แต่ไม่ถอย(ไม่ใช่แค่วันที่ 12 เมษา) ในที่สุดจึงต้องจำนนอย่างหมดทางสู้

รอบนี้หากแกนนำคนอื่นๆต้องการถอยภายใต้ภาวะที่สามเกลอกุมการนำ สามเกลอจะยอมหรือไม่ ใครจะทัดทานสามเกลอได้หากสามเกลอไม่ยอมถอย เข้าใจว่าแม้แต่ดูไบก็คงไม่สามารถทัดทานได้ อีกอย่างคือจะต้องพ่ายแพ้ถึงระดับไหนถึงจะเพียงพอที่จะยกระดับไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดได้

ปัญหานี้เชื่อว่าไม่ว่าแพ้มากแพ้น้อยก็สามารถทะลุไปถึงเป้าหมายสุดท้ายได้ แต่ถ้าแพ้ย่อยยับก็จะไปถึงได้เร็วหน่อย ถ้าแพ้น้อยก็ถึงช้าหน่อย ขึ้นอยู่กับว่าต้องการก้าวกระโดดแค่ไหน(เท่าที่พยายามยื้อมาได้เกือบเดือน พยายามทำทุกวิถีทางก็ไม่สำเร็จ ก็น่าจะพอที่จะไปขยายผลให้ตาสว่างกันทั้งแผ่นดินได้ไม่ยากแล้วว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน) แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดคือ ความเสียหายของขบวนการที่ไม่แน่ว่าจะรื้อฟื้นคืนมาได้ง่ายๆเหมือนปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตัดสินใจสู้ตาย ก็มีคนพร้อมสู้ตายและจะต้องเจ็บและตายจริงๆ ส่วนแกนนำก็คงถูกกวาดเรียบ ขบวนก็เสียหายหนัก และฟื้นยาก

ของฝากพวกชอบสันติ

ของฝากนักสันติวิธี นักปฏิบัติการไร้ความรุนแรง และพวกที่เสนอให้ใช้สันติวิธี หากเหตุการณ์เข้าขั้นวิกฤติจนยากจะเลี่ยงความรุนแรง ขอเสนอวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเรียกร้องให้คนเหล่านี้มาเป็นโล่มนุษย์ โดยส่งพวกเขาไปอยู่ในแนวปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐและต้องอยู่จนนาทีสุดท้าย เพื่อให้พวกเขาได้พิสูจน์ความมีสันติในตัวเอง ว่าพร้อมจะยอมตายเพื่อสันติหรือไม่ การเป็นโล่มนุษย์น่าจะช่วยให้ฝ่ายรัฐต้องคิดหนักที่จะใช้ความรุนแรง(ที่จริงขอเรียกร้องให้พวก ส.ส., ส.ว. ปัญญาชน นักวิชาการ คนมีชื่อเสียงทั้งหลาย มาเป็นโล่ห์มนุษย์ด้วย) แต่ถ้าไม่เกิดเหตุรุนแรงจะดีที่สุด

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังความพ่ายแพ้ของประชาชนเสื้อแดง

หากเสื้อแดงแพ้เชื่อแน่ว่าหลังจากนั้นสิ่งที่จะตามมา คือ จะมีการปฏิรูปครั้งใหญ่พอสมควรตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง โดยเอาทุกฝ่ายมาร่วมโดยไม่สนใจเสื้อแดงว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ พูดง่ายๆคือโดดเดี่ยวเสื้อแดง แต่การปฏิรูปคงไม่แตะต้องปัญหาสำคัญที่แท้จริงอยู่ดี

สิ่งที่น่าคิดอีกอย่างตอนนี้(คิดหยาบๆโดยไม่ได้ตรวจสอบกฎหมาย)คือความเป็นไปได้ของการยุบพรรคเพื่อไทยด้วยข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงเพราะไปร่วมเคลื่อนไหวกับเสื้อแดง เพื่อทำให้พรรคอ่อนแอลงไปอีก เพราะจะมีหลายคนที่ถูกตัดสิทธิ์(ด้วยข้อหาความมั่นคงเพราะไปร่วมกับเสื้อแดง) แล้วรีบชิงยุบสภา จะทำให้พวกเพื่อไทยที่เหลือรอดตั้งตัวไม่ติด ผึ้งแตกรัง หาพรรคใหม่ไม่ทัน ฝ่ายรัฐบาลเดิมชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมาก ทำให้มีเวลาอีก 4 ปีในการจัดการอะไรต่อมิอะไรได้ตามต้องการ

การต่อสู้ในยุทธการผ่านฟ้ามีนา’53 ที่ขยายแนวรบไปสู่(แยก)ราชประสงค์ คนเสื้อแดงพยายาม(จำเป็นต้อง)ผ่านพื้นแผ่นดินและฟ้า(สะพานผ่านพิภพลีลา และสะพานผ่านฟ้าลีลาศ) ไปสู่(แยก)ราชประสงค์ ที่รายล้อมไปด้วยเทวดาถึงหกองค์(พระพหรม พระพิฆเนศ พระตรีมูรติ พระอิศวร พระนารายณ์ทรงครุฑ พระลักษมี พระอินทร์)เพื่อชิงเอาชัยชนะ แต่หากต้องพ่ายแพ้ก็ไม่อาจหาคำพูดใดมาอธิบายได้นอกจาก“มันเป็นพระประสงค์ของเทวดาผู้ยิ่งใหญ่” (แยก)ราชประสงค์มิอาจทำให้ประชาชน(แดง)สมประสงค์

ฉากสุดท้ายที่อยากเห็น แต่คงไม่ได้เห็น

อยากเห็นแกนนำ นปช.ประกาศชัยชนะท่ามกลางความพ่ายแพ้ทำนองว่า
“ความพ่ายแพ้ในยุทธการผ่านฟ้าฯ ได้เป็นบทพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยแก่พี่น้องประชาชนแดงแล้วว่า พวกเราได้พยายามทุกวิถีทางอย่างสุดความสามารถที่มนุษย์ธรรมดาพึงจะกระทำได้แล้ว พวกเราเดินมาสุดทางจนพวกเราตาสว่างแล้วว่า จอมบงการสูงสุดของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยไม่ยอมอ่อนข้อให้ประชาชนแม้แต่น้อย พวกเราไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกต่อไป นอกจากต้องทำลายกำแพงแห่งอุปสรรคนั้นเสียให้สิ้นซากเพื่อเดินหน้าไปสู่การสร้างรัฐไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง พวกเราขอตั้งสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพี่น้องประชาชนว่าพวกเราจะเอาชนะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเอาชนะได้สำเร็จ ให้จงได้”