ที่มา ประชาไท น่าเห็นใจคนกรุงเทพฯที่ประสบปัญหาจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง ไหนจะรถติด หนวกหูกับเสียงปราศรัยจากเวทีชุมนุม การค้าขาย การทำมาหากินในย่านที่มีการชุมนุม ไม่สะดวกเหมือนเดิมหรือมีอันต้องหยุดชะงักลง ไหนจะกลัวลูกระเบิด กลัวความรุนแรงสารพัดที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อใด แต่ดูเหมือนคนกรุงเทพฯจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงปัญหาการชุมนุมทางการเมืองได้ ในเมื่อกรุงเทพฯเป็น “ศูนย์กลาง” ของทุกสิ่งทั้งอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สื่อ ฯลฯ ถนนทุกสายจึงมุ่งสู่กรุงเทพฯ น่าอัศจรรย์ไหมที่ข้าราชการในส่วนภูมิภาคไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายก็ต้องมุ่งสู่กรุงเทพฯ ชาวนา กลุ่มเกษตรกรรายย่อย สมัชชาคนจน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน หมู่บ้าน หรือแม้แต่การทวงที่นาคืนจากการถูกรัฐละเมิดสิทธิ์อย่างกรณี ยายไฮ ขันจันทา ก็ต้องมุ่งสู่กรุงเทพฯ (และน่าจะเป็นการเดินทางเทียวไปเทียวมายาวนานที่สุดร่วม 30 ปี จึงได้รับความเป็นธรรม) ในบรรดาความเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆนั้น “ความเป็นศูนย์กลางฉันทานุมัติทางการเมือง” ของคนกรุงเทพฯ นับว่า “ทรงอิทธิพล” อย่างสูงยิ่ง ดังตำนาน “สองนคราประชาธิปไตย” ที่ว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล” แม้แต่กรณียายไฮ ถ้าเรื่องราวการเดินเท้าในระยะทางกว่า 20 ก.ม.จากหมู่บ้านไปอำเภอเพื่อยื่น “จดหมาย” (ที่เขียนด้วยมือ) ขอความเป็นธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า เรื่องราวการมาร่วมชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯครั้งแล้วครั้งเล่าของหญิงชราขาวชนบทคนหนึ่งไม่ได้ออกรายการทีวีของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา และถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก คิดหรือว่ารัฐบาลจะ “รับรู้” และรับผิดชอบแก้ไข เสียงของคนกรุงเทพฯ (ผ่านสื่อ) ที่แสดงออกถึงความสงสาร เห็นใจ และชื่นชมการต่อสู้ของยายไฮต่างหากที่ทำให้รัฐบาล “ได้ยิน” ลำพังเสียงของยายไฮล้วนๆ แม้จะเป็นเสียงตรง เสียงจริง เสียงความทุกข์ยากที่บริสุทธิ์ใสซื่ออย่างไรก็ไม่มีรัฐบาลไหนจะ “ได้ยิน” หรอกครับ ในเมื่อกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของฉันทามติทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลสูงยิ่ง ที่อาจส่งผลกระทบในเรื่องใหญ่สุด เช่น เสถียรภาพของรัฐบาล ไปจนถึงเรื่องเล็กสุด เช่น การได้รับความเป็นธรรมของหญิงชราชาวชนบทคนหนึ่ง เช่นนี้แล้วในด้านกลับคนกรุงเทพฯ จึงต้องมีต้นทุนที่จำเป็นต้องจ่าย นั่นคือความเดือดร้อนต่างๆนานาอันเกิดจาก “เสียง” จากทุกสารทิศ โดยเฉพาะเสียงของคนชนบทที่มาร้องขอ “ฉันทานุมัติ” จากคนกรุงเทพฯ เพื่อส่งผ่านให้รัฐบาล “ได้ยิน” แต่ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้าย คนกรุงเทพฯ มักจะถูกแย่งชิงฉันทามติจากฝ่ายขัดแย้งทางการเมืองฝ่ายต่างๆอยู่เสมอ เช่น การชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลรัฐบาลใช้สื่อของรัฐและสื่อกระแสหลักโหมประโคมอย่างเต็มที่ในด้านการวิเคราะห์ คาดการณ์ และการเตรียมการป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงก็เน้นภาพการชุมนุมอย่างสงบสันติ อหิงสา เน้นสงครามจิตวิทยาที่ต้องการดึงคนกรุงเทพฯ มาเป็นแนวร่วม (แต่คนเสื้อแดงแทบไม่มีสัดส่วนในการนำเสนอข้อเท็จจริง “ความคิด” หรือข้อโต้แย้งฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่สื่อของรัฐและสื่อกระแสหลักมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายรัฐบาลที่ใช้ “ช่องหอยม่วง” นำเสนอบทวิเคราะห์ ความเห็น ข้อโต้แย้งของฝ่ายตนหรือฝ่ายสนับสนุนตนวันละหลายชั่วโมง) แต่ละฝ่ายที่หยั่งเชิงกันไปมาต่างก็คอยเงี่ยหูฟังว่า คนกรุงเทพฯ จะเอายังไง? ที่รัฐบาลไม่ยอมยุบสภาใน 15 วัน ก็เพราะเชื่อมั่นว่า สามารถอธิบายเหตุผลให้คนกรุงเทพฯ ยอมรับได้ เหตุผลที่แท้จริงของคนเรือนแสนที่มาชุมนุมไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลต้องใส่ใจวิเคราะห์อย่างจริงจัง แต่ฝ่ายที่น่าเห็นใจคือฝ่ายที่มาชุมนุม เพราะนอกจากจะบากหน้ามาหารัฐบาลที่ไม่สนใจรับฟังปัญหา หรือ “วาระ” ที่แท้จริงของพวกเขาแล้ว ยังจำเป็นต้องพยายาม “แสดงออก” เพื่อให้ได้ฉันทานุมัติจากคนกรุงเทพฯ อีกด้วย ซึ่ง “มาตรฐาน” ของการจะให้หรือไม่ให้ฉันทานุมัติของคนกรุงเทพฯนั้น ก็เอาแน่นอนไม่ค่อยได้ ครั้งหนึ่งคนกรุงเทพฯเคยเห็นว่า รัฐบาลทักษิณแทรกแซงองค์กรอิสระกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของทักษิณ แต่ครั้งนี้คนกรุงเทพฯ ไม่เห็นว่าอภิสิทธิ์แทรกแซงองค์กรอิสระกรณีเตะถ่วงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เรื่องรับเงินบริจาค 258 ล้านบาท ครั้งหนึ่งคนกรุงเทพฯ ทนไม่ได้กับ “รายการความจริงวันนี้” ที่ยึดทีวีของรัฐเสนอทัศนะทางการเมือง “ข้างเดียว” แต่ปัจจุบันนี้คนกรุงเทพฯกลับเฉยๆกับการที่ทีวีของรัฐ “ช่องหอยม่วง” ถูกยึดเป็นสาขาหนึ่งของ ASTV ที่เอาการเอางานกับการให้ “ความรู้” และให้ “ปัญญา” แก่ประชาชนชาวไทย (ที่ยังโง่ ยังถูกทักษิณหลอก) และ “คลายปม” ปัญหาของประเทศด้วยการเสนอความเห็นทางการเมือง “โคตรข้างเดียว” ผมไม่แน่ใจว่าที่แกนนำคนเสื้อแดงยกระดับการชุมนุมกดดันรัฐบาลมากขึ้นนั้น จะทำให้ได้รับฉันทานุมัติเพิ่มขึ้นจากคนกรุงเทพฯ และจะชนะก่อนสงกรานต์ดังที่ประกาศหรือไม่ ถ้ายังหวังฉันทานุมัติจากคนกรุงเทพฯ ทางที่เป็นไปได้คือยอมเจรจาต่อรองเรื่องเงื่อนเวลาในการยุบสภา และสิ่งที่ต้องทำก่อนยุบสภา ไม่เช่นนั้นก็ต้องข้ามให้พ้น “คนกรุงเทพฯ” ด้วยการพักรบกลับไปตั้งหลักใหม่ ถ้านับจำนวนคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดเฉพาะภาคอิสานภาคเดียวก็มากกว่าคนกรุงเทพฯ มากแล้ว การกลับไปสร้างความเป็นเอกภาพทางความคิดให้เหนียวแน่นมากขึ้นในหมู่ประชาชนภาคเหนือ ภาคอิสาน และที่อื่นๆ พร้อมกับร่วมกันคิดสร้างแนวทางในอนาคตว่าทำอย่างไรคนต่างจังหวัด คนชนบทจะต้องไม่วิ่งมาขอความเป็นธรรม ขอให้แก้ปัญหา ขอประชาธิปไตย ฯลฯ โดยต้องคอยอาศัยฉันทานุมัติจากคนกรุงเทพฯ อีกต่อไป ทำอย่างไร “เสียง” หรือฉันทานุมัติของคนชนบทจะมีความหมายเท่าเทียม หรือถ่วงดุลเสียงหรือฉันทานุมัติของคนกรุงเทพฯได้มากขึ้น? นี่เป็นปัญหาที่คนเสื้อแดงควรร่วมกันคิดในระยะยาว เพื่อทำให้ชัยชนะ (ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า) มีความหมายต่อการสร้างประชาธิปไตยที่จับต้องได้!