WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, August 1, 2010

การกระชับอำนาจรัฐ กับ การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของประชาชน

ที่มา ประชาไท

“ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน” เป็นทฤษฎีที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วยาวนาน การกดขี่ไม่เคยนำมาซึ่งความว่างเปล่า ยิ่งมีแรงกดมากเท่าไร แรงต้านก็ยิ่งมากเท่านั้น การครอบงำอาจจะมาในรูปของการสร้างอำนาจนำ (Hegemony) ซึ่งถือว่าเป็นการครอบงำที่เนียนที่สุด เพราะเป็นการสร้างอุดมการณ์ที่ทำให้ผู้ถูกครอบงำเชื่อถือศรัทธา ไม่รู้สึกตัวว่ากำลังถูกครอบงำ และทำให้ผู้ที่ถูกครอบงำคิดว่าการเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ เป็นความเชื่อที่บริสุทธิ์ใจ เป็นความจริงที่ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดี และเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ
การกระชับอำนาจรัฐอย่างเข้มข้นในขณะนี้ เราได้เห็นการขับเคลื่อนกลไกรัฐสองด้านชัดเจน ด้านแรก กลไกรัฐซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นทางการถูกหยิบฉวยใช้เพื่อสนับสนุนอุดมการณ์รัฐเต็มที่ แต่นั่นยังไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับสถาบันทางสังคมที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ เช่น สมาคมผู้ผลิตโฆษณา สมาคมนักหนังสือพิมพ์ สภาหอการค้า เครือข่ายเอ็นจีโอ ค่ายเทป กลุ่มยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม กลุ่มศิลปิน ฯลฯ ที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนอุดมการณ์รัฐอย่างแข็งขัน
ตัวอย่างของการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของสถาบันที่ไม่เป็นทางการ



ภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง “ขอโทษประเทศไทย” ผลงานของภาณุ อิงคะวัต และทีมงาน ถูกห้ามไม่ให้เผยแพร่ในฟรีทีวี แต่แพร่หลายในโลกออนไลน์ ใช้สัญลักษณ์ที่สื่อความหมายความเป็น "ชาติ" เช่น เพลงสามัคคีชุมนุม ธงชาติที่ขาดวิ่น ตึกถูกเผา ประกอบภาพเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างคนในชาติเสื้อเหลือง-เสื้อแดง พร้อมคำถามที่คิดว่าจะซื้อใจคนชั้นกลางที่ไม่มีสี เช่น เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า รุนแรงไปหรือเปล่า ฟังความข้างเดียวหรือเปล่า ทำหน้าที่ของตัวเองหรือเปล่า คิดถึงประชาชนหรือเปล่า โกงหรือเปล่า เอาเปรียบหรือเปล่า ให้ปัญญาประชาชนหรือเปล่า เสื่อมหรือเปล่า รักเงินมากกว่าความถูกต้องหรือเปล่า รอการช่วยเหลืออย่างเดียวหรือเปล่า ถ้าจะต้องมีคนผิด ก็คงเป็นเราทั้งหมดที่ผิด ขอโทษประเทศไทย และถ้าจะต้องแก้ไขก็ต้องเป็นเราคนไทยที่ต้องแก้ จดจำความสูญเสียนี้ไว้ แล้วเปลี่ยนให้เป็นพลัง….ภาพยนตร์จับคู่ระหว่างคำถามกับภาพคนเสื้อแดงเพื่อสื่อความหมายว่า “คนเสื้อแดง” คือปัญหาของประเทศ



ภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง “Bangkok Ablaze: เผากรุง 2553” ใช้สัญลักษณ์ที่ความเป็น "ชาติ" เช่น นักรบบางระจัน ธงชาติที่ขาดวิ่น เพลงปลุกใจ เพื่อประกอบสร้างความหมายผ่านภาพขาวดำว่า บัดนี้ชาติได้ถูกทำร้ายจากคนบางกลุ่ม แต่คนกลุ่มนั้นคือใคร? ภาพ “ตึกถูกเผา” ภาพ “ควันไฟลอยคลุ้งเหนือกรุงเทพ” แสดงให้เห็นความน่ากลัว น่าหดหู่…โดยไม่ต้องพูดออกมาตรงๆ ว่าใครกันคือ "ศัตรูของชาติ" เสียงของแกนนำเสื้อแดงที่ถูกเปิดแทรกเข้ามา ก็เท่ากับเฉลยนัยของคำถามว่า “ใครคือคนที่เผาตึก และการเผาตึกเท่ากับการทำลายชาติ”
ในอีกด้านหนึ่ง กลไกของรัฐที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง เช่น ตำรวจ ศอฉ. ได้ทำการกระชับอำนาจในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในโลกจริง ด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่โทษของการละเมิดพ.ร.ก. มีความร้ายแรง “เป็นภัยต่อความมั่นคง” แต่ในทางปฏิบัติ กลับให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติตีความเองว่าการกระทำใดต่อไปนี้ ถือเป็นการละเมิดหรือไม่ เช่น การห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือกระทำการใดเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือการทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร ผลก็คือมีผู้ถูกจับกุมในข้อหาผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินมากมายหลายพันคน ขณะที่หน่วยงานอย่างดีเอสไอ ทำการกระชับอำนาจการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในโลกไซเบอร์ เมื่อการกระชับอำนาจรัฐเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในทุกด้าน ผลก็คือพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนได้หดแคบเข้าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ในอีกปีกหนึ่งของฟากรัฐ การตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปฯ ทั้งชุดของนายอานันท์-หมอประเวศได้เปิดเกมส์รุก เรียกร้องให้สังคมสมานฉันท์ ทั้งๆ ที่ยังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัด และที่สำคัญ การจัดตั้งและดำเนินการของคณะกรรมการเหล่านี้ไม่ได้ถามความสมัครใจจากประชาชน สภาวการณ์ของการ “สมานฉันท์อย่างไม่สมัครใจ” จึงเป็นเรื่องผะอืดผะอมที่ฝ่ายผู้ผลักดันต้องใช้เหตุผลอย่างยิ่งยวดเพื่ออธิบายความชอบธรรมของตน ในขณะที่ฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้สมานฉันท์กลับถูกผลักให้กลายเป็นคนนอกที่ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง
ภายใต้การกระชับอำนาจอย่างเข้มข้นดังกล่าว ประชาชนจำนวนมาก ทั้งเสื้อแดง เสื้อไม่แดง รู้สึกว่าเสรีภาพและสิทธิตามรัฐธรรมนูญถูกริดรอนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ความอึดอัดคับข้องใจที่ไม่มีพื้นที่ให้แก่การแสดงออกทางการเมือง ทำให้บางคนถึงกับประชดว่า “แม้แต่ตดในที่สาธารณะพร้อมกันห้าคน ก็อาจถูกตั้งข้อหาเป็นการก่อการร้าย” เงื่อนไขเหล่านี้ผลักดันให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ (New innovation) ของการแสดงออกทางการเมืองผ่านการใช้สัญลักษณ์เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐในชีวิตประจำวัน
การต่อต้านในชีวิตประจำวันมีลักษณะร่วมกันกับการต่อต้านแบบเผชิญหน้าบางอย่างคือ มันเป็นการตั้งใจที่จะท้าทายและต่อต้านข้ออ้างของฝ่ายครอบงำ เพื่อทำให้ข้อกล่าวหาของผู้ครอบงำอ่อนพลังลง สิ่งที่การต่อต้านในชีวิตประจำวันแตกต่างจากการต่อต้านรูปแบบอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดก็คือ การที่มันสามารถกระจายตัวสู่สาธารณะอย่างกว้างขวางและมีเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ ในขณะที่การเมืองเชิงสถาบันเป็นเรื่องที่เป็นทางการ มีลักษณะเด่นชัด ให้ความสำคัญกับระบบ การแก้กฎหมาย การต่อต้านในชีวิตประจำวันกลับเป็นเรื่องไม่เป็นทางการ บ่อยครั้งเป็นเรื่องที่ต้องแอบซ่อน และให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นปัจจุบันทันด่วน และผลได้ในทางปฏิบัติ (James C. Scott 1985)
การต่อต้านเชิงสัญลักษณ์มีนัยต่อการต่อสู้ทางสังคมการเมืองไทยในขณะนี้อย่างไร? เป็นคำถามที่บทความนี้ให้ความสนใจ เมื่อเราลองสำรวจความหมายของการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ก็จะพบว่า มันได้ทำหน้าที่บางประการ ดังนี้
หนึ่ง การสร้างเอกลักษณ์ความเป็นกลุ่มบนความแตกต่าง เช่น การใช้โลโก้ที่สื่อสัญลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นสัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์สีแดงแบบต่างๆ การผูกผ้าแดง การใส่เสื้อสีแดงในวันอาทิตย์พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อแสดงความแตกต่างให้สังคมรับรู้ว่า ความแตกต่างของคนในสังคมเป็นการใช้
เสรีภาพ ไม่มีความผิด หรือสร้างความเสียหายแก่สังคมดังที่มีการกล่าวหา ทว่าการใช้สัญลักษณ์เหล่านี้จะมีพลังก็ต่อเมื่อมีผู้นำสัญลักษณ์นั้นไปใช้อย่างกว้างขวาง และสังคมรู้ว่าสัญลักษณ์นั้นหมายถึงอะไร
สอง การเปิดพื้นที่ทางสังคมให้แก่การวิจารณ์การใช้อำนาจรัฐ เช่น การไปร่วมจุดเทียนหน้าสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข สื่อให้เห็นว่าบ้านเมืองนี้มืดมนและต้องการความยุติธรรม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมจากข้อหาละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน การแต่งหน้าผีและการนอนตายประท้วงคณะกรรมการปฏิรูปของนักศึกษาหลายสถาบัน การแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเครือข่ายทางสังคมอย่าง facebook
สาม การเปิดพื้นที่ทรงสังคมเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำทางสังคม (social memory) และการโต้แย้งในเรื่องจริยธรรมของการปกครอง เช่น การสร้างกิจกรรมเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำของสังคมเกี่ยวกับเหตุการณ์ 10 เมษาและ 19 พฤษภา 53 ไม่ว่าจะเป็นการผูกผ้าแดงที่ป้ายราชประสงค์ การจุดเทียนไว้อาลัยกับผู้เสียชีวิตจาก การอ่านบทกวีเพื่อระลึกถึงวีรชน การแต่งหน้าแฟนซีผีไปเดินตามสถานีรถไฟฟ้า การใส่เสื้อแดงเต้นแอโรบิคร่วมกันที่สวนลุมพินี กิจกรรมเหล่านี้ถูกเรียกว่าแคมเปญ “วันอาทิตย์สีแดง” ที่มี สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมทางสังคมเป็นผู้ริเริ่มโครงการ สมบัติอธิบายความหมายของแคมเปญว่า
การต่อสู้ทางสัญลักษณ์เป็นการต่อสู้กันในระดับจิตใต้สำนึกเลยทีเดียว(facebook)
พฤติกรรมของคนในสังคมที่ละเลยชีวิตของคนเล็ก ๆ ที่ตายไปบนท้องถนนด้วยลูกกระสุนปืนที่มาจากภาษีของประชาชน นี่เหละคือการเผาหัวใจของประชาชน มันเหือดแห้ง เผาไหม้จนจิตวิญญาณของคนที่ถูกเผาแห้งกระด้าง แต่ผู้คนในสังคมมองไม่เห็น เห็นแต่ห้างที่โดนเผา” (facebook)
“หากห้ามฉันคิด ก็ต้องห้ามลมหายใจของฉัน” (facebook)
“ผมอยากสะท้อนว่าสิทธิความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่เป็นมาโดยธรรมชาติ คุณบอกให้มนุษย์หยุดคิดได้ไหม มันหยุดไม่ได้ ในประเทศที่อารยะแล้ว ความคิดของมนุษย์มีพื้นที่ให้เขาคิด และให้เขาแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะการเขียนการพิมพ์หรือแม้แต่การพูด การแอคชั่นบางอย่าง การชุมนุม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกรับรองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง ดังนั้นการที่ประเทศเราที่รัฐบาลบอกว่าเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลชุดนี้มาจากประชาชน แต่ไปฝืนต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน ผมไม่รู้จะทำยังไงก็แสดงตัวว่า สิทธิของผม ผมก็จะยืนหยัดเต็มที่ และผมเชื่อว่าการคิด การพูด การเขียน หรือการแสดงออกทางสัญลักษณ์นี่มันไม่ใช่การก่อการร้าย ดังนั้นการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่บอกว่าเอามาควบคุมผู้ก่อการร้าย มันไม่ควรควบคุมมาถึงคนที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างผม และประชาชนอีกจำนวนมาก” (รายการ Intelligence)
“ทุกวันอาทิตย์เราจะใส่เสื้อสีแดงทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกว่า หนึ่ง เรายังไม่ตาย สอง เราเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเพื่อนที่บาดเจ็บและเสียชีวิต สาม วันไหนเลือกตั้งเราจะพิพากษาคุณ เรามีเวลาเป็นปีเลยที่จะรณรงค์ ให้มันอยู่ ผมเชียร์มันอยู่ คุณอยู่ได้เท่าไรคุณอยู่ไป เราไม่ค้ำนะ จนสุดความสามารถของคุณ หมดอายุขัยของคุณ ทุกวันอาทิตย์เราจะใส่สีแดงเพิ่มขึ้นๆๆ พอมันแดงถึงจุดหนึ่งโดยประมาณสักห้าแสนคน มันจะเกิดผลกระทบกลับ มันจะเป็นประเด็นทางการเมืองทันที มันจะเกิดแรงกดดันทางการเมืองอย่างรุนแรงทันที มันจะเกิดม็อบขนาดใหญ่ทั่วประเทศในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน” (7 วัน 7 ความเจ็บปวดของประชาชน)
สมบัติใช้สัญลักษณ์การชู “นิ้วกลาง” เพื่อตอบโต้ผู้นำที่ไม่ให้ความสนใจกับการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม โดยการใช้สัญลักษณ์ชูนิ้วกลางใส่หน้าผู้นำ สมบัติเขียนว่า หากทำให้ "นิ้วกลาง" กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ประชาชนคนไทยใช้สื่อสารกับผู้นำประเทศเมื่อไหร่ ผู้นำคนนั้นก็แทบจะไม่มีที่เดินในระดับนานาชาติ เพราะนักข่าวเวลาเห็นผู้นำคนนั้น ก็จะเห็นนิ้วกลางลอยขึ้นมาทันที” (facebook)
ทว่าการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ก็ทำให้สมบัติถูกควบคุมตัวขณะที่เขาผูกผ้าแดงที่ป้ายราชประสงค์เพื่อรำลึกผู้จากไปการใช้สันติวิธี หรือการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ไม่ได้แปลว่าจะไม่ถูกรัฐบาลที่ล้าหลังจับกุมคุมขัง เพียงแต่ว่าคุณต้องเชื่อว่าสิ่งที่คุณทำนั้นถูกต้อง เชื่อในสิทธิ์ของคุณ และถ้าคนหนึ่งโดน คนอื่นต้องออมายืนยันสิทธิ์นี้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น จับได้จับไป คนใหม่มา” (facebook)
การจับกุมตัวสมบัติทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวาง จนรองนายกต้องออกมาแก้ข่าวว่า การจับกุมไม่ได้เป็นเพราะการแสดงออกทางสัญลักษณ์ (การผูกผ้าแดง) แต่เพราะสมบัติทำผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน (เขาไปทำการเคลื่อนไหว flash mob ด้วยการฉีดสีสเปรย์บนพื้นถนนและนอนตายที่ถนนลาดพร้าว เพื่อสื่อความหมายว่ามีคนถูกยิงตาย)
ภายหลังการได้รับการประกันตัว สมบัติเดินหน้ารณรงค์แคมเปญวันอาทิตย์สีแดงต่อ สมบัติได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนนักศึกษาหลายสถาบัน ไม่นานนี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เคลื่อนไหวทางสัญลักษณ์ด้วยการแปะป้ายบนตัวพวกเขาที่มีข้อความคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อมานักเรียนนักศึกษาที่จังหวัดเชียงรายเคลื่อนไหวทางสัญลักษณ์ด้วยการชูป้ายที่มีข้อความ “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์” “นายกครับอย่าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนะครับ ไม่งั้นรัฐบาลจะพัง” และ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องคงไว้เพื่อไม่ให้ความจริงปรากฏ” ผลคือเยาวชนเหล่านั้นถูกตั้งข้อหาละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจ
การคุมขังสมบัติและเยาวชนที่จังหวัดเชียงใหม่ การที่รัฐปิดกั้นไม่ให้มีการผูกผ้าที่ป้ายราชประสงค์ ด้วยการเอากองกำลังตำรวจไปเฝ้าป้ายเอาไว้ ไม่อาจมองเป็นอื่นไปได้ นอกจากเกรงในอำนาจของการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ ถามว่ารัฐกลัวอะไร?
รัฐกลัวการรื้อฟื้นความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม จึงช่วงชิงการเสนอแผนปรองดอง-สมานฉันท์-ปฏิรูป โดยไม่ต้องเหลียวหลังไปถามหาอดีตและความยุติธรรม การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ถูกใจคนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่อึดอัดกับรัฐบาล การเคลื่อนไหวทางสัญลักษณ์มีจุดแข็งตรงที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่รุนแรงและไม่ต้องมีแกนนำ มันจึงเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐที่สันติวิธี ประชาชนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน และเมื่อเคลื่อนไหวพร้อมกัน ก็กลับเป็นพลังที่มีชีวิตในตัวเอง ที่สำคัญหยุดไม่ได้ แม้จะจับกุมตัวคนหนึ่ง ก็จะเกิดคนอื่นๆ ที่ทำตามหรือทำในแบบอื่นๆ! มันเป็นการเคลื่อนไหวที่ผนวกรวมมิติทางชนชั้น ก้าวข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรม แม้การใช้อำนาจกดปราบการเคลื่อนไหวทางสัญลักษณ์กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศ แต่มันกลับไม่สามารถทำได้เบ็ดเสร็จ ดังจะเห็นได้จากมีผู้ขานรับการประท้วงด้วยการนอนตายเชิงสัญลักษณ์แล้วในหลายประเทศและในโลกไซเบอร์