ที่มา ข่าวสด
ผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 6 กทม. ที่นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ชนะ นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำนปช. ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 96,480 ต่อ 81,776
บรรดานักวิเคราะห์ถอดรหัสตรงกันว่า ถ้าเป็นการเลือกตั้งในยามบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ปกติ ตัวเลขส่วนต่างเกือบ 1.5 หมื่นถือว่าห่างกันพอสมควร
แต่หากมองในมุมว่าครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งภายใต้พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ฝ่ายรัฐบาลกุมความได้เปรียบผู้สมัครพรรคคู่แข่งหลายขุม กับผลที่ได้ถือว่าน่าผิดหวังสำหรับพรรคประชาธิ ปัตย์
ทั้งยังมีการพูดย้อนหลังไปอีก ว่ายังดีที่พรรคการเมืองใหม่ถอนตัวออกจากสนามแข่งขัน ไม่เช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์อาจจะย่ำ แย่ถึงขั้นแพ้เละเทะ
นอกจากนั้น แต้มที่ชนะไม่ขาด ทำให้แผนเดิมที่หวังจะนำผลเลือกตั้งดังกล่าวไปขยายความต่อว่า คนกรุงไม่เอาคนเสื้อแดงมีอันต้องพับเก็บไป
ในทางกลับกันยังเป็นสัญญาณว่ากระแสการเมืองในภาพรวมยังเป็นเรื่องเอาแน่เอานอนไม่ได้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์
ด้วยเหตุดังกล่าวใครต่อใครหลายคนรวมถึงระดับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจึงมั่นใจว่า การยุบสภาเลือกตั้งใหม่คงไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่ นอน
นายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ชี้ว่าด้วยสภาพการเมืองอย่างที่เห็นมีโอกาสความเป็นไปได้สูงที่พรรคแกนนำรัฐบาลจะลากยาวไปจนครบวาระปลายปีหน้า
เป้าหมายก็เพื่อจัดการกับพรรคเพื่อไทย และนปช.ให้สงบราบคาบกว่านี้เสียก่อน
ผลการเลือกตั้งซ่อมที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตระหนักได้ว่า ถ้าหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งในระยะเวลาที่ไม่ไกลจากนี้ การจะได้กลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลมีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าการได้เป็นฝ่ายค้าน แม้จะมีปัจจัยเกื้อหนุนอยู่มากก็ตาม
เพราะขนาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พรรคประ ชาธิปัตย์มีฐานเสียงอยู่ค่อนข้างแน่นหนา ในการเลือกตั้งซ่อมเขต 6 ก็ได้เปรียบคนอื่นตั้งแต่ในมุ้ง
แต่ผลคะแนนที่ออกมาก็ชี้ให้เห็นว่าเวทีการเมืองในกทม. ไม่ใช่เรื่องง่ายของประชาธิปัตย์อีกต่อไป
การเลือกตั้งทั่วไปพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยจะแข่งขันกันรุนแรงทุกพื้นที่ ถึงแม้ในกทม. จะยังมีคนสนับสนุน 2 ฝ่ายใกล้เคียงกัน ยังไม่เทใจให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียว
แต่ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ชาวบ้านรากหญ้าส่วนใหญ่ยังสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ความได้เปรียบจึงยังเป็นของพรรคเพื่อไทย
รัฐบาลเองน่าจะอ่านสถานการณ์เหล่านี้ออก เพราะดูจากการประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้ว 3 ครั้ง รวม 14 จังหวัด แต่ที่ยังเหลืออีก 10 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดร ธานี นครราชสีมา และอุบลราชธานี
ล้วนแต่เป็นพื้นที่ฐานเสียงพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น
เป็นที่รับรู้กันมาตลอด พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคประชาธิปัตย์ ช่วยให้ชนะเลือกตั้งซ่อมเขต 6 กทม. ถึงชนะไม่เยอะ แต่ก็ชนะ
จึงเป็นคำตอบว่าทำไมรัฐบาลจึงตอบสนองแค่ครึ่งๆ กลางๆ ต่อข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน
ที่มีมติให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมดโดยเร็ว
ถึงแม้จะมีการหยิบยกเอาเหตุการณ์วางระเบิดในพื้นที่ กทม. 2 ครั้งในรอบ 1 สัปดาห์ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี สาขาราชดำริ กับบริเวณหน้าคิง เพาเวอร์ ขึ้นมาอ้างเป็นเหตุผล
แต่สังคมก็มองว่ายังเป็นเรื่องคลุมเครือระหว่างการลงทุน "จัดฉาก" ของคนบางกลุ่ม ที่ได้ประ โยชน์จากการคงไว้ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป หรือ เป็นความล้มเหลวในการสร้างความปรองดองของรัฐบาล
แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลดีต่อรัฐ บาลแน่นอน
การหยิบยกเอากรณีปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นมาเป็นประเด็นท้าตีท้าต่อยกับประเทศเพื่อนบ้าน
ก็เป็นอีกเรื่องที่นอกจากไม่ได้ทำให้รัฐบาลดูเข้มแข็งอย่างที่พยายามจะแสดงออกแล้ว รัฐ บาลยังถูกมองว่ามีวาระซ่อนเร้นต้องการชักศึกนอกเข้ามากลบปัญหาศึกในอีกต่างหาก
โดยเฉพาะกรณีที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประ ชาชนในช่วงเหตุการณ์เดือนเม.ย. -พ.ค. ที่ความจริงเริ่มถูกตีแผ่ประ จานออกมาอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช่ว่าจะดี เพราะยังมีกรณีถูกฟ้อง "ยุบพรรค" อยู่ถึง 2 คดี
กับพรรคร่วมรัฐบาลเองถึงจะไม่เห็นด้วยกับพรรคแกนนำในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแนว คิดเรื่องการปรองดองที่ผิดทิศผิดทาง พูดอย่างทำอย่าง ความไม่จริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรม นูญ
แต่ที่ยังไม่กล้าแสดงปฏิกิริยาคัดง้างใดๆ ในตอนนี้ เพราะยังต้องร่วมแรงร่วมใจกันผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่กำลังจะเข้าสู่สภาในอีกไม่กี่วันข้างหน้าให้ได้เสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งที่ดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด ปรากฏว่าการจัดตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" เริ่มมีคนหยิบยกขึ้นมาพูดกันปากต่อปากให้ได้ยินกันอีกครั้ง
ที่ผ่านมามีนักการเมืองอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายเสนาะ เทียนทอง เคยพูดถึงรัฐบาลแห่งชาตินี้มาบ้าง
แต่พอพูดจบก็มักจะโดนรุมถล่ม จากบุคคลหลายแวดวง ทั้งนักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ และนักการเมืองด้วยกัน ด้วยเห็นว่าขัดกับหลักการบริหารประเทศในระบบรัฐสภา ที่ต้องมีฝ่ายค้านไว้คอยทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล
แต่ปัจจุบันในจังหวะที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างฝ่ายต่างล้มเหลวในเรื่องของความปรองดอง ความขัดแย้งขยายอาณาเขตออกไปโดยมองไม่เห็นจุดจบ
ครั้งนี้จึงต้องติดตามกันต่อไป
เพราะถึงแม้ "ตัวละคร" อาจจะพร้อมแต่ความยอมรับจากสังคมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง