WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, September 18, 2010

[ปาฐกถาฉบับเต็ม] ผาสุก พงษ์ไพจิตร ทบทวนขบวนการสังคม-เสื้อเหลือง-เสื้อแดง: การต่อสู้ที่ไม่ใช่เฉพาะของชนชั้นนำอีกต่อไป

ที่มา ประชาไท


ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "หนึ่งทศวรรษ วิถีชีวิต วิถีสู้: ขบวนการประชาชนร่วมสมัย" ในการเสวนาเรื่อง "ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักข่าวประชาธรรมและประชาไท ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา

00000

ที่ ผ่านมา ได้มีการประเมินขบวนการทางสังคมของไทยในช่วงทศวรรษ 2530-2540 ต้นๆ ไว้บ้างแล้ว จะไม่พูดมากนัก อาจจะสรุปให้ฟังในส่วนแรก ในส่วนที่สอง จะพูดถึงกระบวนการเกิดขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองและเสื้อแดง โดยพยายามจะอธิบายให้มุมมองด้านความหักเหทางการเมือง ส่วนที่สาม จะพูดถึงนัยของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในเวลานี้กับการเมืองของไทย ที่อาจมีขึ้นต่อไปในอนาคต

ขบวนการเสื้อเหลืองและขบวนการเสื้อแดงเป็น สงครามความคิดและสงครามแย่งชิง มวลชน ปรากฏการณ์นี้จึงแตกต่างจากขบวนการทางสังคมเมื่อทศวรรษ 2530 และต้นทศวรรษ 2540 ในการอภิปรายถึงขบวนการทางสังคมในช่วงก่อนปี 2540 นักวิเคราะห์ได้มีข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับขบวนการทางสังคมในสมัยนั้น โดยเรียกขบวนการสมัยนั้นว่าขบวนการทางสังคมใหม่ ในความหมายที่ว่า ขบวนการทางสังคมในบริบทของการเมืองภาคประชาชนตอนนั้นมีการจัดตั้งยึดโยงเป็น เครือข่ายแบบหลวมๆ ที่ใช้ปัญหาความล้มเหลวของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อน และขบวนการดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายที่จะแข่งขันเข้าเป็นรัฐบาล เป็นขบวนการที่ทำงานอยู่ข้างนอกระบบการเมืองอย่างเป็นทางการ ขบวนการทางสังคมดังกล่าวนี้มีองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นหัวขบวนที่สำคัญ ที่ร่วมคิดร่วมสร้างยุทธศาสตร์และสร้างความมั่นใจให้กับขบวนการ เพราะฉะนั้น บางครั้งเมื่อพูดถึงขบวนการสมัยนั้น จึงมีการสลับไปมาระหว่างขบวนการภาคประชาชนและขบวนการเอ็นจีโอประหนึ่งเป็น เนื้อเดียวกัน

ในครั้งนั้น ขบวนการทางสังคมเป็นการรวมตัวกลุ่มของราษฎร เพื่อแสดงความคับข้องใจ เสนอข้อเรียกร้องและต่อรองให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานของรัฐบาล การเรียกร้องต่อรองนี้ประสบความสำเร็จในช่วงต้น เช่น การล้มโครงการ คจก. ที่กองทัพเป็นผู้ดำเนินการได้สำเร็จในต้นทศวรรษ 1990 แต่ต่อมา แม้องค์กรพัฒนาเอกชน จะทำงานหนักในการก่อร่างกระบวนการประชาชน แต่ไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเมื่อฟากรัฐบาลตระหนักถึงพลังอำนาจของประชาชนจำนวนมาก ก็ไม่ต้องการให้ขบวนการดังกล่าวเข้มแข็งขึ้น จึงหาช่องทางแบ่งแยกและปกครอง รวมทั้งซื้อหรือสร้างพันธมิตรให้เอ็นจีโอบางส่วนเข้าเป็นพวก จึงเกิดกระบวนการกลืนกลายส่วนหัวของขบวนการทางสังคมในสมัยนั้น นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความอ่อนแอ ไม่อยากเรียกว่าความล้มเหลว เพราะความอ่อนแอของขบวนการทางสังคมในสมัยนั้นยังมีสาเหตุอีกส่วนคือความไม่ ลงรอยกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนกับชาวบ้านว่าควรจะมีวิถีชีวิตอย่างไร ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่อาจไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ ระบบตลาด แต่ต้องการเติบโตไปกับโลกาภิวัตน์ ขณะที่เอ็นจีโอจำนวนหนึ่งอาจจะมีโลกของตัวเองที่แตกต่างและไม่ปลื้มที่ ประชาชนจำนวนมากเข้ากันได้กับพรรคการเมืองบางพรรคเหมือนปลาได้น้ำ

อย่าง ไรก็ตาม ดิฉันไม่อยากพูดเหมือนอย่างที่นักวิเคราะห์บางท่านบอกว่า ขบวนการสมัยนั้นเป็นความล้มเหลว เพราะได้เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับราษฎรภายใต้กรอบของระบอบรัฐสภา ประชาธิปไตย จนเรียกขานกันว่ายุคนั้นเป็นยุคของการเมืองภาคประชาชน แต่จุดอ่อนของขบวนการดังกล่าวเกิดความชัดเจนขึ้นเมื่อมีความหักเหทางการ เมืองเกิดขึ้น

ภาวะหักเหทางการเมืองซึ่งก่อให้เกิดขบวนการทางสังคม เสื้อเหลืองและเสื้อ แดงที่ได้ฉีกแนวออกไปจากการเมืองภาคประชาชนของทศวรรษ 2530 โดยเสนอว่าขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นผลจากการหักเหที่สำคัญ ทางการเมือง ที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่มีความคับข้องใจเริ่มแสวงหาทางออกผ่านกระบวนการเลือก ตั้ง แทนการเดินขบวนประท้วงแบบเดิมๆ จึงเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นระหว่างปี 2543 และปี 2548 ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงบุคคลสำคัญในกระบวนการนี้ คือ คุณทักษิณ ชินวัตร แต่ก่อนอื่น ต้องเกริ่นเล็กน้อยว่าเมืองไทยมีระบบการเมืองแบบรัฐสภาประชาธิปไตยสลับกับ การรัฐประหารมาโดยตลอดหลายทศวรรษ แต่รัฐสภาเป็นเพียงสมาคมของผู้มั่งมี คนธรรมดาทั่วไปก็ไม่ได้รู้สึกรู้สาว่าได้รับประโยชน์จากระบอบดังกล่าวเท่าใด นัก แต่เหตุการณ์สองสถานได้เปลี่ยนสภาพดังกล่าว

ประการที่หนึ่ง ปลายทศวรรษ 2530 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการปฏิรูปที่โยงกัน ได้เพิ่มจำนวนของการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่หลังการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ชาวบ้านจะเลือกตั้งปีละ 4-5 ครั้ง เลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกเทศบาล สมาชิก อบต. วุฒิสมาชิก และ ส.ส. สำหรับ ส.ส. อาจอยู่ห่างไกลจากชาวบ้าน แต่ผู้แทนในระดับองค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับเลือกตั้งมาอยู่ใกล้ชิด กระบวนการเรียนรู้จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านได้บทเรียนว่าการออกเสียงเลือกตั้งบุคคลสำคัญที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ แทนการแต่งตั้งอย่างในอดีตเป็นอำนาจและเครื่องมือที่จะนำทรัพยากรของประเทศ ที่พวกเขามีส่วนก่อให้เกิดทรัพยากรเหล่านั้น ทั้งในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่มและการทำงานต่างๆ ทำให้เขาสามารถปรับปรุงชีวิตของตนเองและลูกหลานได้ดีกว่าเดิม

อีก เหตุการณ์ที่อธิบายว่าเหตุใดการเมืองไทยว่าด้วยการเลือกตั้งในระดับ ประเทศจึงมีความสำคัญขึ้นโยงกับเส้นทางการเมืองของทักษิณ ผู้ซึ่งดิฉันคิดว่าได้หักเหทิศทางของการเมืองไทยดั้งเดิม โดยทำสัญญากับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง ทั้งนี้ ออกตัวว่า ดิฉันไม่ใช่ผู้ที่นิยมคุณทักษิณและไม่ได้คิดว่าคุณทักษิณเป็นทางออกของ ประเทศไทย แต่ในการวิเคราะห์การปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องวิเคราะห์บทบาทของคนนี้ ขณะเดียวกันแต่ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่า วิเคราะห์การเมืองแบบเฉพาะตัวบุคคล หรือ personalize politics

ภาวะสำคัญที่ทำให้เกิดการหักเหทางการ เมืองมีหลายองค์ประกอบ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และที่ปรากฏการณ์ที่ชนชั้นนำแตกขั้วและเคลื่อนไหวเพื่อระดมผู้สนับสนุนแบ่ง เป็นฟากฝ่าย แต่จะเข้าใจวิกฤตการณ์การเมืองปัจจุบันได้ถ่องแท้ ต้องเข้าใจว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยมวลชนเลย มีนักวิเคราะห์ที่บอกว่า ขบวนการเสื้อแดงในขณะนี้อาจจะเป็นขบวนการมวลชนที่กว้างขวางมากที่สุดที่ สังคมไทยเคยมีมา อาจจะต้องรอดูกันต่อไปว่า ขบวนการนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญหรือไม่

ในประวัติ ศาสตร์การเมืองไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยขบวนการมวลชน เราไม่เคยมีขบวนการกู้ชาติจากเจ้าอาณานิคม เหมือนที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และพม่า ล้วนมีขบวนการกู้ชาติที่นำเอาคนทั้งประเทศเข้ามามีประสบการณ์ในขบวนการทาง การเมืองและสำเร็จในการขับไล่เจ้าอาณานิคมออกไป แต่เราไม่มี เราไม่เคยทำสงคราม ซึ่งดิสเครดิตชนชั้นนำของเราอย่างถึงรากถึงโคน เช่น กรณีญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง

การปฎิวัติล้มระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชในปี 2475 มีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมากก็จริง แต่ไม่ได้ระดมมวลชนอย่างกว้างขวางเช่นที่เกิดขึ้นในรัสเซียหรือจีน สำหรับขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อทศวรรษ 2500 และ 2510 ขยายใหญ่กว่าเหตุการณ์ 2475 แต่ก็จำกัดฐานที่มั่นอยู่ที่เขาทึบและป่าลึก อาจเข้ามาอยู่ในเมืองบ้างประปราย แต่ไม่สามารถเคลื่อนขบวน หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนหรือรัสเซีย ขบถชาวนาในอดีต ขบวนการเกษตรกรและกรรมกรในช่วงสมัยใหม่ก็จำกัดวงอยู่เฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ระบบการเมืองไทยร่วมสมัยจึงลักษณะเป็นคณาธิปไตย หรือ Oligarchy การปกครองโดยคณะบุคคลจำนวนน้อยจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เคยถูกท้าทายจากมวลชนอย่าง ถึงรากถึงโคน ดึงดูดส่วนหัวของกลุ่มอำนาจใหญ่ๆ เข้าเป็นพวกอยู่เสมอ โดยก่อร่างสร้างสายสัมพันธ์ร้อยรัดกันเข้าไว้ภายในผ่านระบบเครือข่าย ระบบอุปถัมภ์ และการทำธุรกิจหรือการแบ่งผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน

ขณะ ที่ภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ชนชั้นนำได้แก่ ขุนนาง ข้าราชการได้พัฒนาขึ้นเมื่อต้นศตวรรษ 20 และได้ตกผลึกมีผลประโยชน์ร่วมกับรัฐศักดินาอย่างหนาแน่น ทศวรรษ 2470-2520 ชนชั้นนำฟากทหารพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ครั้นเมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟูสมัยพัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นนำฝ่ายธุรกิจในเมืองก็ได้เข้าร่วมขบวนกับคณาธิปไตยกลุ่มนี้ ต่อมาเมื่อความมั่งคั่งและการคมนาคมสมัยใหม่กระจายสู่ต่างจังหวัดยึดโยงเขต รอบนอกเข้ากับกรุงเทพฯ นักธุรกิจชั้นนำระดับภูธรก็ได้ร่วมขบวนภายใต้กรอบของรัฐสภาประชาธิปไตย และเมื่อไม่นานมานี้เอง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระบวนการตุลาการและส่วนอื่นๆ ของระบบข้าราชการก็ได้เข้าร่วมขบวน แม้ครอบครัวขุนนางและกลุ่มเงินเก่าจะมีบทบาทสูงในคณาธิปไตยนี้ แต่ไม่ได้เป็นกลุ่มปิด โดยความอยู่รอดของกลุ่มดังกล่าวโดยรวมส่วนหนึ่งเพราะมีความยืดหยุ่นสูง กลุ่มอำนาจใหม่ๆ จากภายนอกจะถูกดึงดูดเข้ามาร่วมขบวน ระบบรัฐสภาและการเมืองในระบอบการเลือกตั้งก็ไม่ได้ท้าทายคณาธิปไตยอย่างจริง จังจน กระทั่งเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องกับระบอบใหม่ คือระบอบประชาธิปไตย ได้จำกัดวงของกลุ่มอื่นๆ นอกวงไว้ได้ เพราะพวกเขาได้ลงทุนสร้างระบบที่ต้องใช้เงินมากในการเลือกตั้ง ใครที่มีเงินไม่หนาพอก็ไม่อาจหาญจะร่วมขบวนในระบอบใหม่ได้

การก่อ ตั้งระบอบที่ต้องใช้เงินมหาศาลนี้ ไม่ใช่เพราะนักธุรกิจเข้ามา ในการเมืองสถานเดียว ก่อนหน้านั้น ถ้าอ่านงานของ อ.สมบัติ จันทรวงศ์ ได้พูดถึง "โรคร้อยเอ็ด" ที่มีการจัดองค์กร ใช้เงินมโหฬารเพื่อนำเอาผู้นำฝ่ายทหารเข้ามาสู่กระบวนการรัฐสภาประชาธิปไตย หลังจากนั้นโรคนี้ได้ระบาดและบานปลายออกกลายเป็นสิ่งที่เราต้องคิดว่าจะทำ อย่างไรกับมันในขณะนี้ อีกส่วนที่พบคือ ในระบบใหม่ ส.ส. ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีพื้นเพเป็นเจ้าของธุรกิจ มาจากกลุ่มคนที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศ รัฐสภาจึงกลายเป็นสมาคมของคนรวม และกลายเป็นสถาบันหลักของเครือข่ายคณาธิปไตยที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

วิกฤต เศรษฐกิจ 2540 มีความสำคัญมาก เพราะได้เปิดช่องให้มีการท้าทายโครงสร้างอำนาจแบบคณาธิปไตยนี้ได้ เศรษฐกิจไทยก่อนหน้านั้นไม่เคยติดลบมาเป็นเวลา 50 ปีนับแต่ปี 2493 เป็นต้นมา แต่ปี 2540 จีดีพีติดลบถึงเกือบร้อยละ 20 ทำให้ผู้ที่เป็นรัฐบาลหรืออยู่ในอำนาจขณะนั้นถูกดิสเครดิตอย่างสิ้นเชิง ในภาวะเช่นนั้นพลังนอกคณาธิปไตยจึงสามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมือง รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ก้าวไปไกล เพราะเกี่ยวโยงกับการเอาทรัพยากรของงบประมาณจากส่วนกลางมาสู่รอบนอกที่มาก ขึ้น ภาวะเศรษฐกิจวิกฤตส่งผลให้แรงผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงจากชนชั้นล่างและกลาง นอกกลุ่มคณาธิปไตยมีความรุนแรงขึ้น แต่ผลสะเทือนของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องใช้เวลา

ทักษิณ ชินวัตรผันตัวเองให้เป็นหัวขบวนที่จะท้าทายคณาธิปไตยเดิม เริ่มต้น เขาเพียงแต่จะท้าทายระบบข้าราชการรวมศูนย์และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีสไตล์การ ทำงานและอุดมการณ์แบบเดียวกับระบบข้าราชการ คงจำได้ว่าทักษิณสัญญาจะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตและพัฒนาเมืองไทยให้เป็น สมาชิกประเทศ OECD ให้ได้ โดยจะบริหารประเทศเสมือนหนึ่งบริษัทธุรกิจ ซึ่งหมายถึงจะลดความสำคัญของระบบข้าราชการให้อยู่ในอาณัติของผู้บริหาร และทำการปฏิรูปเปลี่ยนให้สอดคล้องกับระบบบริหารใหม่ ซึ่งชุมชนธุรกิจของไทย ชนชั้นกลาง และฝ่ายซ้ายก็สนับสนุนทักษิณอย่างแข็งขัน ต่อมาทักษิณถูกมองว่าท้าทายส่วนอื่นๆ ของคณาธิปไตยทั้งหมด ข้าราชการไม่พอใจมาก ต่างต่อต้านการปฏิรูป และทักษิณรู้ดีว่าภัยของนักปฏิรูปคือการรัฐประหาร จึงพยายามเข้าควบคุมกองทัพ ซึ่งต่อมาได้พิสูจน์ว่าเขาไม่เก่ง และได้สร้างศัตรูในกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจสูงและเป็นชนชั้นนำฟาก สำคัญของกองทัพ

ช่วงแรกๆ นักธุรกิจก็ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อพบว่าผลประโยชน์ต่างๆ เริ่มกระจุกตัวกับกลุ่มนักธุรกิจที่ห้อมล้อมทักษิณและครอบครัวจำนวนหยิบมือ เท่านั้นก็เริ่มไม่พอใจ และในที่สุด ฝ่ายรอยัลลิสต์เริ่มมีเสียงบ่น สภาวะดังกล่าวเหมือนจะพัฒนาเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเอง ดังที่เคยพบเห็นเสมอในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ครั้งนี้แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเดิมๆ เพราะมีตัวแปรใหม่ขึ้นในสาระบบการเมืองไทย คือ เสียงเรียกร้องจากมวลชนระดับกลางและล่างที่ประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และปัญหาอื่นๆ ที่ได้สะสมมา พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในอำนาจการปกครองประเทศอย่างแท้จริง ต้องการได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าเดิม และต้องการสินค้าสาธารณะต่างๆ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยปรับปรุงชีวิตของเขาและลูกหลาน ทักษิณได้ฉวยโอกาสที่จะหาประโยชน์จากพลังสังคมเหล่านี้เพื่อนำตัวเองเข้าสู่ อำนาจ พ.ศ.2544 ก็ชนะการเลือกตั้งจากการเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค พักชำระหนี้เกษตรกร และโครงการสินเชื่อหนึ่งล้านบาทหนึ่งตำบล โดยนโยบายเหล่านี้คุณทักษิณไม่ได้คิดเอง มีสหายเก่าๆ ช่วยคิด เมื่อชนชั้นนำส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหล่านั้น คุณทักษิณก็รีบดำเนินการนโยบายตามที่สัญญาไว้อย่างรวดเร็วและได้รับความนิยม ล้นหลาม โดยเฉพาะจากมวลชนที่ภาคเหนือ อีสาน และชนชั้นกลางและล่างบางส่วนในเมือง นโยบายที่สำคัญคือ 30 บาทรักษาทุกโรค และนโยบายการให้เครดิตในราคาถูกในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตอบชีวิตการที่สังคมไทยได้เริ่มขยายตัวเป็นผู้ประกอบการรายย่อยรายเล็กใน เศรษฐกิจนอกภาคเกษตรมากขึ้น และแม้ในภาคเกษตรเองก็ต้องการเครดิตราคาถูกซึ่งไม่เคยได้รับมาก่อน

ทักษิณ ฉวยโอกาสที่จะหาประโยชน์จากพลังสังคมเหล่านี้ที่จะนำตัวเองเข้าสู่ อำนาจ จากนั้น เขาเสนอนโยบายอื่นๆ อีกเป็นระลอก รวมทั้งสัญญาจะขจัดความจน ดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาพืชผลเกษตรอย่างต่อเนื่อง พ.ศ.2547-48 เมื่อเผชิญกับแรงต้านของกลุ่มคณาธิปไตยเดิมและผู้ที่เคยสนับสนุนเขามากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทักษิณก็ท้าทายต่อไป โดยเสนอตัวเองเป็นนักการเมืองประชานิยม ที่อิงความชอบธรรมสู่อำนาจเพราะได้รับเสียงเลือกตั้งจากประชาชนและเน้นภาพ พจน์นักการเมืองที่อุทิศตัวเพื่อประชาชน เป็นปรปักษ์กับกลุ่มที่พยายามปกป้องอำนาจเดิม อันได้แก่ ข้าราชการ นายธนาคาร นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ และผู้พิพากษา

อย่างไรก็ตาม คุณทักษิณยังไม่เคยมีท่าทีมาก่อนลงสนามการเมืองว่าจะเป็นคนที่ต้องการ เปลี่ยนแปลงระบบแบบพลิกผัน จริงๆ แล้ว เขาอยากเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและครอบครัวในเรื่องธุรกิจ ฯลฯ แม้อาจมีความต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยบ้างแต่ในขณะนั้นอาจไม่ค่อยชัดเจน เสียงเรียกร้องจากมวลชนชั้นล่างเป็นแรงจูงใจและแรงผลักที่สำคัญ การเลือกตั้งครั้งที่สองคุณทักษิณชนะถล่มทลาย เขาสัญญากับผู้สนับสนุนว่าจะเป็นรัฐบาลถึง 25 ปี ตามแบบมหาธีร์ที่มาเลเซียและลีกวนยูที่สิงคโปร์ ถือว่าเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองอย่างแท้จริงที่สามารถฉวยประโยชน์จาก ภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้ตัวเองอยู่ในความนิยมได้อย่างเนิ่นนาน

ณ จุดนี้ คณาธิปไตยกลุ่มเดิมร่วมมือกันเพื่อดีดทักษิณออกจากสาระบบ แต่มีตัวแปรใหม่ที่ทำให้ส่วนหัวของชนชั้นนำขยายขอบเขตออกไป นั่นคือ ชนชั้นกลางชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ที่ตอนต้นเคยสนับสนุนโครงการของคุณทักษิณ ภายหลังไม่เห็นด้วยกับแนวโน้มสู่การเมืองประชานิยม เพราะตระหนักดีว่ากลุ่มตนเสียเปรียบด้านจำนวน แต่ได้เปรียบในการเข้าถึงอภิสิทธิ์ต่างๆ จึงไม่ไว้ใจต่อแนวโน้มสู่นโยบายประชานิยม ด้วยเกรงว่าจะเป็นภัยกับเขาในอนาคต ขบวนการเสื้อเหลืองจึงเกิดขึ้นในปี 2548 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นกลางเมือง กลุ่มคนเสื้อเหลืองอ้างว่า ทักษิณเป็นภัยกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อแสวงหาแนวร่วมและสร้างอารมณ์ความ รู้สึกที่เข้มข้นขึ้น

อันที่จริง ทักษิณค่อนข้างระแวดระวังที่จะไม่โจมตีหรือท้าทายสถาบัน แต่เสื้อเหลืองก็โพนทะนาว่าทักษิณมีแผนการล้มเจ้าที่ฟินแลนด์ และใช้เสื้อเหลืองเพื่อประกาศว่าเป็นผู้ปกป้องสถาบัน การเมืองคณาธิปไตยก่อนหน้านี้เมื่อเกิดความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำด้วย กันเองก็จะต้องตัดสินด้วยการรัฐประหาร และคราวนี้ก็ได้เกิดขึ้นจริงในเดือนกันยายน 2549 แต่การเมืองแบบเก่าใช้ไม่ได้แล้ว รัฐประหารจึงไม่ได้ผล กองทัพไทยร่วมสมัยดูเหมือนว่าจะขาดประสบการณ์ในเรื่องนี้ และรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นก็ไม่ได้เรื่อง ดังที่พวกเดียวกันเองวิจารณ์กันอยู่ จึงสูญเสียความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างแนบแน่นและสังคมโลกไม่ยอมรับรัฐ ประหาร จึงต้องสถาปนารัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยเร็ว และแม้ใช้เงินภาษีของประชาชนและใช้ข้าราชการรณรงค์เพื่อไม่ให้พรรคทักษิณชนะ การเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นผล ฝ่ายทักษิณชนะการเลือกตั้ง จึงต้องยอมให้ก่อตั้งรัฐบาล

การโจมตีทักษิณและนโยบายประชานิยมยิ่ง ขยายตัวต่อไปและรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ลดอำนาจของรัฐสภาและเพิ่มอำนาจให้กองทัพและฝ่ายตุลาการ กลุ่มคนเสื้อเหลืองขณะนั้นกลายเป็นม็อบที่มีกองทัพหนุนหลัง สามารถข่มขู่รัฐมนตรี เข้ายึดรัฐสภา ฝ่ายตุลาการตัดสินให้สองรัฐบาลเป็นโมฆะ รัฐมนตรีขาดคุณภาพที่จะเป็นรัฐมนตรี ยุบพรรคการเมืองสามพรรค ตัดสิทธิ ส.ส. 220 คนจากการเมืองเป็นเวลา 5 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเส้นขนานคือ กลุ่มคนเสื้อเหลืองก่นสร้างเหตุผลสนับสนุนอุดมการณ์ที่เป็นรากฐานให้เขาโจม ตีฝ่ายทักษิณ โดยชี้ว่านักการเมืองส่วนมากโกงกิน ชนะการเลือกตั้งเพราะซื้อเสียง ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจึงขาดความชอบธรรม จึงเสนอแต่งตั้ง ส.ส. ทดแทนระบบการออกเสียงเลือกตั้ง หรือให้มีระบบตัวแทนตามสาขาอาชีพ หรือโอนอำนาจกลับไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบข้าราชการและตุลาการ มีข้อเสนอให้มีการแต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30

ขบวนการคนเสื้อแดงได้ผุด ขึ้นเพื่อคานกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง โดยก่อนหน้านี้มีการใช้สีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร 2549 มาก่อน แกนนำเสื้อแดงเป็นผู้นิยมทักษิณและพรรคไทยรักไทย ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ในระยะแรกมาจากภาคเหนือและอีสาน รวมทั้งแรงงานอพยพซึ่งทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ก็มีผู้สนับสนุนที่เป็นนักวิชาการ นักธุรกิจ และชนชั้นกลางที่ไม่ได้รักคุณทักษิณ แต่เชื่อว่าต้องเข้าร่วมขบวนเพื่อปก ป้องประชาธิปไตย บางคนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 2549 จึงเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพลเมืองเน็ต คนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจทักษิณเลย แต่สนใจประชาธิปไตยมากกว่า ขบวนการนี้ใช้สื่อมวลชนที่โยงกับวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ดาวเทียมเช่นเดียวกับ เสื้อเหลือง ปลายปี 2552 ก่อตั้งโรงเรียน นปช. กลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนในพื้นที่จัดกิจกรรมหาเงินบริจาค รณรงค์เพื่อระดมมวลชนเป็นประจำ อาจมีบางส่วนที่มีแนวคิดสังคมนิยม หรือนิยม republicanism แต่จากการวิเคราะห์ของหลายสายพบว่าส่วนหลังนี้อาจเป็นกลุ่มน้อย

กลาง ปี 2551 เสื้อเหลืองและเสื้อแดงปะทะกันประปราย โดยฝ่ายเสื้อเหลืองอ้างว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ ปะทะกับเสื้อแดงซึ่งอ้างว่าปกป้องประชาธิปไตย ปลายปี 2551 รัฐบาลฝ่ายทักษิณซึ่งชนะการเลือก ตั้งเมื่อปี 2550 ถูกบีบให้ออก ด้วยแรงผลักดันจากกองทัพ คำพิพากษาของศาล และกระบวนการรัฐสภา ตั้งแต่นั้นมา ข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดงคือ ให้การเลือกตั้งทั่วไปภายใต้หลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงเป็นตัวกำหนดว่าใครจะ เป็นรัฐบาลและต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยอยากให้กลับไปหาฉบับรัฐธรรมนูญ 2540 โดยอาจมีการแก้ไข สร้างวาทกรรมเรียกตัวเองว่าไพร่ เรียกฝ่ายตรงข้ามว่าอำมาตย์ และประณามระบบสองมาตรฐาน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวาทกรรมเหล่านี้มีนัยของความไม่พอใจความไม่เท่าเทียม กันทางเศรษฐกิจ อำนาจ กระบวนการยุติธรรม โอกาสและวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย

โดย สรุป วิกฤตการเมืองมีองค์ประกอบของความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำที่ดำเนินอยู่ แต่มีประเด็นเรื่องการท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิมจากพลเมืองที่ตระหนักในสิทธิ อำนาจทางการเมืองของตน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและต้องการปกป้องสิทธิอำนาจเหล่านั้นด้วย ทักษิณและพรรคพวกตั้งใจลดทอนอำนาจของระบบราชการและคณาธิปไตยเดิมที่มีพรรค ประชาธิปัตย์เป็นตัวแทน ณ จุดเริ่มต้น เป็นเพียงความขัดกันของบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ พรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้อยู่ในอำนาจและพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ทักษิณหวน คืนสู่อำนาจได้อีก แต่ความขัดแย้งดังกล่าวเอ่อล้นไปไกลกว่ากลุ่มชนชั้นนำ ทักษิณได้กลายเป็นตัวแทนของพลเมืองระดับล่างและกลางที่ต้องการสังคมที่ไม่ เลือกปฏิบัติ พลังพลเมืองตรงนี้เองที่ได้ผลักดันให้ทักษิณกลายเป็นนักการเมืองแนวประชา นิยมเหมือนที่เกิดในประเทศอื่นๆ ก่อนหน้าเช่นในละตินอเมริกาแต่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ทักษิณผันตัวเองเป็นนักการเมืองประชานิยมที่อ้างอิงความชอบธรรมจากแรงสนับ สนุนของประชาชน ดังนั้น เขาจึงกลายเป็นเสมือนคบไฟให้มวลชนได้ใช้เสียงเลือกตั้งเป็นเครื่องมือปรับ ปรุงชีวิตและสถานะของกลุ่มเขา แต่ความเชี่ยวจัดในการใช้ประชานิยมเพื่อก้าวสู่อำนาจ ประกอบกับความมั่งคั่งมหาศาลของทักษิณ ทำให้ชนชั้นกลางต้องการยึดโยงกับสถาบันดั้งเดิมคือกองทัพและสถาบันพระมหา กษัตริย์ เพื่อทดแทนกับจำนวนอันน้อยนิดของกลุ่มตนเมื่อเทียบกับมวลชนระดับล่างและกลาง ที่สนับสนุนทักษิณ การระดมมวลชนของคนเสื้อเหลืองก็ได้ขยายมวลชนของคนเสื้อเหลือง ท้ายที่สุด ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองได้ขยายขอบเขตกลายเป็นความขัดแย้งเพื่อ หาผู้สนับสนุนของสองขบวนการที่ขัดกัน ดังที่ได้กล่าวว่า ขบวนการเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นสงครามความคิดและสงครามแย่งชิงมวลชนไปใน ท้ายที่สุด

ขบวนการสังคมทั้งสองนำไปสู่การอภิปรายในประเด็นที่ว่าการ เมืองไทยควร พัฒนาไปในแนวทางใด กลุ่มคนเสื้อแดงต้องการปกป้องระบบการเลือกตั้งให้ย้อนกลับสู่กรอบกติกา 2540 เป็นหลักเกณฑ์ในการลดสองมาตรฐาน ซึ่งเป็นหัวใจของอำนาจภายใต้ระบบคณาธิปไตยเดิม แต่กลุ่มคนเสื้อเหลืองก็ได้ย้อนแย้งอย่างมีประเด็นว่า ประชาธิปไตยที่ขาดระบบตรวจสอบและการคานอำนาจที่ได้ผลเป็นอันตรายและเป็นระบบ ที่ไร้ เสถียรภาพ พวกเขาต้องการกฎหมายที่เข้มแข็ง หลักการศีลธรรมที่สูงกว่านี้ มีการพูดถึงการเมืองจริยธรรม ต้องการกำกับควบคุมคอร์รัปชั่นและการแสวงหากำไรเกินควรอย่างโจ่งแจ้งของ นักการเมืองทั้งหลาย

ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำและขบวน การทางสังคมที่ก่อตัวขึ้น โยงเข้าด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีทักษิณ เป็นตัวเชื่อม ตรงนี้เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะทักษิณมีบุคลิกเป็นบุคคลหลายแพร่งที่ขัดแย้งในตัวเอง แพร่งหนึ่ง เขาอาจจะนิยมความเป็นสมัยใหม่ และเป็นนักธุรกิจที่ผันตัวเป็นนักการเมืองประชานิยม อีกแพร่งหนึ่ง เป็นบุคคลที่หยามเหยียดประชาธิปไตยเป็นที่สุด แต่ได้กลายเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย อีกแพร่งหนึ่ง เขาโกงกินเงินจากภาษีประชาชนได้อย่างหน้าตาเฉยและหาประโยชน์จากระบบสอง มาตรฐานตลอดเวลา แต่ให้ภาพว่า ด่าคอร์รัปชั่นและสองมาตรฐาน แต่ประวัติศาสตร์ก็เต็มไปด้วยบุคคลที่มีบุคลิกเหล่านี้มิใช่หรือ และทักษิณก็มิใช่คนเดียวที่มีบุคลิกเช่นนั้น

สำหรับบทสรุปเป็นเรื่อง ที่ยากมากและคิดไม่จบว่าจะสรุปอย่างไร ... เราคงต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่พูดถึงขบวนการทางสังคมของทศวรรษ 2530 ที่ผจญกับความอ่อนแอและอาจถูกกลบกลืนไปโดยขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองเสื้อ แดงดังที่ได้กล่าวมา จุดอ่อนสำคัญประการหนึ่งของขบวนการประชาชนก่อน 2540 คือการที่ขบวนการประชาชนตัดสินใจว่าจะไม่เข้าแข่งขันเพื่อเป็นรัฐบาลด้วยตัว เอง แต่จะดำเนินการเมืองรอบนอก แบบใช้ยุทธศาสตร์ในท้องถนน ดาวกระจาย การผลักดันอะไรต่างๆ ตรงนี้นำเราไปสู่คำถามว่าเราจะมีบทเรียนจากจุดอ่อนนั้นอย่างไร

ขบวน การทางสังคมเสื้อเหลืองเสื้อแดงจะสามารถเข้าไปแข่งขันกันในระบบ รัฐสภาประชาธิปไตยได้หรือไม่ จริงๆ แล้วเรามีความเอือมระอากันตามสมควรกับการต่อสู้กันในท้องถนน หากสามารถเข้าไปต่อสู้กันในรัฐสภา คาดว่าจะมีผลในการลดการใช้ความรุนแรงได้มาก ดังนั้น ประเด็นสำคัญตอนนี้คือทำอย่างไรที่จะให้สงครามความคิดและสงครามการแย่งมวลชน หลุดออกจากถนนแล้วเข้าสู่กรอบกติกาทางการเมืองที่ทุกฝ่ายจะยอมรับกันได้ใน ระบบรัฐสภา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เรายังมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ไม่มากพอ ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะถูกรบกวนด้วยพลังนอกรัฐสภาอยู่เสมอ โดยเฉพาะการรัฐประหาร การรัฐประหารเกิดขึ้นครั้งใดได้ทำลายกระบวนการเรียนรู้ที่สั่งสมมา และย้อนกลับไปสู่ระบอบเดิมและนำเอาความสัมพันธ์ในระบอบเดิมที่เหลวเละกลับ เข้ามาอยู่ตลอด

ดังนั้น ถ้าจะพูดกันต่อไปว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ขบวนการสังคมพัฒนาต่อไปในแนว ทางสร้างสรรค์ ก็คิดว่าน่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับกองทัพในการเมืองไทย สถาบันอื่นๆ ก็เริ่มปรับตัวและเปลี่ยนแปลง แต่กรณีกองทัพ รัฐประหาร 2549 ทำให้กองทัพเข้ามายืนใน ฐานของอำนาจอย่างเป็นทางการ และมีสถาบันรองรับคือ รัฐธรรมนูญ 2550 อีกเรื่องที่ต้องคิดกันคือ ความกลัวพลังของราษฎร หรือพลังของประชาชนในหัวใจของกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นนำบางส่วนที่อาจยัง ยึดติดกับระบบคณาธิปไตย และไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะทำให้สภาพของตัวเองเปลี่ยนแปลง ไป แต่ถ้าคิดในทางบวก การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น เพราะไม่มีเกมที่เป็น zero-sum game ถ้าจะ zero-sum game ก็ต้องตายกันครึ่งประเทศ ซึ่งจะเป็นความเสียหายอย่างมหาศาล ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์ที่พูดเรื่อง game theory อยากเสนอว่า ต้องเปลี่ยนจาก zero-sum game เป็นเกมที่จะก้าวไปด้วยกันและตกลงกันว่าต้องใช้กติกาอะไร

ดังนั้น ทางออกของการเมืองไทยขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่ว่าจะมีการพัฒนาสู่พรรคการเมือง ทั้งสองฟากที่ข้ามพ้นทักษิณและการเมืองที่ใช้เงินจำนวนมาก ทั้งนี้ ตามที่มีนักวิเคราะห์และฝ่ายเสื้อแดงเสนอว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยของการเลือกตั้งอีกต่อไป ข้อเสนอนี้ต้องการการพิสูจน์ รวมถึงทำอย่างไรจึงจะหาทางออกให้กองทัพได้ลดบทบาทของตัวเองอย่างสง่างามและ ไม่ทำให้ต้องเสียอกเสียใจมากนัก

--------------------------------------




ถาม-ตอบ

ประวิตร โรจนพฤกษ์ เดอะเนชั่น: อีก ปัจจัยที่สำคัญมากใน การพิจารณาสภาพการเมืองปัจจุบันคือ สภาพความเป็นจริงที่เรียกว่า การเมืองและสภาพสังคมยุคปลายรัชกาล ซึ่งมีนัยสำคัญในแง่ที่ว่าชนชั้นนำเก่ามีอาการพารานอยด์หรือวิตกจริตมาก และมันเป็นพลวัตรสำคัญที่จะผลักดันให้ความขัดแย้งปัจจุบันมีสภาพสลับซับซ้อน ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ไม่สามารถพูดอย่างเท่าทันในที่สาธารณะโดยไม่สุ่มเสี่ยงได้ อยากถามว่ามองเรื่องนี้อย่างไร และสุดท้ายคิดว่า มี speculation เยอะมาก และเรื่องนี้เป็นการต่อสู้เรื่องที่ทางของสถาบันในอนาคต โดยเฉพาะมีการคาดการณ์ที่แตกต่างกันในสังคมไทยต่อที่ทางของสถาบันกษัตริย์ใน อนาคต โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนรัชกาล ซึ่งมีมุมมองที่แตกต่างกันไป

ผาสุก: ตอนที่กระบวนการโลกาภิวัตน์เกิดในเมืองไทยนำความตกใจมาสู่สังคมไทยอย่างมาก มีปฏิกิริยาต่างๆ มีผู้ต่อต้านหลายหัวขบวนตั้งแต่ระดับบนถึงระดับล่าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็พบว่าการต่อต้านความเปลี่ยนแปลง เป็นผลเสียกับตัวเอง จึงหาประโยชน์กับโลกาภิวัตน์ และขณะนี้สามารถกล่าวได้ว่าสังคมไทยไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ แม้อาจมีส่วนย่อยบางกลุ่มที่ไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโลกาภิวัต น์

การเปลี่ยนแปลงของสถาบันต่างๆ ในประเทศไทย ไม่เฉพาะสถาบันที่คุณพูด เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจมีความเฉื่อย และไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง และมีอาการต่างๆ ออกมา แต่ในท้ายที่สุด การปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องเกิดขึ้น ประเด็นอาจอยู่ที่ว่าจะปรับไปแบบไหน ในโลกก็มีโมเดลต่างๆ ในความเห็นของตนนี่อาจไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือการที่กลุ่มต่างๆ ในสังคมแสวงหาประโยชน์จากภาวะของการเกิดช่องว่างหรือความวิตกกังวลในภาวะของ การเปลี่ยนแปลงนี้ต่างหาก ในเรื่องนี้จึงคิดว่า เราอาจต้องตั้งสติและพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยลดความมีอคติและความกลัวของเราเองลงไป

ทั้งนี้ ในบรรดากลุ่มคณะที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากภาวะความไม่แน่นอนที่กำลังจะ เกิดขึ้น ก็ยังคิดว่ากลุ่มที่มีอาวุธอยู่ในมือน่าจะน่ากลัวที่สุด ดังนั้น การจะช่วยกันหาทางให้พลังตรงนี้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์จึงจำเป็นมาก

ก่อนหน้านี้ ได้คุยกับนักวิเคราะห์จากอินโดนีเซีย บอกว่า ขณะนี้ อินโดนีเซียก้าวข้ามเมืองไทยไปในหลายเรื่องตั้งแต่ 2540 ทั้งนี้เคยตามไทยมาตลอด เขาบอกว่า ในกรณีอินโดนีเซีย กลุ่มชนชั้นนำหลายกลุ่มมีเอกภาพต่อบทบาทของกองทัพในการเมืองอินโดนีเซีย โดยไม่ต้องการให้กองทัพมีบทบาทนำทางการเมืองหรือเป็นศูนย์กลางของการเมือง แต่กรณีเมืองไทย ไม่มีเอกภาพเรื่องนี้ เมื่อชนชั้นนำสำคัญของไทยไม่คิดเป็นเอกภาพเรื่องการจัดการบทบาทของกองทัพ จึงเกิดช่องว่างให้กองทัพเสนอตัวขึ้นมา คือใครใช้ใครต้องไปวิเคราะห์กัน ในท้ายที่สุดจะเห็นผลในงบประมาณประจำปี ที่โก่งขึ้นหลังปี 2549 นี่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และมีการเปลี่ยนแปลงด้านสถาบัน หมายถึงกรอบกติกาที่จะกำกับในประเทศ ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่นายกฯ มีบทบาทแต่งตั้งหรือเลื่อนขั้นฝ่ายกองทัพน้อยลง เมื่อมีกระบวนการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นๆ