ที่มา ประชาไท
เพียงคำ ประดับความ
หมายเหตุ: สารคดีชุดนี้เป็นร่างแรกของ หนังสือ "วีรชน 19 พฤษภา: คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน โดยจะสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีิวิตเพื่ิอรวบรวมเรื่ิิองราวที่สะท้อนถึงตัว ตนของประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่งจากคุณพเยาว์ อัคฮาด และประชาไท และยังยินดีเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดต่อสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตให้ครบเท่าที่จะเป็นไปได้ หากท่านใดมีข้อแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ readjournal@gmail.com |
1
“บ่อนไก่” คือพื้นที่ด่านหน้า ซึ่งมีการโจมตีปะทะหนักอีกแห่ง ในช่วงกระชับ/ขอคืนพื้นที่-สลายการชุมนุม-ขอความสุขกลับคืนแก่ประเทศ ไทย/กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
ในวันที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งปี หนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2554 บันทึกไว้ว่า
“เมื่อพูดถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 หลายคนนึกถึงย่านราชประสงค์ วัดปทุมวนาราม สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน และแยกคอกวัวแต่ถ้าสำรวจความเสียหาย และความสูญเสียกันจริงๆ แล้ว จะพบอีกพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่ปะทะกับประชาชน ได้แก่ "ย่านบ่อนไก่-พระราม 4" ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าด่าน ก่อนจะผ่านไปยังศูนย์กลางที่ราชประสงค์
ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) ระบุว่า การเผชิญหน้าบริเวณนี้ตั้งแต่วันที่ 13-16 พ.ค.2553 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 15 รายได้แก่ 1.ชาติชาย ชาเหลา คนขับรถแท็กซี่ ถูกยิงที่ศีรษะ 2.นายบุญมี เริ่มสุข ชาวชุมชนบ่อนไก่ ถูกยิงเข้าช่องท้อง 3.นายอินแปลง เทศวงศ์ คนขับรถแท็กซี่ ถูกยิงที่หน้าอก 4.นายเสน่ห์ นิลเหลือง คนขับรถแท็กซี่ อาศัยอยู่แฟลตตำรวจลุมพินี ถูกยิงที่หน้าอก 5.นายมานะ แสนประเสริฐ ชาวชุมชนบ่อนไก่ อาสาสมัครป่อเต็กตึ๊ง ถูกยิงที่ศีรษะ 6.นายวารินทร์ วงศ์สนิท ชาวสมุทรปราการ ถูกยิงด้านหลังทะลุหัวใจ 7.นายพรสวรรค์ นาคะไชย พนักงานโรงแรมย่านสุขุมวิท ถูกยิงเข้าช่องท้อง 8.นายวงศกร แปลงศรี ชาวศรีสะเกษ ถูกยิงที่หน้าอก 9.นายสมชาย พระสุวรรณ ชาวยโสธร ถูกยิงที่ศีรษะ 10.นายวุฒิชัย วราห์คำ ช่างซ่อมรถยนต์ ถูกยิงหลังทะลุท้อง 11.นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล คนขับจักรยานยนต์รับจ้าง ถูกยิงใต้ราวนม 12.นายประจวบ ประจวบสุข ถูกยิงเข้าหน้าอก 13.นายเฉลียว ดีรื่นรมย์ พนักงานขับรถถูกยิงใต้ราวนม 14.นายสมัย ทัดแก้ว รปภ.อาศัยอยู่ในชุมชนบ่อนไก่ ถูกยิงเข้าด้านหลัง และ 15.นายสุพรรณ ทุมทอง ชาวศรีสะเกษ ถูกยิงที่ศรีษะ” <1>
มีผู้เสียชีวิต 15 ศพ ในการปะทะเพียง 4 วัน ที่บ่อนไก่ หนึ่งใน 15 ศพนั้น คือ “อินแปลง เทศวงษ์” แท็กซี่หนุ่มจากลุ่มแม่น้ำโขง กิ่งอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเสียชีวิตในบ่ายวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ขณะสงครามการเมืองเดินหน้าสู่จุดแตกหักได้ไม่นาน
เขาไม่ทันได้อยู่ดูว่าพี่น้องร่วมอุดมการณ์ของเขา ใช้มือเปล่า หนังสะติ๊ก ขวดน้ำ และบั้งไฟ สู้กับกองทัพไทยและอาวุธสงครามอย่างน่ารันทดเพียงใด เขาไม่ทันได้อยู่ดูทะเลเลือดและน้ำตาที่หลั่งลงสู่พื้นถนนจนแดงฉาน และมันช่างต่ำต้อยด้อยค่านักในสายตาของผู้คนเมืองนั้น และเขาไม่ทันได้อยู่ดูว่าขบวนการต่อสู้ที่เขามอบกายถวายชีวิตให้นั้น จบลงอย่างน่าร่ำไห้เพียงใด...ในห้วงเวลาที่เสียงปืนนัดสุดท้ายสิ้นสุดลง
2
“นาตาล” เป็นกิ่งอำเภอเล็กๆ อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดอุบลราชธานี ห่างชายแดนลาวเพียงลำโขงกั้น ที่นั่นคือดินแดนที่เติบโตมาของ “อินแปลง เทศวงษ์” ชายหนุ่มซึ่งมีเส้นทางชีวิตไม่ต่างนิยายลูกอีสานทั่วไป คือดั้นด้นไปทำงานในเมืองใหญ่ ขายหยาดเหงื่อเพื่อปากท้องตนและคนที่รัก เมื่อเกิดความขัดแย้งแบ่งสีทางการเมือง เขากลายเป็นคนรักทักษิณอย่างไม่มีเหตุผลที่ลึกล้ำหรือพิสดารอันใด นานแรมเดือนแรมปีที่เขาใส่เสื้อแดงออกจากบ้าน ไม่นานจากนั้นก็กลายมาเป็นวีรชนลูกอีสานที่ลุกขึ้นสู้และตายอย่างอาจหาญ เพื่อประชาธิปไตย
บ้านสองชั้นกึ่งปูนกึ่งไม้ที่ยังสร้างไม่เสร็จหลังนั้น มีร่องรอยของความตายปรากฏผ่านภาพถ่ายบนผนังบ้าน ปัจจุบันพ่อแม่วัยชราของเขาอาศัยอยู่กับลูกชายสองคนสุดท้องและหลานชายหญิง อีกหลายคน
อินแปลง หรือ “ต๋อง” เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2518 ที่ฝั่งลาว เขามีอายุครบ 35 ปีพอดีในปีที่เสียชีวิต
นายวัน เทศวงษ์ หรือ “พ่อใหญ่วัน” พ่อของอินแปลงเล่าว่า เมื่อครั้งยังหนุ่ม แกข้ามลำน้ำโขงไปทำมาหากินที่ฝั่งลาวอยู่หลายปี จนได้อยู่กินกับสาวชาวลาวคนหนึ่ง มีลูกด้วยกันหลายคน หลังภรรยาคลอดลูกคนที่ห้า หนุ่มไทยเลือดอีสานตัดสินใจพาลูกเมียย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเกิด ขณะนั้นอินแปลงซึ่งเป็นลูกคนที่สี่อายุได้สองสามขวบ
เมื่อกลับมาก็ต้องพบกับความลำบากยากจน เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกิน งานรับจ้างในหมู่บ้านก็ไม่ค่อยมี ขณะที่มีลูกเพิ่มมาอีกสาม เป็นทั้งหมดแปดคน
“ผมนี่บ่มีดินดอก มีแต่ที่อยู่นี่แหละ มีแต่ที่บ้าน นารวมของพ่อแม่ก็ขายใช้หนี้หลายปีแล้ว ขายให้น้อง เขาให้เจ็ดพัน เจ็ดพันก็เอา นาบ่หลาย สิบกว่าไร่ สิบเอ็ดสิบสองไร่ ปันกันนั่นแหละ เขาก็ยาก เขาก็ทุกข์คือกัน ว่าตัวทุกข์ เขาทุกข์กว่าตัว เลยบ่ร่ำไรซ้ำ ทุกวันนี้ซื้อข้าวกิน เดือนละสอบปุ๋ย” พ่อเฒ่าวัย 69 ปีกล่าว
อินแปลงเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านคันพะลานเช่นเดียวกับพี่น้อง ของเขา หลังจบ ป.6 ก็เดินเข้าสู่ถนนสายแรงงาน ดิ้นรนปากกัดตีนถีบ ช่วยพ่อแม่ทำมาหากินเลี้ยงน้อง
“ออก ป.6 ก็ไปทำงานเลย ไปขับรถ ยังน้อยๆ อยู่เขาขับสิบล้อพู่น ทีแรกขับอยู่บ้าน อยู่โพธิ์ไทร ขับอยู่นำ ส.ส.วิฑูรย์ นามบุตร เฮ็ดคลองน้ำ ขับรถสิบล้อขนดินมา ไปเบิ๊ดทุกแนวนา พอออกโรงเรียนก็ไปเรื่อย หากิน บ่อยู่บ้านสักเทื่อดอก ขับรถอยู่อุบลฯ หลายปี อายุสิบแปดสิบเก้าปีจั้งเข้ากรุงเทพฯ เข้าไปก็ไปเวิ้ด จนหลง บ่มาสักเทื่อ ส่งแต่เงินมาให้พ่อให้แม่เดือนละเทื่อ เดือนหนึ่งสี่ห้าพัน ฝากมาให้ พอได้กินแหละ ไปอยู่พู่นก็ขับแท็กซี่ ฮู้จักเบิ๊ดกรุงเทพฯ บ่ทำงานแนวอื่น ขับรถอย่างเดียว”
แม้ไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านบ่อยนัก แต่ลูกชายคนนี้คือหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่คอยส่งเงินให้พ่อแม่ได้พอยัง ชีพอยู่ที่บ้านนอก “เอาเมียแล้วก็ส่งให้พ่อแม่ประจำ ได้กินกับลูกคนนี้ บัดนี้ตายแล้วก็บ่ได้แหล”
ภรรยาของอินแปลงเป็นหญิงจากบ้านป่าก้าว อำเภอนาจะหลวย จังหวัดเดียวกัน แต่ทั้งคู่ได้ไปรู้จักชอบพอกันที่กรุงเทพฯ
“ประมาณซาวนี่แหละเอาเมีย มีลูกสองคน คนโตฮั่น เข้า ป.1 แล้วบ่ คนเล็กฮั่นยังน้อยดอก พ่อเสียมันจักขวบยังฮะ พอแต่หาจักขวบ คนเล็กเพิ่งคลอดได้ประมาณสองสามเดือนก็ลงกรุงเทพฯ ไปขับรถคือเก่า ช่วงลูกคลอด เขากลับมารอเมียคลอดอยู่ที่นาจะหลวย คลอดแล้วก็ไป"
เมื่อถามถึงนิสัยใจคอของลูกชายคนนี้ พ่อใหญ่วันว่า “เพิ่นเป็นคนบ่ปาก บ่ไปอีเรเกหยัง เหล้ายาบ่ได้กินดอก เว่าบ่เก่ง แต่กีฬานี่ดี ว่างแต่มาจากขับรถก็ไปแต่กีฬา”
เรานั่งคุยกันที่แคร่ไม้หน้าบ้าน ไม่นานแม่ใหญ่ตู๋ เทศวงษ์ วัย 63 ปี แม่ของอินแปลง ก็เดินโขยกเขยกออกมาสมทบ แกเดินเหินไม่คล่องนัก เห็นว่ามีปัญหาเรื่องกระดูกตามประสาคนแก่
หลังแต่งงานแล้วอินแปลงกับภรรยาเช่าห้องพักอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนเสียชีวิตเพิ่งย้ายไปเช่าแฟลตแถวพัฒนาการ ที่เดียวกับพี่สาวและน้องสาว “เซ่าห้องอยู่ แปะกันอยู่นั่นแหละ อยู่นำเอื้อยนำน้อง เซ่าคนละห้อง ห้องใหญ่ สามสี่ชั้น อยู่ชั้นสอง ย้ายอยู่เรื่อยหนา มันบ่ดีก็ย้ายไปบ่อนใหม่ อยู่นั่นได้ปีปลาย ก็มาเสีย”
ทุกปีพอถึงหน้านา อินแปลงจะพักงานกลับมาช่วยพ่อตาแม่ยายทำนาที่นาจะหลวย เก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งเสร็จจึงจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ไปขับแท็กซี่ ส่วนบ้านที่คันพะลาน พ่อใหญ่วันว่านานๆ ลูกชายจะกลับมาเยี่ยมสักหน คราวสุดท้ายที่ได้พบหน้ากันคือเมื่อหลายเดือนก่อนลูกชายจะเสียชีวิต
เสียงแม่ใหญ่ตู๋ว่า ทุกคราวที่อินแปลงกลับมาบ้าน พ่อกับแม่ต้องบายสีผูกข้อมือให้ แต่ครั้งสุดท้ายนี้ไม่ได้ทำ “มาบ่ได้เฮ็ดให้ บ่ได้แต่งสีข้อให้ ฮั่นแหละ มันเสียใจอยู่”
3
หลังอินแปลง เทศวงษ์ เสียชีวิตหนึ่งวัน มติชนรายงานข่าวเกี่ยวกับเขาไว้ว่า
“เมื่อเวลา 21.00 น.วันที่ 15 พฤษภาคม นายชูวิทย์ (กุ่ย) พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขต 2 จ.อุบลราชธานี ได้นำศพนายอินทร์แปลง เทศวงศ์ อายุ 33 ปี คนเสื้อแดงซึ่งถูกทหารยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ถึงบริเวณเวทีคนเสื้อแดงบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ท่ามกลางคนเสื้อแดงไปร่วมไว้อาลัยประมาณ 5,000 คน มีอดีต ส.ส.สมบัติ รัตโน นายกิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ มีการทำพิธีสวดมาติกาบังสุกุลโดยพระสงฆ์ 4 รูป หลังจากนั้นมีการอ่านประวัติ อ่านบทกลอนสดุดี เล่าสาเหตุการณ์ถูกยิงตาย มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวเบื้องต้น จำนวน 50,000 บาท ประกาศให้ทุนการศึกษาแก่ ด.ญ.ดารากร เทศวงศ์ เรียนจนจบปริญญาตรี และจะนำศพนายอินทร์แปลง เทศวงศ์ ไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านดอนงิ้ว ต.นาตาล อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี โดยจะทำการฌาปนกิจในวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคมนี้”<2>
ไม่มีใครในครอบครัว แม้แต่ภรรยาของเขา รู้แน่ชัดว่าแท็กซี่หนุ่มชาวอุบลราชธานีคนนี้ มีบทบาทอย่างไรในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 บ้างว่าเขาเป็นการ์ด บ้างว่าเขาเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมธรรมดา ทว่าสิ่งที่คนในครอบครัวรับรู้และกล่าวถึงตรงกันคือ แท็กซี่หนุ่มผู้นี้ชื่นชอบการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นชีวิตจิตใจ
“โอ๊ย มักเสื้อแดงนี่มักคัก แพรโพกหัวก็ซื้อให้ลูกหมด” แม่ใหญ่ตู๋ว่า
เมื่อถามว่า ลูกชายคนนี้เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่
พ่อใหญ่วันตอบ “บ่จัก ถามมัน มันว่าบ่ได้เข้า แต่บัตร นปช.มันก็มี ตอนนี้อยู่นำ ส.ส.กุ่ย เขาเก็บไว้ ตอนมาทำศพนี่ เห็นแล้วมันบาดตานะตี้ เลยบ่ได้เก็บไว้”
พ่อเฒ่ารู้เพียงว่า ลูกชายชอบเสื้อแดง แกจึงคอยห้ามปรามไม่ให้เข้าไปร่วมชุมนุม
“อย่าเข้าไปฮั่นหนา ย่าน ห้าม บ่แม่นบ่ห้าม บ่อยากให้ไป แล่นรถอยู่กรุงเทพฯ อย่าเข้าไปบ่อนเขาซุมนุมเด้อ โอ้ย ไปสิเป๋นหยัง มันว่าซี่แหละ ตายก็ตายมีศักดิ์ศรีตั๊วะ ฮ่วย! อย่าเว่าจังซั่นหนา สิไปหาไปชนกับเขาเฮ็ดหยัง ผมว่าจังซี่หนา เฮาบ่อยากให้ตายนี่แล้ว คั้นเว่าหลายก็เออ บ่ไปดอก ผมโทรไปเรื่อยๆ หนา ถามว่าได้เข้าไปชุมนุมนำเขาบ่ บอกบ่ได้เข้า บ่แท้ เข้าไปแล้ว รถแท็กซี่เป็นเส้นเข้าไป จังว่ารถคันใด สงสัยไปนำกัน มันหลายปานนั้น เพราะว่ามันเข้าอยู่ชมรมแท็กซี่ เอารถไปเข้าชมรมกับเขา ผมโทรบอกอยู่เรื่อยว่าเขาสิสลายม็อบสลายแม็บอยู่ รัฐบาลก็ดาย เบิ่งอยู่แหละ เบิ่งติดตามข่าว”
เมื่อถามว่า ตัวพ่อใหญ่วันชอบเสื้อแดงด้วยหรือไม่ แกว่า “จัก ซอบบ่ซอบบ่จัก เอาโลด ซื่อๆ นี่” แต่ที่บ้านของแกติดจานดาวเทียมดูทีวีช่องเสื้อแดงได้ “ติดหว่างสองสามเดือน ตะกี้ใจ้มีหยัง มันเบิ่งไสก็ได้ อยากเบิ่งข่าวหลายหม่องหลายที่ ข่าวเหตุบ้านการเมือง” ถามต่อว่า แล้วตอนเลือกตั้งเลือกพรรคไหน แกหัวเราะแล้วว่า “ก็เลือกเพื่อไทย แถวนี้เสื้อแดงหลาย เลือกเพื่อไทยเบิ๊ด ไปซุมนุมก็หลายดิอยู่ในบ้านนี่”
หลังเทียวกำชับลูกชายไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม และลูกชายก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ พ่อใหญ่วันกับภรรยาจึงค่อยเบาใจ
แต่แล้วบ่ายวันที่ 14 พฤษภาคม ลูกสาวคนถัดจากอินแปลงซึ่งพักอยู่แฟลตเดียวกัน กลับโทรมาแจ้งข่าวร้าย ขณะพ่อใหญ่วันเองก็กำลังนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ติดตามข่าวด้วยใจจดจ่อ
“เบิ่งโทรทัศน์ทีละช่อง จ้องแต่โทรทัศน์อยู่ นั่งเบิ่งอยู่นี่ น้องสาวเพิ่นโทรมาบอก แล้วขึ้นหน้าจอเพ่อเว่อ อินแปลง เทศวงษ์ เสียชีวิตแล้ว เพิ่นไปส่งผู้โดยสาร ลงจากรถเขาก็ยิง นัดเดียว บ่อนมันตายโน่นละ”
เมื่อตั้งสติได้ พ่อใหญ่วันบอกลูกสาวให้เอาศพพี่ชายกลับมาบ้าน “ก็บอกน้องให้เอาอ้ายมาบ้าน..ไปอุบลฯ ไปขอรถนำม็อบเขา ไปเอามาฮั่น เอามาพักอยู่ฮั่น คราวเดียว ประมาณสามสิบนาที ส.ส.จัดการ ผมก็รออยู่อุบลฯ เพิ่นก็เอารถเพิ่นมาส่ง พวกเสื้อแดงมาส่ง เสื้อแดงมาหลาย”
เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ชายชราว่า “ก็บ่คิดจังใด มันเสียแล้ว คิดก็บ่คืนมา ก็คึดฮอดมันแหละ คึดฮอดแฮง” และเมื่อถามว่า แล้วคนในหมู่บ้านคิดอย่างไรต่อการตายของอินแปลง “โอ๊ย บางคนเขาก็บ่นิยมกับเฮา เขาว่า โอ๊ย ไปเสื้อแดง บ่นิยม คนบ่มักเสื้อแดงก็มี แม่นตั๊ว เขาจั้งเว่าแนวนี้ คนตายแล้วคิดจังใด ซอบบ่ซอบก็เฮ็ดไปตามเรื่องมันตั๊ว มันเป็นแล้ว ผมก็บ่เคียดบ่โกรธไผหนา อยู่ซื่อๆ โลด ไผสิผิดสิถูก บ่จัก มันบ่จักว่าสิว่าข้าเจ้าแนวใดสิดี จักไผดีไผบ่ดี เสื้อแดงผิดบ่ผิดก็บ่ฮู้คือกัน มีแต่เบิ่งซื่อๆ จักไปถูกไปผิด บ่จักโลด เบิ่งไป บ่โกรธไผ”
แต่เมื่อถามว่า แกชอบทักษิณหรือไม่ “อื้อ ซอบอยู่มักอยู่ บริหารประเทศดีอยู่ อภิสิทธิ์ก็ดีคือกัน มันดีไปคนละแนว” เมื่อถามว่าอภิสิทธิ์ดีอย่างไร พ่อใหญ่วันว่าพลางหัวเราะ “ดีก็สู้ดีเพิ่น นักสู้งัวกระทิง ฟังแต่ข่าวก็ดาย เบิ่งไปซื่อๆ บ่สนใจไผดีบ่ดีบ่จัก บ่สนใจไผ มันตายไปแล่ว คั้นบ่ตายสิเว่า โอ้ย จังซั่นจังซี่ ตายไปแล้วครอบครัว โอ๊ย ลำบาก ลูกเมียเขาก็สิลำบากคือกัน ตะกี้เมียเขาบ่ได้ทำงานอิหยัง อยู่แต่เลี้ยงลูก บัดนี้กลับมาอยู่บ้านพ่อกับแม่เพิ่น เขาก็ขายของอยู่โรงเรียน”
ปัจจุบันพ่อใหญ่วันกับแม่ใหญ่ตู๋มีหลานที่ต้องเลี้ยงดูอีกหลายคน พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ส่งเงินกลับมาให้บ้างตามกำลังที่แต่ละคนมี เรื่องขัดสนก็มีบ้างเป็นธรรมดา แต่ที่หนักหนาคืออาการป่วยของพ่อใหญ่วันที่เพิ่งปรากฏเมื่อไม่นานมานี้
“เพิ่นว่าเป็นตับ หมอก็ดาย เป็นมะเร็งมะเริงนั่นแล่ว สิตายไวแท้ เบิ๊ดเงินหลายหมื่น เจ็บมานี่ สี่ห้าเดือนแล้ว”
ตลอดเวลาที่นั่งคุยกัน พ่อใหญ่วันบ่นเจ็บชายโครงข้างขวา พลางเอามือกุมอยู่เป็นระยะ “หมอบอกว่าปกติแล้วก็เลยเซาไปหาหมอ แต่พอเจ็บๆ ก็ไปอีก หมอก็ให้ยาระบายกับยาแก้อักเสบ เหมิดเท่านั้น ปวดแฮงใคร่กิน บ่ปวดบ่กิน ไปโรงบาลเขาก็ว่าคือเก่า ทีแรกไปหาหมอใหญ่ เขาว่าดีซ่าน ไปมาว่าเป็นมะเร็ง ส่งไปอุบลฯ เขาบ่รักษา ว่าหายแล้ว ปกติดี ใบหยังก็เฮ็ดให้หมด เอายาให้รักษาอยู่บ้าน ผมก็เลยบ่ไป ไปคลินิกก็เทื่อละแปดร้อย เทื่อละพัน ก็เจ็บทุกมื้อ เจ็บอยู่นี่ มันยึ่งจั้งเจ็บ คั้นบ่ยึ่งก็บ่เจ็บ อยู่บ้านห้าหกเดือนแล้ว จักหายบ่หาย ว่าจะไปตรวจอยู่กรุงเทพฯ” ทุกวันนี้พ่อใหญ่วันซื้อยาสมุนไพรมาต้มกินเองทุกเช้า ราคาชุดละแปดพันบาท
ระหว่างนั้นแม่ใหญ่ตู๋ลุกเดินหายเข้าไปที่โรงครัว ซึ่งเป็นโรงเรือนเล็กๆ ยกพื้นสูงราวหนึ่งเมตร ติดกับยุ้งฉาง แยกออกจากตัวบ้าน ตกค่ำแม่เฒ่าให้หลานชายวัยรุ่นสองคนช่วยกันยกสำรับมาตั้งบนพื้นปูนหน้าจอ โทรทัศน์ เรานั่งกินข้าวพลางดูข่าวจากช่องเอเชียอัพเดต ช่วงหนึ่งข่าวรายงานเรื่องคนเสื้อแดงที่ชนะคดี กรณีสลายการชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงเมื่อปี 2552 ศาลสั่งให้ทหารต้องชดใช้เงินนับล้านบาทโทษฐานยิงคนมือเปล่า
เสียงพ่อใหญ่วันว่า “คดีเฮาสิชนะบ่ แท้แล้วยุบสภาก็จบแล้ว เฮ็ดหยังต้องรอให้มีคนตาย”
แม่ใหญ่ตู๋เสริมว่าลูกชายแกโดนยิงที่หน้าอก แต่รัฐบาลกลับออกข่าวว่าทหารไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน “มันบอกยิงต่ำๆ บอกเสื้อแดงฆ่ากันเอง ไผสิฆ่ากันเอง”
เรานอนค้างที่นั่นหนึ่งคืน ตื่นมาเห็นพ่อใหญ่วันนั่งดูเอเชียอัพเดตอยู่หน้าจอแต่เช้ามืด
หลังอาหารเช้า เรานั่งสนทนากับพ่อเฒ่าแม่เฒ่าอีกเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนลากลับเสียงพ่อใหญ่วันว่า “ความจริงค่อยๆ ปรากฏออกมาแล้ว เขาจะให้รัฐบาลเราอยู่นานรึเปล่าไม่รู้”
...เขาจะให้รัฐบาลของเราจะอยู่นานรึเปล่าไม่รู้!!!
4
หลังสามีเสียชีวิต “นิตยา พาเชื้อ” หม้ายประชาธิปไตยวัย 32 ปี หอบลูกชายวัยไม่ถึงขวบ กลับมาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านป่าก้าว เลขที่ 49 หมู่ 4 ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ขณะลูกสาวคนโตวัย 7 ขวบ ฝากให้อยู่กับตายายที่นี่อยู่ก่อนแล้ว
เมื่อเราไปถึงบ้านสองชั้นหลังนั้น พบนายแสวง พาเชื้อ วัย 57 ปี พ่อของนิตยา นั่งเลี้ยงหลานชายวัยราวสองขวบอยู่หน้าบ้าน “ขนมตาล” หรือ เด็กชายนาราภัทร เทศวงษ์ คือลูกคนเล็กของวีรชนแท็กซี่เดือนพฤษภา
นิตยาไปขายของจำพวกชานมไข่มุกและน้ำหวานรสชาติต่างๆ ที่โรงเรียนประถมในหมู่บ้าน ซึ่งลูกสาวคนโตของเธอเรียนอยู่ ลุงแสวงว่ากว่าจะเก็บร้านเสร็จกลับมาถึงก็คงบ่ายแก่
เราจึงนั่งคุยกับพ่อของนิตยาไปพลางๆ
ลุงแสวงเล่าว่า บ้านป่าก้าวเป็นชุมชนใหญ่ มีบ้านเรือนกว่า 300 หลัง อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำนาและทำไร่มันสำปะหลัง มีทำสวนยางพาราบ้างประปราย ชาวนาทำนาได้ปีละครั้ง มีงานรับจ้างบ้างเล็กน้อย คนหนุ่มสาวมักเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ
เมื่อถามถึงเรื่องการเมือง ลุงแสวงว่า “เสื้อแดงทั้งหมู่บ้าน นาจะหลวยไม่ต้องพูดถึงหรอก คู่แข่งอื่นๆ ไม่ได้เกิน 10 คะแนน”
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน คนที่ชื่นชอบและคุ้นเคย (และเคยลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนสมัยที่แล้ว) ย้ายไปลงพรรคอื่น ชาวบ้านเกิดความลังเลอยู่บ้างในช่วงต้น แต่เมื่อถึงเวลาเดินเข้าคูหา พวกเขาก็ตัดสินใจกาเบอร์หนึ่งกันอย่างพร้อมเพรียง เพราะกลัวไม่มีคนยกมือให้ยิ่งลักษณ์ในสภา
“เขาชอบเบอร์สอง แต่มันจำเป็นต้องเลือกเบอร์หนึ่ง ทุกหมู่บ้าน ทุกหน่วยเลือกตั้ง เบอร์หนึ่งกินหมด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีซักคะแนนหรอก เวลาพรรคเพื่อไทยมาหาเสียง มากินน้ำก่อน แต่เวลาประชาธิปัตย์ ป้ายหาเสียงนี่ปักเมื่อไหร่ก็พังแล้ว แต่คนใต้เขาว่าของเขาดีนะ แต่เราไม่ว่าเขานะ แพ้ก็เอาไป คนอีสานยอมรับนะ แพ้ก็ว่าแพ้”
ถามว่าทำไมคนที่นี่ถึงชอบเสื้อแดง ลุงแสวงร่ายนโยบายที่ชาวบ้านประทับใจได้ยืดยาว
“พอทักษิณมาเขาก็ติดใจเลย คนอีสาน คนรากหญ้า พอมาเห็นทักษิณให้ปุ๊บ เวลาน้ำท่วมก็ให้เป็นเงินมาเลย แต่ก่อนได้แต่ผักบุ้งผักชีมาปลูก สมัยนายชวน ไม่มีใครให้เงินเลย มาทักษิณนี่แหละ อย่างกองทุนหมู่บ้าน หรือสมัยก่อนนี่เป็น สปก. เอาไปทำอะไรไม่ได้ แต่พอทักษิณมา แปลงสินทรัพย์เป็นทุน เขาก็มีช่องทาง อีกที่เด่นๆ ก็เรื่องยาเสพติด พอทักษิณมา หายไปหมด สบาย แต่เดี๋ยวนี้มีทุกหมู่บ้าน ยาบ้า ถ้าทักษิณทำไม่ดีใครจะไปสนใจ จะไปอยู่ไหนก็ไป นี่มันไปขัดผลประโยชน์เขาหรอกถึงอยู่ไม่ได้ บอกว่าแกนนำมาปลุกระดมคนอีสาน ถ้าไม่จริงมันปลุกไม่ขึ้นหรอก แต่ก่อนมีแต่นักศึกษาสู้กับรัฐบาล แต่เดี๋ยวนี้มีแต่ชาวบ้าน คนกรุงเทพฯ ยังนิ่งอยู่”
นายแสวงไม่วายบ่นเรื่องที่คนกรุงเทพฯ ดูถูกคนอีสาน “ไม่ชอบเลย เขาว่าคนต่างจังหวัดเลือกนายกฯ แต่คนกรุงเทพฯ ไล่นายกฯ คำนี้ที่เขาพูดกันประจำๆ คนกรุงเทพฯ มันยอมปาก แต่ใจมันไม่ยอม เขาว่าคนต่างจังหวัดโง่ แต่ผมว่ามันกลับกัน คนกรุงเทพฯ โง่กว่าคนต่างจังหวัด คนภาคอีสานเขารู้แล้วว่ามันเป็นเผด็จการ ถ้าบ้านไหนมีคนไปชุมนุมนี่ ยิ่งกว่าดูโทรทัศน์อีก คนที่ไปชุมนุมไปได้ลูกปืนมา เขาเล่ากันปากต่อปาก คนที่เขาสูญเสีย จะให้มันแล้วๆ ไป มันง่ายไป”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อลูกเขยของลุงแสวงเสียชีวิตในเหตุสลายการชุมนุมโดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ชาวบ้านที่นี่จึงไม่พอใจกันมาก
“พอไอ้ต๋องตายชาวบ้านเขาก็โกรธ เพราะเขาก็เบิ่งข่าวกันตลอด ถ้ามีใครมาเถียงว่าทหารทำถูก รัฐบาลทำถูกนี่ อย่าเลย ไม่ต้องมาคุยกันเลย เพราะเขาเห็นเหตุการณ์ เขาเห็นชัดๆ เลยว่าทหารนั่นแหละเป็นคนยิง เวลาสุเทพออกมาพูด เขาไม่อยากดูหรอกโทรทัศน์ ปิดเสีย ลูกไอ้ต๋องคนโตนี่ก็เหมือนกัน เวลามันเห็นหน้าสุเทพ อภิสิทธิ์ มันด่าเลย ไอ้เหี้ย มึงสั่งฆ่าพ่อกู จริงๆ เราก็ไม่อยากให้เขาพูดแบบนั้นหรอก เขายังเด็กอยู่ กลัวคนอื่นไม่เข้าใจจะหาว่าเป็นเด็กก้าวร้าวไป” ลุงแสวงว่าอย่างมีริ้วรอยกังวล “เราไม่ได้รับความยุติธรรม หวานอมขมกลืนอยู่ น้ำท่วมปาก มันอึดอัด แต่ก็เตือนกัน พูดไปมันก็ไม่ดี แต่ว่าตำรวจมันก็เสื้อแดงเยอะนะ”
ในตอนท้ายลุงแสวงพูดถึงลูกเขยว่า เป็นคนขยันทำมาหากิน “เพิ่นบ่เกี่ยงงานหนักงานเบา ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เวลาเกี่ยวข้าวก็ขึ้นมาช่วย เกี่ยวข้าวเสร็จก็ลงไป พ่อกับแม่ก็ว่าจะปลูกบ้านให้อยู่ บ่ทันจังใดซ้ำ กำลังเอาลูกเอาเมียไปอยู่นำ เอาลูกคนเล็กไปตอนสี่เดือน”
5
นิตยากลับมาถึงบ้านราวบ่ายสามโมง เธอง่วนอยู่ในครัวเพียงลำพังตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ เนื่องจากต้องเตรียมต้มชาและน้ำหวานไว้ขายในวันรุ่งขึ้น
หลังอาหารมื้อเย็นผ่านไป เราจึงได้สนทนากับแธอ ระหว่างนั้นน้ำหวานและขนมตาลวิ่งเล่นหยอกล้อกันอยู่หน้าจอโทรทัศน์ โดยมีตาแสวงนั่งคอยดูอยู่ห่างๆ ส่วนยายของเด็กทั้งสองออกไปประชุมกลุ่มแม่บ้านตั้งแต่กินข้าวเย็นเสร็จ
นิตยาเปิดตู้หยิบภาพถ่ายของสามีออกมา แล้วชวนเราไปนั่งคุยกันที่แคร่หน้าบ้าน จากนั้นเธอเริ่มต้นเล่า
“เขาชอบเสื้อแดงตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม ตอนนั้นเรายังอยู่ที่บ้านนอกอยู่เลย เขาไปขับแท็กซี่ที่กรุงเทพฯ พี่ท้องตัวเล็กอยู่ที่บ้าน ตอนนั้นเขาก็เริ่มไปร่วมชุมนุมแล้ว แต่ไม่เล่าให้เราฟัง พอเราคลอดลูกแล้วลูกโตขึ้นมาหน่อย ไอ้น้ำหวานก็ปิดเทอม เขาเลยมารับไปอยู่กับเขาที่กรุงเทพฯ นั่นน่ะ ถึงรู้ว่าเขาเข้าร่วม”
เท่าที่นิตยารู้ คือสามีของเธอเข้าไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2552
“ตอนแรกเขาก็ไม่กล้าเล่าให้ฟัง กลัวเราเป็นห่วง ไปๆ มาๆ เขาทนไม่ไหวก็เลยเล่าว่าเขาขับรถไปรับเพื่อนๆ มา วันนี้ไม่ได้ตังค์นะ เขาก็จะบอก”
อินแปลงเคยทำงานกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดกุมฐานเสียงในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมายาวนาน นั่นทำให้นิตยาไม่รู้มาก่อนว่าเขาชอบทักษิณ “เขาเคยเล่าให้ฟังว่าเคยทำงานกับ ส.ส.วิฑูรย์ นามบุตร ตั้งแต่เขาเป็นหนุ่มๆ เขาก็ไม่เคยเล่าให้ฟังว่าเขาชอบทักษิณ มาตอนที่โดนรัฐประหารน่ะ เขาจะแอนตี้มากเลย เขาจะแสดงออกมาก เมื่อก่อนเขาก็ไม่ได้ไปขนาดนั้น พอท่านทักษิณโดนปฏิวัติ เขาบอกว่ามันไม่ยุติธรรมเลย ก็เริ่มเชียร์มาตลอดเลย”
เมื่อการชุมนุมใหญ่ปี 2553 เริ่มขึ้น อินแปลงเข้าไปร่วมชุมนุมอย่างจริงจัง “ช่วงปีห้าสามเขาไปทุกวัน ไปทุกที่ด้วย ซักประมาณสี่ห้าทุ่ม เขาจะแว้บไป เพราะว่ารถนี่เขาขับคนเดียว เป็นรถของแฟนน้องสาวเขา เมื่อก่อนขับเป็นกะ ขับกลางวัน ทีนี้พอมีรถคันนี้เขาก็จะออกไปหลายรอบ บางทีถ้าไปตอนเช้าไม่ได้ตังค์ เขาก็จะกลับมา แล้วก็ออกไปใหม่ ตอนดึกหน่อย คงจะแว้บไปชุมนุมช่วงนั้น”
“เขาเคยบอกว่าลูกพี่มาชวนไปเป็นการ์ดด้วย แต่เราไม่ได้เข้าไปยุ่ง เขาจะไม่ให้เราเข้าไปยุ่ง เพราะว่าเราต้องเลี้ยงลูก ดูแลลูกๆ เล็กๆ อยู่ เขาจะไปของเขาคนเดียว บางทีกลับมาก็จะเล่าให้ลูกเขาฟัง วันนี้พ่อไปสร้างวีรกรรมมานะ เขาเคยพาเพื่อนเอาแท็กซี่ปิดรถทหาร เขาบอกแพทย์เหวงมาจับมือพ่อด้วยนะ ตอนนั้นที่เขาเอารถทหารเข้ามากี่คัน เจ็ดคันหรือไง แล้วพี่ต๋องเขาเอาแท็กซี่เข้าไปห้าสิบคัน ปิดรถทหารไว้หมดเลย นั่นแหละ เขาเป็นคนนำไป”
“บางทีก็จะมีเพื่อนโทรมาบอกเขาให้ไปรับน้องตรงนั้นตรงนี้ให้หน่อยนะ เขาก็ไป ไปช่วยรับคน ไม่ได้คิดค่าโดยสาร เขาบอกว่าเราไม่มีเวลาจะไปชุมนุมช่วยเขา เพราะต้องหาเงิน เราก็ต้องช่วยเหลือคนที่เขามีโอกาสไป ถ้าวันไหนเขาไปเขาก็จะบอก บางทีเราโทรไปเขาก็จะบอกว่าอยู่ตรงนั้นนะตรงนี้นะ เราก็บอกเขาว่าระวังตัวนะ ลูกยังเล็กอยู่ เขาจะคอยติดตามข่าวของเขาตลอด แล้วก็จะมีคนคอยโทรมารายงาน เวลาจะออกไปชุมนุมก็จะมีคนโทรมาเรียก บางทีก็ต้องรีบแต่งตัวออกไป ได้ยินเขาเรียกลูกพี่ๆ เราก็ไม่รู้จัก เขาบอกลูกพี่เป็นการ์ดนะ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร เพราะว่าไม่ได้ไปกับเขาไง ก็ได้แต่บอกเขาว่าระวังตัวด้วย เขาจะเป็นคนที่มีอุดมการณ์มาก รักความถูกต้อง แล้วก็รักครอบครัวมาก”
นิตยาว่าสามีของเธออาสารับภาระเรื่องการทำมาหากินเพียงลำพัง เพื่อให้เธอมีเวลาเลี้ยงดูลูกอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ แม้ใจจดจ่ออยู่กับการชุมนุมสักเพียงใด อินแปลงก็พยายามแบ่งเวลาไปหาเงินเลี้ยงครอบครัว หลังเสร็จงานจึงจะเป็นช่วงเวลาของการชุมนุม นิตยาไม่เคยห้ามสามี ด้วยความที่เธอเองก็มีใจสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง สิ่งที่เธอทำคือนั่งรอสามีทุกคืน จนกว่าเขาจะกลับ
“บางทีเขาก็กลับมาตีหนึ่ง บางทีก็หกทุ่ม เร็วสุดก็ห้าทุ่ม เราก็ยังไม่นอนทุกวัน รอ พอกลับมาเขาก็จะ โฮ้ย จะใส่อารมณ์มากเลย บางทีเปิดข่าวดู ที่ห้องเช่าดูข่าวช่องเสื้อแดงไม่ได้ ต้องดูช่องรัฐบาล เขาก็จะบ่น ไม่รู้มันจะออกมาทำไมข่าวแบบนี้ เขาจะโมโห ไม่อยากดู บางทีกลับมาเขาก็จะเล่าให้ฟังว่าวันนี้ไปที่ไหนยังไง ไปเจอใครมามั่ง ไปเจอเพื่อนฝูงก็กลับมาเล่าให้ฟัง อย่างเพื่อนที่อู่เขาเนี่ย จะเป็นแกงค์ของเขา เป็นกลุ่มของเขา จะจับกลุ่มกันไป หรืออย่างที่แฟลต ก็จะมีห้องข้างๆ เป็นเสื้อแดง พอถึงตอนบ่ายเขาก็จะแต่งตัวออกไปกัน ใส่เสื้อแดง ผ้าโพกผม แล้วก็เสื้อแดงจงเจริญ ออกไปพร้อมกัน แต่พี่ต๋องเขาไม่ค่อยได้ใส่เสื้อแดงหรอก ปกติก็คือชุดแท็กซี่ แต่เขาจะมีเสื้อให้ลูกเขาทุกคนเลย ทั้งสองคน คนละตัว แล้วก็ผ้าโพกหัวก็มี มัดข้อมือด้วย แล้วก็ผ้าผูกคอด้วย เขาบอกนิดเอาไว้ก่อนนะ ยังไม่มีไซซ์” นิตยาซึ่งเป็นคนรูปร่างท้วม ค่อนข้างเจ้าเนื้อเล่า
“เขาจะเป็นคนรักความยุติธรรมากๆ เวลาดูข่าวดูอะไร เขาจะบ่นว่าไม่อยากดูหรอก ไอ้พวกขี้โกง เขาบอกเขาจะสู้ไปตลอด มีเพื่อนสู้เขาก็จะสู้ แต่เพื่อนฝูงเขาเราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมาที่ห้อง ญาติพี่น้องเขาห้ามเขาทุกคน พ่อเขาก็โทรมาหาเราทุกวัน อย่าให้ไอ้ต๋องไปนะ พี่ก็บอก ห้ามไม่ได้หรอก”
6
ชีวิตของอินแปลงและนิตยาดำเนินไปเช่นนั้น ตลอดช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง คือเมื่อสามีออกจากบ้าน ภรรยาก็นั่งรอจนกว่าสามีจะกลับ
กระทั่งพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ถูกยิงเสียชีวิต ในเย็นวันที่ 13 พฤษภาคม 2553
“ตอนเสธ.แดงโดนยิง เขาบอกดูซิน่ะ มันฆ่าได้แบบไม่มีความผิด ฆ่าทิ้งเหมือนไม่ใช่คน ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีอาวุธอะไร เขารับไม่ได้ เขาโกรธ เขาก็ก่นด่าของเขา เขาบอกเขาอยากจะมีอาวุธ จะไปบุกเดี่ยวเลย เขาโมโหมากๆ ฟังแล้วเราก็กังวล ก็บอกเขาว่าระวังตัวนะพี่นะ ลูกเรายังเล็ก เขาก็บอกเขาก็รู้ตัวน่า ทำอะไรเขารู้ตัว เขาบอกเขาจะดูแลตัวเองให้ดีตลอด ตอนที่ลูกพี่เขาชวนไปเป็นการ์ด ก็ยังถามเขาว่า แล้วพี่จะไปเหรอ เขายังว่า บอกให้ลูกพี่เอาตังค์มาให้ลูกกับเมียใช้ก่อนสองแสนแล้วจะไป เพราะว่าถ้าไปแล้วจะไม่ค่อยได้กลับบ้าน”
หลังจากนั้นเพียงชั่วข้ามคืน ชีวิตของนิตยาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การรอคอยที่เคยจบลงคืนต่อคืน กลายเป็นสิ่งยาวนานไม่รู้จบ
“วันนั้นเขาออกจากบ้านไปตอนเช้า ประมาณเจ็ดโมงกว่า ก็อุ้มลูกลงไปด้วยเหมือนทุกวัน ปกติเขาจะไปขับรถออกมาจากซอย แล้วจะรอเราอยู่ปากซอย พอเก็บกวาดห้องเสร็จพี่ก็จะลงไปรับหนมตาล เขาก็หอมแก้มลูกแล้วก็ออกไป แต่ก่อนจะออกไปวันนั้น เห็นว่าเขาไปบ่นกับคนในห้องเช่าใกล้ๆ น้องสาวเขาว่าไม่รู้เป็นไร ห่วงลูกห่วงเมียจัง คนนั้นเขาก็ว่า จะห่วงทำไม ตัวเองก็อยู่ เขาก็ว่า เกิดเขาไม่อยู่ล่ะ เมียผมยิ่งทำอะไรไม่ค่อยเป็นอยู่ เขาไม่ให้พี่ทำอะไรเลย ให้เลี้ยงแต่ลูกอย่างเดียว เขารับผิดชอบหมด หน้าที่พี่ก็คือเลี้ยงลูกอย่างเดียว เป็นคนรักครอบครัวมากๆ”
นี่คือสิ่งที่นิตยาได้มารับรู้ทีหลัง ในวันที่อินแปลงเสียชีวิตแล้ว
“ปกติตอนบ่ายเขาจะมาแอบดูตรงบานเกร็ดห้องทุกวัน เพราะพี่เปิดบานเกร็ดเอาไว้กว้างๆ เขาจะมาแอบดูว่าเราเลี้ยงลูกดีรึเปล่า บางทีถ้าไม่ต้องรีบไปไหนเขาก็จะพาลูกไปเที่ยว วันนั้นเราก็รอ ก็ไม่เห็นเขามา” นิตยาย้อนเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น “น้องสาวเขาก็มานั่งเล่นอยู่ที่ห้องด้วย กำลังนอนเล่นกัน แล้วก็มีโทรศัพท์เข้ามาประมาณบ่ายสอง บอกว่าโทรมาจากโรงพยาบาล ถามหาญาติคุณอินแปลง พี่ก็บอกว่าพี่เป็นภรรยาเขา เขาบอกให้รีบมาที่โรงพยาบาลเดี๋ยวนี้ คุณอินแปลงประสบอุบัติเหตุ พี่ก็คิดว่าเขาขับรถเร็ว คงจะไปชนไปอะไร แล้วทีนี้พอขึ้นรถ แฟนพี่สาวเขาบอกว่า ไอ้นิด ทำใจดีๆ ไว้นะ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”
ช่วงเวลานั้นนิตยาไม่เข้าใจคำพูดของพี่เขย มารู้ทีหลังว่าเขาเห็นจากภาพข่าวในทีวีว่าแท็กซี่สีชมพูแบบเดียวกับของอิน แปลงขับเข้าไปจอดบริเวณนั้น พอคนขับลงรถ เดินอ้อมประตูมาก็ถูกยิงร่วงลง ทีแรกพี่เขยก็ไม่คิดว่าชายคนดังกล่าวจะเป็นน้องเมีย แต่เมื่อมีโทรศัพท์สายตรงมาจากโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท จึงมั่นใจว่าใช่
“พี่เขยเขาเห็นภาพช่องทีวีไทย ไล่เลี่ยกันกับตอนที่โรงพยาบาลโทรมา ตอนแรกเขายังไม่เล่าให้เราฟัง บอกแค่ว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดนะ เราก็บอก ไอ้นี่มาแช่งผัวกู เราไม่เชื่อ คิดว่ายังไงก็คงจะรถชนแหละ เพราะเขาเป็นคนค่อนข้างใจร้อน ขับรถเร็ว ทีนี้พอไปถึงโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท คุณหมอเขาก็มาถามว่า มาหาใคร พี่ก็บอกมาหาคุณอินแปลง เขาก็เดินมาโอบไหล่เลยนะ ก็รู้แล้ว เขาก็ถามว่าเป็นอะไรกับคุณอินแปลงครับ เราก็บอกเป็นภรรยา เขามาโอบไหล่เสร็จแล้วก็บอก นี่นะ พอมาถึงนี่ก็นะ เขาพูดแค่นี้ แล้วพี่ก็ทำอะไรไม่ถูก แต่ก็ยังหวังอยู่ หวังว่าจะได้คุยกับเขาอยู่ พี่สงสารเขามาก ตอนที่คนพาเขามาเล่าให้ฟังว่า เขาเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก เขายังไม่เสียชีวิตทันทีนะ”
นิตยารับรู้เหตุการณ์ในนาทีสุดท้ายของสามี จากคำบอกเล่าของแสงจันทร์ กาษา น้องสาวของอินแปลง ที่ได้คุยกับชายคนที่ขับรถพาอินแปลงไปส่งโรงพยาบาลว่า วันนั้นมีคนกลุ่มคนเสื้อแดงวิ่งข้ามฝั่งถนนมายังจุดที่สามีของนิตยาขับรถ เข้าไปจอด “เขาจะลงจากรถไปถามว่าวิ่งหนีอะไรมา พอลงจากรถแล้วเดินอ้อมมาก็โดนยิงเลย คนที่วิ่งมาก็มาพยุงเขาลุกขึ้น เขาก็ถามคนนั้นว่า พี่ขับรถเป็นมั้ย คนนั้นก็บอกเป็น งั้นช่วยพาผมไปโรงพยาบาลหน่อย เขายังพูดได้อยู่เลยนะ แต่ไปไม่ถึงโรงพยาบาล เขาบอก พี่...ผมเจ็บหน้าอก เขาคงจะเจ็บมากๆ แล้วตอนนั้นน่ะ แล้วก็เสียชีวิต ยังไม่ถึงโรงพยาบาลเลย” นิตยาน้ำตาไหล
“พอหมอพูดเสร็จพี่ก็เข้าไปดูเขาในห้อง เขาเหมือนคนนอนหลับ” นิตยาหยุดพูด พลางพยายามกลั้นสะอื้น ครู่หนึ่งจึงพูดต่อ “พี่ก็ได้แต่สัญญากับเขาว่าจะดูแลลูกให้ดี เขาจะเป็นห่วงลูกเขามาก บอกไม่ให้ดุให้ด่าไม่ให้ตีลูก เขาจะสั่งมาตลอดเลย จะสั่งทุกวันๆ ว่าอย่าดุลูก อย่าด่าลูก อย่าตีลูกเลยนะ”
ข่าวที่ออกมาคือ อินแปลง เทศวงษ์ ขับแท็กซี่ไปส่งผู้โดยสารแถวบ่อนไก่แล้วถูกยิง ขณะที่นิตยาได้ฟังข้อมูลอีกด้าน “มีคนเล่าให้ฟังว่าวันนั้นมีคนให้เขาไปดูลาดเลา เห็นว่าลูกพี่เขาสั่งให้ไปดูลาดเลาแถวบ่อนไก่ เขาไปคนเดียว แต่ตอนแรกเรายังพูดไม่ได้ เวลาใครถามว่าเขาได้ไปชุมนุมมั้ย เราก็ได้แต่บอกว่าไม่เคยไป เรายังพูดไม่ได้”
7
นิตยาอยู่กินกับอินแปลงมาตั้งแต่ปี 2547
“ตอนนี้น้ำหวานก็จะเจ็ดขวบแล้ว พออยู่ด้วยกันก็มีน้ำหวานเลย เราไปเจอกันที่กรุงเทพฯ ไปทำงาน เขาออกจากบ้านมาทำงานตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เป็นคนที่พึ่งพาตัวเองตลอด ขับรถสิบล้อ ขับทุกรถ เขาเป็นคนที่น่าสงสารนะ ครอบครัวเขาฐานะไม่ค่อยดี ก็เลยทำให้เขาดิ้นรนมาก พึ่งพาตัวเองมาตั้งแต่เด็ก พอเขามีครอบครัว มีพี่ มีลูก เขาก็ไม่ให้พี่ลำบาก ให้ดูแลแต่ลูก งานทุกอย่างเขารับเองหมดเลย อย่างมาทำนาเขาก็จะทำแบบไม่ได้กลัวเหนื่อยเลย ทำเต็มที่มาก คือทำเผื่อ เพราะว่าพี่ไม่ได้ทำ เขาต้องเป็นคนทำ เขาเคยบอกอยากให้ลูกเขาเรียนสูงๆ เรียนดีๆ เรียนโรงเรียนดีๆ จะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนเขา”
ระหว่างนั้นเด็กหญิงน้ำหวานกับเด็กชายขนมตาล วิ่งตามกันออกมาหาแม่ ขนมตาลร้องไห้จ้า เหมือนทะเลาะอะไรบางอย่างกับพี่สาว นิตยาบ่นว่าน้ำหวานชอบแกล้งน้อง พลางอุ้มขนมตาลขึ้นนั่งบนตัก แล้วบอกให้น้ำหวานเข้าไปอยู่กับตา น้ำหวานกระเง้ากระงอดงอแงอยู่พักหนึ่ง ก่อนเดินกลับเข้าไปในบ้าน นิตยาปลอบเด็กชายตัวป้อมบนตักจนหยุดร้องไห้ แล้วจึงค่อยเล่าต่อ
“ตอนเขาตาย อีกสี่วันหนมตาลจะครบสิบเดือน เขาเรียกพ่อแล้วนะ แต่ยังไม่เรียกแม่ เขาติดพ่อมาก เขาจะเรียกพ่อเขา อ้อ อ้อ พ่อตายเขาก็ยังไม่รู้เรื่อง ป้าเขาเอารูปไปขยายมา พอมองเห็นรูป เขาก็คว้าใหญ่เลย อ้อ อ้อ เรียกใหญ่ แล้วก็จับรูปมาพลิกท่าโน้นท่านี้ ทำไมพ่อไม่พูดด้วย พอไปที่บ้าน ไปงานศพที่บ้านปู่เขา เห็นรูปพ่อเขาตั้งอยู่ เขาก็เรียกอีก อ้อ อ้อ ชี้มือเรียก อ้อๆๆ ตอนยังอยู่พ่อเขาชอบพาไปขับรถ เวลานั่งรถไปเขาจะร้องนั่งตรงพวงมาลัย พอพ่อเขามาเสียไปก็แย่ทุกอย่าง ทั้งจิตใจ แย่ไปหมด เราก็ต้องกลับมาอยู่กับพ่อกับแม่ เวลาอยู่กับลูกกับใครก็ธรรมดา แต่เวลาที่เราต้องอยู่คนเดียว อย่างพี่อยู่ในครัว มันก็อดคิดขึ้นมาไม่ได้” ระหว่างนั้นขนมตาลจับภาพถ่ายสมัยยังมีชีวิตของอินแปลงมาถือไว้อย่างง่อนๆ แง่นๆ ในมือ แล้วเรียก “พ่อต๋อง พ่อต๋อง” อยู่หลายครั้ง นิตยายิ่งน้ำตาไหล
“เราเคยรอเขากลับบ้านทุกวันๆ แล้วอยู่ๆ เขาก็หายไป ไม่กลับมาอีกเลย ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่ รู้สึกว่าเรายังรอเขาอยู่ ตอนที่ลูกหัดพูดหัดเดินก็อยากจะบอกเขาว่า นี่ลูกพูดได้แล้วนะ เราก็อยากบอกเขาว่า พี่ลูกพูดได้แล้วนะ ลูกเดินแล้วนะ ลูกวิ่งแล้วนะ คือบอกทุกอย่างเลย ทำไมพี่ไม่โทรมาเลย บางทีเราเหมือนคนบ้า เรานั่งอยู่คนเดียว เหมือนกับรอโทรศัพท์เขาอยู่ ทำไมเขาไม่โทรมา เราจะได้เล่าให้เขาฟังว่าวันนี้ลูกเราทำอะไรมั่ง ลูกเราเดิน ลูกเราวิ่ง ลูกเราพูดว่าอะไร น้ำหวานเขาได้เต้นได้อะไรด้วยนะ วันเด็กวันครูเขาจะมีการแสดง อยากเล่าให้เขาฟัง ทุกวันนี้น้ำหวานน่ะ บางทีเขาก็จะร้องไห้คนเดียว บางทีก็บอกว่าคิดถึงพ่อต๋อง ลูกติดพ่อกันมาก ครบรอบที่เขาเสียหนึ่งปี พี่ยังโทรไปหาพ่อเค้า บอกพ่อ วันนี้แล้วนะ พี่ก็อดร้องไห้ไม่ได้” น้ำตานิตยาร่วงพรูลงมาอีก “เราอยากไปงานรำลึก แต่ก็ไปไม่ได้ ติดลูก เลี้ยงลูกคนเดียว ก็หนัก”
เมื่อถามถึงสิ่งที่ยังติดค้างอยู่ในใจ นิตยาว่า
“สำหรับคนที่เขาฆ่าสามีเรา พี่แช่งไปหมดแล้ว ตั้งแต่ช่องสามมาสัมภาษณ์วันที่ไปดูศพ ให้ตายตกไปตามสามีพี่ ให้มันล่มจมยิ่งกว่าอีก โกรธมาก เสียใจมาก ก็อย่างที่บอก เรารอเขากลับบ้านทุกๆ วัน ตอนนั้นมันคิดอะไรก็ไม่ออก กลับมาถึงห้อง มองไปตรงไหนเขาก็จะอยู่กับเราตรงนั้นตรงนี้ตลอด มันแย่มากๆ พวกพี่ๆ พวกญาติๆ โทรมาให้กำลังใจ บอกว่าเขาทำตามอุดมการณ์ของเขา เราต้องยอมรับนะ เราต้องยอมรับอุดมการณ์ของเขา เขาทำเพื่อความถูกต้อง เขาทำเพื่อประชาธิปไตย เราก็ยอมรับ แต่ก็คิดว่ามันไม่ยุติธรรม เขาผิดอะไร แค่เรียกร้องประชาธิปไตย ข้อเดียวเอง ขอให้มาจากประชาชน ทำไมต้องถึงกับฆ่ากันด้วย ไม่คิดว่าจะทำกันถึงขนาดนี้ บอกว่าเขาฆ่าคนเพื่อความสงบสุข แล้วจะมาถามหาความปรองดอง พี่ไม่เคยดูทีวีทุกวันนี้ สื่อมีแต่ของเขา”
เสียงของหม้ายประชาธิปไตยแห่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่วันนี้คราบน้ำยังไม่แห้ง
8
แสงจันทร์ กาษา วัย 32 ปี น้องสาวซึ่งเช่าห้องพักอยู่แฟลตเดียวกับอินแปลงและนิตยา และเป็นเจ้าของรถแท็กซี่ที่อินแปลงเช่าขับ เล่าให้ฟังทางโทรศัพท์ว่า เธอไม่รู้รายละเอียดมากนักว่าพี่ชายเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อ แดงตั้งแต่เมื่อไหร่ มารู้ก็ช่วงหลังๆ ที่พี่ชายไม่มีเงินมาจ่ายค่าเช่ารถให้เธอ
“ช่วงเดือนเมษา-พฤษภาคม ไม่ค่อยได้เงินให้ค่าเช่ารถเลย ไปขับรถทุกวันแต่ไม่ค่อยได้เงิน เราก็ไม่รู้ว่าเขาไป ได้แต่สงสัยว่าทำไมไม่ได้ตังค์มาให้ มีแต่ติดค่าเช่า เวลาบ่น เขาก็ว่า ก็มันหาไม่ได้” แสงจันทร์ว่าก่อนหน้านี้พี่ชายไม่เคยติดค้างค่าเช่ารถ แล้วทำไมเพิ่งมาหาไม่ได้ในช่วงนั้น
“คิดว่าเขาเริ่มไปประมาณวันที่เขาโปรยแก๊สน้ำตา เขาสงสาร เขาบ่นอยู่ว่าโปรยแก๊สน้ำตา คนแก่ก็โดน ไปล้างหน้าล้างตากันใหญ่ ตอนนั้นแหละ เขาว่าใครๆ ก็ไปร่วมชุมุม เขาก็เลยอยากไปช่วยเหลือกัน”
วันที่พี่ชายเสียชีวิต แสงจันทร์มานั่งคุยเล่นกับพี่สะใภ้ ระหว่างนั้นโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทโทรมาแจ้งว่าอินแปลงประสบอุบัติเหตุ จึงพากันไปที่โรงพยาบาล แสงจันทร์ได้คุยกับชายคนที่ขับรถพาอินแปลงมาส่งหมอ
“ผู้ชายคนนั้นเล่าให้ฟังว่า วันนั้นพี่ต๋องขับรถผ่านไปบ่อนไก่ ไปจอดใต้สะพาน แล้วก็เดินออกไปยืนคุยกับเพื่อนที่วิ่งหนีตายออกมา ตอนนั้นเขาส่งผู้โดยสารเสร็จแล้ว ผู้โดยสารลงไปแล้ว พี่ต๋องเขาก็เปิดประตูรถ จะลงไปถามว่าวิ่งหนีอะไร พอเดินอ้อมมาก็โดนยิงเลย”
ชายคนดังกล่าวเล่าอีกว่าเขากำลังยืนคุยกับเพื่อนอยู่บริเวณนั้น “พอเห็นพี่ต๋องถูกยิงเขาก็วิ่งไปช่วยพยุง พี่ต๋องก็ถามเขาว่า ขับรถเป็นมั้ย ช่วยพาเขาไปส่งโรงพยาบาลหน่อย เขาก็พาไป อยู่กลางทางยังไม่ถึงโรงพยาบาล เขาบอก พี่ขับรถเร็วๆ หน่อย ผมอยากไปถึงมือหมอ พี่คนนั้นเขาก็ว่า ผมก็ขับแร้งแรง แต่ไปไม่ได้ รถมันติด พี่ต๋องเขาก็ร้องไห้ น้ำตาไหล เขาว่าเขาสงสารลูกเขา ลูกเขายังเล็ก เขารู้ตัวว่าเขาไม่รอดแล้ว เขาบอก ผมคงไม่รอดแล้ว พี่คนนั้นเขาก็ว่า ผมก็ช่วยเต็มที่แล้ว ไม่ทันถึงโรงพยาบาลก็หมดก่อน”
“อินแปลง เทศวงษ์” จบชีวิตลงบนรถแท็กซี่ที่เขาใช้ทำมาหากินหล่อเลี้ยงชีวิตตนและทุกคนที่เขารักนั่นเอง
=======================
เชิงอรรถ
<1> วิภาวี จุฬามณี. ปากคำบ่อนไก่ ที่นี่ 15 ศพ.http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNVEF5TVRBMU5BPT0=§ionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE1TMHhNQzB3TWc9PQ==
<2>http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1273938570&grpid=03&catid=