ที่มา ประชาไท
(27 ก.พ.55) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการแถลงข่าวกรณีการให้ความช่วยเหลือประกันตัวเด็กไร้รัฐ 2 คนพร้อมด้วยแม่ของเด็ก และหญิงชาวเวียดนาม 1 คน ด้วยความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล
อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เช้าวันนี้ วัน หญิงชาวเวียดนามวัย 32 ปี พร้อมด้วยลูกชายวัย 11 ปี-ลูกสาววัย 13 ปีซึ่งถูกจัดเป็นคนไร้รัฐ และโรซิน หญิงเวียดนามวัย 27 ปี ได้รับการปล่อยตัวจากสถานกักกันตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพฯ ซอยสวนพลู หลังถูกจับกุมที่เชียงใหม่ และถูกกักอยู่ที่สถานกักกันนาน 1 ปี 6 เดือน โดยทั้งหมดได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินคนละ 50,000 บาท ด้วยเงินจากกองทุนเพื่ออิสรภาพของผู้ลี้ภัยและคนไร้สัญชาติของมูลนิธิเพื่อ คนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล โดยจากนี้ พวกเขาจะต้องรายงานตัวทุก 30 วัน และรอการพิจารณาของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อขอลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม
ทั้งนี้ ต่อข้อวิจารณ์ว่าไม่สามารถติดต่อ UNHCR ได้ในระหว่างถูกกักตัวนั้น อมรา ระบุว่าจะพยายามประสานงานกับ ตม. เพื่อขอให้พวกเขาเข้าถึงองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึง UNHCR เพื่อขอความช่วยเหลือด้วย
ระหว่างการประกันตัวนี้ เด็กทั้งสองคนจะได้รับทุนการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์แอนดรูส์ แอนนี ฮันเซน ผู้อำนวยการฝ่ายรับสมัครและการตลาดของโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์ ระบุว่า ระหว่างที่พวกเขายังอยู่ในประเทศไทย ก็จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษา
วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ระบุว่า จากนี้พวกเขาจะอยู่ในความดูแลของมูลนิธิ โดยจะมีทีมงานดูแลเรื่องความปลอดภัยและทำความเข้าใจกับตำรวจในพื้นที่และ หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วันและโรซิน กล่าวตรงกันว่า ต้องการความช่วยเหลือจาก UNHCR ในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัย เพื่อเดินทางไปยังประเทศที่สาม เนื่องจากไม่สามารถกลับไปบ้านได้อีก โดยโรซินเล่าถึงสาเหตุที่เธอต้องหนีเข้ามาที่ประเทศไทยว่า เป็นเพราะครอบครัวของเธอทำงานกับสหรัฐอเมริกา ช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้เธอเป็นที่จับตาของหน่วยงานความมั่นคง อีกทั้งเธอยังนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของรัฐบาล
เกศริน เตียวสกุล ผอ.กลุ่มงานตรวจสอบเรื่องร้องเรียน 1 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ กล่าวว่า สถานกักกันมีความเป็นอยู่ที่แออัดมาก ผู้ถูกกักตัวมีโอกาสเจอแสงแดดเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ บางครั้งได้ออกมาเจอแดดตอนเที่ยงซึ่งร้อนมาก โดยปัจจุบันมีเด็กในสถานกักกันราว 50 คน ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่า เด็กไม่ใช่อาชญากรรม แต่กลับถูกขังโดยไม่มีกำหนด ขณะนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ พยายามจะเจรจากับ ตม. เพื่อขอให้ย้ายเด็กเหล่านี้ไปอยู่ในสถานที่ควบคุมของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์แทน
วีรวิชญ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยจากพม่าราว 140,000 คนใน 9 ค่าย 4 จังหวัดคือ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และราชบุรี ขณะที่ในเมืองมีผู้ลี้ภัยเกือบ 3,000 คนจาก 30 ประเทศ อาทิ ศรีลังกา ปากีสถาน เกาหลีเหนือ คองโก โซมาเลีย แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยราว 900 คน ส่วนที่เหลืออีก 2,000 กว่าคนอยู่ระหว่างการพิจารณา
วีรวิชญ์ กล่าวด้วยว่า จากการที่ประเทศไทยยังไม่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาเรื่องผู้ลี้ภัยฉบับ ค.ศ. 1951 ทำให้การจัดการเรื่องผู้ลี้ภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีมาตรฐานทางกฎหมาย ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว จำนวนผู้หลบหนีเข้าเมืองลดลง เพราะมีกระบวนการทางกฎหมายและกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน มีเกณฑ์การพิจารณาที่โปร่งใสและเป็นธรรม ผู้ที่ต้องการลี้ภัยก็สามารถแสดงตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการได้ทันที
วีรวิชญ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐทำด้วยหลักมนุษยธรรมโดยไม่มีกรอบของกฎหมาย ที่ชัดเจน แต่การปล่อยตัวคนไร้รัฐครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีความพยายาม ทำให้การปล่อยตัวคนไร้รัฐเป็นไปโดยมีระบบและถูกต้องทั้งในทางปฏิบัติและตาม กฎหมาย โดยการปล่อยตัวครอบครัวดังกล่าวนี้เป็นโครงการนำร่อง ยังมีคนไร้รัฐที่ถูกกักตัวที่จะให้การช่วยเหลือต่อไปอีก