ที่มา Thai E-News
23 มกราคม 2555
โดย เรดด์ เลิฟ
การ กลับมามีบทบาททางการเมืองและ การสร้างพันธมิตรทางการเมืองของชาว "น้ำเงินแท้" กับนักการเมืองฝ่ายค้านเพิ่มการโจมตีคณะราษฎรมากขึ้น สำหรับบทบาทการรื้อสร้างการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของกลุ่มนักการเมืองฝ่ายนิยมระบอบเก่า ในช่วงปี ๒๔๙๑ นั้น ได้มีการรวบรวมบทความของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่รื้อสร้างความหมายของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และบทบาทของคณะราษฎรซึ่งเขียนลงในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย (ช่วงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๐) ในนาม "แมลงหวี่" เป็นเล่มชื่อเบื้องหลังประวัติศาสตร์ เล่ม ๑
"แมลง หวี่" ได้เริ่มต้น "รื้อ" การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ว่าเป็นการปฏิวัติที่ผู้ก่อการได้ใช้อำนาจเหนือกฎหมายเป็นขบถล้มอำนาจเจ้า ซึ่งคนไทยนั้นไม่พร้อม แต่สำหรับการ "ปฏิวัติ" ๒๔๙๐ นั้นที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติที่เป็นไปตามมติมหาชน เขาเห็นว่าตั้งแต่หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ มา "ประชาชนไทยได้ผ่านยุคทมิฬของคนพาลและยุคหินชาติของคนถ่อยที่สุดด้วย อภินิหารของสยามเทวาธิราช เราจึงได้ก้าวมาสู่ยุคแสงสว่างรำไร"
เขา ได้กล่าวย้ำถึงแนวคิดในเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อเปรียบเปรยถึงอิทธิพลทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์ฯ กับกรณีสวรรคตอย่างลึกลับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลว่า เหมือนกับอิทธิพลของคอมมิวนิสต์กำลังแพร่เข้าไปในประเทศกรีกเป็นผลให้ พระเจ้าแผ่นดินกรีกต้องสิ้นพระชนม์ลงด้วยพระอาการลึกลับเช่นกัน และเขาได้โจมตีหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์รัฐบาลของคณะรัฐประหารว่า เป็นพวก "เสียงท่าช้าง"
สำหรับการสร้างความหมายใหม่ให้กับระบอบเก่าในอดีต นั้น แมลงหวี่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องถ้าประชาชนไปเข้าใจว่า การปฏิวัติของคณะราษฎรนั้นนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ เพราะเขาเห็นว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว เขาเห็นว่า ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั้น คือรัฐธรรมนูญของไทย เป็นสิ่งมีสง่าราศีกว่าแมคนาคาตาของอังกฤษ เพราะมิได้มาจากการบังคับเช่นอังกฤษแต่มาจากความสมัครใจของกษัตริย์ไทย รวมความแล้ว เขาเห็นว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมาช้านาน และเป็นก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เสียอีก ดังนั้นการปฏิวัติ ๒๔๗๕ จึงเป็นการทำลายประชาธิปไตยแบบไทย ด้วยเหตุนี้เขาจึงเห็นว่าที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๐ นั้น มีลักษณะที่แปลก กล่าวคือ เป็นการขอพระราชทาน แต่แทนที่จะกำจัดตัดตอนพระราชอำนาจ กลับแสดงการถวายพระราชอำนาจคืนพระมหากษัตริย์
หลังจากวิพากษ์การ ปฏิวัติและคณะราษฎรแล้ว "แมลงหวี่" เปิดบทที่ชื่อว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดยได้ประเมินคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติของสิ่งที่คณะราษฎรทำกับพระ มหากรุณาธิคุณของกษัตริย์แต่ปางก่อนในประวัติศาสตร์ไทยที่เขาเชื่อว่ามี มากว่า ๖๐๐ ปีนั้น ว่ามิอาจเปรียบเทียบกันได้ หากจะเปรียบก็เป็นได้แค่เพียง "พระชั้นโสดากับพระอรหันต์" และเขาเห็นว่า "พระปกเกล้าทรงเป็นกษัตริย์ที่มีหัวใจเป็นนักประชาธิปไตย...เป็นผู้ที่ดำริ ริเริ่มที่จะให้สยามได้ก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง...ทรงมีพระราช ดำริที่พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทยมาก่อน...ด้วยหลักฐานเหล่านี้ จึงพอจะกล่าวยืนยันได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยเป็นประชาธิปไตยมาก่อนที่สยามจะได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ"
นอกจากนี้ "แมลงหวี่" ประเมินว่า ระบอบประชาธิปไตยไทยที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติของคณะราษฎรนั้นไม่เหมาะสมกับ เมืองไทย ดังนี้ "ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นการปกครองที่ถือเอาข้างมากแต่เสียง เท่านั้น เพราะการเอาโจร ๕๐๐ มาประชุมกับพระ ๕ องค์...ลงมติกันทีไร โจร ๕๐๐ เอาชนะพระได้ทุกที" ดังนั้นสำหรับเขาผู้ที่ไม่ยอมรับผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งของประชาชนตาม หลักเสียงข้างมากว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" แบบใดกันที่เขาต้องการ หรือเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่อภิสิทธิ์ชนมีบทบาททางการเมือง "แมลงหวี่" ได้เฉลยคำตอบว่า "ประชาธิปไตย" ในความหมายในใจของเขา คือ "การปกครองโดยเสียงข้างมากที่เรียกว่าประชาธิปไตยจะต้องไม่ถือเอาเกณฑ์เสียง ข้างมากเป็นสำคัญ" (!!?) สุดท้าย เขาได้ประกาศจุดยืนทางอุดมการณ์การเมืองว่า เขาเป็น "คนมีหัวใจประชาธิปไตย แต่มีหัวใจนิยมพระมหากษัตริย์"
สำหรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ใช้นิยายเรื่องสี่แผ่นดินในการรื้อฟื้นอดีต และเพื่อชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมของสังคมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เขาเริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐของเขาในช่วงปี ๒๔๙๔-๒๔๙๕ นิยายเรื่องนี้ ดำเนินเรื่องผ่านชีวิตของหญิงชนชั้นสูงผู้หนึ่งนามว่า "พลอย" ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความงดงามในช่วงระบอบเก่า เขาให้ภาพชีวิตเจ้านายที่น่าพิสมัย แต่พลันทุกอย่างก็มลายสิ้นเมื่อเกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕
ครอบ ครัวของพลอย ที่เคยสงบสุขก็เผชิญกับปัญหา เกิดความสับสนวุ่นวาย ความขัดแย้งในการเมือง เกิดสงคราม เกิดการพลัดพราก ความโศกาอาดูรในนิยายขนาดยาวเล่มนี้สร้างความซาบซึ้งอย่างมากต่อผู้อ่าน และหลายครั้งที่ผู้เขียนใช้ปากของ "พลอย" แสดงความคิดเห็นทางการเมืองแทนผู้เขียนในลักษณะที่ว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วทุกอย่างมีแต่เสื่อมลง ในท้ายที่สุด เรื่องปิดฉากลงเมื่อตัวละครเอกตายพร้อมกับการสูญเสียพระมหากษัตริย์ของไทย งานชิ้นนี้ของเขาได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายครั้งมาก ตลอดจนถูกนำไปผลิตซ้ำในรูปของละครโทรทัศน์หลายครั้งในการครอบงำความรู้สึก นึกคิดของผู้คนจวบกระทั่งปัจจุบัน