ที่มา thaifreenews
โดย bozo
เปิดใจหมดเปลือก "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ถึง (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ?):
ผมกำลังตอบแทนบุญคุณทุนอานันทมหิดล
สัมภาษณ์ : พันธวิศย์ เทพจันทร์
หลังจากที่ “นิติราษฎร์” แถลงการณ์เรื่อง การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 วันที่ 15 มกราคม 2555
จนไปถึงการออกแถลงการณ์ลบผลพวงที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร วันที่ 22 มกราคม 2555
แรงสะท้อนกลับจากข้อเสนอร้อนๆ รุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ
ฝ่ายที่เห็นด้วยก็มาก ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็โผล่ออกมาไม่น้อย
แต่ที่ดุเดือดแบบสุดๆ คือ
การปรากฎตัวของมวยรุ่นใหญ่อย่าง “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ดร. ปื๊ด ตั้งสเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“ผมว่าก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พวกคุณเสนอ
ควรแก้ข้อบังคับทุนอานันทมหิดล ให้ผู้รับทุนสาบานว่าจะไม่เนรคุณ
และไม่ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานทุนจะง่ายกว่าไหม
ข้อเสนอผมไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลย”
ครั้งหนึ่ง ดร.ปื๊ด เคยกล่าวยกย่อง ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ว่าเป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง
แต่วันนี้ ข้อหา"เนรคุณ"ดูจะกลายเป็นข้อหาฉกรรจ์ไปเสียแล้ว
ก่อนหน้านี้ มติชนออนไลน์ เคยถามคำถามทำนองเดียวกันนี้กับ “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” มาแล้ว
“สิ่งที่อาจารย์ทำอยู่นั้นไม่ขัดแย้งกับทุนที่อาจารย์เคยได้รับ
เพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศรึเปล่า”
ไปฟังคำตอบกันเลย...
-----------------------------------------
เหตุใดนิติราษฎร์จึงต้องพูดถึงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์
ในสังคมมากขึ้น
วันนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปเยอะ
แล้วการพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ค่อนข้างเสี่ยงในสังคมไทย
แต่ว่าวันนี้ไม่ว่ามองไปทางไหนก็ไม่เห็นพอมีใครที่จะหยิบจับเรื่องนี้
มาทำได้อย่างเป็นวิชาการ เป็นเหตุเป็นผล
ผมจึงตัดสินใจทำ และทำทุกอย่างด้วยความปรารถนาดีต่อสังคมไทย
ด้วยความหวังดีอย่างที่สุดต่อสถาบันฯ
ไม่มีความมุ่งหมายต่อการที่จะล้มล้างสถาบันฯ แต่อย่างใด
อีกอย่างหนึ่งคือคนที่กล่าวหาว่าล้มเจ้าหรือล้มล้างสถาบันฯ นั้น
ส่วนใหญ่ก็จะไม่ให้เหตุผลในการโต้แย้งสักเท่าไหร่
เรายืนยันตลอดมารวมถึงในร่างแก้ไขก็ชัดเจนว่า
เราอยู่ในรัฐที่เป็นราชอาณาจักร
เพียงแต่ต้องทำให้สถาบันฯ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย
พอมีคนที่ไม่สามารถใช้เหตุผลถกเถียงได้ ก็เบี่ยงประเด็นไปถามว่า
นิติราษฎร์ต้องการปกครองแบบไหน
ตอนไปรายการ “ตอบโจทย์” คุณภิญโญก็ถาม ผมว่าผมก็ตอบชัดว่า
นิติราษฎร์ยึดถือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่อยู่เป็นราชอาณาจักร
ผมก็สงสัยว่าคนที่ถามผมต้องการการปกครองในระบอบไหนครับ
ต้องการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างงั้นหรือ
ซึ่งถ้าเป็นระบอบนี้ เราจะไม่มีการยอมรับ เราจะสู้ไม่ยอมย้อนกลับไปในระบอบนั้นแล้ว
เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อสังคมเข้าสู่จุดแตกหักทางความคิด สถาบันฯ
ก็จะดำรงอยู่อย่างยากลำบาก ดังเช่น
ช่วงก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475
สุดท้ายการกลับไปในระบอบนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์จะทำการใดๆ
พระมหากษัตริย์จะทำการใดต่างๆ
ในทางกฎหมาย พระองค์ก็ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายนั้นด้วย
ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมือง เราอยากให้เป็นแบบนั้นหรือ
ระบอบที่เรารณรงค์อยู่ในตอนนี้เป็นระบอบที่สอดคล้องกับสากลที่สุด
อาจารย์รู้สึกอย่างไรที่มักโดนฝ่ายตรงข้ามถามว่า “ล้มเจ้ารึเปล่า”
เพราะอาจารย์เองก็เป็นคนไทย อีกทั้งยังพูดและคิดตามกรอบของกฎหมาย
ก็รู้สึกว่าบางทีคนก็ไม่เข้าใจ และก็ต้องอดทนในการอธิบาย
ซึ่งผมก็ใช้ความอดทนตลอดมาในระยะเวลาหลายปี
พยายามอธิบายให้สังคมได้รับฟัง
เราต้องเข้าใจว่าสังคมมันเปลี่ยนไปมากแล้ว มันไม่เหมือนเดิมแล้ว
คนที่ไม่เข้าใจในข้อเสนอของนิติราษฎร์คือ
ไม่เข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม
จะยึดจะเอาสังคมให้อยู่ในรูปแบบเดิมซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
แล้วผมห่วงเหลือเกินว่า
หากไม่มีการเปลี่ยนอะไรให้มันรับกับสภาพการณ์
มันจะเกิดการแตกหักแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา
หลังจากนั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่พึงปรารถนา
แล้วเราคาดไม่ถึงว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นมา
มีประวัติศาสตร์อยู่แล้วใช่ไหม
ที่เหตุการณ์แบบนี้ไม่มีความประนีประนอมกัน
ในประวัติศาสตร์โลกก็เป็นบทเรียนให้เราอยู่แล้ว
ทำไมเราต้องไปซ้ำรอยในที่อื่น
ทำไมเราไม่หาทางออกแล้วเปลี่ยนผ่านสังคมไปอย่างสันติ สถาบันฯ
ไหนต้องอยู่กับกฎหมายแบบไหน องค์กรไหนต้องอยู่กับกฎหมายแบบไหน
ผมเรียนแบบนี้ว่าคนที่พูดเรื่องนี้ต้องลดละประโยชน์ส่วนตัวไว้เสียก่อน
คนที่เคยได้ประโยชน์หลังการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา
กรุณาคิดและก็วางประโยชน์ส่วนตัวหน่อย
หลายคนก็ได้รับประโยชน์ไปมากแล้ว
เป็นประธานกรรมการ ดำรงตำแหน่ง ได้รับเงินมากมายแล้ว
นิติราษฎร์ไม่เคยได้รับประโยชน์อะไรจากสิ่งที่ได้นำเสนอออกไปแม้แต่บาทเดียว
เราทำด้วยใจ หลายคนในกลุ่มนิติราฎร์ก็ไม่ได้เป็นคนมีฐานะสูง
แต่ว่าเวลาจะทำอะไรเราก็ลงขันกันครับ
อาจจะครั้งละหนึ่งพันเพื่อทำกิจกรรม แผ่นพับและอื่น ๆ ในการจัดเวทีเสวนา
มีหลายคนจะบริจาคเงินให้กิจกรรมที่นิติราษฎร์ทำ
ผมไม่ต้องการเงินของใครทั้งสิ้น ไม่ใช่เพราะนิติราษฎร์มีเงิน
แต่เราต้องการให้เรื่องที่รณรงค์อยู่นั้นเป็นเรื่องที่บริสุทธิ์และเป็นเรื่องทางวิชาการจริงๆ
เมื่อต้องการจะให้สถาบันมีสถานะ
ที่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เหตุใดจึงเริ่มที่การขอยื่นแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเรื่องแรก
เป็นเพราะว่ากฎหมายอาญามาตรา 112
เป็นกฎหมายที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าเรื่องอื่น ๆ
ที่จะต้องพูดกันต่อไป
เวลานำออกมาบังคับใช้มันมีคนถูกจับ ถูกลิดรอนเสรีภาพ
ปัญหาสำคัญของมาตรานี้คือ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475
กฎหมายหมิ่นฯ เขียนว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
จึงเขียนว่า “หมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์”
แม้ถ้อยคำจะเขียนแบบเดียวกันเลย
แต่เวลาจะมาบังคับใช้นั้นจะตีความแบบเดียวกันไม่ได้
เพราะว่าอุดมการณ์ที่กำกับตัวบทกฎหมายนั้นอยู่คนละประเภทกัน
แต่ปัจจุบันการตีความกฎหมายหมิ่นฯ
ดูจะขัดแย้งกับระบอบการปกครองระบอบประธิปไตย
ซึ่งแบบนี้มันจะเกิดผลเสียเพราะมันไม่รับกับตัวระบอบ
กระแสสังคมส่วนหนึ่งบอกว่า
การที่นิติราษฎร์แยกกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากหมวดความมั่นคง
เท่ากับกำลังทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มั่นคงหรือไม่
ตัวบทกฎหมายเขียนชัดเจนว่า
คนที่กระทำความผิดก็ต้องได้รับโทษตามข้อกฎหมาย
ยังมีการคุ้มครองพระเกียรติของพระมหากษัตริย์อยู่
แล้วก็คุ้มครองเป็นพิเศษมากกว่าประชาชนทั่วไป
เพียงแต่เราทำให้สถานะของสถาบันฯ มีความเป็นสากลมากขึ้น
ตามประเทศที่มีประมุขของรัฐคือพระมหากษัตริย์
เวลาเราพูดว่าต้องรักษาความมั่นคงของสถาบันฯ ไว้
เราต้องหมายถึงการรักษาให้สง่างามตามมาตรฐานสากล
ไม่ใช่ว่าประเทศไทยพูดอย่าง แต่ต่างประเทศพูดอีกอย่าง
พูดถึงกลุ่มคนที่ต้องการให้บทลงโทษ
เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 มีโทษมากขึ้น
นักวิชาการด้านกฎหมายอีกฝ่ายบอกว่า
ถ้าต้องแก้ให้กฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากกฎหมายความมั่นคง
หรือยกเลิกไปเลยนั้น ก็จะต้องยกเลิกมาตรา 8 ของรธน.ด้วย
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาถกเถียงกัน
สังคมเข้าใจเรื่องมาตรา 8 ตาม รธน. ต่างกัน
เวลาเราทำความเข้าใจตัวบทกฎหมาย
ไม่ใช่เพียงแค่ตีความไปตามลายลักษณ์อักษรที่เขียนขึ้นมา
เพราะถ้าเป็นแบบนั้นใคร ๆ ก็ตีความตามความเข้าใจของตัวเองทั้งนั้น
ดังนั้นรธน.เป็นส่วนหนึ่งของระบอบการปกครอง
เราจึงต้องตีความระบอบการปกครองของเราด้วย
ด้วยเหตุนี้การแก้ไขม.112 จึงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับมาตรา 8
ในแง่ที่ว่า ความมุ่งหมายของมาตรานี้
ก็เพื่อเทิดองค์พระมหากษัตริย์ให้ทรงพ้นไปจากการเมือง
เพราะการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้ง
จะดึงพระมหากษัตริย์ลงมาไม่ได้
อีกกระแสหนึ่งบอกว่าเสนอให้ยกเลิกม.112 ไปเลย
อาจารย์ทำไมจึงไม่เสนอไปถึงขั้นนั้น
เราศึกษาเปรียบกฎหมายในหลายประเทศก็ยังมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐอยู่
แม้ประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีกฎหมายคุ้มครอง แต่หลายประเทศยังมี เราจึงอนุโลมไปตามนั้น
หลายครั้งเวลามีข้อเสนอจากนิติราษฎร์ปรากฎออกมาในหน้าสื่อสารมวลชน
ก็จะถูกเรียกว่า “นิติเรด” “แก๊งค์ลิงหลอกเจ้า”
ซึ่งทำให้คนที่ฟังข้อเสนอของเรามีภาพลบต่อสิ่งที่เราจะพูด
ในแง่นี้จะแก้ไขหรือโต้ตอบกลุ่มคนที่ให้ค่ากับนิติราษฎร์ไปในทางลบอย่างไร
มีนักวิชาการบอกว่านิติราษฎร์กำลังทำอะไรอยู่
แก้กฎหมายกลับไปกลับมา
ไม่รู้หรือว่า “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายจะต้องเงียบ”
ปืนไม่ได้ดังตลอดเวลามันแค่ดังอยู่ช่วงหนึ่งเท่านั้น
สังคมที่ถูกกดทับเอาไว้ เนียนบ้างไม่เนียนบ้าง
สักวันหนึ่งคนก็จะรู้ แล้วเขาก็จะค่อย ๆ ลุกขึ้นยืน
แน่นอนว่าการลุกขึ้นยืนมันต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด
เพราะฝ่ายที่ไม่อยากให้ลุกขึ้นยืนจะกดทับแล้ว
แต่เชื่อเถอะว่า
ไม่มีพลังไหนที่จะแข็งแกร่งไปกว่าพลังหรืออำนาจของประชาชน
แม้เสียงปืนจะดัง พลังของปืนจะรุนแรง
แต่สุดท้ายแม้ในประวัติศาสตร์โลกก็จารึกไว้ว่า
พลังของประชาชนนั้นแข็งแกร่งที่สุด
ไม่มีใครต้านทานกระแสความเปลี่ยนแปลงได้หรอก
สิ่งที่นิติราษฎร์กำลังทำอยู่
หวังผลประโยชน์จากพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่
สิ่งที่เราทำอยู่นั้นมาจากมโนสำนึกของเรา
ถ้าเราไม่ทำในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เรามองหน้าในกระจกไม่ได้
เท่ากับว่าเราเลือกไปในอีกข้างแล้วหากเราอยู่เฉยกับความอยุติธรรมในสังคมนี้
หลายคนที่เวลาเลือกแล้วมันมีความแตกต่างอย่างชัดเจนก็คือ
เวลาที่อีกฝ่ายเลือกเข้าได้ประโยชน์ เงิน ตำแหน่งต่าง ๆ
หลังจากที่เขาเลือกข้างไปแล้ว
แต่นิติราษฎร์เลือกไปยืนฝั่งตรงข้ามซึ่งเราไม่ได้อะไรเลย
เงินก็ไม่ได้รับ ตำแหน่งทางการเมืองหรือวิชาการก็ยังอยู่กับที่
นอกจากไม่ได้อะไรแล้วเรายังต้องเสียเงินเพื่อต้องการบรรลุในสิ่งที่เราทำ
ผมพูดตรง ๆ เปิดใจเลยนะ
ถ้าผมไปเชียร์รัฐประหาร ไปเป็นคนร่างรธน.หลังจากรัฐประหาร
ผมว่าผมคงได้อะไรมากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน
อาจจะได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือวิชาการมากมาย
แต่ที่ผมเลือกอยู่ข้างนี้ ผมไม่ได้อะไรเลย
นอกจากว่าความรู้สึกที่ว่าเราได้ทำตามหลักการ
ในสิ่งที่เราเรียนมาในเรื่องกฎหมายมหาชน รู้สึกได้ทำในสิ่งที่มันถูกต้อง
ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ
ผมรู้สึกสลดใจกับสังคมนะ ในขณะที่ข้างหนึ่งได้ประโยชน์เห็นจากการทำรัฐประหาร
ไม่มีสื่อไหนมาตรวจสอบ กลุ่มปัญญาชน นักวิชาการเงียบสนิท
ฝ่ายผมที่ไม่เคยได้อะไรเลย ทำไปจากอุดมการณ์กลับถูกกล่าวหา ป้ายสีอยู่ตลอดเวลา
ว่าทำเพื่อทักษิณ ทั้งชีวิตผมจนถึงตอนนี้ยังไม่เคยคุยกับทักษิณเลย
จะเล่นการเมืองไหม
ผมยังไม่อยากพูดอะไรที่มันต้องมัดตัวเองในอนาคต
แต่ใจผมจริง ๆ ไม่อยากเล่นการเมือง
คุณพ่อผมก็เตือนเสมอว่า ถ้าเป็นไปได้อย่าไปเล่นการเมืองเลย
เวลาเดินสวนกับอาจารย์ร่วมคณะ
ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับนิติราษฎร์ อาจารย์มีปฏิกิริยาอย่างไร
ถ้าคนที่คุยกันได้ก็คุยเรื่องดิน ฟ้า อากาศ ไม่ได้คุยกันเรื่องกฎหมาย
เพราะเรารู้ว่าแต่ละคนต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง
ผมเชื่อว่าทางเดินผมถูก เขาก็คงเชื่อว่าทางเดินของเขาก็ถูก
แต่ผมเชื่อว่าอาจารย์หลายคนในคณะนี้ที่รู้จักผมดี
แม้จะยืนฝั่งตรงข้ามกันแต่เขาก็จะยืนยันแทนผมได้ว่า
ผมเป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีอะไร ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองคนไหนเลย
เพราะกลุ่มอาจารย์ในคณะนี้ก็เห็นกันมาตลอด
ตั้งแต่ยังไม่มีกลุ่มนิติราษฎร์ด้วยซ้ำ รู้จักกันดี
แน่นอนว่าหลังจากมีกลุ่มนิติราษฎร์เกิดขึ้นมา
ความสัมพันธ์กับอาจารย์ที่คิดต่างจากเราก็จะลดน้อยลงไป
ส่วนอาจารย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ยืนตรงข้ามกับเรา
ในลักษณะที่ชวนหาเรื่องมากกว่าคุยกันด้วยเหตุผลก็จะบอกว่า
ไม่ควรใช้คำว่านิติหรืออ้างความเป็นอาจารย์นิติศาสตร์ มธ.
ผมอยากตอบว่า
ผมมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ถูกต้องตามกฎบังคับของมหาวิทยาลัยทุกข้อ
ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์
ถ้าลูกศิษย์มีจุดยืนทางการเมืองแบบหนึ่งที่ทั้งตรงกับเราและไม่ตรงกับเรา
ในฐานะอาจารย์ก็เป็นที่รู้จักในทางการเมือง อาจารย์จะสอนลูกศิษย์อย่างไร
ผมบอกลูกศิษย์เสมอว่า
เวลาจะเชื่อผมหรือเคารพคล้อยตามในเหตุผลของผมนั้นให้เชื่อเพราะเหตุผลของผมนั้นดี
ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นผมบอกจึงเชื่อ เราต้องเคารพในเหตุผลมากกว่าตัวบุคคล
ไม่ใช่ใครบอกอะไรมาก็เชื่อไปหมดเพราะเห็นว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน
อีกทั้งถ้าจะแย้งผมว่าผมพูดผิดตรงไหนก็สามารถทำได้แต่ต้องมีเหตุผลรองรับด้วยนะ
ไม่ใช่กล่าวหาลอย ๆ สำหรับนักศึกษาที่อาจจะมีความคิดไม่ค่อยตรงกับผมนั้น
โดยปกติวิชาที่ผมสอนบางครั้งในเทอมหนึ่งอาจจะมีอาจารย์ผู้สอน 2 คน
ใครไม่ชอบหลักการของผมก็สามารถไปเรียนกับอีกคนหนึ่งได้
หรือถ้าปีไหนไม่มีอาจารย์ผู้สอนอีกคน ผมก็จะเปิดวิชานี้ไว้แค่เทอมหนึ่ง
แล้วเทอมสองก็ให้คนที่ไม่อยากเรียนกับผมไปเรียนช่วงเทอมสอง คือ
ผมพยายามที่จะไม่ผูกขาดวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นผู้สอนคนเดียว
ผมจะพยายามให้มีผู้สอนที่หลากหลายในวิชาที่ผมสอนอยู่
ให้นักศึกษามีสิทธิเลือกอาจารย์ที่อยากเรียน
ในอีกแง่หนึ่งที่เรานำเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์จากฝ่ายตรงข้าม
เคยโดนขู่ไหมครับ แล้วถ้าเคยรู้สึกกลัวไหม
ก็มีเขียนจดหมายมาด่า มีมาขู่บ้าง
ในความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา
ผมเป็นนักวิชาการตัวเล็ก ๆ คงไม่สามารถจ้างบอดี้การ์ดมาคุ้มครองได้
แต่เหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ผมไม่ทำอะไรเลย คนเราเกิดมาตายครั้งเดียว
เพียงแต่ชีวิตหนึ่งผมอยากทำสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ให้ผลประโยชน์แก่เพื่อนร่วมชาติ
สุดท้ายอาจารย์เป็นนักกฎหมาย
ที่จบจากเยอรมันด้วยทุนอานันทมหิดล
หลายคนบอกว่าสิ่งที่อาจารย์ทำอยู่นั้นขัดแย้งกับทุน
ที่อาจารย์เคยได้รับเพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศรึเปล่า
เพราะผมเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลนี่แหละครับ
ผมจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว
สิ่งที่ผมทำอยู่คือการตอบแทน กตัญญูต่อผู้ที่ให้ทุนอานันทมหิดลแก่ผม
ที่ผมทำทุกอย่างก็เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ผมไม่รู้ว่านักเรียนคนอื่น ๆ ที่ได้ทุนนี้มีจินตนาการเรื่องนี้อย่างไร
แต่สำหรับผมแล้ว
สิ่งที่ผมทำก็เพื่อความดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป
ผมชัดเจนเสมอว่าผมต้องการรัฐธรรมนูญในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327323116&grpid=01&catid=&subcatid=