ที่มา ประชาไท
“หม่อมปลื้ม” วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของพรรคเดโมแครตทั้งสองประเทศ เน้นสร้างความเกลียดชังกับคนที่มีฐานะดี และเพิ่มช่องว่างในความเกลียดชังอิจฉาริษยาคนจนที่มีต่อคนรวย ทิ้งท้ายตั้งข้อสงสัยทำไมถึงเป็นแบบนั้น
27 ม.ค. 55 - ในรายการ The Daily Dose ประจำวันที่ 27 ม.ค. 55 ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแถลงประจำปีต่อรัฐสภาของ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barack Obama) ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เห็นว่าเป็นการปลุกกระแสต่อต้านคนรวย โดยโอบามาพูดถึงความพยายามที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น โดยที่มีนโยบายเศรษฐกิจที่สะท้อนระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีความเป็นธรรม สำหรับคนยากคนจน ลดช่องว่างของคนที่มีรายได้สูงกับคนที่มีรายได้ต่ำ
ม.ล.ณัฏฐกรณ์กล่าวว่านี่เป็นสิ่งที่โอบามาพูดเพื่อให้คนนั้นคิดถึงตัวแทน ของพรรครีพับบลิกัน (พรรคคู่แข่ง) ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยโอบามานั้นเริ่มที่จะค่อยๆ ใช้ประเด็นของการที่คนจนนั้นควรที่จะได้รับสิทธิพิเศษในการได้ส่วนแบ่งใน ภาษีของคนร่ำรวย พยายามที่จะเสนอวาระแบบนี้ในการแถลงต่อสภา กอปรกับมีสื่อโฆษณาบางชิ้นที่ออกมาเผยแพร่ในช่วงนี้ ก็มีจุดประสงค์ที่ต้องการลดความชอบธรรมของว่าที่คู่ท้าชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดีจากพรรครีพับบลิกันคือ มิต รอมนีย์ (Mitt Romney)
ซึ่งรอมนีย์นั้นก็เป็นเศรษฐี ซึ่งมีข่าวว่าเขามีเงินเก็บมากกว่า 300 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และฐานะที่ร่ำรวยของรอมนีย์กำลังกลายมาเป็นปัญหาสำหรับตัวเขาเอง โดยโฆษณา Rich Kids for Romney (เริ่มเผยแพร่ใน http://www.huffingtonpost.com) ที่ล้อเลียนเขานั้น ซึ่ง ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ระบุว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าฝ่ายไหนเป็นคนผลิตโฆษณาชิ้นนี้ขึ้นมา ได้ล้อ เลียนว่าคนที่เป็นลูกคนร่ำคนรวยเท่านั้นถึงจะสนับสนุนรอมนีย์ให้เป็น ประธานาธิบดี ทั้งนี้การจุดกระแสแบบนี้มันอาจจะมีผลในช่วงที่คนอเมริกัน 9% ไม่มีงานทำ และมีกระแสการต่อต้านวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street)
แต่ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ วิเคราะห์สรุปว่าท้ายที่สุดนี่ก็คือเกมส์การเมือง เกมส์การเมืองของพรรคเดโมแครตเหมือนเดิม และเสริมว่านี่คล้ายเกมส์การเมืองของพรรคเดโมแครตทั้ง 2 ประเทศ (เปรียบเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ในบ้านเรา) คือพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโอบามาอาจจะดีกว่าพรรคเดโมแครตของประเทศไทย (พรรคประชาธิปัตย์) ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ดีไม่มากนัก คือยุทธการณ์โดยรวมก็คือการสร้างความเกลียดชัง กับคนที่มีฐานะดี และเพิ่มช่องว่างในความเกลียดชังอิจฉาริษยาคนจนที่มีต่อคนรวยนั้น มันเป็นยุทธการของพรรคเดโมแครตทั้งสองประเทศ โดยที่สหรัฐฯ นั้นใช้ความเข้มข้นยิ่งกว่าบ้านเราอีก
และ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ได้ทิ้งท้ายให้ผู้ชมรายการไปคิดต่อว่าทำไมยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองทั้งสองประเทศที่มีชื่อเหมือนกันจึงเป็นแบบนี้อ่านเพิ่มเติม :
"หม่อมปลื้ม" เทียบขบวนการ "Occupy Wall St." ที่สหรัฐฯ คือ "พันธมิตรฯ" บ้านเรา (ประชาไท, 22 ต.ค. 54)