ที่มา ประชาไท หนังสือพิมพ์บางฉบับจับเอาวันที่ 26 มาบวกกับ GT200 ก็ตลกดี จะว่าไม่เกี่ยวกันก็ไม่เชิง แต่จะเกี่ยวเสียทีเดียวก็ไม่ใช่ เข้าใจว่าคนที่โยงคงโยงให้เข้ากับข่าวรัฐประหาร แต่มองอีกมุมหนึ่งมันก็คือความพยายามจัดการกับ “ระบอบทักษิณ” ในขณะที่ “ระบอบไม่เอาทักษิณ” ก็กำลังปั่นป่วนจะเอาตัวไม่รอด ผมดูข่าวกองทัพระดมทหารมานั่งเต็มจอ แล้วอดหัวเราะไม่ได้ เพราะคุณปลื้มเปรียบว่า บรรยากาศย้อนยุคเหมือนสมัย คมช.ยึดอำนาจ ที่จริงก็น่าคิดนะครับว่าข้าราชการหน่วยอื่นมีสิทธิใช้ทีวีปกป้องตัวเองอย่างนี้หรือเปล่า ที่น่าคิดยิ่งกว่าคือ ทหารปกป้อง GT 200 เพราะกลัวข้อหาคอรัปชั่น หรือกลัวข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมไม่เชื่อว่าทหารจะเดือดร้อน ถ้าถูกสอบสวนเรื่องการซื้อเครื่อง เพราะงบประมาณไม่กี่ร้อยล้านเป็นเรื่องขี้หมาสำหรับคนในรั้วสีเขียว แต่ถ้ายอมรับว่า GT 200 เป็นแค่กล่องเซียมซีอย่างเสธ.แดงเรียก เรื่องมันก็โกโซบิ๊ก เพราะในภาคใต้ ทหารเอา “กล่องเซียมซี” ไปเที่ยวชี้ๆ ชาวบ้าน หาอะไรไม่เจอ ก็ยังใช้กฎอัยการศึกกับ พรก.ฉุกเฉิน เอาตัวเขาไปควบคุมฟรีๆ ได้ตั้งนาน ถ้าถูกเช็กบิลย้อนหลัง ถูกทวงถามความยุติธรรม หรืออาจถูกฟ้องร้อง มันจะยุ่งขนาดไหนลองคิดดู เพราะภาพที่มองย้อนไป กระบวนการยุติธรรมที่ใช้แก้ปัญหาภาคใต้ มันจะกลายเป็น “ความยุติธรรมในกล่องเซียมซี” คุณเอากล่อง “ไฟฟ้าสถิต” ไปชี้ตัวคน แล้วใช้กฎอัยการศึกกับ พรก.ฉุกเฉิน เอาเขามาควบคุมเป็นผู้ต้องสงสัย โดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา ไม่ต้องขอหมายศาล เพียงเพราะ “เชื่อได้ว่า” มันเป็นโจร แล้วอย่างนี้ ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ที่คน 3 จังหวัดมีน้อยอยู่แล้ว จะหลงเหลืออยู่สักแค่ไหน ย้อนขึ้นมาดูวันที่ 26 ก็คือเรื่องของความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะการที่เกิดความวิตกกังวลล่วงหน้าว่าจะเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง การต่อสู้ขั้นแตกหัก สงครามกลางเมือง ฯลฯ ทั้งที่ความจริงยังไม่มีใครรู้เลยว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ริบ ? ไม่ริบ ? ริบบางส่วน ? มันแปลว่าความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมตกต่ำ จนเกือบจะถึงขีดสุด (หรือถึงไปแล้วก็ไม่ทราบ) โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของตุลาการ 9 คนในคดีนี้ เพราะถ้าสังคมส่วนใหญ่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม หรือต่อให้มีแค่ทักษิณกับพวกเสื้อแดงที่ไม่เชื่อมั่น แต่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่น คุณจะต้องไปวิตกกังวลอะไร้ พูดอีกอย่าง ตุลาการทั้ง 9 ก็น่าเห็นใจ เพราะต้องแบกรับภาระที่มองไม่เห็น ที่เกิดจากความอยุติธรรม 2 มาตรฐาน ตลอด 4 ปี มากดทับอยู่บนบ่า สมมติคำวินิจฉัยกระทบความรู้สึกผู้คน ไม่ต้องมากหรอก นิดเดียวเท่านั้น ก็อาจเหมือนจุดไม้ขีดลนแก้วน้ำที่ร้อนอยู่แล้ว 99 องศา จะออกหัวออกก้อย จะกินหัวกินหางหรือกินกลางตลอดตัว ไปทางไหนก็จะมีคนไม่พอใจทั้งนั้น ปลายสัปดาห์ก่อนอ่านข้อเขียนของคอลัมนิสต์ที่ผมเคารพ ท่านดูอัยการ คตส. และ สว.พธม.ชี้แจงข้างเดียว (ในรายการของสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ – อุบาทว์ที่สุดก็ตรงนี้แหละ อ.สัญญาท่านเป็นปูชนียบุคคลเป็นที่ยกย่องในความเที่ยงธรรม แต่สถาบันนี้มาจัดรายการกล่าวหาข้างเดียว) ท่านดูแล้วบอกว่าท่านเชื่อมั่นในคำวินิจฉัยของศาล ไม่ว่าจะออกมาอย่างไรก็ตาม ท่านเชื่อว่านับแต่นี้สังคมไทยจะ “ตั้งลำ” และเดินไปข้างหน้า บังเอิ๊ญว่าคอมพ์ผมเสีย และใช้แลบทอปไม่คล่อง (เลยได้แต่อัดอั้นไม่ได้เขียนลงประชาไทยมาหลายวัน) แต่ก็เก็บประเด็นนี้ไว้คาใจ และขอเอามาพูดล่วงหน้า 7 วัน ไม่ว่าอะไรจะเกิด กาลครั้งหนึ่งไม่นานเท่าไหร่ น่าจะหลังรัฐประหารใหม่ๆ ผมเคยสัมภาษณ์พี่พิภพ ธงไชย พี่เปี๊ยกบอกว่าอยากเห็นทักษิณขึ้นศาล และได้รับการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม ขอให้มีการพิจารณาคดีเพื่อให้เป็นแบบอย่าง เหมือนกับที่อเมริกาเขาเอานิกสันขึ้นศาล เหมือนที่เกาหลีเขาลงโทษชุนดูฮวานกับโรห์แตวู เหมือนที่ฟิลิปปินส์ อินโด มาร์กอส ซูฮาร์โต หรือประธานาธิบดีไต้หวัน ความคิดนี้ถูกต้องนะครับ ผมเห็นด้วยในหลักการ เพราะสังคมอุปถัมภ์แบบไทยๆ ชอบจัดการปัญหาด้วยวิธีการนอกระบบ ไม่เคยสะสางให้กระจ่างด้วยกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ยุคถนอม ประภาส 14 ตุลา 6 ตุลา มาจนพฤษภาทมิฬ หรือย้อนไปก่อนนั้น เช่นยุคอัศวินผยอง กบฎแมนฮัตตัน ทหาร นักการเมือง ผู้มีอำนาจ ทำผิดแล้วลอยนวลกันหมด แม้ถนอม ประภาส ถูกยึดทรัพย์ แต่ก็ไม่เคยมีการสะสางว่าใครฆ่าประชาชนเมื่อ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 ขณะที่อเมริกา เกาหลี เขาลงโทษนิกสัน ชุนดูฮวาน โรห์แตวู แล้วนิรโทษกรรมก็จริง แต่นั่นคือชี้ถูกชี้ผิดด้วยกระบวนการยุติธรรมแล้วค่อยนิรโทษ ไม่ใช่นิรโทษแบบซุกไว้ใต้พรม ความเป็นสังคมที่ไม่เคยแยกแยะถูกผิดให้กระจ่าง หยวนๆ ยอมๆ เลิกแล้วต่อกัน ทำให้วัฒนธรรมของสังคมไทย ตั้งแต่ระดับบนลงมาถึงข้างถนน มันกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฉี่ไม่สุด สังคมไทยไม่ได้อยู่ด้วยกฎกติกา ไม่ได้อยู่ด้วยความเชื่อมั่นในความเป็นธรรม ความยุติธรรม ที่เป็นไปตามระบบ แต่อยู่ด้วยความเชื่อในธรรมาภิบาลนอกระบบ ตั้งแต่ 14 ตุลามาถึงวันนี้ เมืองไทยเราล้มรัฐบาลมาแล้วกี่ครั้ง ไม่ว่าม็อบ รัฐประหาร หรือสังคมกดดัน แต่พอได้คนใหม่ก็จบ เรื่องที่แล้วมาก็แล้วกันไป แต่ถ้าเทียบกับเกาหลี ชุนดูฮวานกับโรห์แตวูเข่นฆ่าประชาชนที่เมืองกวางจูในปี 2523 ทั้งคู่ครองอำนาจนาน 13 ปี แต่ก็ยังถูกนำตัวขึ้นศาลจนได้ในปี 2539 ตัดสินประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต แม้ต่อมาจะได้นิรโทษกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนเกาหลีใต้คือ ความเชื่อมั่นว่าคนทำผิดจะได้รับการตัดสินลงโทษ เรื่องแบบนี้เคยมีไหมในประเทศไทย อย่าแปลกใจว่าทำไมเกาหลีเขาไปไกลกว่าเราลิบ สังคมไทยจึงต้องสถาปนาความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรม และได้รับการตัดสินอย่างยุติธรรม ไม่ว่ายากดีมีจน สูงส่ง ร่ำรวย เรืองอำนาจ ทำผิดแล้วต้องรับโทษ ไม่เช่นนั้น สังคมไทยก็จะสิ้นหวัง เราจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เราจะล่มจมจากการคอรัปชั่น เล่นเส้นสาย พวกพ้อง แสวงประโยชน์โดยเชื่อว่าตนเองจะไม่ถูกลงโทษ ขณะที่คนอื่นๆ ก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ธุระไม่ใช่ คนไทยรักสงบ อย่าเอาไม้สั้นไปรันขี้ ฉะนั้นที่พี่เปี๊ยกพูดจึงถูกต้องในหลักการ ถ้าสามารถเอาทักษิณ ซึ่งเป็นที่สุดแห่งผู้ที่มีทั้งเงินและอำนาจ ขึ้นศาลตัดสินลงโทษอย่าง “ยุติธรรม” มันก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะสถาปนาความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมศักดิ์สิทธิ์ ใครจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถลอยนวล แล้วหลังจากนั้น สังคมไทยก็จะ “ตั้งลำ” เดินไปสู่ความก้าวหน้า แต่.... เสียใจที่ต้องบอกว่าแต่ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันกลายเป็นตรงกันข้าม นั่นคือแทนที่นี่จะเป็นโอกาสของการสถาปนาความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม มันกลับกลายเป็นทำลายความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ที่ก่อนหน้านี้ก็มีน้อยอยู่แล้ว ให้น้อยลงไปอีก กระทั่งกลายเป็นวิกฤติ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันกลายเป็นความทับซ้อน ระหว่างการต่อสู้เอาชนะทางการเมือง กับการแยกแยะความถูกผิดอย่างยุติธรรม เทพเทือกยืนยันว่าศาลไทยมีมาตรฐานสูงที่สุดในโลก แต่ถามว่าจะอธิบายอย่างไรกับการที่เกิดรัฐประหารแล้วตุลาการกระโดดข้ามรั้วออกมาร่วมใช้อำนาจ ร่วมสืบทอดอำนาจ กับทหาร โดดข้ามรั้วมาเป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดกระทรวง เป็นอธิบดี เป็น สนช. เป็น สสร. (บ้างก็ควบ) มีบทบาทร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดอำนาจสรรหาวุฒิสมาชิกและองค์กรอิสระมาไว้ที่ตุลาการ แม้แต่การตั้ง คตส. สิ่งสำคัญยิ่งกว่าข้อหาเอาคนที่เป็นศัตรูทักษิณมาเป็น คตส. ก็คือ การเอาบุคลากรในสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินคดี มาทำหน้าที่ผู้กล่าวหา เสร็จสรรพแล้วบางรายยังเหาะกลับไปอยู่ในสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินอีก เหล่านี้คือการ “ข้ามเส้น” ที่บุรพตุลาการไม่เคยทำ เพราะเขารู้ว่ามันจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการพิพากษาคดีที่ตามมา ความยุติธรรมมีอยู่ในสามัญสำนึกของทุกคนโดยพื้นฐาน ตุลาการหรือนักกฎหมายเพียงแต่เรียบเรียงลำดับเหตุผล แสดงให้เห็นพร้อมพยานหลักฐาน ฉะนั้นใช่ว่าคำวินิจฉัยที่ขัดต่อเหตุผล จะสามารถเป็นที่ยอมรับ เพียงอ้างอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ปิดปากห้ามวิจารณ์ เหมือนเช่นการตัดสินยุบพรรคแล้วตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค โดยใช้ประกาศคณะรัฐประหารมีผลย้อนหลัง คุณอธิบายอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ผู้คนยอมรับว่านี่คือความยุติธรรม ผมไม่เคยปฏิเสธว่าทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่มันก็เป็นอะไรที่จับได้ไล่ทันไม่ง่าย และต้องยอมรับว่าบางอย่างเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรม แต่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถเอาผิดทางกฎหมาย ความพยายามที่จะเอาผิด จึงกลายเป็นสิ่งที่อธิบายเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ เช่น ไม่ทุจริต แต่ติดคุก หนำซ้ำ คำวินิจฉัยยังออกมา 5-4 กลายเป็นใช้ความเห็นต่างทางกฎหมายมาวินิจฉัย เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ทุจริต แต่ติดคุกด้วยมติ 5-4 ที่ตีความมาตรา 100 กฎหมาย ปปช. ต่างกัน มันจึงมีคำถามว่า สมมติเขย่าๆ เลือกองค์คณะใหม่ มติก็อาจจะเป็น 6-3, 7-2 หรือแม้แต่ 4-5, 3-6 เพียงแต่จำเลยไม่มีสิทธิขอวัดดวงใหม่ เพราะกระบวนการเบ็ดเสร็จแค่ศาลเดียว มันจะต่างโดยสิ้นเชิงหากสามารถหาพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าทักษิณทุจริตแบบมาร์กอส ซูฮาร์โต แบบนั้นต่างหากจึงจะสามารถสถาปนาความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แต่บังเอิ๊ญ ทักษิณนอกจากจะจับได้ไล่ทันยากส์แล้ว มันยังไม่ได้มาจากเผด็จการแบบชุนดูฮวาน หรือโรห์แตวู แต่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 19 ล้านคน แล้วก็ถูกโค่นด้วยรถถัง ผมเชื่อว่าถึงวันนี้ พี่เปี๊ยกก็คงรู้แก่ใจดีแล้วว่า ความหวังที่จะสถาปนาความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม มันล่มสลายโดยสิ้นเชิง และกลับตาลปัตรเป็นความยิ่งไม่เชื่อมั่น เหลือแต่ความหวังที่จะเอาชนะทางการเมือง โดยที่ความเชื่อมั่นต่อระบบ หลักการ และอำนาจทั้ง 3 ฝ่าย สูญสลาย ไม่ว่าคำวินิจฉัยวันที่ 26 นี้จะออกมาอย่างไร ความเชื่อมั่นมันก็สูญสลายไปก่อนหน้าแล้วครับ และไม่มีทางที่สังคมไทยจะ“ตั้งลำ” แต่มันอาจจะกลายเป็นการ “ขึ้นลำ” ต่อให้สมมติว่าศาลยก ไม่ยึดทรัพย์แม้แต่สตางค์แดงเดียว คุณคิดหรือว่าสังคมไทยจะกลับไปสู่ความสงบ สันติ สมานฉันท์ ม็อบเสื้อแดงเลิก กลับบ้านใครบ้านมัน ไม่มีทาง แกนนำเสื้อแดงบางรายบอกด้วยซ้ำว่า ไม่ว่าออกหัวออกก้อยดีทั้งนั้น สมมติยึด มวลชนก็เดือดระอุ สมมติไม่ยึด มวลชนยิ่งเฮได้กำลังใจ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเลยเวลาที่จะเรียกร้องให้ “คนไทยรักสงบ” ยอมสยบให้กับความอยุติธรรมที่เห็นตำตา ยอมรับอำนาจที่เหนือกว่า ก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน เศรษฐกิจกำลังจะดี ฯลฯ แบบที่พยายามจะท่องคาถากัน ต่อให้มันเป็นอย่างนั้นได้ สังคมไทยก็จะ “สามานย์” ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ที่เคยสิ้นหวัง ไม่มีความเชื่อมั่นในความเป็นธรรม ความยุติธรรม เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะครั้งนี้ “สองมาตรฐาน” มันชัดเจนยิ่งกว่าครั้งไหนๆ คุณจะ “ตั้งลำ” นำสังคมไปสู่ความมีจริยธรรม เป็นธรรม ได้อย่างไร ในเมื่อเห็นกันโต้งๆว่าใครมีอำนาจ ผู้นั้นเป็นผู้กำหนดถูกผิด ใครสวามิภักดิ์ผู้มีอำนาจ ผู้นั้นได้ดี อย่างเนรวิน หรือเนติบริกร คุณมีแต่จะสร้างสังคมที่ทรามกว่านี้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะคนรุ่นต่อไปจะสอนลูกสอนหลานให้เอาเยี่ยงอย่าง ว่าใครมีอำนาจก็เกาะคนนั้น พอมันหมดอำนาจก็โดดไปเกาะหลังคนใหม่ ให้รู้จักลู่ตามลม ถึงจะเอาตัวรอด (ถ้ารักจะเป็นยักษ์ใหญ่ก็ต้องเอาอย่างซีพี มีเขยเป็นรัฐมนตรีได้ทุกรัฐบาล) มันจะมีสักกี่คน ที่สอนลูกสอนหลานให้เอาอย่างพี่เปี๊ยก ที่ไม่ได้อะไรกับใครเขา ขณะที่มองซ้ายมองขวาก็เห็นหาผลประโยชน์กันครึกครื้น เตะหมูเข้าปากหมา แถมยังถูกด่าเปล่าๆ คนที่เป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ ต่อไปก็ต้องเอาเยี่ยงอย่างนิติไกรพจน์ จึงจะประสบความสำเร็จ มีหน้ามีตา เป็นที่ยอมรับนับถือ คนที่เป็นสื่อ คุณก็ต้องเอาอย่างสนธิ ลิ้ม รายการเมืองไทยรายสัปดาห์เชียร์ทักษิณอยู่แหม็บๆ อ้าว เผลอแผล็บเดียวกลายเป็นศาสดาเสื้อเหลืองไปซะแล้ว ใครๆ ก็แกล้งลืมด้วย ผมยังยืนยันว่าสังคมไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “ตั้งลำ” สถาปนาความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง ความเชื่อมั่นในหลักการกติกา ของระบอบเสรีประชาธิปไตย มากกว่าการเอาชนะกันทางการเมือง ไม่ว่าข้างไหน เพราะไม่เช่นนั้น เราจะเป็นสังคมที่สิ้นหวังยิ่งกว่าที่แล้วๆ มา เน่าเฟะ หมดอนาคต และทำใจได้เลยว่า อยู่อย่างเอาตัวรอดไปเสียดีกว่า เพียงแต่ถ้าการสถาปนาความยุติธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระบบที่เป็นอยู่ มันก็จำเป็นต้องต่อสู้ เพื่อทำลายอำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบขุนนาง ให้เกิดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากความเชื่อมั่นในความถูกต้องเที่ยงธรรม ตรวจสอบ วิจารณ์ได้ และมีที่มายึดโยงกับประชาชน ถ้าย้อนกลับไปคิดถึงตอนที่คุยกับพี่เปี๊ยก ผมเชื่อว่าสิ่งที่พี่เปี๊ยกต้องการเห็นก็คือความยุติธรรม-การสถาปนาความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่เพราะความโกรธเกลียดทักษิณเป็นส่วนตัว ไม่ใช่เพราะทักษิณไปเข่นฆ่าญาติโกโหติกาพี่เปี๊ยกมาแต่ชาติปางก่อน ฉันใดก็ฉันนั้น ทักษิณไม่ใช่ญาติโกโหติกาผม จะเหลือเงิน 7.6 หมื่นล้านหรือกะลาใบเดียวก็ช่างหัวมันปะไร ยังไงก็ไม่เกี่ยวกับผม เพียงแต่ผมอยากเห็นความยุติธรรม และผมทนไม่ได้ถ้าเห็นความไม่ยุติธรรม ไม่ว่ามันจะเกิดกับใคร เรากำลังจะ “วัดใจ” กันว่าถ้าเกิดความไม่ยุติธรรมแล้ว สังคมไทยจะยอมรับได้หรือไม่ ถ้าได้ ประเทศนี้ก็จบเห่ ติ๊กต็อก... ติ๊กต็อก...