ที่มา ประชาไท มีบทกวีปรัชญาบทหนึ่งตั้งคำถามชวนคิดว่า “ในท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่เรามีอยู่มากมาย ความรู้หายไปไหน ท่ามกลางความรู้ที่เรามีอยู่นั้น ปัญญาหายไปไหน และท่ามกลางการใช้ชีวิตทุกวันนี้ ชีวิตที่แท้จริงของเราหายไปไหน”
เพื่อไทย
Monday, February 22, 2010
ทางเลือกที่สาม
ทุกวันหลังตื่นนอนเมื่อเราเปิดทีวี หรืออ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ เราจะพบข้อมูล/ข่าวสาร(data/information) มากมาย ข่าวสารที่เราพบมักจะเป็นการรายงานเรื่องราว เหตุการณ์ ข้อเท็จจริง ความเห็นของบุคคลหรือฝ่ายต่างๆ ในท่ามกลางข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ มีอยู่ไม่น้อยที่เราจำเป็นต้องใช้ “ความรู้” (knowledge) ในการตัดสินจริง/เท็จ ถูกผิด เช่น เรื่องน้ำมหาบำบัดของป้าเช้ง ประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 เป็นต้น
แต่จากข่าวสองเรื่องดังกล่าวนั้น ทำให้เราพบว่ากว่า “ความรู้” จะเข้ามาแสดงบทบาท ชาวบ้านก็ถูกหลอกมานานแล้ว กองทัพบกก็ถูกหลอกมานานแล้ว และประชาชนก็ถูกหลอกเอาเงินภาษีไปใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพมานานแล้ว ซ้ำร้ายเมื่อความรู้แสดงบทบาทพิสูจน์ “ข้อเท็จจริง” ให้สังคมเห็นร่วมกันแล้ว บุคคลหรือฝ่ายที่ควรรับผิดชอบต่อข้อเท็จจริงที่ใช้ความรู้พิสูจน์ให้เห็นแล้วนั้น กลับออกมาใช้ “ความเห็น” ในทางที่ขัดแย้งกับ “ความรู้” เพื่อปกป้องความบกพร่องผิดพลาดของตนเอง หรือของหน่วยงานของตนเอง
ในสองกรณีนี้ ถ้ามีการใช้ “ความรู้” นำทางตั้งแต่แรก หรือก่อนจะทำน้ำมหาบำบัด ก่อนจัดซื้อเครื่องจีที 200 การหลอกตัวเองและหลอกชาวบ้านก็จะไม่เกิดขึ้น และการถูกหลอกและความพยายามแสดง “ความเห็น” ในลักษณะขัดแย้งกับ “ความรู้” ก็คงไม่เกิดขึ้น
ในปัญหาที่ซับซ้อนอย่างยิ่งเช่นความแตกแยกแบ่งฝ่ายทางทางการเมืองในปัจจุบัน ยิ่งจำเป็นต้องใช้“ความรู้” และ “ปัญญา” (wisdom) เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจ วินิจฉัยจริง/เท็จ ถูก/ผิด และหาทางออกร่วมกัน แต่ทว่าสังคมเรากลับกลายเป็นสนามของสงครามข่าวสารที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของเหตุการณ์ ความเห็น การด่าประณามกันไปมาของฝ่ายต่างๆ
แน่นอนว่า สงครามข่าวสารดังกล่าว ย่อมทำให้สังคมได้ประโยชน์ ในด้านหนึ่งสังคมได้รู้เท่าทันความฉ้อฉลของ “ทุนสามานย์” ที่ลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ และใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างกำไรให้กับตนเอง ภายใต้ปรัชญาการบริหารงานที่ว่า ในเมื่อตนเองเป็นผู้สร้างผลงาน (ด้านเศรษฐกิจ) ให้ประเทศก้าวหน้า ฉะนั้น ตนเองก็ควรได้รับกำไรอันเป็น “ส่วนแบ่ง” จากผลงานนั้น
และในอีกด้านหนึ่ง สงครามข่าวสารก็เผยให้สังคมได้รับรู้ปัญหาของประชาธิปไตยแบบไทยๆที่อยู่ภายใต้การชี้นำ/กำกับของอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเป็นปัญหาของโครงสร้างอำนาจที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคอันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ
ถ้าเราใช้ความรู้ในเรื่องหลักการประชาธิปไตยและกฎหมายรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์สงครามข่าวสารดังกล่าว เราก็จะเห็นว่า ฝ่าย “ทุนสามานย์” นั้น “ทำผิด” กติกาประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายอำมาตย์และแนวร่วมที่ทำรัฐประหารนั้น “ล้ม” กติกาประชาธิปไตย ทั้งสองฝ่ายล้วนแต่ทำผิดแม้จะผิดน้อยผิดมากกว่ากันก็ตาม
ปัญหาอยู่ที่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างบีบให้สังคมเลือกทางของตนเอง ทางหนึ่งคือต้องยอมรับว่ารัฐประหารขจัดระบอบทักษิณมีความชอบธรรม และต้องเดินหน้าสร้างการเมืองใหม่ (?) และอีกทางหนึ่งคือต้องยอมรับว่ารัฐประหารขจัดทักษิณไม่มีความชอบธรรม และต้องเดินหน้าต่อไปด้วยการนิรโทษกรรมทักษิณ หรือคืนอำนาจให้ทักษิณแล้วสร้างประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการชี้นำกำกับของอำมาตย์
หากยืนยันทางเลือกที่ขัดแย้งกันนี้อย่างถึงที่สุด ก็ต้องตัดสินกันที่ “แพ้-ชนะ” ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงนองเลือดได้ แต่บทเรียนในประวัติศาสตร์บอกเราว่า ความรุนแรงนองเลือดไม่ใช่คำตอบ เพราะหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 19 และพฤษภา 35 ประชาธิปไตยยังอยู่ในมือของชนชั้นนำเพียง 3 กลุ่ม คือ อำมาตย์ นักเลือกตั้ง และนักธุรกิจการเมืองเท่านั้น
และหากเกิดความรุนแรงนองเลือดขึ้นอีกคราวนี้ จะมีหลักประกันอะไรว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์จะไม่ตายฟรี หรือเป็นเพียงการเสียสละชีวิตของผู้มีอุดมการณ์เพื่อสังเวยเกมชิงอำนาจทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเดิมๆเท่านั้น?
มีประวัติศาสตร์ด้านที่สวยงามอยู่มิใช่หรือ? นั่นคือประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เราได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้นั่นจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์พฤษภา 35 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องเกิดความรุนแรงนองเลือดขึ้นก่อนเสมอไปจึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นได้
ทำไมเราไม่ก้าวข้ามเงื่อนไข “แพ้-ชนะ” ของเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ซึ่งเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงนองเลือดไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ “ชนะ-ชนะ” กันทุกฝ่าย ซึ่งหมายความว่าในที่สุดแล้วชัยชนะนั้นเป็นของสังคมทั้งหมด นั่นคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
ข้อเสนอดังกล่าวนี้เป็นข้อเสนอของ “คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ที่เสนอขึ้นมานานพอสมควรแล้ว ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นการใช้ “ปัญญา” ในการแก้ปัญหา ในความหมายที่ว่าเป็นการเปิด “พื้นที่” ให้ “ทุกสี” และทุกฝ่ายที่ไม่สังกัดสีได้เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความคิดเห็น และนำ “วาระ” ของตนเองเข้ามาสู่การพิจารณาตัดสินหรือการเลือกด้วยเหตุผลที่เป็น “สาธารณะ” จริงๆ ซึ่งในที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะได้มา การปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ จะตอบโจทย์ของสาธารณะจริงๆ เป็นที่ยอมรับ และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะจริงๆ
แต่ข้อเสนอของเสื้อเหลือง-เสื้อแดง นอกจากจะมีปัญหาว่ามันไม่อาจใช้แทนความต้องการของสาธารณะจริงๆ และหรือเงื่อนไขของการบรรลุถึงชัยชนะของแต่ละฝ่ายอาจจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงแตกหัก (ดังที่เสื้อเหลืองเคยสนับสนุนให้ใช้รัฐประหารครั้งล่าสุด) แล้ว การยืนยันข้อเสนอเช่นนั้นในทางหลักการยังมีปัญหาเรื่องการยอมรับ “ความมีอยู่” (existence) ของ “เสรีภาพ” (freedom) ของ “ปัจเจกบุคคล” (individual) อีกด้วย คือทั้งสองฝ่ายต่างพูดถึง “ความเป็นสีเหลือง-สีแดง” ที่ต้องมีความเชื่อ มีอุดมการณ์ มีความคิด ความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน จะเห็นต่าง หรือวิจารณ์กันเองด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดไม่ได้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” หรือทำให้เสียความเป็นเอกภาพในการต่อสู้เพื่อให้ได้รับชัยชนะ
ฉะนั้น ข้อเสนอหรือทางเลือกบนเงื่อนไข “แพ้-ชนะ” ของทั้งสองฝ่าย โดยปริยายแล้วเป็นการปฏิเสธความมีอยู่จริงของปัจเจกบุคคลที่มีเสรีภาพ ซึ่งเท่ากับปฏิเสธหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะความเป็นประชาธิปไตยนั้นก่อนอื่นต้องยอมรับความเป็นมนุษย์ และสิ่งที่บ่งบอกถึง “ความเป็นมนุษย์” ก็คือ “เสรีภาพ” ซึ่งพูดอย่างถึงที่สุดแล้วนี่คือ “ชีวิตที่แท้จริง” ของเรา แต่ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงปฏิเสธเสรีภาพที่จะไม่เอาทั้งเหลืองและแดง เสรีภาพที่จะไม่เอาส่วนที่ผิดของเหลืองและแดง หรือเอาส่วนที่ถูกของเหลืองและแดง และหรือเสรีภาพที่จะเพิ่มส่วนที่ถูกจากมุมมองอื่นๆที่ไม่สังกัดสี เพื่อสังเคราะห์สร้าง “ทางเลือกที่สาม” ที่เป็นไปได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายทั้งที่มีสีไม่มีสีเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง
จึงแทนที่จะยอมให้ชะตากรรมของสังคมไทยขึ้นอยู่กับทางเลือกบนเงื่อนไข “แพ้-ชนะ” ของเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเท่านั้น เราควรเรียกร้องให้สร้าง “ทางเลือกที่สาม” ที่เปิดพื้นที่ให้เสรีชนทุกคนมีส่วนร่วมร่วมกำหนดอนาคตของตนเองอย่างแท้จริง ด้วยการช่วยกันทำให้ข้อเสนอเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบกลายเป็นประเด็นสาธารณะในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์นี้ หรือในฤดูกาลรณรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้นครั้งต่อไป