ที่มา ประชาไท ด้วยความรู้ทางกฎหมายอันน้อยนิดของกระผม หากเข้าใจไม่ผิด โดยปกติ คำพิพากษาศาลฎีกานั้น ท่านว่าจะใช้เป็นแนวเทียบเคียงให้กับคดีอื่นๆ ที่จะตามมา หากเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายความ คำพิพากษาของศาลฎีกา จะส่งผลในเชิงโครงสร้างให้กับมาตรวัดต่างๆ ในสังคม ผมเชื่อเหมือนที่เพื่อนๆ หลายคนเชื่อว่า หากในอดีตศาลฎีกาไทย ซึ่งทำหน้าที่หนึ่งเหมือนศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน มีคำพิพากษาอย่างกล้าหาญว่า การรัฐประหารของคณะรัฐประหารในอดีต เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งแม้จะได้ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญไปในแต่ละครั้งแล้วก็ตาม ก็อาจจะทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้นไม่ได้อีกเลย ดังนั้น ในขณะที่ใครๆ ให้ความสนใจถึงผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะออกเช่นใด แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ด้วยความที่คนอื่นๆ ได้พูดและวิเคราะห์ไปมากแล้ว กระผมกลับคิดไปไกลกว่านั้นว่า หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์อดีตนายกฯ จะให้คำอธิบายเช่นใด และได้วางหลักอะไรให้กับมาตรฐานทางการเมืองในอนาคตบ้าง โดยความเห็นส่วนตัว ผมย่อมไม่เห็นด้วยกับการยึดทรัพย์คุณทักษิณ ตามเหตุผลต่างๆ ที่ คตส. ให้กับสาธารณะ หรือที่ปรากฏอยู่ในคำฟ้องของอัยการ เพราะจะอย่างไรเสีย เงินนั้นก็ไม่ใช่ของคุณทักษิณคนเดียว แต่เป็นของครอบครัวและคนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความผิด (หากมี) ของคุณทักษิณ ยังไม่ต้องนับว่า ความผิดของคุณทักษิณที่หากจะมีนั้น เป็นความผิดชนิดไหน ซุกหุ้น (โทษยกเลิกสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี) หรือทำให้รัฐเสียหาย ความผิดทางนโยบาย (ลงโทษตามกระบวนการทางการเมือง) หรือทุจริตโกงรัฐ (ความผิดเท่าเงินที่โกงบวกโทษอาญา) แต่การยึดทรัพย์นั้นจะกระทำได้หรือไม่ ซึ่งเราต่างก็รู้ว่า อย่างไรเสียก็มีทรัพย์ที่เป็นของเดิมคุณทักษิณอยู่ ซึ่งคำอธิบายและเหตุผลต่างๆ ครอบคลุมทั้งเนื้อความในคดี และกระบวนการยื่นฟ้องนั้น ปรากฏอยู่ในข้อเขียนของคุณ ‘ใบตองแห้ง’ เรื่อง ‘เรียน คุณสฤณี อาชวานันทกุล ที่นับถือ’ ซึ่งมีบทถกเถียงในความเห็นท้ายข่าว หรือในบทความของคุณประวิตร โรจนพฤกษ์‘ศุกร์นี้ ถ้าทักษิณผิดจริงแล้วควรทำอย่างไรต่อ’ ของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ‘คำถาม-ข้อโต้แย้งความเห็น คตส.ในคดียึดทรัพย์ “วัวกินหญ้าหรือคนกินหญ้ากันแน่”’ รวมทั้งในการแถลงของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง เรื่องคำแถลงจาตุรนต์ ฉายแสง กรณีคดียึดทรัพย์ทักษิณซึ่งผมขออนุญาตไม่นำมาพูดซ้ำอีก ด้วยความที่สนใจเฉพาะที่ว่า คำพิพากษาให้ยึดทรัพย์อดีตนายกฯนั้น ได้วางหลักอะไรให้กับมาตรฐานทางการเมืองในอนาคตบ้าง ผมจึงห่วงใยอยู่เพียงประเด็นเดียว นั่นคือประเด็นที่ว่าด้วย ‘ตรรกะอันตราย’ ‘การลงโทษเก้าชั่วโคตร’ ของคำอธิบายจากตรรกะอันผิดเพี้ยนของนักกฎหมายภาพดีจอมกะล่อน ซึ่งอธิบายอย่างไรก็ได้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของตัวเอง เช่น ‘ทฤษฎีวัวกินหญ้ารัฐ’ ที่เสนอให้ยึดทรัพย์ทั้งหมด ห่วงใยว่า สังคมไทย และกระบวนการยุติธรรมไทย จะต้องสูญเสียหลักนิติธรรมอะไรไปบ้าง เพื่อจ่ายสังเวยให้กับเป้าหมายที่จะอย่างไรก็ต้องนับว่า เป็นเป้าหมายอันเป็นส่วนตัวของจอมทฤษฎีผู้นี้ เหมือนที่เราเสียหลักอะไรไปมากมายจากกระบวนการทางการเมืองตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เรื่องหลักอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย จากกรณีเลือกตั้งเป็นโมฆะ และการขอพระราชทานนายกฯตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 การรวมตัวเป็นพรรคการเมือง จากกรณียุบพรรค นิติรัฐ นิติธรรม จากกรณีเลือกปฏิบัติ และอีกมากมายเกินกว่าจะกล่าวนับ แต่พูดตามตรง หากสถาบันยุติธรรมของไทย และสังคมไทยจะได้ยอมรับ ‘ทฤษฎีวัวกินหญ้ารัฐ’ จนให้เป็นหลักในการพิจารณาคดี ผมก็แอบยินดี เพราะก็เชื่อมั่นว่า อย่างไรเสีย ช้าหรือเร็ว หลักนี้จะได้นำไปใช้ยึดทรัพย์กลุ่มธุรกิจที่ใช้อำนาจรัฐฉ้อฉล ผูกขาด เป็นนายธนาคาร เป็นนักธุรกิจ และเป็นอื่นๆ ที่มีอำนาจมากมายมหาศาล จนทำให้นอนอยู่บนกองเงินกองทอง ชนิดที่ตรวจสอบได้ยากกว่าทักษิณอยู่ในเวลานี้ แน่ล่ะ โอกาสที่จะเป็นไปได้นั้นน้อยมาก แต่ขอแค่ 1% มันก็มากพอแล้วไม่ใช่หรือ ถึงความไม่มั่นคงในทรัพย์ศฤงคารที่เกิดขึ้น