ที่มา ประชาไท
“สม ยศ พฤกษาเกษมสุข” ฝากจดหมายขอความช่วยเหลือและชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ต่อกรณีถูกจับกุมคดีหมิ่นฯ ผ่านผู้ที่ไปเยี่ยมสู่โลกภายนอก วอนองค์ปกป้องสิทธิประชาธิปไตยทั่วโลกเรียกร้องกดดันรัฐบาลต่อ
เมื่อ วันที่วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงานและบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา) ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 โดยสมยศได้เขียนจดหมายขอความช่วยเหลือและชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมทั้งแสดงความขอบคุณองค์กรปกป้องสิทธิและประชาธิปไตยทั่วโลก หลังจากที่ในรอบเดือนที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อเรียกร้องให้ประกันและปล่อยตัวสมยศ เพราะการจับกุมนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง
ซึ่ง องค์กรที่ได้ทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องกรณีดังกล่าวถึงนาย อภิสิทธิ์ ในรอบเดือนที่ผ่านมา เช่น สมาพันธ์สหภาพแรงงานเนปาล(GEFONT) , สมาพันธ์อาหารและบริการกัมพูชา(CFSWF) , Australia Asia Worker Links, พรรคสังคมนิยมในมาเลเซีย (Socialist Party of Malaysia), Community Action Network ในมาเลเซีย, สมาพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง (HKCTU), Asia Monitor Resource Centre (AMRC), Clean Cloth Campaign, Asia Floor Wage Alliance, สมาพันธ์สภาพันธมิตรสหภาพแรงงานอินโดนีเชีย(KASBI), องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน SUARAM (Suara Rakyat Malaysia) หรืออย่าง นายฉัว เทียน ชาง (Chua Tian Chang) ส.ส.มาเลเซีย และรองประธานพรรคยุติธรรมแห่งชาติ (Parti Keadilan Rakyat - PKR) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่สำคัญในมาเลเซีย นายซาอิด ซาฮีร์ ซาอิด โมฮัมหมัด (Syed Shahir Syed Mohamud) ประธานสภาแรงงานมาเลเซีย (Malaysian Trade Union Congress - MTUC) ที่ได้เดินทางไปสถานทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องนายอภิสิทธิ์ ให้ปล่อยตัวสมยศ เป็นต้น
โดยจดหมายขอความช่วยเหลือและชี้แจงข้อเท็จ จริงเพิ่มเติม รวมทั้งแสดงความขอบคุณของสมยศนี้ถูกระบุว่าบันทึกโดยจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย หลังจากที่ได้เข้าพบเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 ที่เรือนจำกลางกรุงเทพมหานคร
โดยเนื้อหาของจดหมาย ประกอบด้วยส่วนของการชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ส่วนของข้อเรียกร้องและลงท้ายด้วยส่วนของการแสดงความขอบคุณองค์กรสิทธิและ ประชาธิปไตยทั่วโลกที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวสมยศ
จดหมาย เปิดผนึกขอความช่วยเหลือและชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมทั้งแสดงความขอบคุณองค์กรปกป้องสิทธิและประชาธิปไตยทั่วโลก ของสมยศ พฤกษาเกษมสุข
เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร
33 ถนนงามวงศ์งาน แขวงลาดยาว
เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
วันที่ 26 พฤษภาคม 2554
เรื่อง ขอความช่วยเหลือและขอขอบคุณรวมถึงชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทุกท่านทราบ
เรียน องค์กรที่ปกป้องสิทธิประชาธิปไตยทั่วโลก
ผม เคยทำงานด้านปกป้องสิทธิผู้ใช้แรงงานมาอย่างยาวนานตั้งแต่เป็นนัก ศึกษาในปี 2524 จนถึง 2550 ในนามศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (Center for Labour Information Service and Training; CLIST)และได้มาทำหนังสือเป็นซึ่งเป็นอีกอาชีพที่ผมรักเป็นบรรณาธิการบริหาร นิตยสารรายปักษ์ “Voice of Taksin” ทำหน้าที่สื่อมวลชนวิชาชีพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารความเป็นจริง แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลตามปกติ และเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ปีที่ผ่านมาได้ถูกนำตัวมาควบคุมไว้ที่ค่ายอดิศร จ.สระบุรี การกระทำของรัฐบาลเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่าง รุนแรง เมื่อได้รับแรงกดดันจากองค์กรของพวกท่านในปีที่แล้วทำให้มีการปล่อยตัว และนิตยาสาร “Voice of Taksin” ได้ถูกสั่งปิดรวมถึงโรงพิมพ์ด้วย ทำให้ข้าพเจ้าได้เปิดหนังสือใหม่ชื่อ RED Power และยังมีอุดมการณ์อันแน่วแน่ในการทำหนังสือรวมถึงทำธุรกิจทัวร์ประวัติ ศาสตร์ไทยเขมรควบคู่ไปด้วย
1. เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ผมได้พาทัวร์พร้อมคณะ กว่า 30 คน เข้าด่านตรวจคนเข้าเมืองตามปกติ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ข้าพเจ้ามีหมายจับ จึงได้ควบคุมตัวไว้และส่งให้เจ้าหน้าที่ DSI มารับตาม หมายจับออกวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 แต่เมื่อวัน 20 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ข้าพเจ้าได้เดินทางไปประเทศกัมพูชาและกลับเข้ามาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ตามปกติ
2. วันที่ 30 เมษายน 2554 เป็นวันเสาร์ เจ้าหน้าที่ DSI ได้ส่งตัวมาที่สำนักงานกรมสอบสวนพิเศษ และผมได้ถูกกีดกันไม่ได้พบผู้สื่อข่าวที่มารอสัมภาษณ์ ในเวลาต่อมาอธิบดี DSI นายธาริต เพ็งดิษฐ์ แถลงข่าวว่าจับตัวข้าพเจ้าในขณะเตรียมตัวหลบหนีไปประเทศกัมพูชาและจะคัดค้าน การประกันตัวต่อศาลเพราะเกรงว่าจะหลบหนี ซึ่งกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา(ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้า ปี)
3. วันที่ 2 พฤษภาคม 2554 กรมสอบสวนพิเศษ (DSI)ได้ส่งฝากขังต่อศาล ผมได้นำหลักทรัพย์มูลค่า 1.6 ล้าน ยื่นประกันตัว ศาลมีคำสั่งดังนี้ “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงตามข้อหาเป็นความเกี่ยวข้องกับความ มั่นคงต่อราชอาณาจักรและความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหา กษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักกระโดยกระทบกระเทือนจิตใจต่อประชาชน โดยรวมประกอบกับผู้ต้องหาถูกจับกุมในขณะกำลังเดินทางออกนอกราชอาณาจักรถือ ว่ามีพฤติกรรมหลบหนี หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ยกคำร้องหลังคำสั่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ต้องหาและผู้ประกันทราบโดยเร็ว” สาเหตุที่ตำรวจแจ้งว่ากระทำความผิด คือในหนังสือ“Voice of Taksin” ฉบับปักษ์แรกมีนาคม 2553 และฉบับ ในคอลัมน์ คมความคิด ผู้เขียนใช้นามปากกาว่า “จิตร พลจันทร์ ได้เขียนบทความซึ่งวิญญูชน อ่านแล้วเข้าใจได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งผมเป็นบรรณาธิการต้องรับผิดชอบ
4. ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2554ผมได้ถูกส่งตัวมาที่ “เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร” เจ้าหน้าที่ได้ตัดผมให้ผมทันทีและให้อยู่ใน แดน 1 ผมนั่งอยู่ในห้องกรงขังเหล็กแน่นหนา ที่เรียกกันว่าคุก ผมสูญเสียอิสรภาพ ถูกกักขังโดดเดี่ยว ตัดขาดจากโลกภายนอก เป็นความทุกข์ทรมาน ทั้งร่างกายและจิตใจอย่างไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต
ถ้า หากผมเป็นอาชญากรหรือฆาตกรกระทำความผิดให้ผู้อื่นตายหรือ ปล้นทรัพย์ หรือกระทำผิดศีลธรรมร้ายแรง ผมสมควรรับโทษทัณฑ์ สมควรทุกข์ทรมาน พื้นฐานะกระทำความผิดหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
แต่ ผมได้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน แสดงความคิดเห็นอิสระ นำเสนอความจริง วิพากษ์วิจารณ์สังคม-การเมือง อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ผมได้ใช้วิชาชีพสื่อมวลชน อย่างเป็นอิสระ เพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาก้าวหน้า หรือมีความเสมอภาคเท่าเทียม ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีผมได้ทำหนังสือพิมพ์ เป็นสื่อกลางให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็น เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองโดยปราศจากความกลัวหรือต้องถูกจำกัดความคิด
ผล ของการทำหน้าที่ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ และทำงานตามจิตวิญญาณอิสระของศักดิ์ศรี ความเป็นคน ผมจึงถูกกล่าวหา และถูกจองจำ ให้ได้รับความทุกข์ทรมาน มีอีกหลายคนที่ต้องกลายเป็นเหยื่อ ของอำนาจป่าเถื่อน ของความคิดคับแคบเห็นแก่ตัวเพียงเพื่อรักษาอำนาจและความเป็นอภิสิทธิชน
ความ ทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดรวดร้าวของชีวิตครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ถูกจองจำเท่านั้น แต่ที่เจ็บปวดและคับแค้นใจก็คือ ไม่ใช่แค่การใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมรังแกผมเท่านั้น ยังบิดเบือนความจริงอย่างน่าเกลียดอีกด้วย เช่น การไม่ให้ประกันตัว อ้างว่า ผมกำลังหลบหนีเดินทางไปต่างประเทศ ผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่ามีหมายจับ ในข้อหา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ผมจึงใช้ชีวิตตามปกติ หาเช้ากินค่ำ ทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง
ผม มีอาชีพสื่อสารมวลชนและทำธุรกิจท่องเที่ยว ในวันที่ 30 เมษายน 2554 ผมพาคณะนักท่องเที่ยวชาวไทย 30 คน ไปเที่ยวนครวัต ประเทศกัมพูชา ซึ่งจัดไปทุกเดือน ผมเข้าช่องตรวจเอกสารเดินทางตามปกติ ไม่ได้เป็นการหลบหนี
ผม เคยถูกกล่าวหาในคดีการเมืองหลายคดีแต่ไม่เคยหลบหนี ผมต่อสู้ทุกคดี เพราะผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ใจ และเชื่อว่ายังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่บ้าง ผมไม่คิดหลบหนี แม้ว่าจำต้องถูกจองจำ ก็เพื่อจะต่อสู้กับอำนาจฉ้อฉล ต่อสู้กับการบิดเบือน และต่อสู้กับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง ผมอาจถูกจองจำถูกทรมานถูกลงโทษแต่ผมได้ทำหน้าที่ของชีวิตอิสระได้ ทำหน้าที่ยังประโยชน์ให้กับสังคม ผมจึงพร้อมต่อสู้กับอำนาจฉ้อฉลแม้ว่าจะต้องถูกจับเข้าคุกปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ประชาชน ซึ่งต้องการความเสมอภาคเท่าเทียม ความเป็นธรรม และประชาธิปไตย โดยได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งกับผู้ปกครองที่อ้างตนเองมี คุณธรรมสูงสุดในสังคม แต่เป็นปัญหาของกฎหมายเผด็จการ นั่นคือ มาตรา 112 นั้น เป็นกฏหมายไม่เป็นธรรม เป็นเครื่องมือทำลายบุคคลอื่นทางการเมืองและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มี หลายคน กลายเป็นเหยื่อของมาตรา112 ต้องสูญเสียอิสรภาพ ต้องถูกจับกุมคุมขัง ถูกกล่าวหา ถูกทำลายกระทั่งถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม ผมจึงออกมาต่อสู้ เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา112นี้ไปเสีย ด้วยการจัดตั้ง เครือข่ายประชาธิปไตย รวบรวมประชาชนเข้าชื่อกัน 10,000 ชื่อขึ้นไป เพื่อขอให้รัฐสภา แก้ไขมาตรา 112 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550
ดังที่กล่าวมาแล้ว มาตรา112 มีความคลุมเครือ มีช่องว่างให้พวกอำนาจฉ้อฉล นำมาใช้เล่นงาน และปราบปรามประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมไทยขณะนี้ มีความขัดแย้งกันมาก การจับกุมครั้งนี้ เป็นการดึง สถาบันกษัตริย์ มาเผชิญหน้ากับประชาชน
ก่อน หน้านี้ มีการกล่าวหาแกนนำ เสื้อแดง ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาด้วยปิดวิทยุชุมชน ปิด เวปไซต์ ปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน จนในที่สุด จับกุมผม ทำเป็นคดีอย่างไม่เป็นธรรม
ผม เป็นเพียงเหยื่อ ของกฎหมาย ไม่เป็นธรรม เป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่กำลังห้ำหั่นแย่งชิงอำนาจรัฐระหว่างผ่าย ประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ ผ่านรูปแบบการเลือกตั้งผมเป็นบุคคล ที่พวกมีอำนาจฉ้อฉลที่ชอบแอบอ้างศีลธรรมและบุญบารมี ต้องการให้ผมอยู่ในความผิด เพื่อรักษาอำนาจฉ้อฉลให้ยาวนาน ต่อไป
ผม ไม่ใช่เหยื่อรายสุดท้าย ตราบเท่าที่เรายังอยู่ภายใต้การปกครอง ที่เนื้อแท้เป็นเผด็จการ แต่เปลือกนอกฉาบด้วย คำว่าประชาธิปไตย ไว้หลอกลวงชาวโลก
ผมจะต่อสู้ให้ได้รับเสรีภาพตราบ จนลมหายใจสุดท้าย ผมยอมเสียอิสรภาพ แต่จะไม่ยอมเสียความเป็นคนอย่างแน่นอน(จดหมายที่เขียนโดยสมยศ เมื่อ วันที่ 2 พฤษภาคม 2554)
1. ผมไม่เคยคิดหลบหนี ในการต่อสู้ทางการเมืองผมโดนหน่วยงานรัฐฟ้องหลายคดี เช่น พลเอกสะพรั่ง กัลป์ยานมิตร อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 เป็น 1 ในคณะก่อการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคง แห่งชาติ ได้ฟ้องหมิ่นประมาท ผมได้สู้คดีถึงที่สุดได้รับโทษจำคุกโทษนั้นรอลงอาญา อีกกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้ฟ้องหมิ่นประมาทผมก็ได้สู้จนศาลยกฟ้อง และผมได้ปรากฏตัวต่อที่สาธารณะเป็นปกติ
2. ในขณะที่สังคมคนงานยังถูกเอารัดเอาเปรียบ สหภาพแรงงานในประเทศไทยไม่อนุญาตให้องค์กรสหภาพแรงงานเกี่ยวข้องกับการเมือง ได้ และถ้าพวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องพวกเขามีโอกาสที่โดนข้อกล่าวหาเหล่า นี้ได้อีก เพราะกฎหมายมาตรา 112 นี้ไร้ขอบเขตการฟ้องร้องใครก็สามารถไปแจ้งตำรวจได้ และในปี 2550-2554 ได้มีนักโทษคดีนี้เพิ่มเกือบ 500 คน และส่วนใหญ่จะเป็นคนที่สนับสนุนเสื้อแดง รวมถึงการขัดผลประโยชน์ก็นำมากล่าวหากันได้ด้วย และขณะนี้ด้วยสภาพที่คุมขังที่แออัด และการรักษาพยาบาลที่ไม่สะดวกสบายเท่ากับอยู่ข้างนอก ทำให้โรคประจำตัวของผมกำเริบคือโรคเก๊า มีแผลที่กำลังติดเชื้อ
ผม ขอขอบคุณองค์กรต่างๆ ที่ทำจดหมายถึงรัฐบาลเรียกร้องให้ปล่อยตัวผม รวมถึงนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ผมขอเพียงได้สิทธิการประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่พึงจะ ได้ ผมควรมีสิทธิในความเชื่อ และการแสดงออกที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิของใคร และสิทธิในการต่อสู้คดีและรัฐไม่ควรจองจำผมไว้ในคุก ขอให้ทุกท่านเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผม หวังที่จะเห็นเสรีภาพของคนในทั่วโลกและรวมถึงพี่น้องของผม การถูกจองจำในคุกผมได้มีชีวิตอยู่ได้ดีพอสมควรและมีมิตรไมตรีจากคนอื่นๆ แต่คงไม่มีใครปรารถนาที่จะถูกจองจำ แต่การใช้อำนาจเกิดขอบเขตของรัฐบาล เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผมอยากออกไปสู่เสรีภาพเช่นเดิม
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข)
หมายเหตุ : จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน ที่ปรึกษา/เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ผู้ประสานงาน กลุ่มคนงาน Try Arm ได้เข้าพบเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 ที่เรือนจำกลางกรุงเทพมหานคร (บันทึก)