WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, July 9, 2012

ลุงนก: คนไทใหญ่กับการเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ (2)

ที่มา ประชาไท

 

 
นางสาวปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว จากโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) บอกว่า ถึงแม้วันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา สิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้รับรองโดยมติคณะรัฐมนตรี ให้จัดตั้งกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ แต่ในความเป็นจริง ก็ยังมีคนที่ตกหล่น หายไป อย่างเช่น ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0,กลุ่มผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ,กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาต หรือจะเข้ามาทำงานเกษตรกรรมตามฤดูกาล,ผู้ลี้ภัยที่ได้รับการดูแลให้อยู่ใน พื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งตามชายแดนไทย-พม่า และคนไร้รัฐ ไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล
“การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ อาจจะไม่ถูกปฏิเสธโดยตรง แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ความยากจน ไม่มีเงินสำหรับค่ายา ค่าหมอ ค่าเดินทาง หรือแม้แต่กลัวว่าจะถูกจับหรือเปล่า ถ้าจะไปหาหมอ ผู้ป่วยก็ต้องทรุดหนักจริงๆ พอหายแล้วก็มีหนี้ก้อนใหญ่ตามมา เป็นภาระทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล เขาก็จะถูกทวงถามถึงเงินค้างชำระงวดก่อน มีหลายครอบครัวที่ยังคงทยอยจ่ายเงินคืนให้กับโรงพยาบาลแม้ว่าผู้ป่วยจะเสีย ชีวิตไปแล้ว”นางสาวปิ่นแก้ว กล่าว
นางสาวปิ่นแก้ว กล่าวต่อว่า แต่เราก็พบว่า มีสถานพยาบาลบางแห่งสามารถก้าวพ้นทัศนคติ การรับมือ การจัดการปัญหาแบบเดิมๆ เช่น การขายบัตรประกันสุขภาพทางเลือกสำหรับคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพใดๆ อย่างเช่น ที่โรงพยาบาลสังขละบุรี,แม่สอด,ระนอง และสมุทรสาคร
“หรืออย่างกรณี โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งรับภาระดูแลผู้ป่วยทุกคน ด้วยความเป็นโรงพยาบาลชายแดน จนกระทั่งประสบภาวะหนี้สินและค่าใช้จ่ายสังคมสงเคราะห์ อยู่ราว 36 ล้านบาทเศษๆ ก็ได้มีการก่อตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มฝาง ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า มูลนิธิไม่มีวัตถุประสงค์จะปลดเปลื้องหนี้สินที่โรงพยาบาลมี แต่จะทำให้โรงพยาบาลสามารถให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถเบิกค่ารักษา พยาบาลจากกองทุนใดๆ ได้ และใช้จ่ายในส่วนที่เกินจากการสนับสนุนงบประมาณของส่วนราชการ”
โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT) กล่าวอีกว่า ถึงเราไม่อาจห้ามความเจ็บป่วยได้ แต่เราคงไม่อาจนิ่งดูดายปล่อยให้คนที่อยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทย ยังมีคนอีกหลายคนต้องตกหล่นจากระบบประกันสุขภาพ ต้องทนทุกข์จากความป่วยไข้โดยไร้คนเหลียวแลรักษา
“ทางหนึ่งที่จะช่วยให้เขารอดพ้นจากปัญหาที่คนไข้หลายคนมักบอกว่า...ฉัน ไม่อยากไปหาหมอ เพราะไม่มีเงินจ่าย ก็คือ การช่วยกันผลักดันอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อทำให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้อย่างแท้จริง”
เช่นเดียวกับ อาภา หน่อตา จากเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์ฯ(คชส.) ก็ได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ได้มีการผลักดันเรื่องการเข้าถึงสิทธิ การเข้าถึงบริการทางสุขภาพของคนชาติพันธุ์มา 5 ปีแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ คนชาติพันธุ์ถูกเพิกถอนสิทธิในกองทุนสุขภาพ หรือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค
“เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ตีความกฎหมายว่า กองทุนสุขภาพให้บริการครอบคลุมเฉพาะผู้มีสัญชาติไทย ทำให้คนชาติพันธุ์ถูกยึดบัตรทอง เมื่อพวกเขาต้องรับภาระในการเสียค่าพยาบาลเอง ก็ทำให้ไม่กล้าไปโรงพยาบาล ถ้าจะไปก็ต้องเจ็บหนักจริงๆ”
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติคืนสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่คนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้และเข้าถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ต่อชีวิต ของเขาเลย
“แต่ในความเป็นจริง คนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าพวกเขาได้สิทธินี้ เนื่องจากไม่ค่อยมีสื่อประชาสัมพันธ์ออกมาจากรัฐ ส่วนมากก็เป็นแค่คอลัมน์เล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ เราก็พยายามสื่อสารว่า กองทุนนี้มันมีอยู่นะ”
ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์ ได้เน้นย้ำว่า สิทธิทางสุขภาพต้องครอบคลุมคนทุกคน  ถึงมันไม่เกิดนโยบายสูงๆ ว่าทุกคนในประเทศไทยต้องเข้าถึงบริการทางสุขภาพ แต่ต้องเกิดการรับรู้ในกลุ่มภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันทำช่วยกันเคลื่อนไหว
“ชุมชนต้องมีวิธีจัดการให้คนในชุมชนมีสิทธิเข้าถึงบริการทางสุขภาพโดย ชุมชนเข้ามาจัดการกันเอง” ตัวแทนเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์ บอกย้ำ
ทั้งนี้ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุจำนวนตัวเลขผู้มีปัญหาสถานะบุคคล 4 กลุ่ม รวมทั้งหมดทั้งสิ้น 3,262,056 คน โดยจำแนกไว้ดังนี้
1.แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ พม่า ลาวและกัมพูชา (มีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 00) รวม 2,5181,360 คน
2.ชนกลุ่มน้อยที่เกิดหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย รวม 323,084 คน
3.คนไร้รัฐ/ไร้รากเหง้า หรือบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งกรมการปกครองได้เริ่มสำรวจตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2548 จำนวน 218,538
4.กลุ่มผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแถบชายแดนไทย-พม่า ทั้ง 9 แห่ง รวม 138,076 คน
ซึ่งกรณีของลุงนก ชาวไทใหญ่คนนี้ น่าจะอยู่ในข่าย กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มคนไร้รัฐ/ไร้รากเหง้า หรือบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ลุงนก: คนไทใหญ่กับการเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ (1)
ข้อมูลประกอบ
วารสาร เสียงชนเผ่า ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2555