ที่มา Thai E-News
Voices of Siam
"ศาลเจ้า" ไม่ใช่ "ศาลราษฎร"
นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ความศักดิ์ศิทธิ์และบทบาทที่้ไม่เกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตยของ ศาลไทยว่า ก่อนสมัย ร.5 ศาลไม่เคยศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของใครมาก่อน แต่ความศักดิ์สิทธิ์เพิ่งถูกสร้างขึ้นในภายหลัง และยังพยายามสร้างสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยกลุ่มคนที่เป็นตุลาการ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการปฏิรูปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ของ ร.5 ซึ่ง "ความศักดิ์สิทธิ์" ของฝ่ายตุลาการนี้ มันถูกผูกโยงไว้กับอำนาจของกษัตริย์เหมือนกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันจึงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่คลุมเครือในระบอบประชาธิปไตย อ่านบทความส่วนหนึ่งได้ดังนี้:
"แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายตุลาการ เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกับสมัย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่คลุมเครือในระบอบประชาธิปไตย เพราะพระมหากษัตริย์ที่เป็นฐานของความศักดิ์สิทธิ์นั้น คือพระมหากษัตริย์ในระบอบอื่น ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย
ศาลมักอ้างเสมอว่า พิจารณาพิพากษาคดี "ในพระปรมาภิไธย" ซึ่งแปลว่าอะไรไม่ชัดนักระหว่างผู้พิพากษาเป็นเพียง "ข้าหลวง" ที่โปรดให้มาทำหน้าที่แทน หรือพระปรมาภิไธยในฐานะที่เป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยของปวงชน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ "The People" ในศาลอเมริกัน หรือ "The Crown" ในศาลอังกฤษ เช่นเดียวกับพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดไว้ในห้องพิจารณาคดีของศาลทุกแห่ง หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือบุคลาธิษฐานของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวง ชนชาวไทย
ความคลุมเครือเช่นนี้ลามไปถึงการแต่งกาย, ท่านั่ง, หรือคำพูดของผู้เข้าฟังหรือร่วมในการพิจารณาคดีด้วย เช่น ห้ามแต่งกาย "ไม่เรียบร้อย", ห้ามนั่งไขว่ห้าง, ฯลฯ ทำให้ไม่ชัดนักว่าผู้เข้าฟังหรือร่วมในการพิจารณาคดี กำลัง "เข้าเฝ้า" หรือเพียงแต่อยู่ในห้องพิจารณาคดีของศาลในประเทศประชาธิปไตยกันแน่ "หมิ่นศาล" หมายถึงอะไรกันแน่ ระหว่างการหมิ่น "ข้า-หลวง" ซึ่่งกำลังทำหน้าที่แทนพระเจ้าแผ่นดิน หรือ "ศาล" ในความหมายถึงกระบวนการพิจารณาคดี ที่หากไปขัดขวางด้วยประการต่างๆ ย่อมถือว่า "หมิ่น" เพราะทำให้กระบวนการดังกล่าวไม่อาจดำเนินไปอย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้ ความคลุมเครือนั้นเป็นจราจรสองทางครับ นอกจากทำให้ฝ่ายหนึ่งงงแล้ว ก็ยังทำให้ตัวเองงงด้วย อำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลอะไรก็ตามแต่ ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมตั้งอยู่บนกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มากและไม่น้อยไปกว่าที่กฎหมายกำหนด
แตกต่างจากรับสั่งของพระเจ้าแผ่นดินซึ่ง "ข้าหลวง" ต้องตีความเอาเองว่า ทรงมุ่งประสงค์สิ่งใดกันแน่ แล้วก็ปฏิบัติให้ต้องตามพระราชประสงค์
ความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของศาลเพิ่งสร้างขึ้น ไม่นานมานี้เอง หาได้เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคโบราณไม่
แต่ความศักดิ์สิทธิ์นี้ถูกสร้างขึ้นไม่ใช่เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำหน้าที่ของตนตามระบอบประชาธิปไตย
แต่สร้างขึ้นเพื่อทำให้พ้นจากการถูกตรวจสอบ จึงเอาไปผูกไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์
ซึ่งย่อมอยู่พ้นไปจากการถูกตรวจสอบเช่นกัน"
นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ศาลเจ้า" มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
อ่านฉบับเต็มได้ที่ facebook ส่วนตัวของ Thanapol Eawsakul
ที่มาของภาพ: http://prachatai.com/journal/2010/07/30371