ที่มา ประชาไท
"สมบัติ บุญงามอนงค์" แนะคนเสื้อแดงต่อสู้ด้วยวิถีทางการเมือง
ซึ่งมีแนวรบไม่จำกัดเพศ-วัย อย่าสู้ทางทหารให้เสียเลือดเนื้อ
ถอดบทเรียนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ชี้ใช้ต้นทุนต่ำ ผลกระทบสูง
ทั้งนี้ บก.ลายจุดกล่าวด้วยว่า ระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองกับการต่อสู้ทางการทหารนั้น เขาเสนอให้คนเสื้อแดงใช้การต่อสู้ทางการเมือง เพราะเป็นการต่อสู้ที่ไม่เสียเลือดเสียเนื้อ ใช้เพียงข้อมูล เหตุผลและความชอบธรรมเท่านั้น ทั้งยังมีแนวรบที่ไม่จำกัดเพศและวัย ขณะที่การต่อสู้ทางการทหารนั้นต้องใช้คนหนุ่ม ต้องมีอาวุธและต้องฝึกฝน
บก.ลายจุด ประเมินมวลชนคนเสื้อแดงว่า ในอดีต หลายคนมีลักษณะเกรี้ยวกราด ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้เพราะถูกกระทำมาตลอด อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วง 2 ปีมานี้ คนเสื้อแดงนิ่งขึ้น แต่แนะนำว่าจะต้องฝึกฝนต่อไป ทั้งการหาข้อมูลและความมีเหตุมีผล ซึ่งตรงนี้ก็เห็นพัฒนาการ เพราะเดี๋ยวนี้ คนเสื้อแดงเริ่มไม่ฟังแกนนำปราศรัยแล้วเพราะรู้ว่าจะพูดอะไร และเข้าร่วมงานเสวนาทางวิชาการกันจนเต็มห้อง
เขาชี้ว่า ในการสู้กันด้วยเหตุผล แม้อาจไม่ชนะคู่ต่อสู้ แต่คนอื่นๆ รอบตัวจะฟังและตัดสินเองว่าใครมีเหตุผลกว่ากัน
นอกจากนี้ บก.ลายจุด เสนอให้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยๆ และเชื่อมต่อกันในแนวระนาบเป็น "แดงประจำซอย" เพราะเชื่อว่าที่ไหนๆ ก็ต้องมีคนเสื้อแดง รวมตัวกัน 10-15 คนแล้วตั้งกลุ่มศึกษาแนวคิดต่างๆ และอภิปรายกันเพื่อลับความคิดให้คมขึ้น
ทั้งนี้ เขาวิจารณ์ว่า คนเสื้อแดง 80-90% ที่พบนั้น หมกมุ่นกับการด่าฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่ค่อยคิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้บ้าง เขาจึงเสนอให้แบ่งเวลาในการคิด ส่วนหนึ่ง คิดแบบแกนนำ เพื่อความเท่าทันแกนนำ อีกส่วนหนึ่ง คิดว่าตัวเองถนัดอะไรและจะทำอะไรได้บ้าง โดยยกตัวอย่างทนายที่มาช่วยเหลือด้านคดีแก่ผู้ต้องหาคนเสื้อแดง หรือทีมถ่ายทอดสด "ม้าเร็ว"
นอกจากนี้ บก.ลายจุด ยังได้ถอดบทเรียนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์หรือการ "ป่วน" ของเขาด้วยว่า ที่ผ่านมา เขาเลือกวิธีที่ต้นทุนต่ำ แต่ผลกระทบสูง เช่น การผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม พ.ค.53 ไม่นาน ซึ่งเริ่มด้วยต้นทุนเพียง 350 บาทกับผ้า 10 เมตร แถมยังให้แต่ละคนเอาผ้ามากันเองด้วย แต่ในสัปดาห์ต่อๆ มาก็มีผู้มาร่วมมากขึ้น จนตำรวจสองกองร้อยต้องมาล้อมป้ายราชประสงค์ และถึงขนาดต้องมีการถอดป้ายออกในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เขาเสนอว่า อย่าเตะบอลเข้าโกลด์ตัวเอง เพราะในการเคลื่อนไหวของแต่ละคนนั้นล้วนมีผลต่อขบวนคนเสื้อแดงทั้งหมด จะต้องประเมินจุดนี้ด้วย เพื่อรักษาขบวนไว้ในการสู้ต่อไป พร้อมกันนั้นจะต้องเปิดรับบทเรียนและสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ด้วย โดยได้ยกตัวอย่างความผิดพลาดของตัวเอง ในปี 2535 ที่ได้ปราศรัยด่าแม่ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และได้ถูกตำหนิบนเวทีว่าจะไม่ให้ขึ้นมาบนเวทีอีก เพราะไม่ได้ต่อสู้บนหลักการ ทำให้เขาได้เรียนรู้
บก.ลายจุด เล่าว่า การจะป่วนนั้นเหมือนศิลปะ ต้องหาจุดที่พอดี ไม่สุดโต่งจนเกินไป โดยให้ลองถอยออกไปและมองจากจุดของคนที่ไม่ใช่คนเสื้อแดงเข้ามาบ้าง และในการออกแบบการป่วนจะต้องคิดอย่างละเอียด หากได้เวลาถอยก็ต้องถอย ให้สังคมเล่นต่อ เช่น กรณีไปแจกใบแดงให้ตุลาการรัฐธรรมนูญเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อเขาปฏิบัติการเสร็จก็กลับ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสื่อและโซเชียลมีเดียไป
บางไอเดีย บก.ลายจุด
หากเกิดรัฐประหาร
-ให้นัดกันออกมากดเอทีเอ็มหน้าสำนักงานใหญ่ของธนาคารพร้อมๆ กัน
-ใส่เสื้อสีแดงออกมาเดินห้าง 9 ห้างในหนึ่งวันโดยไม่ซื้อของ (เลียนแบบไหว้พระ 9 วัด) ในลักษณะแฟลชม็อบ โดยนัดเวลากัน ถึงเวลาก็ออกมาเดินปะปนกับผู้คน ห้างละ 30 นาที พอครบก็ย้ายไปเรื่อยๆ เพื่อส่งสัญญาณให้รู้ว่าไม่ยอมรับอำนาจนอกระบบ
-ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป 5 คนใส่เสื้อแดงมาชุมนุมต้านรัฐประหาร หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หากจะมีการจับกุมก็ปล่อยให้จับ ทำต่อไปทุกวัน วันละ 5 คน หากมีการจับไปเรื่อยๆ เช่นกัน คาดว่า ทำได้ 2 สัปดาห์ ทหารจะแพ้ทางการเมือง