ที่มา ประชาไท
Mon, 2012-07-09 21:05
ประกายไฟการละคร แสดงละครในการชุมนุมวันที่ 10 เม.ย.55
(แฟ้มภาพ: ประชาไท)
อันเนื่องมาจากงานเสวนาของ "ประกายไฟการละคร" เมื่อวาน ที่ยังทิ้งสิ่งตกค้างอยู่ในใจข้าพเจ้า
1. ทำไมนักศิลปวัฒนธรรมแดงบางส่วน จึงคิดว่า ปัจจุบัน การทำงานกับคนเสื้อแดงไม่จำเป็นแล้ว ที่ทำๆ กันอยู่นี้ เป็นเพียงการวนเวียนทำกันเอง ฟังกันเอง เสพกันเอง ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเป็นการพูดซ้ำๆ ในสิ่งที่คนเสื้อแดงรู้อยู่แล้ว เข้าใจอยู่แล้ว จริงหรือไม่
*ส่วนตัวข้าพเจ้าคิดว่า นักศิลปวัฒนธรรมแดงยังคงต้องทำงานสื่อสารกับคนเสื้อแดงต่อไป เพื่อหล่อเลี้ยงอารมณ์ความรู้สึกในการต่อสู้ของกันและกัน (ไม่ใช่เพื่อยกระดับหรือให้การศึกษามวลชน เพราะข้าพเจ้าเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่า มวลชนต่างหากคือผู้ยกระดับนักศิลปวัฒนธรรม
2.การสร้างงานศิลปะเพื่อสื่อสารกับคนกลุ่มอื่น เช่น เสื้อขาว เสื้อเหลือง สลิ่ม ฯลฯ มีความสำคัญมากกว่าการสื่อสารกับคนเสื้อแดง จริงหรือไม่
*ข้าพเจ้าเห็นว่า การสร้างงานศิลปะเพื่อสื่อสารกับคนกลุ่มอื่น มีความสำคัญ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชั้นกลางวัฒนธรรมเสียงดัง ที่เราต่างตระหนักกันดีว่า ในการต่อสู้ของประชาชน หากขาดคนกลุ่มนี้แล้วมันชนะยาก แต่อย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่า มันสำคัญกว่าการทำงานกับคนเสื้อแดง เพราะจนถึงวันนี้ ข้าพเจ้าก็ยังเห็นอย่างที่เคยเห็นเสมอมาว่า กลุ่มคนที่เป็นกำลังแข็งขันและทุ่มเทอย่างเข้มข้นในการต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยของประเทศนี้ ก็คือ "คนเสื้อแดง"
3. งานศิลปะชิ้นหนึ่งสามารถสื่อสารกับคนเสื้อแดงและเสื้อสีอื่นไปพร้อมกันได้หรือไม่
*ข้าพเจ้าคิดว่า งานศิลปะที่สื่อสารกับคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ คืองานที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยและความเป็นคนที่เท่ากัน หากสลิ่ม หรือเสื้อเหลือง หรือเสื้อสีอื่น เชื่อในหลักการนี้ ก็ย่อมเข้าใจงานศิลปะนั้นๆ ไปพร้อมกับคนเสื้อแดงได้ นั่นคือ งานศิลปะของคนเสื้อแดงสามารถสื่อสาร “ข้ามสี” ได้ หรือพูดง่ายๆ คือ คนเสื้อแดงก็ชอบได้ คนเสื้ออื่นก็ชอบได้ แต่ “รสนิยมร่วมข้ามสี” เช่นนี้ เกิดขึ้นได้ “จริง” หรือไม่ เพราะในความเป็นจริงคือ คนเหล่านี้เชื่อในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคนเสื้อแดง งานศิลปะที่สื่อสารกับคนเสื้อแดงได้ ย่อมถูกปฏิเสธจากพวกเขาโดยอัตโนมัติ (เช่นเดียวกับที่พวกเขาปฏิเสธงานวิชาการของฝ่ายประชาธิปไตย) ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การเรียกร้องให้นักศิลปวัฒนธรรมที่มุ่งทำงานสื่อสารกับคนเสื้อแดง “ยกระดับ” ตัวเองไปทำงานข้ามสีด้วย เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่หากจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ก็อาจแก้ปัญหาได้บ้างด้วยการแบ่งงานกันทำ ใครสื่อสารกับคนเสื้อแดงได้ก็ทำไป ใครสื่อสารกับคนเสื้อสีอื่นได้ก็ทำไปเช่นกัน (แต่หากใครเชื่อมั่นในศักยภาพของตนว่ามีมากพอจะทำทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน ข้าพเจ้าก็เอาใจช่วย)
4.มีการกล่าวกันว่า หากนักศิลปวัฒนธรรมแดง จะทำงานสื่อสารกับคนข้ามสี ต้องยกระดับงานของตนให้มีชั้นเชิงทางศิลปะหรือสุนทรียะมากขึ้น หรือต้องใช้ศักยภาพทางศิลปะ “สูงกว่า” ที่ทำๆ กันอยู่ จริงหรือไม่
*ข้าพเจ้าคิดว่า ปัญหามันไม่ใช่เรื่องศิลปะ แต่เป็นเรื่องของการยึดมั่นหลักการและการยืนยันจุดยืนที่ต่างกัน
5.ด้วยรู้กันดีว่าคนเสื้อแดงสู้อยู่กับใคร งานศิลปะของฝ่ายเสื้อแดงจึงหลีกไม่พ้นการเดินเข้าสู่ดินแดนอันล่อแหลมและ เสี่ยงภัย นั่นทำให้ขอบเขตในการเผยแพร่งานสู่สาธารณะถูกจำกัด เพื่อขยับให้งานศิลปะของฝ่ายเสื้อแดงเข้าไปมีพื้นที่อยู่ในสื่อกระแสหลัก มากกว่าที่เป็น นักศิลปวัฒนธรรมแดงควรนำเสนอให้พลิ้วไหวและเต็มไปด้วยการซ่อนสัญญะมากขึ้น จริงหรือไม่
*คำถามย้อนกลับของข้าพเจ้าคือ การตายของอากง “พลิ้วไหว” พอหรือไม่ ก็ขนาดความจริงที่สั่นสะเทือนและบีบคั้นหัวใจผู้คนในสังคมได้มากอย่างนั้น สื่อกระแสหลักยังแตะน้อยกว่าดราม่าเรื่อง “นม” หรือการ “ซั่ม” กันของเด็กมัธยมต้น ไม่เว้นแม้แต่สื่อที่ว่ากันว่า “ค่อนมาทางแดง” แล้วเราจะหวังมาตรฐานอะไรกับการพิจารณาเผยแพร่งานศิลปะของสื่อกระแสหลัก เหล่านี้ ที่ล้วนตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์อนุรักษนิยมและกษัตริยนิยม แท้จริงแล้วนี่เป็นเรื่องที่เราต้องตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยซ้ำ
6.สุดท้าย เป็นคำถามเกรียนๆ ของข้าพเจ้า นั่นคือ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกอยู่ลึกๆ โดยสังหรณ์ใจของข้าพเจ้าเองว่า นักศิลปวัฒนธรรมแดงบางส่วน เชื่อว่า การมายืนอยู่กับเสื้อแดงคือความก้าวหน้า แต่มันเป็นเพียง “ความก้าวหน้าที่ดักดาน” หากคุณเพียงสร้างงานให้คนเสื้อแดงเสพ การสยายปีกข้ามไปคุยกับคนสีอื่นได้ต่างหาก คือสิ่งยืนยันความสามารถทางศิลปะอย่างแท้จริงของคุณ จริงหรือไม่
*ข้าพเจ้าไม่มีคำตอบ