ที่มา ประชาไท
กรณี ๖ ตุลา หลายครั้งจะถูกเอ่ยถึงโดยคนรุ่นหลังว่า “เหตุการณ์ ๑๖ ตุลา” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการผสมจินตภาพของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ กับ เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งมีระยะห่างราว ๓ ปี อันที่จริงเหตุการณ์ ๒ กรณีนี้ ก็มีความเกี่ยวพันกัน เพราะในกรณี ๑๔ ตุลาคม ขบวนการนักศึกษาเป็นแกนนำในการต่อต้านเผด็จการ และประสบความสำเร็จในการขับไล่รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร และฟื้นฟูประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ส่วนกรณี ๖ ตุลาคม หมายถึง ๒ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือ การเข่นฆ่าสังหารนักศึกษาประชาชนที่เกิดขึ้นในเวลาเช้าตรู่ กับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเวลาเย็นวันนั้น จึงน่าที่จะต้องหันมาพิจารณาเหตุการณ์นี้อีกครั้ง
ก่อนที่จะเกิด เหตุการณ์ ๖ ตุลา สังคมไทยสมัยนั้น มีความแตกต่างทางความคิดเป็นสองแนวทางอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างสำคัญ โดยเฉพาะการเติบโตของแนวคิดแบบสังคมนิยม ซึ่งเตยเป็นแนวคิดต้องห้ามในสมัยเผด็จการ แนวคิดสังคมนิยม ก็คือ แนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจชุดหนึ่งที่เกิดจากการวิพากษ์สังคมเก่า เห็นว่าสังคมเก่าที่ใช้วิธีการแบบทุนนิยมเป็นหลักนั้นไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเศรษฐกิจทุนนิยมทั่วโลกย่อมนำมาซึ่งช่องว่างทางชนชั้นอันแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น แนวคิดสังคมนิยมจึงนำเสนอให้สร้างสวัสดิการโดยรัฐ เพื่อให้โภคทรัพย์กระจายไปสู่ชนชั้นล่างของสังคม อันได้แก่กรรมกร ชาวนา และประชาชนทั่วไป
แนวคิดเช่นนี้เผยแพร่ โดยการมีการพิมพ์หนังสือที่เสนอแนวทางสังคมนิยม และลัทธิมาร์กซ ออกวางแผงขายเป็นจำนวนมาก และเป็นที่นิยมทั่วไป แนวคิดสังคมนิยมยังเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสวัฒนธรรมใหม่ เช่น วรรณกรรมเพื่อชีวิต เพลงเพื่อชีวิต การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี การอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม และการเกิดขององค์การพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับประชาชนระดับล่าง เป็นต้น นอกจากนี้ก็คือ เกิดการจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมมาต่อสู้ทางรัฐสภา มีการส่งผู้สมัครสังคมนิยมลงแข่งขันในการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมชนะเลือกตั้งถึง ๓๕ เสียงในสภาผู้แทน
กระแส ความคิดเช่นนี้ ก่อให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากในหมู่ประชาชนระดับล่าง กรรมกรและชาวนาที่เคยต่ำต้อยน้อยหน้า และไม่เคยได้รับสิทธิอันควร ต่างก็ก่อการนัดหยุดงานและชุมนุมประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิของตน รวมทั้งมีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาจำนวนมากเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ในกลุ่มชาวนา ก็ได้ตั้งองค์กรสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ เพื่อประสานการต่อสู้เรียกร้องของชาวนา ส่วนขบวนการนักศึกษา ก็ได้ยกระดับการต่อสู้ไปสู่ปัญหาเอกราช นั่นคือการขับไล่ฐานทัพอเมริกาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และสามารถทำได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๕๑๙
การพัฒนาของแนวคิดสังคมนิยมและ กระแสการต่อสู้ของประชาชนระดับล่างดังกล่าว ก่อให้เกิดความวิตกอย่างมากในกลุ่มชนชั้นนำไทยที่มีลักษณะอำมาตยาธิปไตยและ คุ้นเคยกับแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมเจ้า ทั้งที่ในสังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ความแตกต่างทางความคิดนั้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในยุโรปตะวันตกทุกประเทศต่างก็มีพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตย หรือ พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคเหล่านี้กับพรรคอนุรักษ์นิยมและฝ่ายขวาก็ต่อสู้กันด้วยวิธีการ ประชาธิปไตย ขึ้นกับว่าประชาชนจะให้ความนิยมพรรคไหน ดังนั้น จึงมีหลายประเทศ ที่พรรคสังคมนิยม หรือ สังคมประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศตามกลไกประชาธิปไตย จึงไม่เกิดความรุนแรงและการเข่นฆ่าสังหาร แต่ในกรณีของประเทศไทย ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยไม่ได้คิดเช่นนั้น และไม่เห็นว่าวิธีการประชาธิปไตยจะเป็นการแก้ปัญหาทางความแตกต่างทางความคิด แต่คุ้นเคยกับการที่บีบบังคับและมอมเมาให้ประชาชนเชื่อและศรัทธาแบบอนุรักษ์ นิยมเจ้า เห็นความคิดแบบอื่นเป็นความเบี่ยงเบน ที่จะต้องเข่นฆ่าทำลาย เพื่อหวังให้สังคมไทยกลับมาราบรื่นสุขสงบแบบที่พวกตนคุ้นเคย
ภายใต้ กรอบแนวคิดอันคับแคบเช่นนี้ ชนชั้นนำไทยก็เริ่มใช้วิธีการหลายอย่างในการต่อต้านขบวนการนักศึกษา ตั้งแต่ใช้สื่อมวลชนกระแสหลักสร้างภาพใส่ร้ายป้ายสีขบวนการนักศึกษา ให้เห็นว่าเป็นคอมมิวนิสต์และก่อความวุ่นวาย ตั้งองค์กรฝ่ายขวาขึ้นมาเผชิญหน้า และใช้ความรุนแรงคุกคาม เช่น การเข่นฆ่าสังหารผู้นำนักศึกษา ผู้นำชาวนา การปล่อยให้องค์กรอันธพาล เช่น กระทิงแดง ใช้อาวุธปืนและระเบิดคุกคามการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายประชาชน เป็นต้น
เมื่อสร้างกระแสใส่ร้ายป้ายสีปลุกระดมจนก่อให้เกิดความเข้า ใจผิดไปทั่วแล้ว ก็สร้างเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยอ้างเหตุว่า นักศึกษาก่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปลุกประชาชนฝ่ายขวาให้มารวมตัวกันอย่างรวดเร็ว จากนั้น ในเวลาเช้ามืด วันที่ ๖ ตุลาคม ฝ่ายอำมาตยาก็ก่อการกวาดล้างปราบปราม โดยนำเอากำลังตำรวจตระเวนชายแดนติดอาวุธพร้อม มาระดมยิงเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๔๐ คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก จากนั้น ก็จับกุมผู้ชุมนุมจำนวน ๓,๐๘๔ คน เข้าคุก แล้วเปิดทางให้คณะทหารที่เรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ก่อการรัฐประหารในเวลาเย็น
การรัฐ ประหารในวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ รักษาจารีตเดิมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยทุกประการ คือ ล้มเลิกรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ล้มเลิกรัฐสภา ล้มเลิกรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย แต่คงให้ศาลและองคมนตรีดำรงอยู่ต่อไป คณะรัฐประหาร ได้เชิญนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรี ใช้สภาแต่งตั้ง ใช้ธรรมนูญชั่วคราวในการปกครอง ให้อำนาจเผด็จการแก่รัฐบาลธานินทร์ จนขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐบาลพลเรือนที่เผด็จการขวาจัดที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แทนที่รัฐธานินทร์จะจัดการกับกลุ่มฝ่ายขวาที่เป็นฆาตกรฆ่าประชาชน กลับดำเนินคดีกับฝ่ายนักศึกษา โดยทำการคุมขังและฟ้องผู้นำนักศึกษา ๑๙ คน ผู้นำนักศึกษาเหล่านี้ต้องถูกจำคุมเกือบ ๒ ปี จึงได้รับการนิรโทษกรรมและปล่อยตัวในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๒๑ สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เมื่อเวลาผ่านมา ก็จะเป็นที่เห็นพ้องกันว่า วิธีการดำเนินการในกรณี ๖ ตุลา ทั้งการเข่นฆ่าสังหารประชาชน และการก่อการรัฐประหาร ไม่ได้เป็นวิธีการแก้ปัญหาอันถูกต้องและเป็นอารยะ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยไทยไม่รู้จักสรุปบทเรียน ในที่สุดก็ดำเนินการให้ฝ่ายทหารก่อการรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยเมื่อ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ และสนับสนุนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข่นฆ่าประชาชนในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และการเข่นฆ่าสังหารนั้น ก็ยังเกิดขึ้นภายใต้กรอบแบบเดิม คือ ได้มีการกุเรื่องผังล้มเจ้าขึ้นมาใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายประชาชนคนเสื้อแดง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข่นฆ่าสังหาร แต่กระนั้น กรณีสังหารหมู่ประชาชนเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ ก็ยังคงเป็นตราบาปใหญ่ ที่ต้องหาทางแก้ต่างกันมาจนถึงขณะนี้
สรุปแล้ว เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม คือ มลทินครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของชนชั้นนำไทย เพราะเป็นการชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นอำมาตยาธิปไตยไทยนั้น มีจิตใจอันเหี้ยมโหด ชอบแก้ปัญหาโดยการเข่นฆ่าประชาชน ไม่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ชอบสนับสนุนการรัฐประหาร เพียงแต่ว่าสถานการณ์ในวันนี้ คงยากลำบากมากขึ้น วันเวลาที่พวกอำมาตย์ไทยจะมีบทบาทครอบงำทางการเมืองสั้นลงทุกวัน
ประวัติศาสตร์ ๖ ตุลาได้บ่งชี้ว่า ประชาชนไทยจะชนะในที่สุด