WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, February 28, 2010

วันเสียงปืนแตก ณ นครพนม

ที่มา ประชาำไท


สายลมฝนที่ไหลหลั่งรินมิขาดสาย พร้อมลมแรงสาดซัดแป้นไม้มุงหลังคาบ้านอันโทรมๆโกโรโกโส ที่ปลูกอยู่ชายทุ่งนา ใต้ต้นแดง หล่นร่วงลงพื้นนาเสียงดังผลุ ไม้มุงที่เก่าโทรมมีรอยแตกรั่ว ทำให้หยดน้ำฝน หล่นตกลงรินไหลสู่พื้นเฮือนอันโย้เย้ ที่ปลายนาของหมู่บ้านชาวนา ที่นครพนม จนเป็นเรื่องปกติ แต่สายฟ้าที่ผ่าฟาด ดังสนั่นท้องฟ้าและท้องทุ่ง ก็ทำให้น่าหวาดกลัวอยู่มิเคยจืดจาง แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่พบเสมอในกลางเดือนสิงหาคมของทุกปี แต่มันก็น่ากลัวอยู่บ่เคยเสื่อมคลาย และเมื่อสายฝนจางหาย สายรุ้งงามจึงทอประกายให้เห็นในยามรุ่งสางหรือบ่ายแลง ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง นครพนม

เมื่อยามฝนรินในช่วงเดือนสิงหาคม สายลำน้ำโขง เริ่มที่จะไหลหลั่ง ล้นตลิ่งสองฝั่งโขงนครพนม-ท่าแขก รวมไปถึงสายน้ำเล็ก ลำห้วยใหญ่ เช่น ลำน้ำก่ำ ที่ไหลล่องเลาะเรียบภูกำพร้า เนินดินที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนม มาแต่ครั้งโบราณกาล และลำน้ำบังที่ไหลผ่าน บ้านดงอินำ ตำบลพระซอง อำเภอนาแก และบ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร ที่เหมือนพรมแดนกั้นสองอำเภอของจังหวัดนครพนม ให้มีความชัดเจน ก็เอ่อเกือบเต็มฝั่ง นี่เป็นสภาพทางนิเวศหมู่บ้านชาวนาแห่งประวัติศาสตร์ในอดีต กลางหน้าฝนที่ฝนตกชุกที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเมื่อถึงคราวหน้าหนาว ก็หนาวเย็นยะเยือก จนน้ำค้างตอนรุ่งสางที่ริมลำน้ำบัง เกือบจะจับตัวเป็นก้อนแข็ง

“ เสียงปืน นัดแรก แตกที่นาบัว ตำบลหนองฮี ใครก็รู้สงครามประชา....” บทเพลงวันเสียง-ปืนแตก ที่ขับร้องโดยอดีตสหายหญิงชาวนา ยังดังกึกก้องในหัวใจของข้าพเจ้าอยู่เสมอบ่เหือดหาย เมื่อครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยไปร่วมงานรำลึกวันเสียงปืนแตก ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2545 ในฐานะที่ข้าพเจ้า เป็นลูกหลานชาวนา นครพนม เกิดและโตที่นั่น ณ วันนี้เหตุการณ์วันเสียงปืนแตก เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ผ่านมา 45 ปีแล้ว ซึ่งผู้คนที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่วนมากยังมีชีวิตอยู่

ข้าพเจ้าไม่รู้หรอกว่า วันเสียงปืนแตก เป็นวันที่ 8 สิงหาคม 2508 ? ดังที่นักวิชาการแห่งเมืองหลวง บางท่านได้พยายามหาเหตุผลมาอธิบาย แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ตั้งแต่จำความได้ ข้าพเจ้าก็รับรู้ว่า วันเสียงปืนแตก คือ วันที่ 7 สิงหาคม 2508 มันเกิดขึ้นที่บ้านเกิดเมืองนอนของข้าพเจ้าเอง “นครพนม” และข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่าจะไปเปลี่ยนแปลงมัน เพราะมันเป็นเรื่องของชาวนาที่นั่น และเป็นเรื่องของอดีต ที่ผู้ใหญ่ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในอดีตได้พิจารณากันแล้วว่า มันควรเป็นวันนี้ เพราะวันที่ 7 เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ตั้งแต่ต้น จนบั้นปลาย ตั้งแต่พลบค่ำจนรุ่งสาง ตั้งแต่สหายชาวนา จนเป็นเรื่องของสหายนำระดับกรรมการศูนย์กลางพรรค ที่สำคัญข้าพเจ้ามิได้ เป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อม เพราะข้าพเจ้ายังไม่ได้เกิดด้วยซ้ำไป กับเหตุการณ์คราวนั้น แต่ ณ แผ่นดินแห่งนี้ คือ มาตุภูมิ ของข้าพเจ้า ชาวนาที่นั่น คือ พี่น้องของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิได้สนใจว่า จะมีนักวิชาการ จะมีนักการเมือง จะมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ แต่ข้าพเจ้าสนใจและรับรู้ว่า ประชาชนพื้นฐาน ได้มีส่วนในการให้กำเนิดประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวนาในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยชีวิต จิตสำนึก ของการเป็นพลเมืองชายขอบแห่งรัฐประชาชาติสมัยใหม่

วันนั้นเป็นวันที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง ได้สืบทราบมาว่า มีการเคลื่อนไหวของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในเขตบ้านนาบัว เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงได้ล้อมปราบ มีการปะทะกัน และมีการสูญเสียของคนไทยด้วยกันเอง ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและฝ่ายที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นข่าวดังไปทั่วอินโดจีน เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการแตกเสียงปืนในนามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คุณลุงหนูลา จิตมาตย์ ที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ท่านออกไปทำงานเคลื่อนไหว ให้การศึกษาทางการเมืองแก่ชาวบ้าน ที่เถียงนา บ้านนาบัว ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ทำการล้อมปราบ แต่ในระหว่างนั้นค่ำแล้ว ยังทำงานอยู่ จึงบอกชาวบ้าน ให้ไปเตือนสหายคนอื่น ที่นอนพักอยู่ที่ใต้ต้นแดง อยู่โนนนาของผู้ใหญ่บุญคำ จิตมาตย์ ริมห้วยบัง ให้หลบออกไปก่อน

“ผมกลับมาตอนประมาณ 3ทุ่ม กลับมากะนอนเลย พวกนั้นนอนอยู่ใต้ต้นแดง เขามาล้อมแต่ตอนใดกะมิฮู้ ล้อมแบบรูปพระจันทร์เสี้ยว แล้วก็ยิง ตอนประมาณ 6โมงเช้า วันที่ 7 สิงหาคม 2508 ยิงกันผมกะอยู่ข้างๆ เข้าไปบ่ได้ เขาล้อมยิงพวกเฮาต้องถอย อีกทั้งกำลังน้อยกว่า และนโยบายของเฮาขณะนั้นยึดแนวแค่ป้องกันตัว มิให้สู้ให้หลบหลีก

สหายเสถียร ที่แม่นปืน ยิงป้องกันให้คนอื่นหลบออกไปก่อน แต่สหายเสถียร ถูกยิงขา ล้มลง ส่วนคนอื่นหลบหนีไปได้หมด ทางเจ้าหน้าที่กะเลยรีบวิ่งมาเพื่อที่จะมาจับสหายเสถียร อาจสิหวังเอาผลงาน รู้สึกว่าสิเป็นร้อยตำรวจเอก หรือไผจำมิได้ เป็นหัวหน้าชุด วิ่งมา ถูกสหายเสถียร ยิงเสียชีวิต ส่วนสหายเสถียรกะถูกเขากระหน่ำยิงตายตอนนั้น”

(จากงานวิจัยเรื่องวันเสียงปืนแตกฯ,ธันวา ใจเที่ยง,2544)

นอกจากลุงหนูลา จิตมาตย์ คุณลุงเสถียร จิตมาตย์ ที่เป็นผู้เสียชีวิตในวันเสียงปืนแตกเมื่อ 45 ปี ที่ผ่านมาแล้ว ยังมีคุณลุงหนูทอง นามวุฒิ คุณลุงคำทา จิตมาตย์ คุณลุงกายน คำบุดดา คุณลุงสนไชย มุลเมือง คุณลุงยวน จิตมาตย์ และคุณลุงลำเงิน จิตมาตย์ ซึ่งทั้งหมดเป็นคนผู้ไท ที่มีภูมิลำเนา อยู่ที่ เรณูนคร ทั้งสิ้น

หลังเหตุการณ์ในคราวนั้น บ้านนาบัวเป็นที่รู้จักไปทั่วภูมิภาคอินโดจีน เพียงชั่วข้ามคืน และเสียงปืนแตก ที่ปลายนาบ้านนาบัว ตรงพื้นที่นาของผู้ใหญ่บุญคำ ในคราวนั้น เป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มสงคราม อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองและแฝงไว้ด้วยการแย่งชิงอำนาจเพื่อการปกครองบ้านเมือง และกว่าจะจบสิ้นใช้เวลาประมาณ 20 ปี นำความสูญเสียมายังชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนคนไทย ทั้งในกลุ่มพี่น้องชาวนา ชาวไร่ นิสิตนักศึกษา เจ้าหน้าที่ของรัฐและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ การพลัดพรากพ่อ พลัดพรากแม่ พี่น้อง ลูก เมียและสามี อย่างไม่มีวันหวนกลับ มันแสนอาลัย จนน้ำตาแทบจะเป็นสายเลือด เพราะความเห็นต่างกันในอุดมการณ์ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาที่มีความสลับซับซ้อน หลายระดับ ตั้งแต่ระดับความบริสุทธิ์ใจต่อการออกป่าไปต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมอุดมธรรมของนักรบชาวนา-ชาวนาปฏิวัติ ที่ต้องการสังคมที่มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมปราศจากการกดขี่ขูดรีด และความบริสุทธิ์ในอุดมคติของเหล่าทหารชั้นผู้น้อย ตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ ที่ต้องการปกป้องผืนแผ่นดินไทยและสถาบันหลักของชาติ จนไปถึงระดับความซับซ้อนในเรื่องการแย่งชิงอำนาจที่ไม่เคยจืดจางไปเลยในสังคมไทย ที่ยากเกินกว่าคนระดับล่างจะเข้าใจ

นานหลายปีที่ข้าพเจ้าได้ไป ที่บ้านนาบัว ตั้งแต่เมื่อคราวเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ประมาณ 10 ปี ที่แล้ว ที่ยังตัวเล็กๆผอมๆ ไปทำงานวิจัย เชิงประวัติศาสตร์เล็กๆ แบบนักวิชาการสมัครเล่น ขับรถปิคอัพโกโรโกโสลุยฝุ่น เข้าไปที่บ้านนาบัว พอขับรถผ่านถนนเข้านาบัว ซึ่งเป็นทางลูกรัง ฝุ่นสีน้ำตาล จะคุ้ง ข้าพเจ้าชอบเหยียบคันเร่ง เพราะทำให้มีฝุ่นเยอะ ที่ภาษาไทบ้าน เรียกว่า “ฝุ่นกรุ๊บ” ทำให้ได้บรรยากาศชนบทๆ ยังจำได้ไปบ้านนาบัวครั้งแรก มีความรู้สึก ตื่นๆเหมือนกัน เพราะในการรับรู้ตั้งแต่สมัยเรียนรักษาดินแดน (รด.) ที่โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดนครพนม ตอนอยู่ชั้นมัธยม ครูฝึก ที่เป็นทหาร ชอบเอาเรื่องการรักชาติ การต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย มาปลุกใจ ปลุกเลือดรักชาติ และเอาเรื่องผกค. มาให้เยาวชน ได้มีจิตใจฮึกเหิม ในฐานะที่เราเป็นทหาร เราต้องปกป้องประเทศ อะไรทำนองนั้น และก็จะบอกว่า ที่บ้านนาบัว เป็นบ้านที่มีการต่อสู้ระหว่างทหารกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นคอมมิวนิสต์ จึงเป็นเรื่องน่ากลัว ที่อยู่ในใจของคนรุ่นข้าพเจ้าเกือบทุกคน โดยเฉพาะพวกที่ผ่านการฝึกรักษาดินแดน แม้แต่รูปของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ ที่ติดอยู่บ้านพี่น้องคนไทยเชื้อสายญวน ผมขาวและไว้หนวดยาวๆ เมื่อยังไร้เดียงสา ดูประหนึ่งว่ารูปท่าน คือ สิ่งที่น่ากลัวที่สุด พอๆกับผี ที่มิควรมีไว้ประดับบ้าน ในตอนหลังต่างหากเมื่อเข้าใจ จึงได้ชวนลุงเตียว จัดงานเล็กๆเพื่อรำลึกถึงความดีงาม ของลุงโฮ เมื่อปลายปี พ.ศ.2543 ที่นาจอก ดังนั้นเมื่อมาเยือนหมู่บ้านที่ ถูกกล่าวว่าคือบ้านผู้ก่อการร้ายฯ ใหม่ๆ ย่อมหวั่นไหว อยู่เช่นเดียวกัน

วันแรกไปนั่งสัมภาษณ์คุณลุงไสว แสนมิตร อดีตผู้ใหญ่บ้าน สัมภาษณ์ลุงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะนั้นและบรรยากาศของหมู่บ้าน เพราะลุงเป็นผู้ใหญ่บ้านในช่วงเกิดเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก เราคุยกันช่วงบ่ายๆที่ข้างกองฟางใหญ่ บนผืนนาของคุณลุง จำได้ว่าลุงใส่กางเกงขาก๊วยสีเหลืองๆ สวมหมวกแก๊ป ใส่เสื้อกระทิงแดง ที่มีรูปกระทิงสีแดงสองตัวชนกัน ใส่รองเท้าแตะ สีเขียวๆ ส่วนข้าพเจ้าใส่เสื้อยืดสีขาว กางเกงยีนส์ สวมเสื้อคลุม ของคณะสิ่งแวดล้อมฯ ที่เคยใส่สมัยตอนออก ทริป เมื่อครั้งยังเรียนที่ศาลายา ตอนนั้นพึ่งเรียนจบใหม่ๆ กลิ่นนักศึกษายังไม่จางหาย ข้างๆผม ก็มีเจ้าบ๊วย เจ้าแตง เจ้าตั๊ก ลูกศิษย์ ครุศาสตร์เอกการศึกษาปฐมวัย รุ่นแรก ซึ่งไม่ใช่นักศึกษารัฐศาสตร์ ที่เรียนเกี่ยวกับการเมืองเลย แม้ตัวข้าพเจ้าก็มิใช่ครูทางรัฐศาสตร์ แต่พวกเราก็ลุยกันไป ตอนนั้นเป็นวันแรกที่รู้จักลุงไหว ดูลุงก็ยังไม่มั่นใจ กับเรานัก ว่าพวกนี้เป็นใคร แต่ท่านก็ให้สัมภาษณ์ อย่างดี

นับจากวันนั้น ข้าพเจ้าดูเหมือนว่าจะรู้จักกับชาวนาบัวมากขึ้นๆ และจากที่ไปเช้าบ่ายกลับ ก็ไปเช้ากลับดึก ข้าพเจ้ารู้จักผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่ในหมู่บ้าน เช่น ผู้ใหญ่บุญคำ จิตมาตย์ อดีตนายพันแห่งกองทัพประชาชน ผู้ใหญ่ลำสินธ์ จิตมาตย์ และผู้ใหญ่วีระชัย จิตมาตย์ คุ้นเคยกับพวกท่านผู้ใหญ่บ้านเหล่านี้ดี เริ่มไม่กลัวคอมมิวนิสต์ เพราะไปนาบัว ไม่เห็นคอมมิวนิสต์ เห็นแต่ชาวบ้าน เห็นแต่พี่น้องที่เป็นชาวนา หญิงชาย ผู้ใจดี ล้วนเป็นรุ่นพ่อ–รุ่นแม่ รุ่นลุง-รุ่นป้า รู้จักคุณลุงหนูลา จิตมาตย์ หรือลุงวิหาร คนที่อยู่ในเหตุการณ์ 7 สิงหา รู้จักภรรยาของท่าน ที่เป็นแพทย์ สมัยอยู่ป่า เคยไปกินข้าวที่ปลายนาของท่าน ตอนนี้ลุงอายุ 73 ปีแล้ว ยังแข็งแรง เลี้ยงหมูอยู่ปลายนาริมน้ำบังอย่างมีความสุข ได้รู้จักนักปราชญ์แห่งนาบัว อดีตสหายชาวนาผู้ยิ่งยง “คุณลุงชม แสนมิตร” หรือลุงตั้ง ที่ปีนี้ อายุ 80 กว่าแล้ว เมื่อข้าพเจ้าไปนาบัว ทุกครั้งข้าพเจ้าจะไปหาลุง และป้ากาฬสินธุ์ วันไหนที่เจอลุงที่วัด จึงจะไม่ได้ไปที่บ้าน บ้านไม้สองชั้น ริมลำน้ำบัง ส่วนป้ามักทอผ้าอยู่ที่บ้าน เมื่อทราบว่าข้าพเจ้ามา และมีประชุมกันที่วัด ป้าก็จะฝากให้คนไปบอกให้ข้าพเจ้าไปหาที่บ้าน ป้ามักจะตักข้าวสารให้ เพราะรู้ว่าเราอยู่หอพัก ไม่มีเวลาทำนา กลัวว่าเราจะเสียเงินซื้อข้าว แต่ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นน้ำใจของชาวนา ที่ยิ่งใหญ่ แม้วันนี้ป้าจะจากลุงชมและข้าพเจ้าไป อย่างไม่หวนกลับแล้ว

ลุงชมเล่าว่า ลุงเคยเป็นทหารไปช่วยเจ้าสุภานุวงศ์ เจ้าฟ้าชายแห่งราชวงศ์หลวงพระบาง ที่สละตำแหน่งเจ้าชาย เข้าป่าปฎิวัติ เพื่อปลดแอกลาวจากมหาอำนาจตะวันตก ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490และกลับมาเยี่ยมบ้านเมื่อปี 2504 ในระยะที่รัฐบาลไทยสนับสนุนตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา ลุงและสหายที่กลับมาจากลาวเพื่อเยี่ยมญาติ จึงถูกปิดล้อม และตอนใกล้สางของวันที่ 20 สิงหาคม 2504 เสียงปืนแตก ที่ดังขึ้น ณ บ้านนาบัว ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับคนที่ถูกกล่าวว่าเป็นผู้ก่อการร้าย จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ที่ใต้ต้นจามจุรี ปลายนาบ้านนาบัว ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่มีใครเสียชีวิต ในขณะที่ เหตุการณ์ 7 สิงหา เกิดขึ้นที่ปลายนา ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ริมน้ำบัง และลุงชมเป็นสมาชิกของกองทัพการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยพี่น้องอินโดจีนจากการตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ภายใต้การนำของลุงสุภานุวงศ์ หรือขบวนการลาวฮักชาติ ที่ผูกพันและใกล้ชิดกับขบวนการเสรีไทยแห่งเทือกเขาภูพาน ภายใต้การนำของท่านปรีดี พนมยงค์ และนายเตียง ศิริขันธ์ ส่วนเหตุการณ์ 7 สิงหา 2508 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ออกมายอมรับว่า สหายดังกล่าว คือ สมาชิกของพรรค รวมทั้งผู้เสียสละ ในคราวนั้น คือ สหายเสถียร ที่พึ่งกลับจากการเคลื่อนไหวในลาวด้วย

ปกติตอนบ่ายๆ ลุงชม ชอบไปทอดแห ที่ลำน้ำบัง ใกล้ค่ำก็กลับมา ป้าจะเป็นคนทำกับข้าว บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้า จะได้กินข้าวฝีมือของป้า กินข้าวเสร็จ ลุงจะชอบมาสาน เครื่องจักสาน พวกไซ ใส่ปลา ส่วนลุงไหว จะอยู่กับป้าแตงอ่อน ที่ปลายนา ห่างออกไป บ้านที่อยู่แถวคุ้มวัดให้ลูกสาวและลูกเขยอยู่ ข้าพเจ้าจึงไม่ค่อยได้ไปกินข้าวเย็นกับลุงไหวและป้าแตงอ่อน บ่อยเท่าใดนัก และที่นาบัว ข้าพเจ้ายังรู้จักและมักคุ้นกับสหายลอยเด่น นามวุฒิ อดีตทหารพิทักษ์ คุณลุงไขแสง สุกใส ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯจังหวัดนครพนม ที่ชาวนครพนมไม่เคยลืมเลือน

ลุงลอยเด่น เคยดูแลลุงไขแสง สมัยที่ลุงไขแสง ออกป่า เมื่อประมาณปี 2519 ตอนนี้ลุงลอยเด่น ก็ 60 กว่าปีแล้ว เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ท่านยังมีชีวิตที่เรียบง่าย โดยหาของมือสองไปขาย และเมื่อตอนที่ท่านอาจารย์ปรีชา เปี่ยมพงษ์สานต์ อาจารย์พอพันธ์ อุยยานนท์ อาจารย์อุกฤษ ปัทมานันท์ อาจารย์ สุวิทย์ ธีรศาศวัต พี่น้อย พรพิไล เลิศวิชา ไปเยี่ยมพี่น้องนาบัว ปีพ.ศ.2546 พี่น้องเหล่านี้และผู้อาวุโส ได้มาบายศรีสู่ขวัญ ผูกแขนต้อนรับ จนท่านอาจารย์ปรีชา น้ำตาซึม เพราะท่านเข้าใจประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของชาวนาไทย รู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดของชาวนา ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ

ข้าพเจ้าเริ่มรู้จักสหายชาวนา หลายคนขึ้นๆ ด้วยบารมีของผู้คนที่นั่น ที่ท่านให้เกียรติเรา โดยเฉพาะผู้อาวุโส แห่งจอมศรี อ.นาแก “คุณลุงคำแดง อวนวัง” หรือลุงธง สหายชาวนารุ่นแรกๆ อดีตสมาชิกสภาตำบลก้านเหลือง ผู้เป็นผู้นำในการสร้างฝาย ที่ชื่อฝายธันวา ชื่อเดียวกับข้าพเจ้า แถว อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร (สมัยนั้นยังเป็นพื้นที่ของจังหวัดนครพนม) ข้าพเจ้าประทับใจในน้ำใจและความอ่อนน้อม ของคุณลุง แม้คุณลุงป่วยหนัก อายุ 90 กว่าแล้ว ลุงยังห่วงชาวบ้านอยู่เสมอ เมื่อข้าพเจ้าไปเยี่ยมลุง ลุงชอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองและฝากดูแลบ้านเมือง จนสิ้นลมหายใจ “เป็นจั่งใดบ้านเมืองเฮา ผมขอฝากเด้อ...” เป็นนักปฏิวัติที่แท้จริง เพราะการกลับจากป่า ลุงมาอาศัยอยู่ในกระท่อมมุงหญ้าแฝก หลังเล็กๆ กับคุณป้าคู่ชีวิตที่เคยออกป่าด้วยกัน ก่อนคุณป้าจะเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นไม่นาน

คุณลุงคำแดง อวนวัง ถ่ายรูปคู่กับรถกองทุนชินากุล ปี 2545

เมื่อตกกลางคืนลูกหลาน ทั้งลูกหลานทั่วไปและอดีตนักปฏิวัติจะชอบมานั่งคุยกับลุงเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง ลุงคำแดงยังเป็นนักปราชญ์ประจำตำบลก้านเหลือง ข้าพเจ้าจำได้ว่า เคยให้ ชวน อินโอ้และเพื่อน ลูกศิษย์ที่ราชภัฏสกลนคร ไปทำงานสำรวจการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน วัฒนธรรมชุมชน ชาวบ้านจะชี้ให้มาถามคุณลุงคำแดง ที่อยู่กระท่อมหลังน้อยข้างโรงเรียน โรงเรียนที่เป็นผืนดินที่ลุงบริจาค ให้ลุงอธิบาย ลุงก็จะอธิบายความเป็นมาของชุมชน ว่าเป็นชาวผู้ไท มาจากเมืองวัง-อ่างคำ ประเทศลาว และก็บอกนามสกุล “อวนวัง” ของลุง ก็มีความหมายว่ามีบรรพบุรุษมาจากเมืองวัง

เมื่อคราวที่ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และภริยา ท่านอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และดร.คริส เบเคอร์ มาที่จอมศรี ยังมาเยี่ยมท่านที่กระท่อมหลังน้อยหลังนี้ ข้าพเจ้าจำได้ดีในน้ำใจและความเสียสละของลุง เมื่องานครบรอบ 30 ปี 14 ตุลา 2516 เราประชุมกันที่บ้านหลังน้อยมุงหญ้าคา ของลุง ค่ำวันที่ 12 ตุลาคม 2546 หากไม่มีลุง ที่สนับสนุนให้มีการจัดงานและอาสาเป็นผู้นำในการจัดงาน โดยมอบให้ลุงคำแสน บริบรูณ์ แห่งดอนคราม เป็นเจ้าภาพ งานก็คงจะไม่เป็นไปอย่างสมเกียรติและมีศักดิ์ศรี

แม้คราวที่เราจัดงานสัมมนาชาวนาสองฝั่งโขงกับศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลุงไม่สบายหนัก ก็พยายามจะไป บัดนี้ไม่มีลุงแล้ว เหลือเพียงภาพ ความทรงจำ ในน้ำใจ ของนักรบชาวนา ที่ขอเพียงชาวบ้านมีความสุข ลุงก็มีความสุข ไม่เคยหวังยศฐาบรรดาศักดิ์ ลุงคำแดง สนิทกับลุงไขแสง สุกใส สมัยที่ลุงไขแสง ยังมีชีวิตอยู่ ลุงไขแสง เคยแวะมาเยี่ยมลุงคำแดง เคยฝากเงินมาให้ลุง ลุงเอาไปซื้อม้าหินอ่อน เพื่อให้คนได้นั่งพักเล่น ที่ใต้ต้นมะขาม บ่อยครั้งเมื่อยามหน้าหนาว ข้าพเจ้า ลุงคำแดง พร้อมลุงชม ลุงไหว ลุงพารบ ลุงหนูลา ลุงสมพอ ลุงโอ และพี่นิพนธ์ มักนั่งรถปิคอัพของข้าพเจ้า ฝ่าสายลมหนาว ไปร่วมประชุมทางวิชาการ ที่ราชภัฏสกลนครเสมอๆ และกลับมาพร้อมกันตอนดึกๆ และเมื่อส่งทุกท่านถึงบ้าน ข้าพเจ้าก็จะขับรถกลับบ้าน ที่บ้านฮางโฮง สกลนคร คนเดียวเสมอ

สำหรับอีกบุคคลหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้บ้านนาบัว ได้กลายเป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ และเป็นที่รับรู้ในมิติใหม่ ในมิติแห่งการพัฒนา คือ พี่นิพนธ์ เศวตะดุล พี่นิพนธ์และภรรยา ดูแลข้าพเจ้าเสมอ เมื่อข้าพเจ้าไปนาบัว แม้เราจะมิได้เป็นญาติกัน พี่นิพนธ์ เป็นคนจังหวัดตรัง คุณพ่อเป็นปัญญาชนก้าวหน้าและเป็นเพื่อนกับจิตร ภูมิศักดิ์ พี่นิพนธ์เคยเป็นอาจารย์อยู่วิทยาลัยเกษตรกรรม แขวงสหวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในระหว่างนั้นได้พัฒนาหลักสูตรวิชาการพัฒนาชนบทและวิชาเกษตรยืนยง ที่ยังใช้อยู่ในขณะนี้ และเคยได้รับการดูแลจากท่านบุนยัง วอระจิด รองประธานประเทศ สมัยที่ท่านยังเป็นเจ้าแขวงสหวันเขต เคยทำงานร่วมกับท่านสิลละวง คุดไพทูน รัฐมนตรีกระทรวงแผนการ ส่วนพี่นิตยา ภรรยา เป็นแพทย์อยู่โรงหมอ สหวันเขต เป็นหลานฮักของ พ.อ สีนัน ไซยะเสน อดีตผู้บัญชาการทหารแขวง และเป็นเพื่อนกับหลานสาวของแม่ย่าดก คุณแม่ของท่านประธานไกสอน พมวิหาน ต่อมาทั้งสองได้ลาออกจากการเป็นรัฐกรและข้ามกลับมาอยู่ที่นาบัว ประเทศไทย เพื่อการศึกษาของลูกทั้งสอง และช่วยผลักดันการทำงานพัฒนาชุมชน เมื่อครั้งที่จัดสัมมนาชาวนา 2 ฝั่งโขง ครั้งแรก ที่นครพนม-คำม่วน

เมื่อปีพ.ศ.2546 เราเคยเดินทางไปเตรียมสถานที่ ถึงเมืองมหาชัย ฝั่งประเทศลาว ที่ไกลจากท่าแขกเข้าไป 50 กิโลเมตร โดยร่วมวางแผนกับท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ประธานจัดงานในคราวนั้น และข้าพเจ้าก็พึ่งทราบว่า ณ ที่เมืองมหาชัย ถิ่นฐานบรรพชนของชาวจังหวัดสกลนคร มีพี่น้องชาวนาบัว ที่เคยเป็นอดีตนักรบสองฝั่งโขง ช่วยการปฏิวัติของลาว อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก ดำรงชีวิตที่นั่น พี่นิพนธ์ พาข้าพเจ้าไปพักในหมู่บ้านแห่งนั้น ริมน้ำเซบั้งไฟ ที่ยังไม่มีไฟฟ้า แต่ก็สวยงามเหลือเกิน มีภูเขาล้อมรอบ ตกกลางคืนแกนนำในหมู่บ้านทุกคนที่เคยเป็นนักปฏิวัติเก่า บางคนเป็นวิศวกร จบการศึกษาจากประเทศยุโรปตะวันออก มาต้อนรับและเล่าเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านให้ข้าพเจ้าและพี่นิพนธ์ฟัง มันเป็นความทรงจำที่ดีของข้าพเจ้า

และเมื่อคราวเราไปสัมมนาที่เมืองมหาชัย เขาก็มาต้อนรับคณาจารย์จากจุฬาฯ ราชภัฏสกลนคร-นครพนม ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ในนามศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง มอบเงิน 5,000 บาท เพื่อสมทบการสร้างโรงเรียนของหมู่บ้านแห่งนี้ ที่ขณะนั้น มีเพียงอาคารเรียนชั่วคราวหนึ่งหลัง การเดินทางร่วมไปกับพี่นิพนธ์และศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาฯ ทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่าสายสัมพันธ์ของนักปฏิวัติ ลึกซึ้งและข้ามกาลเวลา โดยเฉพาะชาวนาปฏิวัติ

ในบางครั้ง เมื่อข้าพเจ้าเห็นการออกมาเรียกร้องของนักเคลื่อนไหวในปัจจุบัน และอ้างอุดมการณ์ อ้างเหตุการณ์ในอดีต ข้าพเจ้ากลับคิดว่า อุดมการณ์อันบริสุทธิ์และน้ำใจ ที่ผูกโยงกับวัฒนธรรม ศาสนาและความเรียบง่าย ที่ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์พูดถึงเสมอ กลับจะนำไปสู่การถึงซึ่งสังคมอุดมธรรมอย่างแท้จริง มากกว่าการใช้กำลัง อำนาจ ทั้งอาวุธหรือเงินตรา ที่กำลังห้ำหั่นกันอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่ว่าระบบใด หากเอาผลประโยชน์ส่วนตน เป็นที่ตั้ง ความโลภ แห่งชนชั้นและพวกตน เป็นหลัก ที่สอดแทรกไปในสิ่งที่อ้างว่าถูกต้องดีงาม ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งรัฐ ธรรมนูญแห่งพรรค ล้วนจะนำมาซึ่งความล่มสลาย และความเสื่อมภายในตัวของมันเอง

ณ วันนี้ ที่ นครพนม ดินแดนเสียงปืนแตก ดินแดนแห่งความรุ่งเรืองทางศาสนา ดินแดนแห่งผู้นำในระดับอินโดจีน ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ที่เกิด เติบโต แวะเวียนผ่าน แม้ผู้คนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก ครั้งแรก และครั้งที่ถูกจารึก จะยังมีชีวิตอยู่ แต่หลายชีวิต ก็เริ่มล้มหายตายจากไป เช่น คุณลุงคำแดง อวนวัง คุณป้ากาฬสินธุ์ แสนมิตร และสหายชาวนาอีกจำนวนหนึ่ง ตามกฏอนิจจังแห่งธรรมชาติ แต่กระนั้น การตาย ก็เป็นเพียงการสลายสับเปลี่ยนของสสารและพลังงาน ในรูปต่างๆ แต่พลังงานแห่งความคิด ความรู้สึก ความทรงจำ ความคิดถึง สำนึกแห่งสันติภาพ และเสรีภาพ มันยังดูอุ่นๆ ทาบทาและแผ่ปกคลุม อยู่ ณ ผืนแผ่นดินแห่งนั้น เถ้าถ่านและสายโลหิต สลาย ไหลหลั่ง รวมเป็นผืนดินและสายน้ำแห่งบรรพชน เป็นแม่ธรณีและแม่คงคา ที่คอยโอบกอด ดูแลลูกหลาน เป็นโซ่สายสัมพันธ์ของธรรมชาติ ที่มิได้เลือนหาย จิตวิญญาณแห่งความรัก สันติภาพ และความเมตตา แห่งบรรพชน ยังจารึก อยู่ ณ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ บ่มีเสื่อมคลาย...

จากซ้าย : คุณป้ากาฬสินธุ์ แสนมิตร อาจารย์ฐากร เจริญรัมย์ อดีตหัวหน้าภาควิชาชีววิทยาและสิ่งแวดล้อม และคณะลูกศิษย์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

จากขวา:ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คุณยายแตงอ่อน แสนมิตร คุณตาไสว แสนมิตร รศ.สุวิทย์ ธีรศาศวัต พี่นิพนธ์ เศวตะดุล คุณลุงหนุลา จิตมาตย์ คุณตาชม แสนมิตร อ.อุกฤษ ปัทมานันท์ และนักวิชาการจากอีสานใต้ 2ท่าน (ที่วัดบัวขาว บ้านนาบัว ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม บ่าย วันที่ 7 ธันวาคม 2546)
จากซ้าย : คุณป้ากาฬสินธุ์ แสนมิตร อาจารย์ฐากร เจริญรัมย์ อดีตหัวหน้าภาควิชาชีววิทยาและสิ่งแวดล้อม และคณะลูกศิษย์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร