WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, February 28, 2010

ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน : นักวิชาการประชาธิปไตยและสังคมนิยม

ที่มา Thai E-News




ที่มา หนังสือพิมพ์ความจริงวันนี้
28 กุมภาพันธ์ 2553

กลางดึกคืนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยถูกมือปืนไม่ต่ำกว่า ๒ คนยิงฟุบลงและเสียชีวิตในที่สุด

นี่เป็นการลอบสังหารทางการเมือง โดยฝ่ายปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมที่มิใช่รายแรกและรายสุดท้าย หลังจากที่ผู้นำชาวนา กรรมกร นิสิตนักศึกษาและนักการเมืองหัวก้าวหน้าถูกปลิดชีพไปแล้วหลายราย จนในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

การเสียชีวิตของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นสัญญานอันตรายที่ฝ่ายปฏิริยาอนุรัษ์นิยมส่งออกมาเพื่อบอกว่า สังคมไทยไม่อาจจะก้าวหน้าไปบนหนทางประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอย่างสันติได้ แม้ว่าจะเป็นหนทางที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้เลือกก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ผู้รักประชาธิปไตยที่ต้องการมีสิทธิ์มีเสียงมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงตัดสินใจเลือกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แทนการต่อสู้ในแนวทางสันติบนวิถีทางรัฐสภา อย่างที่ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน มุ่งหวังและยึดมั่นตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ผู้คนหลายหมื่นคนได้เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นที่ทำงานทางวิชาการของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยานมายังวัดตรีทศเทพอันเป็นสถานที่จัดงานศพด้วยความเสียใจอาลัยระคนคับแค้นขมขื่น บางคนถืือป้ายผ้าแสดงความรู้สึกที่พลุ่งพล่านและตะโกนคำขวัญปลุกใจ เพื่อนที่ยังอยู่ให้แปรความคับแค้นเป็นพลัง ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และสืบทอดภารกิจของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ต่อไปอย่างไม่ลดละ

ศาสตราจารย์ คาร์ล เอ ทร๊อกกี (Carl A. Trocki) เพื่อนสนิทของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ได้เขียนถึงเพื่อนผู้นี้ว่า

ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นการลอบสังหารทางการเมือง เพราะชนชั้นนำที่มีอำนาจแทบจะไม่ได้แสดงความเสียใจและกระตือรือล้นที่จะจับฆาตกรมาลงโทษเลย คงมีแต่ภรรยาและลูกสาวสองคน เพื่อนนักวิชาการและประชาชนไทยเท่านั้นที่อาลัยต่อการจากไปของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน


ดร.บุญสนอง บุณโยทยานเป็นนักวิชาการที่มีผลงานยอดเยี่ยมที่เดินลงมาจากหอคอยงาช้างเพื่อนำความรู้มาสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงของการต่อสู้เพื่ออุดมคติอันสูงส่ง ในฐานะผู้ก่อตั้งและเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ดร.บุญสนองเป็นกำลังสำคัญในการทำนโยบายและแนวทาง ตลอดจนแผนการดำเนินงานของพรรคฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยภายใต้เผด็จการทหารที่ครอบงำประเทศไทยมายาวนาน คนไทยไม่มีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาค้นคว้าและแสดงความคิดเห็น

ทั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ยังเป็นพรรคการเมืองแบบใหม่ที่เสนอแนวทางนโยบายที่ก้าวหน้าที่ให้ความสำคัญกับคนยากคนจนและมุ่งขจัดการเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมทั้งปวง จึงตกเป็นเป้าหมายของการทำลายล้างทุกวิถีทาง ทั้งการใส่ร้ายป้ายสี การกลั่นแกล้งจับกุม การก่อกวน การโจมตีด้วยระเบิด จนถึงการลอบสังหาร

ด้วยความที่เป็นนักสังคมวิทยาที่ผ่านการศึกษาอบรมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างเช่น มหาวิทยาลัยแคนซัส มหาวิทยาลัยคอร์แนล มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มหาวิทยาลัยฮาวายอิ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ได้ศึกษาค้นคว้าสังคมไทยอย่างลึกซึ้งในหลายด้านหลายมิติ เช่น เรื่องสถานภาพและบทบาทของคนจีนในสังคมไทย เรื่องสิทธิของชนกลุ่มน้อยและคนชายขอบ เรื่องปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ เรื่องโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นต้น

ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ทำงานวิจัย ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ได้สร้างผลงานทางวิชาการจำนวนมาก หลายชิ้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ เช่น Sociology Bulletin, Journal of Contemporary Asia, Bulletin of Concerned Asian Scholar, Social Forces, Southeast Asian Affairs เป็นต้น

แม้จนเมื่อ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตลาออกจากราชการแม้ยังใช้ทุนศึกษาต่อไม่หมด เพื่อมาร่วมก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฐานะเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒ ครั้ง เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๑๘ ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แต่ ดร.บุญสนองก็ไม่ได้ทิ้งงานวิชาการที่ตนรักและถนัด

ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ดร.บุญสนองได้ริเริ่มให้มีการประชุม สัมมนา ตลอดจนการฝึกอบรมในที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ นอกเหนือจากการชุมนุมปราศรัยที่ทำกันอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ดร.บุญสนอง ยังได้เข้าร่วมการประชุมทางวิชาการและสัมมนาทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายครั้ง ทั้งในฐานะตัวแทนพรรคฯ และในฐานะนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ รวมทั้งที่ได้รับเชิญให้เป็นผู้เสนอผลงานวิจัยอีกด้วย

ในช่วงนี้เองที่ ดร.บุญสนอง ได้นำเสนองานวิจัยที่มุ่งจะตอบคำถามว่า สังคมไทยควรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดและอย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือ สังคมไทยควรเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและสังคมนิยม

ดร.บุญสนอง อธิบายว่า ประชาธิปไตยที่คนไทยจำนวนมากร่วมกันต่อสู้และหวังกันว่าจะได้มาในเร็ววันนี้ คือโอกาสและเสรีภาพที่จะเสนอหลักและวิธีดำเนินการในทางการเมืองเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำสังคมของเราไปสู่อนาคตที่แจ่มใสกว่าและดีกว่า

โอกาสและเสรีภาพที่ว่านี้ คือโอกาสและเสรีภาพที่จะรวมพลังเป็นพรรคการเมือง แล้วพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็จะเสนอแนวนโยบายของตนให้มหาชนเป็นผู้ชี้ขาดว่าเขาต้องการอะไร กล่าวคือต้องให้พรรคที่สัญญาว่าจะจัดการสังคมวิธีไหน และวางรากฐานเพื่ออนาคตแบบใดเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารโดยเป็นรัฐบาล

ความคับแค้นของมหาชนต่อการขาดสิทธิเสรีภาพและโอกาสที่จะเลือกวิถีทางและอนาคตแบบที่ตัวต้องการเป็นสิ่งที่มหาชนไม่ได้เก็บไว้แต่ในใจของคนแต่ละคน มหาชนมีการแสดงออกซึ่งการต่อต้านสภาพสังคมที่กดขี่ในรูปแบบต่างๆ ในด้านนักศึกษาการปฏิวัติเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ มิใช่อุบัติเหตุหรือไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีพื้นฐาน แต่เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งของการดิ้นรนเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้ก่อตัวขึ้นมาตามธรรมชาติเพราะความไม่พอใจในสภาพที่เป็นอยู่

การตัดสินใจทิ้งงานวิชาการที่ตนรักและถนัดมาสู่เวทีทางการเมืองนี้ ดร.บุญสนอง เป็นหนึ่งในจำนวนนักวิชาการไม่กี่คนที่ทำเช่นนั้น ซึ่งศาสตราจารย์คาร์ล เอ ทร๊อกกี อธิบายว่า เป็นการประพฤติที่เบี่ยงเบนไปจากแบบแผนของนักวิชาการที่เป็นชนชั้นนำในสังคมไทย ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่มีสถานะมั่นคง มีโอกาสหน้าที่ที่จะทำงานที่ได้เล่าเรียนมา มีบทบาทอย่างมากในสังคม อันทำให้มีแนวโน้มในทางอนุรักษ์นิยมเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากพื้นฐานทางสังคมของ ดร.บุญสนอง ที่เป็นลูกพ่อค้าคนจีนในอำเภอเล็กๆ ที่ห่างไกลของจังหวัดเชียงราย แต่ที่ก้าวหน้าทางการศึกษามาได้ก็เพราะเป็นคนหัวดี เรียนเก่ง มีความรู้ภาษาอังกฤษดีมาก จนสามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนต่อระดับปริญญาโทในสหรัฐอเมริกาได้ หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วงที่ศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่กำลังทำสงครามเวียดนาม และมีการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามของนักศึกษาประชาชนจำนวนมาก วงการวิชาการก็มีการเคลื่อนไหวจัดตั้งคณะกรรมการนักวิชาการด้านเอเซียผู้ห่วงใย (Committee of Concerned Asian Scholars) ซึ่งประกอบด้วยสถาบันศึกษาวิจัยทางด้านเอเซียหลายแห่งเข้าร่วม รวมทั้งมหาวิทยาลัยคอร์แนลที่ ดร.บุญสนอง กำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่

ในการประชุมครั้งที่ ๒ ของคณะกรรมการนักวิชาการด้านเอเซียผู้ห่วงใย ดร.บุญสนอง ได้เสนอรายงานเรื่อง สมมติฐานที่ผิดพลาด : รากเหง้าของปัญหาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ

ต่อมาไม่นาน ดร.บุญสนอง ก็ได้ข้อสรุปว่าแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่เป็นมาภายใต้ระบอบเผด็จการทหารนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และมีข้อผิดพลาดบกพร่องเชิงโครงสร้าง หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ไม่กี่วัน ดร.บุญสนอง ก็เดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินเที่ยวแรกจากญี่ปุ่น หลังจากได้นำเสนอรายงานวิจัยเรื่อง สังคมนิยมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศไทย3 ต่อที่ประชุมวิชาการ

ดร.บุญสนอง กล่าวถึงบรรยากาศความตื่นตัวต่อแนวคิดสังคมนิยมในขณะนั้นว่า เมื่อไม่นานมานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสที่สำคัญในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่เคยมีมาก่อน ความว่า สังคมนิยมอาจเป็แนวทางที่เหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาของสังคมก็ได้ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสนี้เพียงหนึ่งวันหลังจากได้รับฟังการสัมมนาเรื่อง สังคมนิยมกับสังคมไทยซึ่งจัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เดือนธันวาคม ๒๕๑๕) ซึ่งวิทยากรทั้ง ๔ ท่านมาจากชนชั้นนำของสังคมรวมทั้งผู้ใกล้ชิดกับราชสำนักด้วย (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)

ดร.บุญสนอง กล่าวว่า สังคมอนุรักษ์นิยมอย่างสังคมไทย พลังของผู้ปกครองที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาก้าวหน้านั้นเข้มแข็งและเหนียวแน่น ดังจะเห็นได้จากเมื่อการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้ล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว แต่ความพยายามของคณะราษฎรที่มี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำในอันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปในแนวทางสังคมนิยมที่มุ่งขจัดความไม่เป็นธรรมและความไม่เสมอภาคอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังที่ปรากฎใน “เค้าโครงเศรษฐกิจ” กลับถูกขัดขวางต่อต้านอย่างรุนแรง จน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางออกนอกประเทศ ตามมาด้วยการออกกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์ครั้งแรกในปี ๒๔๗๖ และชนชั้นปกครองก็ใช้กฎหมายนี้เล่นงานผู้มีแนวคิดสังคมนิยมอย่างรุนแรงเรื่อยมา

อย่างไรก็ดี ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เชื่อว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า ที่สำคัญคือ นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณในองค์ประกอบความสัมพันธ์ทางการผลิตและโครงสร้างส่วนบนแล้ว ยังมีกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพหรือการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติเกิดขึ้นด้วย โดย ดร.บุญสนอง ได้อ้างข้อเขียนของ สุพจน์ ด่านตระกูล มาอธิบายกระแสการปฏิวัตินี้ว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นการอภิวัฒน์เมื่อส่วนที่ก้าวหน้าในสังคมได้ผนึกกำลังกันอย่างแน่นแฟ้นทั้งในด้านการกระทำและจิตสำนึกเพื่อโจมตีศัตรูด้วยจุดมุ่งหมายที่จะขุดรากถอนโคนระบอบเก่าแล้วสร้างระบอบใหม่ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงในแง่คุณภาพ

แต่อย่าได้นำเอาจุดมุ่งหมายของการอภิวัฒน์ไปปะปนกับวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมาย การอภิวัฒน์ไม่จำเป็นต้องประสบผลสำเร็จโดยวิธีการรุนแรงหรือสงครามกลางเมืองเสมอไป วิธีการบรรลุเป้าหมายของการอภิวัฒน์อาจะมีได้หลายวิธี แม้แต่การต่อสู้ทางรัฐสภาก็อาจเป็นหนทางการอภิวัฒน์ได้

ในทางตรงกันข้าม สงครามกลางเมืองบางครั้งก็มิใช่เป็นสงครามปฏิวัติ แต่เป็นสงครามปฏิกิริยาถอยหลัง เช่น สงครามกลางเมืองในสเปนที่จบลงด่้วยการแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยระบอบเผด็จการทหาร หรือ สงครามกลางเมืองในไทยเมื่อปี ๒๔๗๖ ที่เกิดจากกบฏบวรเดช ก็เป็นสงครามปฏิกิริยาถอยหลัง

ในทำนองเดียวกับโครงสร้างส่วนบน การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางการผลิตก็อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปฏิกิริยาถอยหลัง หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าที่ปฏิวัติได้เหมือนกัน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางการผลิตหรือโครงสร้างพื้นฐานเป็นแรงผลักดันสำคัญของสังคม

การเปลี่ยนแปลงทางสถาบันการเมืองและสังคม (ซึ่งเป็นส่วนต่อยอดของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ) ก็่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางวัตถุของสังคมด้วย เช่น การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่ล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อพิจารณาโดยผิวเผินเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับความสัมพันธ์ทางการผลิตได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพในการผลิตและการจำหน่ายจ่ายแจกของสังคมที่มีลักษณะก้าวหน้าด้วย เช่น เปลี่ยนรูปแบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นของกษัตริย์ทั้งหมดมาเป็นของกรรมสิทธิ์เอกชน และยังยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าของที่ดินสามารถริบทรัพย์สิน เครื่องมือการผลิต ผลผลิต และลูกเมียของชาวนาได้

การล้มเลิกกฎหมายทำนองนี้ได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการผลิตของชาวนาและเจ้าที่ดินไปสู่ระบบทุนนิยม กฎหมายภาษีที่ล้าหลังที่เรียกว่า “ส่วย” ได้ถูกยกเลิกไปในปี ๒๔๘๒

ดร.บุญสนอง เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศไทยนั้นยังอาจอธิบายด้วยแนวคิดของ นีล สเมลเซอร์ (Neil Smelser) นักสังคมวิทยาที่เรียกว่า ล้ำหน้า-ล้าหลัง (Lead-lag) ซึ่งอธิบายว่า สังคมทุกสังคมมีลักษณะที่แสดงออกโดยความขัดแย้งและความตึงเครียด ต่างจากแนวคิดของมาร์กซที่เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิตแบบทุนนิยมเป็นรากเหง้าของความขัดแย้ง สเมลเซอร์แย้งว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มใหม่ในระหว่างการจัดรูปแบบใหม่และการหลอมรวมโครงสร้างทางสังคมต่างๆ นี้เป็นต้นตอของสภาพความขัดแย้งและความตึงเครียด

องค์กรทางการเมืองหรือรัฐบาลมักจะตอบสนองต่อสภาพความขัดแย้งนี้โดยพยายามสร้างความลงตัวให้กับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่โดยใช้ทุกวิธีการที่มีและสามารถใช้ได้ เช่น การปราบปราม การยอมรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง การเจรจาประนีประนอม หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง ถ้ามองในแง่นี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณในสังคมไทยนั้นเป็นอาจเป็นผลมาจากการกระทำของผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ตอบโต้ต่อแรงกดดันทั้งในประเทศและต่างประเทศ4

ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ไม่เพียงแต่จะเป็นหนึ่งในนักวิชาการจำนวนน้อยที่กระโดดลงมาจากหอคอยงาช้างสู่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองร่วมกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ไร้สิทธิไร้เสียง โดยหวังว่าจะนำความรู้ประสบการณ์ที่มีมาช่วยค้นคว้าหาแนวทางนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม และร่วมผลักดันประเทศไปสู่การสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องมัวแต่รอคอย

นอกจากนี้ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ยังเป็นนักวิชาการไม่กี่คนที่ผันมาเป็นนักการเมืองแล้วยังคงความนักวิชาการที่ยึดมั่นในหลักการและแสวงหาความรู้ความจริงอย่างไม่เสื่อมคลาย

ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของนักการเมืองที่ยึดมั่นหลักการ ใช้ความรู้และความจริงเป็นหลักเหตุผลในการต่อสู้ทางความคิด และยึดถือเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองคิดตนเองทำอย่างเสมอต้นเสมอปลายเสียยิ่งกว่าผู้ที่เรียกตนเองเป็น “นักวิชาการ” เสียอีก
*********

"กลุ่มนักคิดนักเขียนเพื่อชีวิตและสังคม" ขอเชิญร่วมงาน "ปลุกชีวิต บุญสนอง บุณโยทยาน ตื่นตระหง่านเดินสู่สังคมนิยม"

เพื่อรำลึกถึงการครบรอบ 34 ปีของการสูญเสียดร.บุญสนองบุณโยทยาน

ร่วมรำลึกโดยผู้ร่วมอุดมการณ์

-จรัล ดิษฐาอภิชัย
-วัฒน์ วัลยางกูร
และ ทองธัช เทพารักษ์

หลังจากนั้น เชิญฟังการพูดคุยในหัวข้อ "บุญสนอง บุณโยทยาน อยู่ตรงไหนในใจนักคิดนักเขียนไทยร่วมสมัย"

โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และ คำ ผกา
ดำเนินรายการโดย วาด รวี

ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 13.00-17.00 น.