ที่มา ประชาไท ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลให้สังคมแตกแยกทางความคิดอย่างลงรากลึกในสังคมไทย "สื่อมวลชน" เป็นปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธความรับผิดชอบลำบากยิ่ง ทั้งถูกคำถามอย่างหนักจากประชาชนที่เลือกข้างทางการเมืองไปแล้ว ถึงบทบาทและการทำหน้าที่ ขณะเดียวกันบรรยากาศการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ และการเลือกเสพสื่อของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปตามฐานคิดทางการเมืองและการเข้าถึงเทคโนโลยี ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโส แห่งหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เป็นผู้สื่อข่าวในสื่อกระแสหลักคนหนึ่งที่ตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ตามวิชาชีพของตนเอง พร้อมถึงวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมในองค์กรสื่อมาอย่างยาวนาน ประชาไทจึงพูดคุยกับเขาในวันที่สื่อทุกแขนงล้วนยกพื้นที่ให้กับการแสดงความสำคัญกับวิชาชีพนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการทำหน้าที่สื่อในช่วงที่ใกล้จะถึงวันที่น่าจับตาอีกวันหนึ่งของการเมืองไทย คือวันเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง 12 มี.ค. ที่จะถึง หมายเหตุ: ถอดความจากรายการประชาไทใส่เสียงรายวัน ฟังเสียงสัมภาษณ์ได้ที่นี่ ประวิตร โรจนพฤกษ์ พิณผกา: หลังจากวันที่ 26 กุมภาพันธ์มา สื่อกระแสหลักมักจะให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง โดยพยายามจะตั้งข้อสังเกตว่า จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ ในขณะเดียวกัน พื้นที่ข่าวส่วนใหญ่ก็จะมุ่งไปที่ความรุนแรงจากการเคลื่อนไหว และการเตรียมการป้องกันของรัฐบาล อยากจะถามคุณประวิตรถึงข้อสังเกตเรื่องนี้ว่าคุณประวิตรมองการนำเสนอของสื่อกระแสหลักอย่างไร มีความสมดุล ความเป็นธรรมในการนำเสนอข่าวหรือไม่ ประวิตร: เรื่องความสมดุลผมคิดว่ามันคงขาดความสมดุลไปนานแล้ว ตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยา เสียอีก อย่างที่ทราบกันดีว่า ตอนนั้น สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มีปัญหากับคุณทักษิณ ซึ่งเป็นนายกฯ ในขณะนั้น ดังนั้นตั้งแต่นั้นมา ในความเข้าใจของผม สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ประมาณ 90% มีจุดยืนที่ไม่เอาทักษิณอย่างชัดเจน ที่เป็นปัญหาก็คือไม่เอาโดยวิธีอะไรก็ได้ นั่นคือสิ่งที่เห็นชัดหลังรัฐประหาร 19 กันยา บทบรรณาธิการต่างๆ แทบทุกฉบับเขียนออกมาในเชิงให้ความชอบธรรม หรืออย่างน้อยก็คือยอมรับได้ว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมไทย เพื่อที่จะจัดการกับคุณทักษิณ เพราะฉะนั้น ผมก็ไม่แปลกใจที่ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะชุมนุมใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากการตัดสินคดียึดทรัพย์คุณทักษิณและครอบครัว เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมคิดว่า ความไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความจริงระหว่างสื่อกระแสหลักกับกลุ่มคนเสื้อแดงมันยิ่งกว้างไปกว่าก่อนวันที่ 26 ก.พ. เสียอีก คือต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจกันแล้ว สื่อกระแสหลักคงงงๆ ว่าทำไมพวกคุณไม่ยอมหยุดเคลื่อนเสียที ทั้งที่ศาลก็ตัดสินแล้ว ในขณะเดียวกัน สื่อกระแสหลักก็ไม่ยอมตั้งคำถามเลยแม้กระทั่งว่ากระบวนการที่มีการชงกันมาตั้งแต่รัฐประหารจนกระทั่งการตั้ง คตส. มันสร้างปัญหาอย่างไรบ้าง แล้วมันมีบทบาทหรือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างไรในการทำให้คนอีกจำนวนหนึ่งในสังคม ทั้งที่เป็นเสื้อแดงหรือเป็นสองไม่เอาหรืออะไรก็ตามแต่ ที่มองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรมแล้วต้องออกมาปฎิเสธ พิณผกา: แต่ว่าขณะเดียวกัน พอถึงจุดนี้ความกังวลเรื่องความรุนแรงดูเหมือนจะพุ่งสูงขึ้นกว่าประเด็นอื่นๆ คุณประวิตรมองว่าอย่างไรค่ะ เพราะถ้าเทียบง่ายๆ ก่อนหน้านี้ ช่วงเสื้อเหลือง สื่อแทบจะไม่ได้ออกมาพูดถึงเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมสักเท่าใด ประวิตร: ถ้ามองในแง่ดีก็คือ มีความเป็นห่วงว่าบ้านเมืองจะเกิดความรุนแรงหรือเปล่า ถ้ามองในแง่ร้ายก็คือเป็นการพยายามตั้งเป้าไว้ให้ชัดเจนแล้วตั้งแต่ต้นเลยว่า เสื้อแดงจะต้องออกมาสร้างความรุนแรงแน่ เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรม ในที่สุดจะต้องถูกจัดการโดยการเอาทหารออกมาปราบกลุ่มผู้ชุมนุมหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ ผมมองว่า มันก็เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการไม่ยอมรับอย่างปิดหูปิดตาของสื่อกระแสหลัก เรื่องหนึ่งที่อยากจะเอ่ยก็คือ สื่อกระแสหลักไม่ยอมรับเลยว่า cost หรือต้นทุนและราคาที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐประหารในการแก้ปัญหาทางการเมืองแบบเอารัฐประหารมันสูงมาก ทุกวันนี้เห็นแต่สื่อกระแสหลักตั้งคำถามว่า ทักษิณโกงกินประเทศเสียหายไปเท่าไหร่ แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่าหลังรัฐประหาร ถ้าคิดเป็นตัวเงิน เป็นต้นทุน ประเทศสูญเสียมากมายขนาดไหน โดยเฉพาะสื่อไม่ยอมรับความเป็นจริงว่า ทุกวันนี้ กลุ่มเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยมีคำถามข้อสงสัยมากถึงเรื่องสองมาตรฐาน โดยเฉพาะความโปร่งใส การตรวจสอบได้ของกลุ่มชนชั้นนำเก่าไทย ที่กลุ่มเสื้อแดงเรียกว่า กลุ่มอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเรื่องนี้ถ้าอ่านสื่อเสื้อแดงจะเห็นว่า ตอนนี้ถล่มกลุ่มชนชั้นนำเก่ามาก และสิ่งที่ไม่ปฎิเสธไม่ได้ก็คือ หลายคำถามที่สื่อเสื้อแดงถามเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ แต่น่าเสียดายที่สื่อกระแสหลักทุกวันนี้ทำเป็นมองไม่เห็นว่า มันมีคำถามที่มีความชอบธรรมที่ควรจะตั้งคำถามและหาคำตอบอยู่ด้วย วรดุลย์: ทำไมมองไม่เห็น เพราะว่าอคติ หรือปัจจัยผลประโยชน์ ประวิตร: คงจะเหมารวมลำบาก คงจะเป็นปัจจัยหลายปัจจัย เพราะอคติ การเกลียดคุณทักษิณต้องกลับไปดูว่ามันเริ่มมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ซึ่งตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่า ตัวนายกฯ ทักษิณแทรกแซงสื่อในช่วงก่อนรัฐประหารจริง มีความพยายามที่จะซื้อหุ้นมติชน หรือการปลดตัวบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จนสตาฟฟ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์แต่งชุดดำไปทำงาน ในขณะที่หนังสือพิมพ์ช่วงนั้นไม่ยอมรับว่ามีการแทรกแซง แต่ตอนหลังทุกคนก็มายอมรับว่าเกิดการแทรกแซง แต่ว่ามันกลายเป็นความเกลียดที่เหมือนกับว่า เกลียดจนกระทั่งจะทำอะไรก็ได้เพื่อจะจัดการคนที่ตนเองเกลียดออกไป แล้วสุดท้ายก็อย่างที่ทุกคนคงทราบก็คือวิธีจัดการทักษิณก็เกิดขึ้นโดยการก่อรัฐประหาร ซึ่งสื่อส่วนใหญ่ ... ขอย้ำอีกที... ก็สนับสนุน ซึ่งตรงนี้ขอท้าให้ผู้ฟังกลับไปอ่านบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ต่างๆ หลังวันที่ 19 กันยา จะเห็นว่าเกือบทั้งหมดเลยยอมรับ ให้ความชอบธรรมหรือแม้กระทั่งชื่นชมกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร ถามว่าวันนี้ตกลงสังคมสงบแล้วหรือยัง หรือตกลงกันได้หรือยัง ก็คงชัดแล้วว่า รัฐประหารผ่านไป 3 ปีจะ 4 ปีแล้ว ก็จะเห็นว่า ยังไม่สงบ บ้านเมืองแตกแยกมากขึ้น แล้วก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มชนชั้นนำเก่าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นี่เป็น cost ที่ผมคิดว่าน่าจะสูงมากทีเดียวที่สื่อกระแสหลักไม่ยอมรับ พิณผกา: หลังรัฐประหาร บรรยากาศการแทรกแซงลดลงไหม ประวิตร: หลังรัฐประหารก็ชัดว่าทหารก็แทรกแซงอย่างค่อนข้างชัดเจน มีการไล่ปิดวิทยุสื่อแดง ทีวีแดง พิณผกา: คุณประวิตรได้มอนิเตอร์สื่อเสื้อแดงมาบ้างใช่ไหมค่ะ ความวิตกกังวลเรื่องความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม จากการมอนิเตอร์ของคุณประวิตร มองว่าพื้นที่ของการสนับสนุนความรุนแรงในสื่อเสื้อแดงมีมากน้อยแค่ไหน ประวิตร: หัวขบวนเขายังยืนยันว่า เขาจะยึดหลักสู้อย่างสันติ แต่เรื่องหนึ่งเลยที่อาจจะหลีกเลี่ยงลำบากก็คือเวลาคนจำนวนมากมาชุมนุมกันอาจจะมีอารมณ์รุนแรง และถ้าเกิดเจอกับฝ่ายเหลืองหรือฝ่ายเสื้อสีอื่นที่มีการท้าทายกัน มันก็อาจจะเกิดเหตุได้ การที่จะไปพูดการันตีว่า ทุกคนจะสงบหมดนี่คงยาก สิ่งที่ผมอยากจะวิจารณ์เสื้อแดงหน่อยหนึ่งก็คือว่า ผมคิดว่าความพยายามของแกนนำที่จะให้การศึกษาเรื่องสันติวิธีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ผมเคยสัมภาษณ์คุณหมอเหวง โตจิราการ ไปเมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ถามเขาว่าเรื่องความรุนแรงนี่เป็นอย่างไร แกก็ตอบว่า ถ้าเกิดอะไร ทางเวทีก็จะสั่งบอกเองว่า จะหลีกเลี่ยงตรงนั้นตรงนี้อย่างไร แต่สิ่งที่ผมสนใจจริงๆ ไม่ใช่เรื่องตรงนั้น แต่เป็นเรื่องการสอนว่า การสู้ทางการเมือง วิธีการที่ดีที่สุดคือการสู้อย่างสันติ อย่างอหิงสา ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันต้องมีการให้ความรู้และปลูกฝังเรื่องอหิงสา ซึ่งแม้กระทั่งม็อบเสื้อเหลืองในตอนต้นๆ ที่มีฝ่ายเหลืองที่อ้างว่า เป็นสันติวิธีเข้าไปอยู่มาก ก็ล้มเหลวที่จะทำตรงนี้ให้เป็นผล ผมเคยบอกว่าอย่างเสื้อเหลืองเขาก็ควรที่จะเชิญหลวงพี่ไพศาล วิศาโล ขึ้นมาเทศน์ คุยเรื่องสันติวิธี หรือเชิญ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หรือแม้กระทั่ง อ.เอกพันธ์ ที่มหิดล ออกมาพูดเรื่องสันติวิธี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาด และไม่ใช่ขาดเฉพาะเสื้อแดง ผมคิดว่ามันขาดกันทั้งสังคม เป็นสังคมที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่ว่ามาถึงจุดนี้แล้ว เราก็คงต้องเคารพสิทธิคนที่จะออกมาแสดงความเห็น ตราบใดที่เขามีเจตนาแต่ต้นว่าจะไม่ใช่ความรุนแรง พิณผกา: คือสื่อกระแสหลักก็จะพูดถึงเรื่องนี้มาก ทีนี้มีคำถามจากคนเสื้อแดง อาจจะถามทั้งสองฝั่ง ทั้งกระแสหลัก รวมถึงคนเสื้อขาวที่ออกมาเรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรง คำถามที่เขาถามกลับมาคือว่า การมาวิตกกังวลเรื่องความรุนแรงกัน ตอนเสื้อแดงเคลื่อนไหว แต่ก่อนหน้านี้ไม่เห็นว่าจะมีการพูดกันถึงประเด็นนี้สักเท่าใด หรือแม้แต่อย่างที่คุณประวิตรบอกว่ามีการพูดถึงเรื่องสันติวิธีในขบวนการของพันธมิตรฯ ในช่วงแรกๆ แต่ตอนนี้สิ่งนี้มันก็ไม่ถูกนำมาใช้ ประวิตร: ก็ไม่แปลกใจเพราะว่าสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ 90% เอียงไปอยู่ฝั่งตรงข้ามเสื้อแดงอย่างมาก สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นโศกนาฎกรรมก็คือ การมองไม่เห็นความรู้สึกของคนจนจำนวนมากที่สนับสนุนคุณทักษิณ แล้วถามว่า เอ๊ะ นอกจากปัจจัยเรื่องที่คุณอาจจะมองว่าเขาถูกเลี้ยงด้วยระบบประชานิยม ได้รับเงิน หรืออุปถัมภ์ แต่มันมีเหตุผลอื่นๆ อีกไหมในสังคมที่ทำให้คนเหล่านี้รู้สึกรับไม่ได้แล้วกับระบบการเมืองเก่าๆ ที่กลุ่มชนชั้นนำเก่ามีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ผมคิดว่ามันเป็นช่องว่างของการตั้งคำถามเรื่องปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน เปรียบเทียบก็คงไม่ต่างจากคนไข้ที่ป่วยหนัก อาจจะต้องการการผ่าตัด แต่ไม่สามารถแม้กระทั่งจะพูดกับหมอได้ ว่าอาการตัวเองเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งของการตั้งคำถามเรื่องการจัดอำนาจการเมืองต่างๆ มันโยงไปถึงองคมนตรี คณะองคมนตรี กลุ่มชนชั้นนำเก่า ซึ่งจริงๆ แล้วการพูดเรื่องเหล่านี้ ปกติก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่ามีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะสื่อเหลืองหรือสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่เอาปัจจัยเรื่องนี้เข้ามารวมอยู่ในสมการด้วย ทำให้การวิจารณ์วิเคราะห์การเมืองไทยและสังคมไทยปัจจุบันเพี้ยนไปมากจริงๆ เหมือนกับคนที่ป่วยแต่ไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นโรคอะไร คุยไม่ได้ว่าต้องผ่าตัด ก็ได้แต่บ่นอาการปลายเหตุ พิณผกา: พอคุณประวิตรพูดว่า สื่อกระแสหลักปิดตา หรือไม่กล้าจะพูดถึงเรื่องของประเด็น taboo หรือประเด็นที่พูดไม่ได้ในสังคมไทย ถ้าอย่างนั้น เราพูดได้ไหมว่าสื่อกระแสหลักของไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของมันไปแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของระบบชนชั้นนำเก่า หรือเป็นส่วนที่สนับสนุนระบอบอำมาตยาธิปไตยในความหมายของคนเสื้อแดงไปแล้ว ประวิตร: ถ้ามองโดยส่วนรวมก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้เขายืนอยู่กับกลุ่มที่เป็นชนชั้นนำเก่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันน่าเสียดายเพราะว่าในขณะเดียวกันเขาก็อ้างว่าเขารับใช้ประชาชน มันทำให้ผมนึกถึงรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือรถไฟลอยฟ้า ซึ่งในประเทศอื่น เขาอาจจะเรียกว่าระบบ mass transit system ระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นก็คือว่ามวลชนนี้ในเมืองไทย เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าเงินเดือนไม่ถึงพันเขาไม่มีปัญญาที่จะมานั่งขึ้นทุกวันได้ จริงๆ แล้วรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินก็คือขนส่งมวลชนสำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้น สื่อมวลชนก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้อ้างว่าเป็นสื่อมวลชนที่รับใช้คนทั้งสังคม แต่จริงๆ แล้ว ส่วนใหญ่ก็กระจุกอยู่กับชนชั้นกลาง ที่น่าเสียดายก็คือชนชั้นกลางส่วนใหญ่มีอคติต่อคนที่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการน้อยกว่า ผมใช้คำว่า อย่างเป็นทางการ เพราะมองว่า การศึกษามีได้ทั้งในระบบโรงเรียน มหาวิทยาลัย และเรียนรู้ได้จากชีวิต จากการทำงาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้โดยตรง หรือจบจากมหาวิทยาลัย การดูถูกตรงนี้ฝังรากลึกมาก และผมคิดว่าสื่อทำหน้าที่ไม่ดีพอในการพยายามทำความเข้าใจ จับชีพจรดูว่าชาวบ้าน คนจน เขารู้สึกอย่างไรกันในสภาพสังคมไทย อย่าลืมนะครับว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังเป็นคนจน คนชั้นล่างซึ่งไม่ใช่ชนชั้นกลาง คนชั้นกลางนับไปนับมาก็ไม่น่าจะเกิน 30% บวกลบ วรดุลย์: ปัญหาของสื่อก็คือว่า สื่อกระแสหลักอิงอยู่กับลูกค้าที่มีรายได้ มีกำลังซื้อ เหมือนที่เขาพูดกันว่าสื่ออิงอยู่กับธุรกิจ ถ้าคิดว่าสื่อมันอิงอยู่กับผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง แล้วการปฎิรูปให้มันปลอดจากโฆษณาที่มันอิงกับชนชั้นกลาง มันจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือเปล่า พิณผกา: ถ้าอย่างนั้นสื่อตอนนี้นำเสนอสำหรับผู้ที่มีความสามารถในการบริโภคตัวเอง ถ้าเช่นนั้น กรณีทีพีบีเอสที่บอกว่าพยายามจะปฎิรูปสื่อให้เป็นสื่อสาธารณะ มันก็คือการทำให้สื่อเป็นสาธารณะสำหรับคนชั้นกลางเท่านั้นใช่หรือเปล่า ประวิตร: ผมไม่ได้ดูทีพีบีเอสมาก แต่คิดว่าเท่าที่ได้ทราบมา ได้ดูบ้าง ก็คงจะเป็นอย่างนั้น ความพยายามที่จะเปิดเวที พื้นที่ให้กับชาวบ้านบ้างก็ยังจำกัด คือยังเป็นการเปิดโดยมุมมองของชนชั้นกลาง หรือเอ็นจีโอชนชั้นกลางที่มองว่าอะไรควรจะเปิด มันควรจะมีพื้นที่อย่างไรให้กับชาวบ้าน องค์ประกอบที่จะเอาชาวบ้านเข้ามาร่วมบริหารยังไม่มี ซึ่งส่วนตัวอยากจะเห็น เพราะเป็นทีวีที่ใช้ภาษีของประชาชนทั้งประเทศ วรดุลย์: แนวความคิดเรื่องการปฎิรูปสื่อ หลังจากปฎิรูปไอทีวี ที่บอกว่าทักษิณเป็นเจ้าของ มันถูกทำออกมาในรูปแบบที่ปลอดจากผลประโยชน์ จากผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ แต่พอมันออกมาแล้ว หน้าตาทีพีบีเอส ก็น่าจะเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ได้อิงกับชนชั้นกลาง แต่ผลของมัน แนวทางปฎิรูปสื่ออย่างนี้ คิดอย่างไร ประวิตร: ก็เพราะคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งเข้าไปบริหารทีพีบีเอสไงครับ มันก็ไม่ต่าง ในเมื่อยังเอาคนที่ยังคิดเหมือนเดิม มาจากสื่อกระแสหลัก มาดูทีพีบีเอสต่อ ผมก็คงจะแปลกใจถ้ามันเปลี่ยนไปมาก มันก็ไม่เปลี่ยน นี่คือเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะว่า ทีวีที่ใช้เงินภาษีของคนทั้งประเทศจริงๆ มันควรจะสะท้อนความสนใจและรับใช้คนส่วนใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยก็คือคนยากคนจนคนชนบทนั่นเอง พิณผกา: ตอนนี้บรรยากาศสื่อของไทย เรียกว่า เกือบจะแยกได้อยู่แล้วว่า สื่อเสื้อเหลือง สื่อเสื้อแดง บรรยากาศของการรับสื่อค่อนข้างจะชัดว่า คนเสื้อเหลืองก็รับสื่อเสื้อเหลือง คนเสื้อแดงก็รับสื่อเสื้อแดง หรือว่ามีคำถามง่ายๆ ว่า อันนี้เป็นพวกเดียวกับเรารึเปล่า ทีนี้ในแง่การทำงานสื่อมวลชน บรรยากาศการรับข้อมูลข่าวสารแบบนี้ ไม่ได้ช่วยให้สังคมมีความเข้าใจกันมากขึ้นใช่หรือไม่ คือ สังคมจะยิ่งแยกความเข้าใจระหว่างกัน จะยิ่งถ่างออกหรือเปล่า ประวิตร: คงหลีกเลี่ยงลำบาก เพราะว่าตอนนี้สื่อทั้งขั้วเหลืองและขั้วแดง โจมตี ใช้คำด่าซึ่งกันและกันค่อนข้างจะหยาบคาย ทั้งเอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน และทั้งสื่อแดง ไม่ว่าจะเป็นไทยเรดนิวส์ หรือวอยซ์ออฟทักษิณ ฯลฯ มีการด่าทอกันหนักพอสมควร ผมก็คงไม่แปลกใจ ถ้าผมเป็นสื่อเสื้อเหลืองก็คงไม่อยากจะมานั่งอ่านสื่อเสื้อแดงที่ด่าตัวเอง หรือถ้าเป็นเสื้อแดงก็ไม่อยากจะซื้อผู้จัดการมานั่งอ่านให้แสลงใจ และนี่ก็คือผลของความไม่รู้จักบันยะบันยังของสื่อทั้งสองฝั่ง ทำให้ความเกลียดชังมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะแนะนำว่า คนเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็ควรจะอ่านสื่อตรงข้ามของตัวเองไว้บ้างเหมือนกัน จะได้ดูว่า ฝ่ายตรงข้ามคิดอย่างไร แล้วจะได้กลับมาถามตัวเองว่า สิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูก มันถูกจริงหรือไม่อย่างไร แต่เท่าที่ดูจากความเป็นจริงแล้ว ตอนนี้ก็คงจะไม่รู้จะทำอย่างไร แต่อีกอันหนึ่งที่ผมสนใจและสังเกตเห็นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็คือข้อสันนิษฐานว่า คนเสื้อแดงเป็นคนจนบ้านนอกอย่างเดียว จะต้องมานั่งคิดกันใหม่ เพราะตอนหลังผมพบว่าสื่อเสื้อแดงมีขายตามร้านหนังสือบนรถไฟฟ้าบีทีเอส ร้านหนังสือพิมพ์ ร้านหนังสือในห้างอย่างสยามพารากอน บีทูเอสของเซ็นทรัล ชิดลม หรือทองหล่อ ลาดพร้าว สีลม ซึ่งผมแปลกใจมากและได้พยายามถามคนขายเหมือนกันว่าคนกลุ่มไหน ถ้าคุณมองว่าคนเสื้อแดงจริงๆ แล้วเป็นคนบ้านนอกที่รับเงินทักษิณมา แล้วใครเป็นลูกค้าสื่อเหล่านี้ล่ะ คนขายคนหนึ่งที่ผมถามที่สยามพารากอน ชั้นล่างที่มีโรงอาหาร เขาบอกว่า ก็เป็นคนทั่วไป แม้กระทั่งคนออฟฟิศในตึกในสยามพารากอนที่เป็นชนชั้นกลางก็มาซื้อ ทำให้ผมคิดว่า เราอาจจะต้องมาตั้งคำถามใหม่ว่า กระแสที่ตั้งคำถามกับชนชั้นนำเก่ามันกว้างแค่ไหน แล้วตอนหลังสื่อเสื้อแดงเล่นชนชั้นนำเก่าหนักมาก เป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็น cost ที่สูงมาก ที่พูดไม่ใช่เพราะว่า ควรจะไปปิดหรือไม่ อย่างไร แต่คิดว่าควรจะต้องตั้งคำถามว่า เรื่องสำคัญอย่างนี้สื่อกระแสหลักไม่สนใจจะตั้งคำถามว่า การตั้งคำถามกับชนชั้นนำเก่าจริงๆ แล้วมีเหตุมีผลหรือไม่ อย่างไร พิณผกา: เทียบประสบการณ์จากภาคใต้ จะพบว่าคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ จะปฎิเสธสื่อภาคภาษาไทย และสื่อหลักของไทยเหมือนกัน คือสื่อหลักได้สูญเสียความเชื่อมั่นในสื่อหลักไปแล้ว ทีนี้บรรยากาศของคนเสื้อแดง บรรยากาศในสังคมตอนนี้ มันเข้าใกล้บรรยากาศแบบนั้นหรือยังค่ะ คือสื่อหลักได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว สำหรับคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร ประวิตร: ผมคุยกับเสื้อแดงคนหนึ่ง เพื่อสัมภาษณ์ลงเดอะเนชั่นไปเมื่อไม่ถึงอาทิตย์ที่ผ่านมา เขาเป็นคนเสื้อแดงผู้หญิง ซึ่งเป็นข้าราชการอยู่กระทรวงหนึ่ง จบมหาวิทยาลัยระดับ Ivy league ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่วนในการยึดพื้นที่แถวดินแดงในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาบอกว่า เขาไม่อ่านสื่อกระแสหลัก ผมคิดว่าสื่อกระแสหลักไม่ได้เพียงแต่เสียความน่าเชื่อถือ แต่มันขาดความชอบธรรมด้วยซ้ำไป เขาบอกว่าได้อ่านบ้าง ก็อ่านขำๆ แล้วคนเหล่านี้เขาก็มีสื่อของเขาเอง เขาก็ดูสื่อของเขา เขาก็อ่านบทความอย่างเช่นคนที่ใช้นามปากกาว่า ลูกชาวนาไทย เพราะฉะนั้นเหมือนกับตอนนี้ทั้งสองกลุ่มอยู่กันคนละโลกแล้ว อันนี้ชัดเจน พิณผกา: แล้วมันจะดึงกลับมาได้ไหมค่ะ บรรยากาศแบบนี้ สื่อหลักจะสามารถดึงความน่าเชื่อถือของตัวเองกลับมาได้ไหม ประวิตร: ถ้าจะอ่านให้ละเอียด ก็ยังพอเห็นได้ว่าในสื่อกระแสหลักบางฉบับ บางคอลัมน์ หรือบางข่าว ที่พยายามจะชั่งน้ำหนัก พยายามจะหามุมที่ให้ความเป็นธรรมกับหลายๆ ฝ่าย อย่างวันนี้ ผมก็รู้สึกมีหวังนิดหน่อย ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม บทบรรณาธิการฉบับนี้ก็เขียนวิจารณ์คุณกรณ์ จาติกวณิชไป ที่ออกมาทวีตว่า ถ้าไม่มีรัฐประหารก็คงจะยึดเงินคุณทักษิณไม่ได้ แล้วบทบรรณาธิการก็เขียนวิจารณ์ว่า "การเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยควรจะแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการต่อต้านไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจปฎิวัติใดๆ ซึ่งคำติติงดังกล่าวถูกต้องทีเดียว เพราะการปฎิวัติที่ผ่านมาต้องยอมรับความจริงว่า ได้ส่งผลเสียแก่ประเทศชาติมากมายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบ้านเมือง แล้วยังชื่นชมกับการปฎิวัติอีกหรือ" นี่คือคำถามที่ไปสู่คุณกรณ์ ผมก็เห็นความพยายามอย่างบางฉบับ มติชน ข่าวสด ไทยรัฐ ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคุณจะเป็นเหลืองเป็นแดง ควรจะเปิดพื้นที่ให้กับความเห็นต่างให้มากขึ้น ในแง่นี้ผมยังอยากจะวิจารณ์ว่าถ้าในแง่นี้แล้วสื่อกระแสหลักจำนวนหนึ่งอย่างที่ผมเอ่ยมา ยังมีพื้นที่ให้กับความเห็นต่างบ้างในระดับหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่สื่อแดงตอนนี้ขาด เพราะสื่อแดงไม่ต่างจากผู้จัดการรายวัน คือเป็นสื่อที่ผมเรียกว่า vigilante คือเป็นสื่อที่เอาความเชื่อว่าตัวเองถูกต้องเป็นใหญ่ แล้วก็ด่าฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียวก็ยังพอเห็นว่าสื่อกระแสหลักบางส่วนยังมีความพยายามที่จะแสดงความเห็นต่าง ก็น่าเสียดายอย่างกรณีคุณใบตองแห้งที่ถูกตัดตอนจากการเขียนคอลัมน์ในไทยโพสต์ ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณให้เห็นว่าสื่อกระแสหลักจำนวนหนึ่งก็มีความอดทนต่อความเห็นต่างน้อยลงไปทุกที มีรุ่นพี่อีกคนหนึ่งในหนังสือพิมพ์กระแสหลักฉบับภาษาไทยฉบับหนึ่ง มาบ่นให้ผมฟังว่า ตัว บก.บอกเขาว่าอย่าเขียนเลย เขาไม่ควรเขียนเพราะเขามีตำแหน่งเป็น บก.อาวุโสในหนังสือพิมพ์เครือนี้ แต่เขามีจุดยืนฝักใฝ่ฝ่ายแดง และ บก.ก็บอกรุ่นพี่คนนี้ว่า รุ่นพี่คนนี้ควรจะรู้ดีว่า สื่อเราเลือกเหลืองแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อตัวเองมีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการอาวุโสก็ไม่ควรจะเขียนลงในฉบับนี้ วรดุลย์: สื่อที่พึงปรารถนาในสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน ก็จะเป็นสื่อที่สามารถมีพื้นที่ให้จุดยืนที่แตกต่างอยู่ในสื่อเล่มเดียวกันได้ หมายความว่า ถ้าจะอ่านหนังสือพิมพ์ก็ต้องอ่านหมดทั้งฉบับทุกคอลัมน์ถึงจะรู้ ก่อนที่จะวิจารณ์สื่อใช่ไหม ประวิตร: ไม่จำเป็นต้องทุกฉบับ ถ้าคุณอ่านบ้างคุณจะพอรู้ อย่างไทยรัฐ คุณจะรู้ใช่ไหมฮะว่ามีการ์ตูนการเมืองอยู่ 2 หน้าที่มีจุดยืนที่ต่างกัน คือถ้าคนอ่านผ่านๆ ก็จะรู้บ้างว่าตรงไหน จุดยืนเป็นอย่างไร ก็ถูกต้อง แรกๆ อาจจะต้องอ่านหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย แต่อ่านสักพักก็จะรู้ว่ามันมีความต่างหน้าไหนบ้าง หรือคอลัมนิสต์คนไหนซึ่งมีความต่างบ้าง ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ แต่ทั้งนี้ผมไม่เห็นด้วยกับการไปไล่ปิดสื่อเหลืองหรือสื่อแดงอย่างสุดขั้ว เพียงแต่อยากจะเรียกร้องว่าเวลาจะด่าใครก็ใช้เหตุผลหน่อย ไม่ต้องเรียกร้องด่าทอแบบลดความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม อันนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง สุดท้ายแล้วสิ่งที่ท้าทายสังคมคือความเท่าทันสื่อ หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า media literacy คือมันไม่ได้อยู่ที่สื่อจะดีหรือไม่ดี จะให้ความจริงเราหรือเปล่าเพราะสุดท้ายสังคมมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าคนจะต้องพึงตัวเองให้ได้ จะต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ หรือ maturity มากพอ อ่านอะไรแล้วควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อ อ่านอะไรแล้วควรจะตั้งข้อสงสัย การเทรนนิ่งเรื่องนี้ การให้ความรู้เรื่องความเท่าทันสื่อ ว่าสื่อมีข้อจำกัดอย่างไร เช่น ความผูกผันกับกลุ่มการเมือง หรือความผูกพันกับกลุ่มผู้ลงโฆษณา บริษัทต่างๆ หรือความเป็นจริงที่ว่าโครงสร้างสื่อเป็นโครงสร้างแบบทอป-ดาวส์ แล้ววัฒนธรรมสื่อเป็นแบบพี่แบบน้อง เป็นวัฒนธรรมที่ขัดกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้มีนัยอย่างไรต่อการทำงานของสื่อ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบการทำงานของสื่อซึ่งเป็นปัญหามากในวงการสื่อไทย วรดุลย์: ตั้งแต่มีปัญหาทางการเมืองในยุคทักษิณ ปัญญาชน นักวิชาการ หรือนักการเมืองจะมองว่าสื่อมีอิทธิพลมาก ตั้งแต่ไอทีวีทุกอย่างก็ทำเพื่อการปฏิรูปสื่อ เช่น ช่อง11 NBT พันธมิตรก็มองว่าเป็นปัญหา อยากจะถามว่าการประเมินแบบนี้ เป็นการประเมินว่าสื่อมีอิทธิพลมากเกินกว่าความเป็นจริงในการดำรงอยู่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นหรือเปล่า ประวิตร: ผมคิดว่าเทรนในอนาคต อำนาจสื่อแบบเดี่ยวๆ องค์กรเดียว ฉบับเดียว หรือทีวีช่องเดียวที่จะมีอำนาจมากนับวันมันจะลดลงไป เพราะผู้คนมีช่องทางที่จะบริโภคสื่อหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเว็บไซต์ วิทยุที่หลากหลาย หรือแม้กระทั่งข่าวที่ยิงมาในมือ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไม่ควรจะให้ความสำคัญมากเกินไปกับความเชื่อที่ว่าสามารถมีทีวีช่องหนึ่งที่จะกำหนดความคิดของคนทั้งสังคมได้ ไม่เช่นนั้นคนก็คงเป็นเหลืองทั้งสังคมแล้ว เพราะตอนนี้รัฐบาลคุมสื่อทีวีอยู่ส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเห็นได้ชัดเลยว่ามนุษย์มีความสามารถคิดตั้งคำถามกับสิ่งที่รับมา การรับสื่อมันไม่ใช่เพียงการรับแบบทื่อๆ เพียงแค่หนังสือพิมพ์หรือทีวีช่องหนึ่งบอกว่าทักษิณดีหรือทักษิณเลวคนก็ไม่จำเป็นจะต้องเชื่ออย่างนั้นเสมอไป สุดท้ายผมคิดว่าตรงนั้นคงไม่ต้องไปห่วงมาก สิ่งที่ต้องเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือเราจะต้องชำแหละข้อจำกัด ความพิกลพิการ ลักษณะที่เรียกว่ามือถือสากปากถือศีลของสื่อกระแสหลัก และแม้กระทั่งสื่อที่ไม่ใช่กระแสหลักด้วยให้เห็นชัดว่าเป็นอย่างไร สังคมจะได้เข้มแข็ง ก็คิดว่าสังคมก็น่าจะผ่านวิกฤติอะไรก็ตามแต่ไปได้ วรดุลย์: มีไอเดียในการปฏิรูปสื่อเหมือนคนอื่นๆ ในอดีตอย่างไร หากปฏิรูปได้จะปฏิรูปสื่ออย่างไร เช่น ให้ปลอดจากผลประโยชน์ ธุรกิจ หรือขึ้นอยู่กับตัวบุคคลผู้บริหารสื่อนั้นๆ ประวิตร: ผมเชื่อในความหลากหลายของสื่อ คือไม่เชื่อว่ารัฐหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งควรจะไปกำหนดว่าสื่อทุกฉบับ ทีวีทุกชอง วิทยุทุกสถานีต้องมีลักษณะเหมือนกันไปหมด ไม่เช่นนั้นไม่ต่างกับ สสส.ที่บังคับว่าวันไหนห้ามกินเหล้า หรือต้องกินอะไร ใช่ไหมครับ อย่างที่ผมพูดเมื่อกี้ ผมว่าคำตอบก็คงอยู่ที่ความเท่าทันสื่อหรือสิ่งที่เรียกว่า Media literacy ในหมู่คนไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะมาได้ แต่ว่าคนเหล่านั้นจะมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นพลวัต ที่มี Dynamic ที่จะปรับ ถ้าสื่อไม่ดีเขาก็จะออกมาด่า คือสื่อกระแสหลักตอนนี้เขาก็รู้ว่าเขาถูกพวกเสื้อแดงถล่มหนักทุกวัน จนกระทั่งไม่ยอมรับ ผมคิดว่าคนในสื่อกระแสหนักจำนวนหนึ่งก็อาจฉุกคิดอยู่เหมือนกันว่าจริงๆ แล้วตัวเองทำอะไรลงไป ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร และส่วนใครอยากจะไปทำสื่อแบบไหน ผมคิดว่าเป็นสิ่งดี อยากจะเห็นให้หลากหลาย อย่างประชาไทก็ถือว่าเป็นการทดลองที่สำคัญซึ่งที่ทำมาก็ได้รับความสำเร็จในระดับหนึ่งในเวลาหลายปีพอสมควรแล้ว ก็อยากจะเห็นการ Experiment กับสื่อรูปแบบต่างๆ ให้หลากหลายขึ้น ผมคิดว่าสังคมไทยน่าจะมีความหลากหลายขึ้น และเข้มแข็งขึ้นเพราะ diversity ที่จะเกิดขึ้นนี้
แม้ทุกวันนี้ หลังจากที่มีรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นรัฐบาลที่เลือกตั้งแล้ว แต่มีการจัดตั้งที่อาจจะไม่ชอบมาพากลเพราะว่า การตกลงเจรจาเพื่อจะตั้งรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์เกิดขึ้น ณ บ้านของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ล่าสุด ช่วงก่อนและหลังวันที่ 26 ก็มีการไล่จัดการวิทยุชุมชนเสื้อแดง โดยอ้างว่ามันผิดกฎหมาย สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าแล้วคุณปล่อยให้เขาเปิดมาก่อนได้อย่างไร แล้วมาทุกวันนี้เพิ่งมาบอกว่าจะไม่อะลุ่มอะล่วยให้เขาเปิดต่อไป ฟังดูแล้วก็ลำบาก ส่วนเรื่องเว็บไซต์ก็คงทราบดีว่า กระทรวงไอซีทีไล่บล็อค ไล่ปิดเว็บไซต์ ทั้งเว็บเสื้อแดงและเว็บที่ตั้งคำถามกับชนชั้นนำเก่าจำนวนหนึ่ง บางอันอาจจะตั้งคำถามในแบบที่เกินเลยไป แต่หลายอันมีการตั้งคำถามอย่างที่สังคมควรจะสดับตรับฟังว่ามีมูลและมีความจริงความเท็จอย่างไร