ที่มา Thai E-News
โดย จักรภพ เพ็ญแข
ที่มา คอลัมน์ “ผมเป็นข้าราษฎร” หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์วิวาทะ Thai Red News ปีที่ 1 ฉบับที่ 39
สามปีเศษที่ผ่านมานี้ ไม่ใช่ความเสียเวลาของฝ่ายประชาธิปไตยเลย หากเป็นเวลาที่ขบวนการประชาธิปไตยเติบโตขึ้นทั้งความรู้ที่ทำให้ตาสว่าง รู้จักมองการณ์ไกล และทดสอบขันติธรรมในระดับผู้นำ พร้อมสำหรับการดูแลประเทศชาติ
ส่วนระบอบอำมาตยาธิปไตย นี่คือสามปีแห่งความระส่ำระสาย ถึงยังกอดอำนาจรัฐไว้ได้ แต่ก็สูญเสียบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ไปมากน่าใจหาย จนไม่แน่ใจว่าเมื่อหมด “บุญ” แล้วความสูญเสียจะจำกัดอยู่แค่อำนาจเปลี่ยนมือ หรือถึงขั้นเปลี่ยนแปลงอย่างที่โบราณเรียกว่าพลิกแผ่นดิน
จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ฝ่ายอำมาตย์ต้องมองหาตัวแบบ (model) ใหม่มาเป็นธง ช่วงชิงการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยน ตัวแบบเดิมดูจะไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะขบวนการประชาธิปไตยขณะนี้กล้าแข็งและมีวุฒิภาวะกว่าเมื่อ ร.ศ.๑๓๐ พ.ศ.๒๔๗๕ พ.ศ.๒๕๑๖ พ.ศ.๒๕๑๙ และ พ.ศ.๒๕๓๕ เสมือนสั่งสมความจัดเจนจากทุกครั้งนั้นมาเป็นครั้งนี้
ตัวแบบใหม่นั้น เดิมคิดว่าเขามองไปที่เมียนมาร์ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยหลัก ๖ ข้อ ได้แก่๑. การปฏิเสธกลวิธีทางประชาธิปไตยทั้งมวล อ้างความรักในสถาบันหลักของชาติมาปลุกเร้าและสร้างความชอบธรรม
๒. การทำให้คนในชาติเห็นประชาคมระหว่างประเทศเป็นศัตรูผู้มุ่งร้าย และ “เรา” ต้องตั้งป้อมสู้กับ “พวกเขา” หรือ “Us Against Them”
๓. เศรษฐกิจแห่งความ “พอ” หรือการเตรียมสกัดกั้นทุนนิยมภายในชาติหรือข้ามชาติ โดยไม่ให้ใครมาตั้งคำถามได้ว่าชนชั้นปกครองเองรู้จักความ “พอ” นั้นหรือไม่ เพื่อปิดประเทศโดยอ้อม
๔. การจัดสรรผลประโยชน์ในทรัพยากรของชาติเสียใหม่ พันธมิตรใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจที่จะก้าวเข้ามาจะต้องช่วยรักษาอำนาจของผู้ปกครองคณะเก่าด้วย
๕. ผูกพันตนเองกับมหาอำนาจที่อยู่ใกล้ในเชิงภูมิศาสตร์เพื่อคานกับมหาอำนาจที่อยู่ไกลกว่า
๖. ทำให้คู่แข่งทางอำนาจกลายเป็นปิศาจ (demonization) ผู้เลวร้ายทุกอย่าง หากสุดท้ายเลี่ยงไม่พ้นต้องตั้งรัฐบาลรวมชาติ ก็จะเอาภาพลักษณ์เลวทรามที่ตัวป้ายสีไว้นั้นมาใช้ประโยชน์ ลดขนาดให้ฝ่ายตรงข้ามเหลือเล็กและมีอำนาจน้อยที่สุดในคณะปกครองแบบผสมผสานนั้น เรียกวิธีการนี้เรียกว่า marginalization
แต่ปัญหาคือเป็นเมียนมาร์ไม่ได้ อย่างน้อยก็ไม่ได้ในทันทีทันควัน เพราะสถาบันหลักของไทยไปเกาะเกี่ยวแนบแน่นอยู่กับระบบทุนนิยม ตักตวงทรัพยากรและโอกาสที่เหนือกว่าคนอื่นในประเทศ และการลงทุนนอกราชอาณาจักรเพื่อกระจายความเสี่ยง การอยู่ใต้อำนาจสหรัฐฯ จนขยับไม่ไหวของชนชั้นปกครองของไทยทำให้หาใครมาคานลำบาก
แถมการเร้ากระแสคลั่งชาติและการสร้างภาพลักษณ์เลวร้ายให้กับคู่แข่งเริ่มไม่ได้ผลและกลายเป็นกระสุนด้านขึ้นทุกวัน ทหารที่พึ่งพาอาศัยได้มีเพียงนายพลสอพลอที่ไม่มีความสามารถในการรบและไม่ได้รับความนับถือจากกำลังพล เพราะได้ดีมาด้วยศิลปะการเต้นรำและร้องเพลง ไม่ใช่ฝีมือในการรบ
เมื่อเข็นประเทศไปทางเมียนมาร์ไม่ไหว ตัวแบบของราชอาณาจักรฮินดูเล็กๆ และมีวิถีชีวิตแนวพุทธอย่าง ภูฏาน ก็ดูน่าสนใจขึ้นมา
ระยะหลังๆ คนไทยคงรู้จักราชอาณาจักรภูฏานจากเสน่ห์ของกษัตริย์จิ๊กเม่วังจุก โดยเฉพาะเมื่อเสด็จฯ เยือนไทยในฐานะเจ้าชายมกุฎราชกุมารและยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์เท่านั้น แต่ภูฏานมีอะไรให้เรียนรู้เกินกว่าความฉาบฉวยนั้นมากนัก
อำมาตย์ไทยคงไม่ได้ใส่ใจต่อภาพลักษณ์ “อินเทรนด์” แต่สนใจวิธีการรักษาอำนาจของกษัตริย์ท่ามกลางแรงกดดันจากประเทศใหญ่ใกล้ชิดอย่างเนปาล และจากองค์การสหประชาชาติให้ภูฏานคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประชาชนเป็นใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่
กษัตริย์ “พ่อ” ขององค์ปัจจุบันสละราชสมบัติก่อนกำหนดในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เพื่อให้ลูกชายได้สืบราชสมบัติแทน เหตุผลที่อ้างในพระราชดำรัสวันสละราชสมบัตินั้นคือ“... ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังคงดำรงตำแหน่งกษัตริย์ มกุฎราชกุมารก็จะขาดประสบการณ์จริงในประเด็นปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองที่จะทำงานในฐานะประมุขแห่งรัฐ ยิ่งเมื่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วในภูฏานตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๑ ยิ่งมีภารกิจอีกมากที่จะต้องสานต่อ ...”
ไม่นานหลังจากนั้นเจ้าชายจิ๊กเม่ก็ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๕ ของราชวงศ์นี้อย่างสมบูรณ์ เฉลิมพระนามว่า จิ๊กเม่ เคซาร์ นัมกเยล วังจุก
“ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา” ที่อดีตกษัตริย์เอ่ยถึง คือการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้กับภูฏานในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ที่ส่งผลให้เกิด “สภาแห่งชาติ” หรือ “National Council” ประกอบด้วยสมาชิกกึ่งเลือกตั้ง ๒๐ คน โดยเก็บสภาที่กษัตริย์แต่งตั้งคือ “รัฐสภา” เอาไว้ด้วย
“ประชาธิปไตย” ในภูฏาน แท้ที่จริงแล้วก็คือกลวิธีรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหนึ่ง หลังจากที่เห็นสถาบันอย่างเดียวกันถึงกาลอวสานไปแล้วในเนปาล ประเทศข้างเคียง สาระของกลวิธีนี้ก็คือคำว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในเมืองไทย โดยเฉพาะในยุคที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยได้รับเลือกตั้งเลย ทั้งนี้ก็เพื่อลดแรงกดดันจากเสียงเรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอันแท้จริง
พลเอกเปรมฯ เคยรับหน้าที่ “ไม้กันหมา” ในยุคนั้นอย่างไร สมาชิกสภาแห่งชาติ ๒๐ คนใหม่ในภูฏานก็คงจะทำหน้าที่อย่างเดียวกันนั้น จุดประสงค์คือเป็นฉนวนกันมิให้แรงกดดันไปถึงองค์พระมหากษัตริย์ได้
ไม่น่าแปลกใจเลยครับที่แกนนำเสื้อแดงบางคนในวันนี้ยังหมุนวนอยู่กับการก่นด่าพลเอกเปรมฯ ทั้งที่ด่าซ้ำซากมาแล้วกว่า ๓ ปี จน พลเอกทรงกิตติ จักร์กาบาตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกมาร่วมรำวงกับเขาด้วยว่า “ป๋าไม่เกี่ยว”
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้พลเอกเปรมฯ เป็นฉนวนกันมิให้เสื้อแดงด้วยกันที่ “ตาสว่าง” แล้วออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยแท้จริง โดยไม่ยอมถูกหลอกให้เพลินอยู่กับการเลือกตั้งภายใต้ระบอบอำมาตย์
“ฉนวน” นี้มีไว้เพื่อมิให้ไฟฟ้าลัดวงจรจนเสียไปทั้งระบอบอำมาตยาธิปไตยได้ ทั้งที่อุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยอันแม้จริงอยู่ตรงนั้น คนที่ร่วมกันฟัดตะลุมบอนอยู่กับ “ฉนวน” น่าจะรู้ว่าเล่นเกมเบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากอะไรและเพื่อใคร เพราะผมรู้ว่าเขาไม่โง่หรอกครับ
การเล่นงานอยู่แต่ เปรม ติณสูลานนท์ โดยไม่ดูภาพรวม เท่ากับนำโมเดลของภูฏานมาใช้ในเมืองไทยแล้วในขณะนี้ เพราะความต้องการเร่งด่วนคือการลดความกดดันต่อแกนกลางของระบอบอำมาตย์ โดยไม่ให้ประชาธิปไตยแท้จริงเกิดขึ้นได้
ส่วนคำสั่งนี้มาจากใคร ผ่านใคร และสั่งอย่างไร ค่อยนำมาคุยให้ครึกครื้นกันสักวัน
ไอ้ที่เอา GH (Gross Happiness) หรือดรรชนีวัดมวลรวมแห่งความสุข (ในประเทศ) ของภูฏานมาใช้อย่างเท่ ก็มิใช่เหตุบังเอิญ เพราะต้องสร้างภาพลักษณ์ของภูฏานให้สวยงามในทัศนะของคนไทยเสียก่อน
คำสั่งลึกลับคือ ให้ยึดตัวแบบภูฏาน แล้วค่อยๆ กลายเป็นเมียนมาร์เมื่อเงื่อนไขเอื้ออำนวยครับ.
--------------------------------TPNews (Thai People News): ข่าวสารสำหรับผู้รักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ส่งตรงถึงมือถือทุกวัน สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน พิมพ์ PN ส่งมาที่เบอร์ 4552146 ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน (เฉพาะ DTAC 30 บาท/เดือน) Call center: 084-4566794-6 (จ.- ศ. 9.30-17.30 น.)