WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, April 29, 2011

"สาวตรี สุขศรี"วิพากษ์ ปิดเว็บ ปิดปากวิทยุชุมชนเงียบแค่เพียงชั่วคราว..เงียบเฉพาะในที่แจ้งเท่านั้น

ที่มา มติชน



สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ ให้สัมภาษณ์ "มติชนออนไลน์" ต่อกรณีการสั่งปิดเว็บไซต์ การคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกรณีการปิดวิทยุชุมชนสิบสามแห่ง และการแกะรอยรายชื่อสมาชิกผู้แสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันด้วยข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

สาวตรี สุขศรี กล่าวว่า จากกรณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีทหารตบเท้าปกป้องสถาบันฯ รายวัน คำสั่งห้ามนักการเมืองใช้เรื่องสถาบันฯ หาเสียง การปิดวิทยุชุมชน รวมทั้งการกระพือข่าวของตำรวจว่าจะเช็คบิลสมาชิกฟ้าเดียวกัน หลายคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า วันนี้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนถูกรัฐคุกคามอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม

ด้วยประเด็นที่เกี่ยวกับการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ บรรยากาศแห่งความกลัวปกคลุมไปทั่ว ผลสะเทือนเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นได้จริง ๆ ตามความประสงค์ของรัฐ ก็คือ ประชาชนจำนวนหนึ่งเงียบเสียงลง แต่การเงียบแบบนี้ไม่มีวันยั่งยืน มันอาจเป็นแค่เพียงการเงียบลงชั่วขณะ และเป็นการเงียบเฉพาะในที่แจ้งเท่านั้น อันที่จริงแล้ว บรรยากาศอึมครึมแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นได้เลยหากรัฐใช้บังคับกฎหมายในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาตามหลักการ และสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย


ในกรณีปิดวิทยุชุมชนนั้น ตามข่าวที่ออกในครั้งแรก รัฐอ้างว่าสถานีที่ถูกปิดไม่มีใบอนุญาต หรือใบอนุญาตหมดอายุ บางสถานีถูกยึดอุปกรณ์เครื่องส่งในฐานะเป็นของกลางผิดกฎหมาย แต่คำถามก็คือ ถ้ารัฐใช้เหตุผลแบบนี้ เหตุใดจึงมีสถานีถูกปิดแค่สิบสามสถานี และส่วนใหญ่เป็นสถานีวิทยุของคนเสื้อแดง

รัฐควรต้องทราบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่มีใบอนุญาต หรือใบอนุญาตชั่วคราวหมดอายุแล้วกระจายอยู่ทั่วประเทศ เนื่องจากการจัดสรรคลื่นยังไม่ชัดเจน ยังอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างรอให้ กสทช. เข้ามาจัดการ ที่กล่าวแบบนี้ไม่ได้ต้องการยุว่า ถ้างั้นรัฐก็ควรตามไปปิดมันเสียให้หมด แต่อยากจะชี้ให้เห็นลักษณะการบังคับใช้กฎหมายของรัฐที่ขาดความเสมอภาคหลายมาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมายแบบนี้ย่อมก่อให้เกิดความสงสัยและไม่พอใจในหมู่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

สุดท้ายรัฐเองนั่นแหละที่จะถูกมองว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว หากเราพิจารณาตามบทบัญญัติที่รัฐอ้าง (พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม 2498) รัฐก็มีอำนาจอย่างนั้นจริง ๆ แต่พอมันเริ่มต้นด้วยความไม่ตรงไปตรงมา ประชาชนก็ย่อมต้องต่อต้าน


และสำหรับกรณีนี้ ในท้ายที่สุดแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ออกมายอมรับทำนองว่า เหตุผลเบื้องหลังที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เรื่องใบอนุญาตหรอก แต่เป็นเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ที่สำคัญก็คือเรื่องหมิ่นสถาบันฯ คำถามก็คือ ถ้าเช่นนั้นทำไมรัฐไม่ใช้เหตุผลนี้เสียตั้งแต่แรก หรือว่ารัฐก็เริ่มกระดากใจแล้วที่จะใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างเพราะมันชักจะบ่อยจนเฝือเกินไปแล้ว หรือเป็นเพราะรัฐเองก็กำลังใช้การพูดถึงสถาบันฯ เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับฝ่ายตนอยู่ด้วยเหมือนกัน

การปิดเว็บไซต์ในช่วงนี้ หรือความพยายามของกระทรวงไอซีทีที่เตรียมงุบงิบเสนอร่างพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เข้าครม. ให้ทันก่อนยุบสภา ก็น่าจะมีเหตุผลไม่แตกต่างกัน คือ ปัญหาเรื่องการพูดถึงสถาบันฯ นัยว่ากระทรวงไอซีที หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องต้องการอำนาจ และเครื่องมือในการจัดการกับเว็บไซต์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นไปอีก หากใครได้เห็นเนื้อหาของร่างกฎหมายใหม่ จะพบว่าปัญหาเดิม ๆ ที่กฎหมายฉบับนี้เคยมีอยู่ มันก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดิมไม่ถูกแก้ไข อย่างเช่น ความไม่ชัดเจนของถ้อยคำ การให้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป หรือบทลงโทษตัวกลางหรือผูัให้บริการที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น


แต่เรื่องใหม่ ๆ ที่น่าจะสร้างปัญหาต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้หนักหนายิ่งไปอีกกลับได้รับการบัญญัติเพิ่มเติม เช่น ตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่มีอำนาจเกินตัวกฎหมายฉบับนี้โดยผู้ดำรงตำแหน่งมาจากรัฐบาล ทหาร ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง, การกำหนดว่า แค่เพียงทำสำเนาข้อมูลผิดกฎหมายในเครื่องตนเองไม่ต้องเผยแพร่ก็เป็นความผิดได้ รวมทั้งการขยายความรับผิดไปสู่ “ผู้ดูแลระบบ” ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางเสียยิ่งกว่าคำว่า “ผู้ให้บริการ” ซึ่งก็มีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งประเด็นหลังนี้สำคัญมาก


หากใครติดตามข่าว จะพบว่า คดีพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในระยะหลังที่ผ่านมา จำนวนไม่น้อยมีจุดร่วมกันอย่างน้อยสองประการ หนึ่งคือ จำเลยคือผู้ให้บริการ แทนที่จะเป็นผู้โพสต์ข้อความ และสอง สาเหตุที่ถูกฟ้องก็คือ ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกอบมาตรา 112 หรือเรื่องหมิ่นสถาบันฯ

ข้อเท็จจริงนี้ นอกจากประเด็นปัญหาเรื่องการใช้มาตรา 112 อย่างพร่ำเพรื่อแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นวิธีการทำงานของรัฐด้วยว่า มักง่าย และอาจหวังผลบางอย่าง คือ ต้องการให้สื่อกลัวจนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น เพราะแทนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะพยายามแสวงหา หรือนำตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษก่อน (ถ้าเห็นว่าข้อความเหล่านั้นเข้าข่ายเป็นความผิดจริง) รัฐกลับมุ่งเน้นไปที่การดำเนินคดีกับผู้ให้บริการทันที เพราะไม่ต้องเสียเวลาแกะรอยตามหาตัว ทั้งไม่ต้องยุ่งยากหาข้อมูลจำนวนมากมายืนยัน ฯลฯ


แต่การทำอย่างนี้นอกจากผลกระทบที่จะมีต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อพัฒนาการ และการขยายตัวของการให้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมของประเทศโดยรวมด้วย เพราะเมื่อผู้ให้บริการกลายเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ต้องมารับผิดในสิ่งที่ตัวเองได้ก่อ หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อคอยจัดการดูแลเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตอย่างมากเกินสมควร ก็ย่อมไม่มีใครอยากให้บริการ ซึ่งกรณีแบบนี้ต่างประเทศเค้าไม่ทำกัน (อาจยกเว้นบางประเทศเผด็จการอย่าง จีน พม่า หรือสิงคโปร์)


นอกจากนี้อาจารย์สาวตรี ยังกล่าวด้วยว่า แม้ในครั้งแรกที่ประเทศไทยมีดำริจะมีกฎหมายคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองนั้น ฝ่ายผู้ร่าง ฯ จะพยายามนำกฎหมายระหว่างประเทศอย่างสนธิสัญญาอาชญากรรมไซเบอร์ของคณะมนตรียุโรป และของต่างประเทศอย่างของอังกฤษ อิตาลี มาเลเซีย มาเป็นต้นแบบในการร่างก็จริง แต่พอปรับไปเปลี่ยนมาหลายร่างมากเข้า มาตราแปลก ๆ ที่ของต่างประเทศไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะแบบนี้ (เนื่องจากมีบัญญัติอยู่แล้วในกฎหมายหลัก ๆ อย่างประมวลกฎหมายแพ่ง และอาญา) ก็ถูกจับยัดเข้ามาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกเพิ่มเข้ามาในร่าง ฯ สุดท้ายโดยคณะกรรมการของรัฐบาลที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน เช่น ความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาที่โพสต์ (มาตรา 14) ความรับผิดผู้ให้บริการ (มาตรา 15) รวมทั้งมาตรา20 ที่ว่าด้วยเรื่องอำนาจในการสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ และสุดท้ายมาตราเหล่านี้ก็กลับกลายเป็นบทหลักที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดี


ถามว่าปัญหาเรื่องคุกคามเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นนี้ เราหวังอะไรได้ไหมกับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา โดยส่วนตัวคิดว่ายังเร็วไปที่จะประเมินสถานการณ์ เพราะเรายังไม่รู้ว่าฝ่ายใดจะได้เป็นรัฐบาล คนที่เข้ามานั่งในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้จะมีแนวคิด ทัศนะคติแบบไหน กสทช.เอง เราก็ไม่รู้ว่าจะพึ่งได้แค่ไหน ที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย ก็คือ เราไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่ประเด็นการอ้างใช้มาตรา 112 อย่างพร่ำเพรื่อเพื่อปิดปากประชาชนมันจะจบ ๆ กันได้เสียที


สำหรับหนทางแก้ไขนั้น อาจารย์สาวตรี ให้ความเห็นว่า คงต้องอาศัยพลังทางฝ่ายประชาชนเป็นหลัก คอยติดตามตรวจสอบการปิดกั้นสื่อต่าง ๆ ไม่เฉพาะเว็บไซต์ วิทยุชุมชน แต่รวมถึงสื่อประเภทอื่น ๆ ด้วยอย่างโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ หากเห็นว่ามีประเด็นไม่ชอบมาพากลก็ทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้ประชาชนได้รับรู้ว่ารัฐคุกคาม หรือใช้อำนาจหน้าที่เกินสมควร หรือเกินกรอบแห่งกฎหมายอย่างไร เรื่องคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมามีอำนาจพิเศษ หรือวางนโยบายด้านนี้ก็ควรเรียกร้องให้มีที่มา หรือมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย ทำนองเดียวกับการเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ การระดมความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน หรือการเสนอร่างกฎหมายคู่ขนานกับร่างของรัฐล้วนมีประโยชน์ในแง่ที่จะทำให้รัฐบาลใด ๆ ก็ตามต้องหันมาให้ความสำคัญ และหยิบจับเรื่องนี้ไปขับเคลื่อนต่อทั้งสิ้น

แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่ไม่อาจมองข้าม หรือตัดออกไปจากประเด็นการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยได้เลยก็คือ การเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดหูเปิดตา ทบทวนแก้ไขสาระแห่งบทบัญญัติมาตรา 112 ให้ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งทำให้การใช้การตีความมาตรานี้ (ทั้งใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับกฎหมายฉบับอื่น) อยู่ในกรอบแห่งกฎหมาย และอยู่กับร่องกับรอยมากกว่าที่เป็นอยู่นี้.

(ภาพ : ประชาไท )