ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
24 เมษายน 2554
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ (3 ตุลาคม 2552)
บทความเก่าของประชาชาติธุรกิจบทความนี้ที่นำเสนอครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2552 กำลังถูกนำมาเผยแพร่ใหม่ในหมู่ชาวเฟสบุ๊ค ทีมงานไทยอีนิวส์เห็นว่าในยุคทหารฮึ่มๆ ใส่ประชาชนอีกครั้งด้วยข้ออ้างเดิมว่าขจัดการคอรัปชั่น และปกป้องราชบัลลังก์ บทความของประชาชาติเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าข้ออ้างของทหารนั้นจริงแท้แล้วก็คือ การปล้นประเทศเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและบรรดานายพลทั้งหลายเท่านั้นแล
ประชาชาติฯ ตามไปดู เศรษฐีใหม่ ที่ร่ำรวยหลังยึดอำนาจ จากยุค จอมพลผ้าขาวม้าแดง ถึง ยุค บิ๊กบัง ทรัพย์สินและความ มั่งคั่ง ท่านได้แต่ใดมา ? พลเอกสนธิ เบาะ ๆ แค่ 90 ล้าน บิ๊กจ๊อดและเมีย เรียบโร้ยระดับ พันล้าน 3 จอมพลกิตติขจร-จารุเสถียร รวมกันพันล้าน สุดยอดต้องยกให้ จอมพลสฤษดิ์ ทะลุ 2,800 ล้าน
...น่าแปลกที่ นายพล และพลเอก หลายคน ยิ่งพูดเรื่องรักชาติ มากครั้ง และเสียงดัง มากขึ้นเท่าใด พวกเขา ยิ่งร่ำรวย ยิ่งมั่งคั่ง และยิ่งถ้า พวกเขาตบโต๊ะ ประกาศลั่นว่า อั้ว รักชาติ นั่นแสดงว่า สินทรัพย์ของ ฯพณฯ ทะลุ พันล้านแล้ว ในยุคเผด็จการที่ นายพล กับ เจ้าสัว เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกัน ช่วงกลางทศวรรษ 2490
พล ตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นกรรมการบริหารบริษัท 26 แห่ง ซึ่งมีทั้ง ธนาคาร บริษัทภาพยนตร์ โรงแรม โรงงานน้ำตาล ธุรกิจนำเข้าส่งออก และธุรกิจเครื่องจักรกล
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่งเป็นกรรมการบริหาร 22 บริษัท
ปี 2512 จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นกรรมการบริษัท 44 แห่ง พลเอกกฤษณ์ สีวะรา 50 แห่ง
อธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ถูกเชิญเป็นกรรมการบริษัท 33 แห่ง
หลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤดิ์ มีข้อมูลระบุว่า จอมพลผ้าขะม้าแดงสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองและครอบครัวถึง 2,800 ล้านบาท
นี่คือ ผลตอบแทนความรักชาติ ที่สงวนสิทธิ์เฉพาะ ผู้สวมท็อปบู๊ต เท่านั้น
@ ผู้รักชาติ นักปฎิวัติ และเศรษฐีใหม่
ในวาระครบรอบ 3 ปี แห่งการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกปล้นอำนาจ ออกมาแฉว่า การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน คนไทยไม่ได้อะไรเลย นอกจากได้เศรษฐีใหม่ส่วนใหญ่เป็นยศพลเอกและได้ทหารที่เข้มแข็งมีอาวุธมากขึ้น
แม้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เจาะจงชื่อผู้โค่นอำนาจเขา แต่ถ้าจับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคเพื่อไทยที่ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบความมั่งคั่งของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เครือญาติ ตลอดจนนายทหารร่วมกันยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะเข้าใจนัยของอดีตนายกฯทันที
ขณะที่ พล.อ.สนธิซึ่งมีทีท่าว่าจะลงสนามการเมืองได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่าพร้อมให้ตรวจสอบ เพราะได้แจ้ง ป.ป.ช.ไปหมดแล้ว
เท่ากับจนถึงขณะนี้ภาระการพิสูจน์ความจริงถูกโยนไปที่ ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว จากกรณีดังกล่าว หากเปิดกรุสมบัติของอดีตผู้นำ คมช.ที่ยื่นแสดงต่อ ป.ป.ช. ตอนรับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พบข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะว่านายทหารอาชีพ 1 คน ภรรยา 2 คนไม่ได้ทำธุรกิจ และ บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 1 คน รวม 4 คน มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 90 ล้านบาท (ไม่รวมบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว 4 คน) ถือว่าไม่น้อย เมื่อเทียบกับนายทหารชั้นยศพลอากาศเอก และ พลเรือเอก ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันที่มีทรัพย์สินแค่ 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ วันที่ 5 ต.ค. 2550 ตอนรับตำแหน่งรองนายกฯ พล.อ.สนธิแจ้งว่ามีทรัพย์สิน 38.7 ล้านบาท นางสุกัลยา คู่สมรส คนที่หนึ่ง 14 ล้านบาท นางปิยะดา คู่สมรส คนที่สอง 36.9 ล้านบาท น.ส.ศศินภา บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ 3 แสนบาทเศษ รวม พล.อ.สนธิ นางสุกัลยา และน.ส.ศศินภา 53.1 ล้านบาท แต่ถ้ารวมนางปิยะด้วยเท่ากับ 90.1 ล้านบาท
วันที่ 6 ก.พ.2551 ตอนพ้นตำแหน่ง ทรัพย์สินของ พล.อ.สนธิ นางสุกัลยา และน.ส.ศศินภา เพิ่มเป็น 60.1 ล้านบาท กระทั่งพ้นตำแหน่งครบ 1 ปีวันที่ 5 ก.พ. 2552 ทรัพย์สินของพล.อ.สนธิ นางสุกัลยา และน.ส.ศศินภา เพิ่มเป็น 62.2 ล้านบาท น่าสังเกตว่าการยื่นบัญชีฯ 2 ครั้งหลัง พล.อ.สนธิ มิได้แจ้งทรัพย์สินของภรรยาคนที่สอง แต่อย่างใด
หากเปรียบเทียบครั้งแรก กับ ครั้งหลัง ช่วงเวลาเพียงปีเศษ เพิ่มประมาณ 9 ล้านบาท ถือว่าพอสมควร (ถ้าการยื่นบัญชีฯครั้งแรก ไม่คลาดเคลื่อนหรือหลงลืม)
เมื่อเจาะลึกพบว่า พล.อ.สนธิมีเงินลงทุน ได้แก่ หุ้นการบินไทย ,กองทุนเปิดทหารไทยพันธบัตร และ หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ นสค. รวม 11.2 ล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลง แต่รายการที่เพิ่มขึ้นคือ "ที่ดิน " และ "เงินฝาก"
เงินฝาก ตอนรับตำแหน่ง พล.อ.สนธิแจ้งว่ามี 23.5 ล้านบาท นางสุกัลยา 3.9 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่งพล.อ.สนธิมี 29.3 ล้านบาท นางสุกัลยาลดลงเหลือ 1.3 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่ง 1 ปี พล.อ.สนธิมี 26.6 ล้านบาท นางสุกัลยาเพิ่มเป็น 1.6 ล้านบาท
ส่วนที่ดิน ตอนรับตำแหน่ง พล.อ.สนธิแจ้งว่าไม่มี นางสุกัลยามี 1 แปลง 1.3 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่ง พล.อ.สนธิ มี 1 แปลง มูลค่า 3.3 ล้านบาท นางสุกัลยา 4 แปลง 5.2 ล้านบาท ตอนพ้นตำแหน่ง 1 ปี พล.อ.สนธิมีที่ดิน 6 แปลง 6.3 ล้านบาท ส่วนนางสุกัลยามี 4 แปลง เบ็ดเสร็จที่ดินของคนทั้งสองเพิ่มขึ้นประมาณ 9 แปลง
@ บิ๊กบัง หรือ จะสู้ บิ๊ก จ๊อด
ขุมทรัพย์ของ "บิ๊กบัง" เท่าที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ถ้าวางเทียบกับ บุรุษเสื้อคับอย่าง พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่โค่นอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ถือว่าจิ๊บจ๊อยเป็นอย่างยิ่ง
มีข้อมูลระบุว่า "บิ๊กจ๊อด" ผู้ให้สัมปทาน "ดาวเทียมสื่อสาร"แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ รวยนับพันล้านบาท
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร ชุดนายทองใบ ทองเปาด์ อดีตส.ว.มหาสารคาม ได้ตรวจสอบพบว่า "บิ๊กจ๊อด" มีทรัพย์สินอยู่ในการครอบครองของนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยา (อีกคน) ของ พล.อ.สุนทร ประมาณ 1,000 ล้านบาท
ภายหลังจาก พล.อ.สุนทรเสียชีวิตเกิดศึกแย่งชิงมรดกระหว่าง นางอัมพาพันธ์ กับ พ.อ.(หญิง) คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ ภรรยาของพล.อ.สุนทร นางอัมพาพันธ์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแห่งกรุงเทพใต้ ขอให้มีคำสั่งเป็นผู้จัดการมรดก โดย พ.อ.(หญิง) คุณหญิงอรชร และบุตรชาย 2 คน ยื่นคัดค้าน พร้อมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางอัมพาพันธ์ กับพวก รวม 12 คน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรม และเรียกคืนทรัพย์สินประมาณ 3,900 ล้านบาท
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯเข้าไปตรวจสอบสินมูลค่า 1,000 ล้านบาท และมีข้อสังเกตว่า ช่วงก่อน-หลัง เป็นประธาน รสช. บัญชีเงินฝากของ พล.อ.สุนทร มีกระแสเงินไหลเวียนเข้า-ออก สูงถึง 122.6 ล้านบาท และ จำนวน 127.3 ล้านบาท ตามลำดับ
นางอัมพาพันธ์ ไม่ได้ประกอบธุรกิจ นอกจากเล่นหุ้นในบางครั้งแต่กลับมีทรัพย์สินในครอบครองมูลค่าถึง 1,000 ล้านบาท และไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าได้ทรัพย์สินมาอย่างไร
ต่อมากรมสรรพากรได้เรียกนางอัมพาพันธ์มาชี้แจงแหล่งที่มาของเงินฝากใน 29 บัญชี ประมาณ 500 ล้านบาท ปรากฏว่านางอัมพาพันธ์ ชี้แจงได้ประมาณ 400 ล้านบาท อีก 100 ล้านบาทชี้แจงไม่ได้ กรมสรรพากรจึงเรียกเก็บเสียภาษี พร้อมชดเชยค่าปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายกำหนด รวม 75 ล้านบาท
@ บิ๊กจ๊อด หรือ จะสู้ 2 จอมพล
อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งของ "บิ๊กจ๊อด" ถ้าเทียบกับ จอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์ กับ จอมพลถนอม กิตติขจร อาจใกล้เคียงกัน
ภายหลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤดิ์ มีข้อมูลระบุว่า จอมพลผ้าขะม้าแดงสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองและครอบครัวถึง 2,800 ล้านบาท
จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเคยเป็นลูกน้องจอมพลสฤษดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในขณะนั้นถึงเหตุผลในการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์เมื่อวัน ที่ 20 พฤศจิกายน 2507 จำนวน 604.5 ล้านบาท ว่าอดีตเจ้านายของเขาใช้อำนาจโดยมิชอบกระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สิน ของรัฐ
และให้เหตุผลในการประกาศใช้ มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ว่าต้องการมาใช้หนี้รัฐ เพราะจอมพลสฤษดิ์นำเงินของรัฐไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นเงินฝากในธนาคารประมาณ 400 ล้านบาท ไม่รวมเงินฝากในต่างประเทศอีกหลายร้อยล้านบาท
ขณะที่จอมพลถนอมซึ่งถูกนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกฯคนที่ 12 ใช้อำนาจตามมาตราเดียวกันยึดทรัพย์พร้อมกับจอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2517 มีมากกว่าพันล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นเงินฝากกว่า 472 ล้านบาท แบ่งเป็นจอมพลถนอม 24 ล้านบาท ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร 98 ล้านบาท พ.อ.ณรงค์ 32 ล้านบาท นางสุภาภรณ์ กิตติขจร 32 ล้านบาท ไม่รวมทรัพย์สินอื่น 700-800 ล้านบาท
เห็นได้ว่าผู้โค่นอำนาจในยุคอดีตแต่ละคนล้วนมั่งคั่ง ขณะที่นายทหาร คมช.ผู้โค่นอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน หลายคนอู้ฟู่
การจัดซื้ออาวุธนับหมื่นล้านบาทถูกวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งเมือง
เพราะรักชาติ กันทีไร ก็ร่ำรวยกันทันตาเห็น !!!