ที่มา ประชาไท
แด่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และคณาจารย์นิติราษฏร์
ผู้เสียสละเพื่อให้ประชาชนได้ออกมาพูด “ความจริง” นอกถ้ำ
เพลโตเปรียบเราทุกคนเป็นเสมือน “มนุษย์ถ้ำ” ที่ไม่มีทางจะรู้ได้ว่า โลกแห่งความเป็นจริงภายนอกถ้ำนั้นเป็นอย่างไร เนื่องจากมนุษย์ถ้ำถูกมัดตรึงให้หันหลังมาทางปากถ้ำ และหันหน้าไปทางผนังถ้ำด้านใน เขาเห็นเพียงแสงสว่างที่ส่องเข้ามาจากปากถ้ำและเห็นเงาของสัตว์ต่างๆ ที่เดินผ่านปากถ้ำเคลื่อนไหวไปมาที่ผนังถ้ำเท่านั้น เขาจึงทึกทักเอาว่าเงาที่เห็นนั้นคือ “ความจริง”
ในทัศนะของเพลโต เราเป็นเหมือนมนุษย์ถ้ำในความหมายว่า เราสามารถเห็นได้เพียง “เงาของความจริง” เพราะโลกที่ปรากฏต่อการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้งห้าของเรา ไม่ใช่โลกของความจริงแท้ ส่วนโลกของความจริงแท้คือ “โลกแห่งแบบ” (Forms) นั้นเป็นโลกที่เราไม่มีทางจับต้องมองเห็นได้ ทุกสิ่งที่เราจับต้องมองเห็นได้ไม่ใช่ความจริงแท้ เป็นเพียงภาพสะท้อนหรือ “เงาของความจริงแท้” เท่านั้นเอง
ผมคิดว่าเราทุกคนเวลานี้ก็เป็นคล้ายๆ มนุษย์ถ้ำ ที่ว่า “คล้ายๆ” หมายความว่า ไม่เหมือนเป๊ะๆ เลย แต่อาจเทียบเคียงในบางด้านได้
“มนุษย์ถ้ำ” อย่างเราไม่ถึงขนาดว่าไม่มีทางรู้ความจริงที่แท้จริงได้เหมือนมนุษย์ถ้ำของเพลโต เรารู้ความจริงได้ แต่สามารถพูดความจริงได้ภายในถ้ำเท่านั้น จึงทำให้สังคมของมนุษย์ถ้ำอย่างพวกเราเป็น “สังคมลับๆ ล่อๆ” เพราะในภาวการณ์ปัจจุบันนี้ เรา (ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ปัญญาชน นักวิชาการ สื่อ รัฐบาล ทหาร พระสงฆ์ ฯลฯ) ต่างโผล่หน้าออกมาจากถ้ำเพื่อที่จะพูด “ความเสมือนจริง” แล้วก็กลับเข้าไปพูด “ความจริง” กันในถ้ำของใครของมัน (ใกล้เลือกตั้งครั้งนี้คอยดูพวก “นักวิชาการดารา” จะแข่งกันจ้อ “ความเสมือนจริง” ออกทีวี)
เมื่อเราต่างออกมาพูดกันได้บนเวทีสาธารณะแค่เพียง “ความเสมือนจริง” ปัญหาความขัดแย้งที่เราสามารถหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันได้อย่างตรงไปตรงมา จึงเป็นเพียง “ปัญหาเทียม” และแนวทางแก้ไขต่างๆ ที่เราระดมต้นทุนจำนวนมากทั้งสมอง งบประมาณ เวลา ฯลฯ เพื่อให้ได้มา มันจึงเป็นเพียงแค่แนวทางแก้ “ปัญหาเทียมๆ” เท่านั้น
ทุกแนวทางแก้ปัญหาที่ได้มา ไม่มีแนวทางใดๆ ที่สามารถตอบได้ว่า ประเทศนี้จะไม่มีรัฐประหารและการนองเลือดของประชาชนเกิดขึ้นอีก ไม่มีคำตอบว่าประเทศนี้ทหารจะไม่อ้างสถาบันทำรัฐประหารอีก ไม่มีคำตอบว่าจะสิ้นสุดการอ้างสถาบันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งในเชิงหาเสียง และในเชิงทำลายคู่แข่งทางการเมือง ฯลฯ
ที่ไม่สามารถมีคำตอบเช่นนั้นได้ เพราะเราไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาธิปไตยได้ว่า ทำอย่างไรหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคจึงจะถูกนำมาใช้แก่ทุกคนที่เป็นสมาชิกแห่งรัฐอย่างเท่าเทียมกัน
โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 หลักเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นคนตามระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางเป็นจริงได้ เราจะตกอยู่ในสภาพเป็น “มนุษย์ถ้ำ” คือมนุษย์ที่สามารถพูดความจริงทุกด้านเกี่ยวกับประมุขของรัฐได้ภายในถ้ำใครถ้ำมันเท่านั้น
แต่ปัญหาคือ “มนุษย์ถ้ำ” ไม่ใช่มนุษย์ที่ได้มาตรฐานขั้นต่ำของความเป็นมนุษย์ เพราะ “มาตรฐานขั้นต่ำสุด” ของความเป็นมนุษย์ในสังคมประชาธิปไตยคือ เราต้องมีเสรีภาพที่จะคิด พูด ทำ เชื่อ เลือกแนวทางการดำเนินชีวิตเป็นต้น ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น
และในฐานะ “ประชาชน” เราต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ “ทุกอำนาจสาธารณะ” ที่ดำรงอยู่และใช้อำนาจนั้นด้วยอาศัยเงินภาษีของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่พิสูจน์ว่าเราผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของ “ความเป็นมนุษย์” เราต้องพูดความจริงได้ทั้งในถ้ำและนอกถ้ำ และในฐานะ “ประชาชน” ผู้ชุบเลี้ยงชนชั้นปกครอง เราต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบและเรียกร้องความรับผิดชอบกับทุกอำนาจสาธารณะที่ใช้เงินภาษีของเราได้
แต่เหตุใดในประเทศนี้ เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “มาตรฐานขั้นต่ำสุด” ของความเป็นมนุษย์ และเพื่อให้ได้มาซึ่ง “อำนาจของตนเอง” พวกเขาจึงต้องถูกจับ ถูกฆ่าตายและบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจครั้งแล้วครั้งเล่า
ณ ปี พ.ศ.นี้แล้ว มีเหตุผลอะไรบ้างครับที่ประเทศนี้ไม่สมควรจะมีประชาธิปไตยที่ทำให้เราทุกคนสามารถมี “มาตรฐานขั้นต่ำสุด” ของความเป็นมนุษย์ และสามารถเป็นประชาชนที่มีอำนาจปกครองตนเองอย่างแท้จริง พร้อมๆ กันกับมีประมุขแห่งรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้บนพื้นฐานของหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคในความเป็นคน
ผมมองไม่เห็นเหตุผลใดๆ เลย การใช้อำนาจและความรุนแรงปราบปรามประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เพราะสู้กับข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลบนพื้นฐานประชาธิปไตยของประชาชนไม่ได้ !
แต่เมื่อใช้อำนาจและความรุนแรงแล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่า “ความจริง” จะไม่ทะลักออกจากถ้ำ และหากความจริงมันทะลักออกจากถ้ำ อำนาจและความรุนแรงจะหยุดยั้งได้หรือไม่ การใช้อำนาจและความรุนแรงต้นทุนแรกสุดคือภาษีประชาชน จะใช้ภาษีประชาชนเพื่อกดขี่ประชาชนผู้มีบุญคุณชุบเลี้ยงตลอดไปได้อย่างไร
สิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ และคณาจารย์นิติราษฎร์พยายามทำ คือการพยายาม “สร้างระบบ”ให้เราทุกคนผ่าน “เกณฑ์ขั้นต่ำสุด” ของความเป็นคน และเป็นประชาชนที่มีอำนาจเป็นของตนเอง และเป็นการปกป้องสถาบันให้อยู่ได้ควบคู่กับความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
อันเป็นวิธีการรักษาสถาบันอย่างถูกต้อง ด้วยวาระการต่อสู้ที่มีความหมายสำคัญว่า “เราจะสู้เพื่อประชาชน” เพื่อให้ “ในหลวง” เป็นของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผูกขาดความจงรักภักดีและอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารได้อีกต่อไป
ถึงเวลาที่เราต้องออกมานอกถ้ำ เพื่อทวงความเป็นมนุษย์ตาม “เกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ” และทวงความเป็น “ประชาชน” ในระบอบประชาธิปไตยที่เราจำเป็นต้องมี!