ที่มา ประชาไท
จากการเสวนา "พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง" โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2553 ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ
(๔) เมื่อพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยอำนาจทางโลก
วิจักขณ์ พานิช: คุณศิโรตม์ได้ช่วยตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่พุทธศาสนามีต่อสังคมและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนขององค์กรทางศาสนจักร บทบาทของนักบวช หรือตัวคำสอนเอง ซึ่งหลายๆคำถามได้แสดงถึงแนวโน้มที่ขัดแย้งกับจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทมากๆเลยนะครับ ซึ่งอย่างที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้น ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้แปรจากความเป็นเถรวาทไปสู่รูปแบบพุทธศาสนาแบบอื่นไปแล้วในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง จนเราอาจเรียกพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ว่า พุทธศาสนาแบบราชสำนัก
พุทธศาสนาแบบราชสำนักนี้จริงๆมันก็มีอยู่แต่ไหนแต่ไรนะครับ เพียงแต่อำนาจรัฐในอดีตไม่สามารถครอบงำจนพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจนเป็นพิมพ์เดียวกันได้ขนาดนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ผมมองว่ามีอิทธิพลมากที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือ อย่างที่ทุกคนคงรู้นะครับว่า ก่อนขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ ๔ นั้นบวชเป็นพระอยู่หลายปี และได้ก่อตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นมา ด้วยความต้องการที่จะปฏิรูปพุทธศาสนาให้ “ถูกต้อง” ก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น ซึ่งในขณะนั้นพุทธศาสนาเถรวาทที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ ถือว่ามีความหลากหลายสูงมาก แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง คือ มีการรวมศูนย์อำนาจทางศาสนจักร มีรูปแบบการสร้างวัด อุโบสถเป็นแบบมาตรฐาน มีการจัดการศึกษาแบบใหม่ให้กับคณะสงฆ์ มีการนำความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาผนวกเข้ากับการอธิบายทางพุทธปรัชญา ทำให้เป็นตรรกะและพิสูจน์ได้ แล้วตัดมิติในเรื่องของคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งบางอย่างออกไป ด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องงมงายและพิสูจน์ไม่ได้ เช่น เทพปกรณัม ภพภูมิ นรกสวรรค์ เทวดา บุคลาธิษฐาน พิธีกรรม สิ่งเหล่านี้เคยมีในพุทธศาสนาแบบพื้นบ้านและได้ถูกลดทอนคุณค่าไปในยุคนั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตรงนี้มันมีผลอย่างมากต่อบรรยากาศและทิศทางของพุทธศาสนาเถรวาทที่เคยงอกงามอย่างหลากหลายในท้องถิ่น อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทิศทางที่พุทธศาสนาได้ถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐก็ได้ จนศาสนามีความใกล้ชิดและยึดโยงอยู่กับอำนาจรัฐอย่างแนบแน่น และได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักทางสังคม ซึ่งก็หมายถึงการมีสถานะทางสังคมที่สูง และมีอำนาจทางสังคมและการเมืองอย่างจะปฏิเสธไม่ได้เลย
อำนาจและสถานะที่พุทธศาสนาได้รับมาตรงนี้ ถ้าลำพังอยู่แต่ในเมืองหลวงมันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากหรอกนะครับ อย่างที่เคยเป็นมาก่อนรัชกาลที่ ๔ แต่พอมันไปผนวกกับรูปแบบรัฐชาติสมัยใหม่มันก็ได้พัฒนารูปแบบของมันกว้างขวางออกไป จนบทบาทของพระสงฆ์ก็ค่อยๆเปลี่ยนไป ตัวคำสอนเปลี่ยนไป แนวโน้มของการมองมนุษย์ไม่เท่ากัน ศาสนาไม่เท่ากับคน และอื่นๆ ที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งคำถามไว้ก็เริ่มแพร่หลายกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป อันนี้ก็ลองสังเกตกันดูครับว่าพุทธศาสนาแบบนี้มันยังมีรากฐานอะไรของพุทธศาสนาเถรวาทเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ความอ่อนน้อมหายไปไหน และที่สำคัญมิติของการสละสิทธิ์ และไม่ถือครองอำนาจนั้นมันหายไปไหน อำนาจนี่มันอันตรายนะครับ หวงไว้ไม่กระจายออกไปให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นมันก็ทำลายตัวเอง และการมีอำนาจมากๆก็มักทำให้เกิดความประมาท และภาวะเสื่อมถอยทางสติปัญญา
สังคมไทยได้ตัดขาดจากรากของพุทธศาสนาเถรวาทที่เราเคยมีในอดีต และหลุดลอยไปสู่รูปแบบอำนาจทางศาสนาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือถูกครอบงำโดยอำนาจทางโลก เราจึงกำลังเป็นสังคมพุทธที่ไม่มีรากฐานทางปัญญา แต่พร้อมจะศรัทธาและเชื่อคนที่มีสถานะสูง ซึ่งรวมถึงสถานะทางศาสนา ความเป็นคนดีมีศีลธรรม และการเป็นที่ยอมรับทางสังคม ซึ่งผนวกกับเรื่องความเชื่อและชนชั้นทางสังคมโดยตรงนะครับ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาได้ถูกตัดขาดจากรากหรือต้นธารใน “ป่า” ไปแล้ว แต่คนทั่วไปกลับไม่เห็นว่าเป็นปัญหา กลับมองว่า ก็ดีเสียอีกที่พุทธศาสนามีอำนาจ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีสมณศักดิ์ มีสถานะทางสังคมมากขึ้น สามารถสอนสั่ง ชี้แนะ ชี้ถูกชี้ผิดแก่สังคมได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นความประมาทอย่างมาก และผลของความประมาทนี้กำลังส่งผลถึงบทบาทที่พุทธศาสนามีต่อสังคม และตัวคำสอนของพุทธศาสนาเองในปัจจุบัน
คนที่ท้าทายพุทธศาสนาแบบราชสำนัก และมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดคนหนึ่ง ก็คือ ท่านอ.พุทธทาส ท่านพุทธทาสถือได้ว่าเป็นพระรูปแรกเลย ที่กล้าท้าทายรูปแบบพุทธศาสนาแบบราชสำนัก แม้จะไม่ได้เป็นโดยการวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงออกที่รุนแรงอย่างสันติอโศก แต่ผมมองว่ามันได้ส่งผลสะเทือนให้คนได้สติและย้อนกลับไปหารากเหง้าของเราไม่น้อยเลยนะครับ ในประวัติของท่านอ.พุทธทาส อย่างที่เรารู้กันดี สมัยหนุ่ม ท่านมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ที่วัดแห่งนี้ (วัดปทุมคงคา) แล้วก็ได้มาเห็นรูปแบบของพุทธศาสนาแบบราชสำนักในเมืองหลวง การศึกษาสมัยใหม่ของคณะสงฆ์ การแก่งแย่งแข่งขัน อำนาจ สถานะ สมณศักด์ต่างๆ พอท่านเห็น ท่านก็บอกว่านี่มันไม่ใช่แล้ว นี่มันไม่ใช่พุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ มันไม่ใช่วิถีของสมณะ วิถีของการสละละวาง จิตวิญญาณที่ไปพ้นอำนาจหรือการปรุงแต่งทางโลก มันได้กลายเป็นอะไรไม่รู้นะครับ ท่านไม่เอาเลย พอกันที เลิกเรียน กลับไปบ้านเกิดที่พุมเรียง ร่วมกับน้องชายและสหายห้าหกคน กับเงินส่วนตัว ซื้อที่ ตั้งสวนโมกข์ขึ้นมา เพื่อกลับไปหาจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาท ตีความพระไตรปิฎกใหม่ อยู่กันอย่างเรียบง่าย ตั้งวัดในป่า อยู่ร่วมกับธรรมชาติ แล้วย้อนกลับไปหารากเหง้าของพุทธศาสนาที่เคยเป็นรากฐานทางจิตใจของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมา
ดังนั้นถ้าเราพูดกันถึงพุทธศาสนาเถรวาทกับสังคมและการเมือง จิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทมีความลึกซึ้งไม่น้อยนะครับ แม้จะไม่ได้เป็นไปเพื่ออำนาจต่อรองทางการเมือง แต่โดยมิติทางสังคมแล้ว พุทธศาสนาเถรวาทนั้นถือว่า เป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณที่สามารถปรับเข้าหาวัฒนธรรม และผู้คนที่หลากหลายได้ดีมาก ด้วยความที่มันตั้งอยู่บนฐานของการ “สละสิทธิ์” นี่แหละครับ มันเลยเปี่ยมด้วยศักยภาพในการเข้าไปกับผู้คนทุกชนชั้นวรรณะได้ดีมาก คือ เข้าไปเปล่าๆ เปิดใจเรียนรู้เอา โดยไม่หวังว่าจะได้อะไร จะเรียกว่าเป็นอำนาจของความกรุณาก็ได้ ที่ทำให้พุทธศาสนาแบบนี้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี พิธีกรรม ได้อย่างกลมกลืน สำคัญคือการปรับเข้าหาไม่ได้เป็นไปการปรับอย่างหลับหูหลับตา แล้วไปรับใช้อำนาจทางโลกเพื่อสถานะของศาสนาเอง แต่ปัจจุบันจิตวิญญาณแบบนี้มันเลือนหายไปหมดเลยครับ เพราะอำนาจทางโลกที่พุทธศาสนาได้รับมา แล้วยึดถือมันไว้จนพอกพูนทับถม รวมถึงความใกล้ชิดต่อราชสำนักที่มีมากเกินไป มันได้ส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่าง ที่เราอาจจะเข้าใจไม่ได้เลยหากมองจากจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาท เช่น การสอนสั่งหรือสื่อสารทางเดียว การมองคนว่าด้อยหรือต่ำกว่าศาสนา การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ สถานะที่สูงส่งเหนือมนุษย์ราวกับสมมติเทพ การดูถูกผู้หญิง ฯลฯ ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นผลจากอำนาจที่พุทธศาสนาได้รับมาจากรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในฐานะสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ยึดโยงสัมพันธ์กันอย่างแยกจากกันไม่ออกในสังคมปัจจุบัน
ผมจึงอยากจะตั้งคำถามตรงนี้นะครับ เวลาที่เราพูดถึงพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง เรากำลังพูดถึงพุทธศาสนาแบบไหน เป็นอำนาจของสถาบันศาสนาที่ไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐอย่างแยกจากกันไม่ได้ หรือเป็นคุณค่าของพุทธศาสนาเถรวาทที่เรามีเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมจริงๆ เพราะถ้าเราฟันธงแล้วว่าพุทธศาสนาที่เรามีอยู่มันเสื่อมสมรรถภาพแล้วจริงๆ เราก็จะได้พูดคุยถึงพุทธศาสนาแบบอื่นไปเลย หรือไม่ต้องมีศาสนากันไปเลยก็ยังได้ การมีอยู่ของสถาบันศาสนาในฐานะสถาบันหลักทางสังคมนั้นมีอำนาจและต้นทุนไม่น้อยทั้งทางการเมือง ทางสังคม และทางวัฒนธรรม ซึ่งเราอาจต้องช่วยกันตั้งคำถามต่อบทบาทของศาสนา โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตวิญญาณของศาสนาที่มีต่อสามัญชนให้มากขึ้น แต่โดยส่วนตัวผมยังมองว่าหากเราย้อนกลับไปหาจิตวิญญาณของพุทธศาสนาแบบเถรวาทจริงๆ มันยังมีอะไรที่ดี ที่เราสามารถนำมาใช้ได้ อีกทั้งยังจะเป็นรากฐานให้กับการต่อยอดของพุทธศาสนาแบบอื่นๆ ที่จะเสริมให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทางการเมือง และเกื้อกูลสังคมประชาธิปไตยในทางที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น