ที่มา ประชาไท
นี่จะเป็นอีกบทความหนึ่งของผมที่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่อย่านึกว่าเพราะมันยากนะครับ เป็นเพราะผมเองคิดไม่กระจ่างพอต่างหาก
ผมอ่านปฏิกิริยาของผู้คนหลากหลายที่มีต่อการ "ห้ามฉาย" ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard แล้ว ก็คิดอะไรต่อไปอีกหลายเรื่อง แต่ไม่แตกสักเรื่องเดียว นอกจากการตั้งคำถามกับข้อสรุปที่อยู่เบื้องหลังการ "กลั่นกรอง" ข่าวสารข้อมูลที่สังคมพึงได้รับ อันเป็นข้อสรุปที่ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทย แต่มีในเกือบทุกสังคมทั้งโลกกระมัง
ผมไม่เคยดูหนังเรื่องนี้แต่ก็จับความจากข่าวในทีวีและคำสัมภาษณ์ของคุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้สร้างได้ว่า เรื่องนี้คงเกี่ยวกับเพศที่สาม เพราะคุณธัญญ์วารินกล่าวว่า "คนเรามักถูกกำหนดให้รับบทบาททางสังคม ตามเพศ [ที่] เราถือกำเนิดมาแต่แรก โดยที่ไม่มีสิทธิเลือกในสิ่งที่เราต้องการ"
นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากแก่ผม ขอยกคำพูดของคุณธัญญ์วารินอีกว่า "คนเราในสังคม ต่างก็เป็น ′แมลงในสวนหลังบ้าน′ ของกันและกัน เราต่างไม่รู้ถึงการมีอยู่ของอีกฝ่าย แม้ว่าเขาจะอยู่ใกล้เพียงแค่เอื้อม"
ผมก็เห็นด้วยกับผู้คนจำนวนมากที่คัดค้านมติ "ห้ามฉาย" ภาพยนตร์เรื่องนี้ของคณะกรรมการจัดเรตติ้ง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะประณามกระทรวงวัฒนธรรมได้หรือไม่ เพราะถ้าให้กระทรวงเข้าไปแทรกแซงสั่งคณะกรรมการให้อนุญาตได้ ก็ไม่รู้จะมีกรรมการไปทำไม ความเป็นอิสระของกรรมการน่าจะมีความสำคัญในการใช้วิจารณญาณโดยไม่ต้องเกรงใจ รัฐมนตรี หากกระทรวงจะต้องรับผิดชอบต่อกรณีนี้ ก็น่าจะอยู่ตรงที่ว่าไปเลือก 7 มหากาฬนี้มานั่งเป็นกรรมการทำไม
เราจึงน่าจะกลับมาคิดทบทวนเรื่อง ที่มาของกรรมการ (ถ้าเรายังเชื่อในการจัดเรตติ้งอยู่) รวมทั้งคิดถึงเรตติ้งทั้ง 7 ว่า ควรจะมี "ห" หรือห้ามฉายในที่สาธารณะเอาไว้หรือไม่
และถ้าคิดก็ต้องกล้า คิดไปถึงหนังโป๊ และหนังอนาจารเด็กด้วยเลยนะครับว่า การมีเรตติ้ง "ห" ช่วยทำให้ไม่มีใครสร้างและฉายหนังโป๊หรือหนังอนาจารเด็กได้จริงหรือไม่
และ ถ้าจะทบทวนที่มาของกรรมการกันใหม่ ผมก็อยากให้ทบทวนหลักการพื้นฐานว่า กรรมการต้องเป็นผู้ "เชี่ยวชาญ" ด้วยเลย กฎหมายควรให้อำนาจแก่ความ "เชี่ยวชาญ" แค่ไหน? อย่าลืมว่า แม้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจอะไรไว้เลย ความ "เชี่ยวชาญ" ก็เป็นอำนาจในตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็เป็นอำนาจที่มีการถ่วงดุลในตัวเองด้วย เช่นผู้ "เชี่ยวชาญ" วิจารณ์หนังในสื่อ ก็มีคนที่อ้างว่าเชี่ยวชาญเหมือนกันออกมาคัดค้าน และถึงที่สุดแล้วสังคมเป็นผู้ตัดสินเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อใคร คือจะดูหรือไม่ดูหนังเรื่องนั้น
ที่ผมห่วงก็เพราะจะเกิดประเพณีแบบ รัฐธรรมนูญ คือสงวนที่นั่งเอาไว้ให้แก่ "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่ไม่ต้องพิสูจน์ เช่น อธิการบดี, ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์, ผู้พิพากษา, ผู้เคยดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง ฯลฯ คราวนี้ก็จะสงวนที่นั่งไว้ให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนด้านภาพยนตร์อีก ผมเป็นห่วงลุงท้วมที่ชอบดูทีวีทั้งวัน แกจะได้ดูหนังที่ถูกรสนิยมของแกเมื่อไรล่ะครับ
ถ้าไหนๆ จะทบทวนกันแล้ว ผมคิดว่าน่าจะคิดทบทวนระบบเรตติ้งซึ่งเราลอกมาจากสังคมอื่นด้วย ระบบเรตติ้งนั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า สื่อมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อายุยังไม่ถึง 18 แต่ก็รวมไปถึงตัวโตๆ ที่อายุ 70 อย่างผมด้วย สื่อมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์แน่ ถ้าไม่เชื่อเรื่องนี้ก็ไม่ต้องเชื่อเรื่องการศึกษาทุกชนิด (ครูก็เป็นสื่อชนิดหนึ่ง) แต่ความรู้เพียงเท่านี้ไม่พอที่เราจะไปกำกับควบคุมสื่อได้ เพราะอันที่จริงเราไม่รู้ดีว่าอิทธิพลของสื่อนั้นทำงานอย่างไร ในเงื่อนไขอะไร มากน้อยเพียงใด การรับสารจากสื่อนานาชนิดของมนุษย์นั้นผ่านกระบวนการที่สลับซับซ้อนอย่างไร กว่าจะมีผลต่อพฤติกรรม ฯลฯ ตัวพฤติกรรมมนุษย์เองก็มีที่มาสลับซับซ้อนด้วยปัจจัยหลากหลายชนิด เกินกว่าความรู้ของมนุษย์ในปัจจุบันจะหยั่งได้ทั่วถึง จะมาสรุปกันง่ายๆ ว่า เห็นเขาปล้ำผู้หญิงในหนัง ออกจากโรงหนังคนมีแรงทุกคนก็จะปล้ำผู้หญิงบ้าง ไม่ง่ายและมักง่ายไปหน่อยหรือครับ
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งควรสำเหนียกไว้ด้วยก็คือ ระบบเรตติ้งในหลายสังคม เช่น สหรัฐนั้น ไม่มีอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลังเลยนะครับ เป็นเรื่องตกลงพร้อมใจกันของแขนงต่างๆ ในธุรกิจภาพยนตร์ อย่างน้อยก็เพื่อสร้างมโนภาพว่ากูรับผิดชอบต่อสังคมนะเฟ้ย ในขณะที่ระบบเรตติ้งของไทยนั้นตั้งอยู่บนอำนาจรัฐเต็มๆ เลย
และเมื่อตั้งอยู่บนอำนาจรัฐ ก็ต้องมาดูการกระทำของคณะกรรมการว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐหรือไม่ รัฐเพิ่งโอ่ไม่นานมานี้ว่า มีนโยบายจะทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นแขนงใหม่ที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย น่าประหลาดที่การสร้างสรรค์นั้น ไม่มีเทวดามาคอยชี้ว่าอย่างไหนคือสร้างสรรค์ และอย่างไหนไม่ใช่
คณะกรรมการจัดเรตติ้งกำลังส่งสัญญาณแก่สังคมว่า อย่าทะลึ่งสร้างสรรค์อะไรที่กูไม่ชอบ ใช่ไหม?
คณะกรรมการให้เหตุผลในการ "แบน" หนังเรื่องนี้ว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี ผมจึงนึกเลยไปถึงเรื่องของ "ศีลธรรม" ซึ่งถูกใช้เป็นความชอบธรรมของอำนาจทุกชนิดในสังคมไทยอย่างหน้าด้านๆ มากขึ้นในเวลานี้
ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมนั้นมีสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งคือด้านที่มุ่งจะผดุงสังคมให้ดำรงอยู่สืบไปได้ เช่น ละเว้นจากการฆ่า, ขโมย, ผิดลูกผิดเมีย, โกหก เป็นต้น อีกด้านหนึ่งเพื่อผดุงบุคคลให้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายสูงสุดทางศาสนา เช่น ละเว้นจากการเสพของมึนเมา
ศีลธรรมด้านที่สองนี้มีในทุกศาสนานะ ครับ เดินทางลำบากลำบนเพื่อไปทำฮัจญ์ ไม่เกี่ยวอะไรกับสังคม แต่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพระเจ้าครบถ้วน จึงทำให้มั่นใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่งอื่นๆ อย่างเคร่งครัดต่อไป เช่นเดียวกับผู้นับถือคาทอลิค ไม่กินเนื้อในวันศุกร์ ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการผดุงสังคม
ผมไม่ปฏิเสธว่าสองด้านของศีลธรรมนี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่มาก เช่น โกหกบ่อยๆ ก็ทำให้ต้องใช้สติไปในทางจำคำโกหกของตนให้ได้มากกว่าใช้ไปในทางที่เกิดปัญญา แต่สองด้านของศีลธรรมนี้มีอยู่จริง นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ด้วย
เรามักเอาสองด้านนี้มาปะปน กันอยู่เสมอ โดยลืมไปว่ารัฐและสังคมปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่กำกับศีลธรรมด้านที่หนึ่งแทน ศาสนามากแล้ว เช่น มีตำรวจไล่จับผู้ร้ายเป็นต้น (ตำรวจโบราณคือผู้ผดุงอำนาจรัฐหรือผู้ปกครอง ตำรวจสมัยปัจจุบันคือผู้ผดุงสังคม) แต่ในรัฐและสังคมที่อ่อนแอ เมื่อกลไกของรัฐก็ตาม ระบบการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ก็ตาม ทำงานอย่างห่วยแตก ก็มักจะยกเอาศีลธรรมเข้ามาพร่ำบ่นแทน (และมักไม่ได้ผลมากไปกว่าทำให้ผู้พูดกลายเป็นคนมีศีลธรรมขึ้นมา)
รัฐและสังคมไทยเป็นหนึ่งในรัฐและสังคมที่อ่อนแอในเรื่องนี้ กลไกรัฐอ่อนแอนั้น ผมขอไม่พูดถึง เพราะพูดกันมามากแล้ว แต่ผมอยากพูดถึงกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมที่อ่อนแอมากกว่า
นอกจากเรามีโรงเรียนที่ไม่มีพลังพอจะกล่อมเกลาคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามาสู่สังคมอย่างที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมแล้ว หน่วยอื่นๆ ของการกล่อมเกลาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, ชุมชน, วัด, สื่อ, สังคมโดยรวม ฯลฯ ก็อ่อนแอพอๆ กันด้วย ผลคือเราต้องหันไปใช้รัฐที่มีกลไกอ่อนแอและสับปะรังเคของเรา ในการกำกับควบคุมพฤติกรรมพลเมืองอยู่เสมอ
การที่รัฐใช้อำนาจ "แบน" หนังที่รัฐเชื่อว่า ขืนปล่อยให้ดู เราจะเสียผู้เสียคนกันไปหมด ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกำกับควบคุมพลเมือง กูจะบังคับให้มึงมีศีลธรรมด้วยการปิดตา
อำนาจอันล้นเกินของรัฐซึ่งสังคมไทยก็มักยินดียกให้นี้ เมื่อเป็นรัฐที่อ่อนแอด้วยกลไกสับปะรังเค ย่อมไม่บังเกิดผลอะไรแน่นอนอยู่แล้ว แต่ที่เป็นอันตรายมากกว่าก็คือ ทำให้เราละเลยที่จะหันกลับไปสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการกล่อมเกลาทาง สังคม จะโดยการฟื้นฟูบทบาทหน้าที่ของสถาบันและองค์กรเดิมๆ หรือคิดสร้างองค์กรและกระบวนการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับยุคสมัยขึ้นมาทำหน้าที่ก็ตาม ทั้งหมดนี้เราไม่ทำเลย แต่ยกอำนาจให้รัฐไปทำแบบห่วยแตกไปเรื่อยๆ
อำนาจที่รัฐมีนี้ รัฐนำไปใช้เพื่อ "ขโมย" ก็มากทีเดียว เช่น หากกรรมการจัดเรตติ้งมีอำนาจมากอย่างนี้ ก็เป็นไปได้ที่จะรับสินบนผู้สร้างหนัง เพราะผลประโยชน์รออยู่มหาศาลพอที่จะจ่ายได้ หรือเจ้าหน้าที่ปราบยาเสพติด รับสินบนเพื่อเอาชื่อออกจากบัญชีดำ หรือปล่อยให้คาราวานเล็ดลอดเข้ามา เพราะผลประโยชน์ก็รออยู่มหาศาลเหมือนกัน
เราไม่เคยคิดถึงการทำให้ ด้านความต้องการยาเสพติดลดลง หรือความต้องการทำอนาจารเด็กลดลง หรืออย่างน้อยก็ถูกตนเองและสังคมรอบข้างกำกับมากขึ้น รัฐอย่างเดียว - แม้แต่รัฐที่เข้มแข็ง - ก็ไม่สามารถกำกับศีลธรรมด้านที่สองคือผดุงบุคคลให้บรรลุจุดหมายสูงสุดทาง ศาสนาได้
ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับสองด้านของศีลธรรมก็คือ ถ้าเราคิดว่าหัวนมผู้หญิงเป็นอันตรายต่อศีลธรรมอันดี (หัวนมผู้หญิงหรือท่าทีต่อหัวนมผู้หญิงกันแน่?) เราก็จะปิดหัวนมผู้หญิงเอาไว้ให้แน่นหนา แต่เพื่อการนี้เราต้องแลกกับอะไรบ้าง?
ผมคิดว่ามีอย่างน้อยก็ สองอย่าง หนึ่งคือเสรีภาพ และสองคือความสามารถในการจัดการตนเองเบื้องหน้าหัวนมผู้หญิง ยิ่งไปกว่านี้เราจะไว้ใจได้อย่างไรว่า อำนาจปิดหัวนมนี้จะถูกใช้เพื่อปิดหัวนมอย่างเดียว ไม่ได้ไปปิดอย่างอื่นๆ ซึ่งเป็นสิทธิที่เราพึงเห็นด้วย
มันคุ้มแน่หรือครับ?
หมายเหตุ:เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนออนไลน์