ที่มา ประชาไท
หมายเหตุ: *ผู้เขียนเลือกที่จะใช้ชื่อนางสาวเอ แทนการใช้ชื่อจริงเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ต้องหาในฐานะเป็นผู้เยาว์
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า อุบัติเหตุรถตู้เก้าศพสร้างความโกรธ โมโห และความรู้สึกสงสารครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่มากก็น้อยจากคนไทยจำนวนมาก (โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้) อุบัติเหตุนี้ได้เกิดปรากฎการณ์ความโกรธแค้น โมโห และความรู้สึกที่รุนแรงต่อนางสาวเอ เช่น การตั้งกลุ่มแสดงความโมโหและการใช้คำหยาบประนามนางสาวเอใน Facebook ขึ้นและตามเว็ปบอร์ดต่างๆ
หลังจากที่มีผู้ใช้ Facebook ตั้งกลุ่ม เรา “มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านไม่พอใจนางสาวเอ” ขึ้นตอนนี้มีสมาชิกมากกว่า 204,982 คนภายในระยะเวลา 2-3 วัน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่าภายในระยะเวลา 18 ชั่วโมง กลุ่มนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 150,000 คน ในขณะเดียวกันนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการตั้งกลุ่ม “มั่นใจว่าเด็ก มธ.ทั้งมหาลัยเกลียด นางสาวเอ” ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 15,298 คน
นอกจากนี้ยังมีการเขียนแฮชแท็กใน Twitter ว่า #ihate (ชื่อของคนขับ) และมีความพยายามค้นหา Twitter ของนางสาวเอเพื่อที่ผู้ใช้ Twitter จะสามารถเขียนประณามเธอได้ รวมถึงการเกิดการตั้งกระทู้ที่หยาบคายประณามการกระทำของนางสาวเอคล้ายกับว่าผู้เขียนข้อความเหล่านั้นได้เชื่ออย่างแน่แท้ว่าว่า การขับรถชนรถตู้โดยสารจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) ถึงหมอชิตเป็นสิ่งเธอได้วางแผนไว้อย่างไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อที่ต้องการให้มีผู้เสียชีวิตแปดคน หาใช่อุบัติเหตุที่เธอไม่ได้คาดคิดหรือตั้งใจไม่
ตลกร้ายก็คือ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งกลายเป็น “แพะ” หลังจากเขียนข้อความแซวประหนึ่งว่าเป็นคนที่เพิ่งขับรถชนคนแล้วมาทวีต ข้อความแซวดังกล่าวถูกขยายซ้ำ เขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ที่ขับรถชนเสียเอง สังคมโซเชียลมีเดียจึงกลายร่างเป็นศาลเตี้ยแบบไทยๆ ลุกขึ้นมาเชือดแพะทันที
บทความนี้มีความมุ่งหมายในการตั้งคำถามกับสังคมไทย (โดยเฉพาะผู้ใช้อินเตอร์เน็ต) และพยายามจะอธิบายว่าปรากฎการณ์ “นางสาวเอ” นี้จะสามารถนำมาอธิบายสังคมไทยได้อย่างไร
(1)
การตัดสินใจหลายๆ กรณีในสังคมไทยเกิดขึ้นผ่านการใช้ข่าวลือ การพูดต่อๆ กัน มากกว่าการใช้เหตุผล
กรณีนี้มีการสร้างข่าวลือจำนวนมากที่ไม่สามารถตรวจสอบได้หรือไม่มีหลักฐานสนับสนุน เช่น การสร้างข่าวลือว่านางสาวเอหลบหนีออกนอกประเทศแล้ว ข่าวลือว่ามีความพยายามเปลี่ยนอายุของเธอจาก 16 ปีเป็น 18 ปี ข่าวลือว่าเธอขับรถชนเพราะกำลังเล่นบีบีอยู่ ข่าวลือการพูดคุยระหว่างเธอกับเพื่อนในบีบีที่ไม่ได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ ข่าวลือว่าเธอขับรถชนเสร็จแล้วลงมาเล่นบีบี (ซึ่งในกรณีนี้หลังนี้ได้มี Netizen ท่านหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าภาพที่นางสาวเอกำลังกดบีบีนี้ เหมือนกับว่าเธอกำลังกดโทรศัพท์มากกว่า เพราะภาพต่อมาที่วิดีโอแสดงคือภาพที่เธอกำลังเอาโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหูและเช่นเดียวกันการให้ข่าวของพี่ชายต่างมารดาของเธอว่ากำลังติดต่อบิดาของเธอ)
(2)
สังคมไทยขาดวุฒิภาวะในการพูดคุยกัน ถกเถียง แลกเปลี่ยนด้วยเหตุผล และการแลกเปลี่ยนอย่างไม่สนับสนุนความรุนแรง
ในกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสดงความเกลียดแค้นต่อเธอ มีการใช้คำหยาบอย่างเช่น “สัตว์หนักแผ่นดิน” “อยากเอาบีบีตบหน้ามันจัง อีกระหรี่ซีวิค” “อีฆาตกร” และอีกหลายคำกล่าวรวมถึงการโพสต์เบอร์โทรศัพท์ของเธอและของบิดาของเธอเพื่อเรียกร้องให้มีการโทรไปด่า แทนการพูดคุย ถกเถียงเพื่อหาข้อเท็จจริงและอธิบายสถานการณ์โดยใช้ข้อมูลที่ตรวจสอบได้
ผู้เขียนโดยส่วนตัวเชื่อว่าผู้ที่ทำผิดในกรณีนี้ควรจะต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม การจะติดตามและตรวจสอบให้ที่มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสเป็นสิ่งที่สามารถทำได้และควรกระทำ แต่การตรวจสอบกับการเรียกร้องให้มีการรุมทำร้ายหรือประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
(3)
ปรากฎการณ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง (ในหลายๆ ตัวอย่าง) ที่แสดงปัญหาของระบบการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ที่ไร้ซึ่งความปลอดภัยและไม่มีมาตรฐาน
ระบบรถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ รถตู้ปรับอากาศ ที่คนเดินทางส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางในเมืองไม่มีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยเลย การเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารเหล่านี้แทบทุกอาทิตย์ แต่ยังคงไม่ได้มีการปรับปรุงอย่างเต็มที่ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เวลาเกิดอุบัติเหตุทีไรก็จะมีการเรียกร้องจากฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตว่า “ขอให้กรณีนี้เป็นกรณีสุดท้าย”
เหตุการณ์กรณีนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น หากรถตู้โดยสารจะมีบังคับที่ชัดเจนตามกฎหมายว่ารถตู้ทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัยและผู้โดยสารต้องใส่เข็มขัดนิรภัยด้วย เนื่องจากเหยื่อที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเหวียงของรถทำให้เหยือกระเด็นออกมานอกตัวรถ
(4)
สังคมไทยให้ความสำคัญของชีวิตคนที่แตกต่างกัน ตามชนชั้นทางสังคม ตามกลุ่มทางสังคม ตามองค์กรทางสังคมที่ตน เป็นสมาชิก
ในกลุ่ม เรา “มั่นใจว่าเด็ก มธ. ทั้งมหาลัยเกลียดนางสาวเอ” มีคำถามที่น่าสนใจว่าหากคนที่เสียชีวิตไม่ได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม (ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาหรือศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย) จะให้ความสำคัญกับการเสียชีวิตครั้งนี้ไหม?
เช่นเดียวกันที่มีการตั้งคำถามว่าถ้าหากผู้เสียชีวิตเหล่านี้เป็นตาสีตาสา แรงงานพม่า ขอทาน แต่ไม่ใช่นักศึกษา-อาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำ นักเรียนนอก นักวิจัย สังคมไทยจะให้ความสำคัญเช่นนี้หรือไหม
เราคงจำได้ถึงการเสียชีวิตของแรงงานพม่า 54 ศพที่หาเป็นวาระแห่งชาติในหมู่ชนชั้นกลางไม่
การเสียชีวิตของคนจำนวนเก้าคนเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ในกรณีเดียวกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย (เช่น ในกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีคนเสียชีวิตแทบทุกวัน ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์มากกว่า 4 พันคน)
แต่การที่เหยื่อเป็นชนชั้นกลางในเมืองอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงจากชนชั้นกลางด้วยกัน ตัวอย่างที่สามารถอธิบายได้กับกรณีนี้ คือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยอธิบายว่าโสเภณีในกรุงเทพฯ ที่เป็นคนจนเป็นปรากฎการณ์ที่ปกติและเกิดขึ้นมานานแล้วและเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางยอมรับได้ แต่เมือเกิดปรากฏการณ์โสเภณีนักศึกษาไซด์ไลน์ ชนชั้นกลางไม่สามารถรับได้เพราะเป็นชนชั้นเดียวกัน
(5)
สังคมไทยเคารพสิทธิผู้ต้องหาต่ำมาก
สังคมไทยขาดความเข้าใจว่าไม่รู้ว่าผู้ต้องหาไม่ว่าจะกระทำผิดรุนแรงแค่ไหนก็ต้องมีสิทธิ มีความเป็นมนุษย์เหมือนประชาชนทุกคนตามหลักรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นเมือเราเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ เช่น กรณีผู้ต้องหายาเสพติด สังคมไทยส่วนใหญ่ (ไม่ว่าคุณจะอยู่สีเหลืองหรือสีแดง) จะให้ความยอมรับวิธีการวิสามัญฆาตกรรม แทนการนำผู้ต้องหามาขึ้นศาลตามกระบวนการยุติธรรม อีกกรณีหนึ่ง คือ ในฐานะที่ผู้ต้องหาเป็นผู้เยาว์ควรจะได้รับการปกป้องชื่อเสียงและสิทธิโดยไม่มีการเปิดเผยชื่อจริง แต่สื่อมวลชนไทยจำนวนมากได้เปิดชื่อจริง นามสกุลจริงของเธอไปแล้ว
เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่ครอบครัวนางสาวเอได้ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ครอบครัว ไม่ได้นอนในหลายวันที่ผ่านมา เพราะต้องพานางสาวเอย้ายโรงพยาบาลสามแห่งหลังจากถูกขู่ฆ่าและมีการพยายามบุกเข้ามาในห้องของเธอ รวมถึงการโทรศัพท์ไปที่บ้านเพื่อประณามทั้งคืน
(6)
การเกิดขึ้นของปรากฎการณ์ครั้งนี้อาจจะมีส่วนสำคัญ คือ สังคมไทยมีความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมของตำรวจต่ำมาก และในอีกด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ยังมีค่านิยมที่ตายตัว เช่น คนรวยมักทำผิด นักการเมืองเลว
หลายๆ ครั้งมีความเชื่อว่า หากผู้กระทำเป็นผู้มีอำนาจหรือมีอิทธิพล เช่น คนมีนามสกุลดัง มีพ่อเป็นนักการเมือง เป็นคนรวยหรือลูกคนรวย ความยุติธรรมกับผู้เสียชีวิตจะเกิดขึ้นได้ยาก ประสบการณ์ที่ลูกของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพลจะได้รับโทษเบาๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์
การเกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้นมาอาจจะเป็นความไม่มั่นใจของสังคมว่ากระบวนการยุติธรรมจะสามารถให้ความเป็นธรรมกับเหยือได้จริงหรือเปล่า
(7)
แต่ในขณะเดียวกันสังคมไทยมีการมองปัญหาแบบฉาบฉวยและมีการใช้ค่านิยมแบบฉาบฉวย เช่น มองว่าลูกคนรวย คนที่มีนามสกุลใหญ่จะเลวหมด เป็นอภิสิทธิ์ชนหมด คล้ายกับแนวคิดที่เชื่อว่าข้าราชการและนักการเมืองจะเลวหมด
สังคมไทยพร้อมที่จะออกมาก่นด่าคนจนทำให้ผู้วิจารณ์รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดีมีศิลธรรม และมองข้ามข้อเท็จจริงที่สำคัญ ซึ่งค่านิยมที่เหมารวมเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์เพราะผู้วิจารณ์ก็จะสามารถติด่าแต่ไม่สนใจรายละเอียดหรือโครงสร้างของปัญหา
และที่สำคัญที่สุด ปรากฎการณ์นี้อาจแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยในตอนนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง ที่เราต้องมีกลุ่มคนที่เราเกลียดแค้นตลอดเวลา เช่น การเกลียดแค้นกลุ่มคนเสื้อแดงโดยคนเสื้อเหลือง คนเสื้อเหลืองโดยคนเสื้อแดง การเกลียดแค้นโจ๊ก ไผ่เขียว จนมาถึงการเกลียดแค้นนางสาวเอในตอนนี้ อาจเพราะคนจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้พูดว่า "เธอนั่นล่ะ ผิด"