ที่มา Thai E-News
โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
บทความเรื่อง “ความสับสนในคำวินิจฉัยแรกของศาลรัฐธรรมนูญกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์”
ที่มา เวบไซต์ pub-law.net
28 ธันวาคม 2553
เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยกคำร้องกรณีพรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาค จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 258 ล้านบาท ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กับคำวินิจฉัยแรกคือ เป็นความผิดของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่พิจารณาให้ความเห็นว่ามีเหตุที่ จะยุบพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะฉะนั้นความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง แจ้งต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีคำสั่งยุบ พรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นการก้าวข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 ให้ยกคำร้อง
นี่คือสิ่งที่ผม ได้อ่านคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) ดังกล่าวจาก website ของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดูไปแล้วก็ไม่แตกต่างจากคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) คำวินิจฉัยแรกที่ไม่มีการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่าพรรคประชาธิปัตย์ “ทำผิด” จริงหรือไม่ครับ
นี่คงเป็นข่าวดีที่สุดในรอบปีของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ว่าได้เพราะสามารถ “หลุดรอด” จากการถูกยุบพรรคไปได้ถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ยากที่จะหาใครที่โชคดีซ้ำซ้อนได้ขนาดนี้ครับ !!!
ผมคงไม่เขียนเกี่ยว กับคดีหลังนี้เพราะดู ๆ แล้วไม่คิดว่าจะมีอะไรน่าสนใจ ฟังศาลอ่านคำวินิจฉัยอยู่เพียงไม่กี่นาทีก็จบแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคำวินิจฉัยแรกที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งก่อน ในวันนี้ปรากฏว่าทั้งคำวินิจฉัยกลางฉบับที่เป็นทางการกับความเห็นในการ วินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนได้รับการเผยแพร่แล้วและผมก็ ได้มีเวลาอ่านไปทั้งหมดแล้ว ในบทบรรณาธิการครั้งนี้จึงขอหยิบยกคำวินิจฉัยกลางและความเห็นส่วนตนของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดี 29 ล้านมาเล่าสู่กันฟังโดยผมจะไม่ขอพูดถึงความเห็นในการวินิจฉัยและผลของการ วินิจฉัยทั้งในคำวินิจฉัยกลางและความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญเพราะผมไม่ได้เป็นตุลาการเหมือนคนเหล่านั้นแล้วก็ไม่ได้มี หน้าที่ตัดสินคดีด้วย นอกจากนี้แล้ว หากไปวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยเข้าก็อาจมีภัยมาถึงตัวได้โดยไม่รู้ตัวด้วย จึงต้องขอเว้นไม่วิพากษ์วิจารณ์ “เนื้อหา” ของการตัดสินคดี 29 ล้านครับ แต่ผมจะขอพูดถึง “รูปแบบและวิธีการ” ในการนำเสนอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนครับ
ลองมาดูคำ วินิจฉัยกลางกันก่อน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต่อมาใน website ของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เผยแพร่เอกสารชื่อ “คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) เรื่อง นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์” จำนวน 15 หน้า ต่อสาธารณชน โดยก่อนหน้านี้คือ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิ ปัตย์ หนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ได้ “ถอดเทป” การอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวมาลงเผยแพร่ไว้ด้วย ผมได้ตรวจสอบคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) กับการถอดเทปของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ในหน้าที่ 10 ซึ่งเป็น “ตอนจบ” ของคำวินิจฉัยแล้วพบว่า การถอดเทปที่ได้มาจากการอ่านกับเอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่มีข้อความ เดียวกันคือ “......เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบที่ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในประเด็นอื่นอีกต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (4 ต่อ 2) ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป ให้ยกคำร้อง” แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นทางการเผยแพร่ออกมา กลับปรากฏว่ามีจำนวนถึง 42 หน้า และในหน้า 40 ซึ่งเป็น“ตอนจบ” ของคำวินิจฉัย ก็มีข้อความที่แตกต่างไปจากคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) โดยมีการเพิ่มข้อความเข้าไปส่วนหนึ่งคือ“......เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดี นี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (4 ต่อ 2) ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป โดยเสียงข้างมาก 1 เสียง ใน 4 เสียง ให้เหตุผลว่า คดีนี้ถือว่าความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการเลือกตั้งได้ ให้ความเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 แล้ว การยื่นคำร้องข้อกล่าวหาคดีนี้จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วน ฝ่ายข้างมาก 3 เสียง ใน 4 เสียง ให้เหตุผลว่า ความยังไม่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย อันจะเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค ผู้ถูกร้อง และนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นว่ามีเหตุให้ต้องยุบพรรค ผู้ถูกร้องตามมาตรา 93 วรรคสอง ทั้งนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการ เลือกตั้งแต่อย่างใด สำหรับความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการเลือก ตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2553 มิใช่การทำความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้ยกคำร้อง”
ผม ไม่ทราบจริง ๆ ว่าจะทำความเข้าใจกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร เพราะจากที่ “ศาลอ่าน” และ “ศาลเขียน” ไม่ตรงกันเสียทีเดียว เพราะในตอนที่ศาลอ่าน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่า ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป แต่พอตอนที่ศาลเขียน แม้จะบอกอย่างเดียวกับที่อ่าน แต่ก็เพิ่มคำอธิบายเข้าไปมาก รวมไปถึงการกล่าวถึงการวินิจฉัยใน “เนื้อหา” ของคดีของตุลาการฝ่ายข้างมาก 3 เสียงซึ่งอยู่ในประเด็นอื่นอีกด้วยคือ “...ความยังไม่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายอัน จะเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคผู้ถูกร้อง.....”
ไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ อธิบายเรื่องนี้ต่อประชาชนดีครับ ระหว่างเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ซึ่งอยู่อย่างเงียบเหลือเกินมาเป็นเวลานานแล้ว) กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตามที่ผมเข้าใจนั้น คำวินิจฉัยมีผลเมื่ออ่าน และเมื่ออ่านอย่างไรก็ควรจะเขียนอย่างนั้น หากจะมีการแก้ไขถ้อยคำให้สละสลวยบ้างก็ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่เมื่ออ่านแล้วและผลก็เกิดแล้วคือผูกพันทุกองค์กร พอเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว ตอนเขียนก็เลยถือโอกาสเขียนเพิ่มเติมขยายความออกไปอีก แถมยังให้เหตุผลต่างไปจากที่อ่านด้วยจนทำให้ตอนนี้ไม่ทราบแน่ชัด แล้วว่าที่ยกคำร้องไปนั้นเนื่องมาจากประเด็นใดกันแน่ระหว่างการยื่นคำร้อง พ้นกำหนดเวลา 15 วันหรือนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นครับ เรื่องนี้ควรจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนนะครับว่า หลักควรเป็นอย่างไร
คำวินิจฉัยมีผลเมื่ออ่านใช่หรือไม่ อ่านแล้วแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ ถ้าได้สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด
ผม คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ศาลรัฐธรรมนูญควรชี้แจงให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ใช่เงียบหายไปเหมือนกับทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญครับ !!!
นอก จากนี้แล้ว ผมยังมีข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ตามความเข้าใจของผม ในวันตัดสินคดี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนต้องออกจากบ้านมาพร้อมกับความเห็นในการวินิจฉัย คดีส่วนตน พอประชุมกันแต่ละคนก็จะเสนอความเห็นของตน เมื่อทุกคนเสนอความเห็นเสร็จแล้ว ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นการตรวจดูความเห็นของแต่ละคนในแต่ละประเด็นเพื่อให้ผล ออกมาว่า สรุปแล้วเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยในแต่ละประเด็นเป็นอย่างไร จากนั้นจึงไปทำคำวินิจฉัยกลาง
แต่เท่าที่ปรากฏ สาธารณชนไม่ทราบความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ใดก่อนเลยซึ่งไม่ น่าจะเป็นไปได้ เพราะความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนเป็นที่มาของคำวินิจฉัย ดังนั้น ก่อนที่จะทราบผลของคำวินิจฉัยกลาง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ก่อน หาไม่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องประชุมก็อาจไม่มีความชัดเจนและอาจเปลี่ยนแปลงได้ ผมไม่ทราบว่าผมขอมากไปไหมครับ !! หากสามารถเปิดเผยความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ ละคนซึ่งต้องมีอยู่แล้วก่อนการวินิจฉัยทันทีที่มีการอ่านคำวินิจฉัยกลางของ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากและอย่างน้อยก็จะเป็นเกราะป้องกันความเข้าใจผิด หรือข้อครหาต่าง ๆ ที่ตามมาด้วยครับ ก็ลองดูนะครับ ไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ครับ
ในส่วนของความ เห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนนั้น ผมได้อ่านความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนแล้วก็มีข้อสังเกตอยู่ในส่วน ของ “วิธีการเขียนคำวินิจฉัย” ที่ทำให้ผู้อ่าน (และหนังสือพิมพ์บางฉบับ) หลงทางกันไปหมดครับ ลองมาดูกันนะครับว่าเป็นอย่างไร โดยผมจะขอนำเสนอเฉพาะความเห็นของตุลาการเสียงข้างมากครับ
ในความเห็น ของตุลาการเสียงข้างมาก 4 คนนั้น มีการกำหนดประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยไว้ 5 ประเด็น โดยมีรายละเอียดอย่างสรุปของความเห็นแต่ละคนในแต่ละประเด็นคือ
1. นายจรัญ ภักดีธนากุล เขียนความเห็น 16 หน้า ในหน้าแรกกำหนดให้มี 5 ประเด็น ในตอนท้ายของหน้าแรกกล่าวว่าจะพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ก่อน
**ในหน้าที่ 2 เริ่มวินิจฉัยประเด็นที่ 2 จบลงตรงหน้าที่ 2 ว่า จึงเป็นความเข้าใจกฎหมายที่คลาดเคลื่อนของ ผู้ร้องเอง
ใน หน้าที่ 3 วินิจฉัยประเด็นที่ 1 จบลงตรงตอนท้ายของหน้าที่ 9 ที่ว่า การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาล รัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องได้ กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ใน ตอนท้ายของหน้าที่ 9 วินิจฉัยประเด็นที่ 3 จบลงที่หน้า 14 วินิจฉัยว่า แม้รายจ่ายสำหรับค่าป้ายที่เป็นการจ่ายจากรายรับสำหรับปี 2548 ที่จ่ายในปี 2547 ก็ต้องบันทึกบัญชีในปี 2548 ตามหลักเกณฑ์สิทธิ มิได้ผิดหลักเกณฑ์ทางบัญชีแต่อย่างใด
ในตอนกลางของหน้าที่ 14 วินิจฉัยประเด็นที่ 4 จบลงในตอนท้ายของหน้าเดียวกันคือ ผู้ถูกร้องได้จัดทำรายงานการใช้เงินสนับสนุนถูกต้องแล้ว
ในหน้าที่ 15 วินิจฉัยประเด็นที่ 5 จบลงตรงหน้า 16 ซึ่งมีอยู่ 2 บรรทัด วินิจฉัยว่า เมื่อศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องมิได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 62 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2541 จึงไม่มีเหตุให้กรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องในขณะนั้นต้องถูกห้ามดำเนิน กิจกรรมทางการเมืองตามมาตรา 69
(ผมเข้าใจว่า ในความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของนายจรัญฯ มีการอ้างกฎหมายผิดคือ แทนที่จะอ้างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 กลับไปอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2541 ซึ่งก็ผิดอีกเช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับก่อนหน้านี้คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มิใช่พุทธศักราช 2541 อย่างที่เขียนไว้หลายแห่งในหน้า 15 ของความเห็น ส่วนวิธีการเขียนถึงมาตราที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะถูกต้องด้วย เพราะที่เขียนว่า มาตรา 62 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2541 นั้น ที่ถูกควรใช้คำว่า มาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มากกว่า และหากผมเข้าใจไม่ผิด ทุกที่ ๆ เขียนว่า มาตรา 62 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2541 หรือมาตรา 69 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2541 นั้น ที่ถูกควรเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มากกว่าใช่ไหมครับ)
2. นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เขียนความเห็น 15 หน้า ในหน้าแรกกำหนดให้มี 5 ประเด็น ในหน้าที่ 2 ถึงหน้าที่ 4 เป็นตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เริ่ม ความเห็นในหน้าที่ 5 โดยรวมประเด็นที่ 1 กับ 2 เข้าด้วยกัน และวินิจฉัยในหน้าที่ 9 ตอนท้ายว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ใน หน้าที่ 10 วินิจฉัยประเด็นที่ 3 จบลงตรงกลางหน้าที่ 14 ว่า พรรคผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง.....เป็นไป ตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ร้องแล้ว
ในหน้าที่ 14 ตอนท้าย วินิจฉัยประเด็นที่ 4 จบลงตรงกลางหน้า 15 ว่า ผู้ถูกร้องได้จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในปี 2548 ถูกต้องตามความเป็นจริง
ในหน้า 15 ตอนท้ายกล่าวถึงประเด็นที่ 5 ว่า กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ 5 อีกต่อไป และจบความเห็นส่วนตนว่า อาศัยเหตุดังได้วินิจฉัย จึงมีความเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐ ธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 42 วรรคสองและมาตรา 82
3. นายนุรักษ์ มาประณีต เขียนความเห็น 9 หน้า ในหน้าแรกกำหนดให้มี 5 ประเด็น
ใน หน้าที่ 2 วินิจฉัยประเด็นที่ 2 ก่อน โดยวินิจฉัยในตอนท้ายของหน้าที่ 2 ว่ากรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93
ในตอนท้ายของหน้าที่ 2 วินิจฉัยประเด็นที่ 1 จบลงตรงกลางของหน้าที่ 6 ว่า ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ใน ตอนกลางของหน้าที่ 6 วินิจฉัยประเด็นที่ 3 จบลงตรงท้ายของหน้าที่ 7 ว่า ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการ เมืองในปี พ.ศ. 2548 เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว
ใน หน้าที่ 8 วินิจฉัยประเด็นที่ 4 จบลงตรงตอนท้ายหน้าเดียวกันว่า....จึงมีความเห็นว่า ผู้ถูกร้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในปี พ.ศ. 2548 ถูกต้องตามความเป็นจริง
ในตอนท้ายของหน้าที่ 8 กล่าวถึงประเด็นที่ 5 ว่า เมื่อข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นว่า ผู้ถูกร้องมิได้กระทำผิด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 93 จึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว และจบความเห็นส่วนตนในหน้าที่ 9 ซึ่งมีอยู่ครึ่งบรรทัดว่า ด้วยเหตุดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วจึงมีความเห็นให้ยกคำร้อง
4. นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เขียนความเห็น 25 หน้า ในหน้าแรกกำหนดให้มี 5 ประเด็น
ใน หน้าที่ 2 รวมประเด็นที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกันและวินิจฉัยไว้ในหน้า 19 ตอนท้ายว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ใน ตอนท้ายของหน้าที่ 13 รวมประเด็นที่ 3 และ 4 เข้าด้วยกันและวินิจฉัยไว้ในตอนท้ายของหน้าที่ 25 ว่า ผู้ถูกร้องได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในปี พ.ศ. 2548 ถูกต้องตามความเป็นจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการ เมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 62 แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง
ใน ตอนท้ายของหน้าที่ 25 ไม่พิจารณาประเด็นที่ 5 และจบความเห็นส่วนตนในตอนท้ายของหน้า 25 ว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการ เมืองในปี พ.ศ. 2548 เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติและรายงานการใช้จ่ายเงินถูกต้องตามความ เป็นจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 62 เห็นควรยกคำร้อง
เมื่อพิจารณาเนื้อหาของความเห็นในการ วินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 4 คนที่ได้นำเสนอไปนั้น ผมมีข้อสังเกตในเรื่องรูปแบบอยู่ 2 ประการด้วยกัน (ไม่นับการอ้างกฎหมายผิดๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำงานคนเดียว มีทั้งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ ฯลฯ เต็มไปหมด) คือ
ในประการแรกนั้น ในบรรดาความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 4 คน มีเพียงความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เห็นว่า การที่ประธานกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องในวันที่ 26 เมษายน 2553 พ้นระยะเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนอีก 3 คนนั้นเห็นคล้าย ๆ กันคือ นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ให้ความเห็น เพราะฉะนั้นข้อสังเกตประการแรกคือ ทำไมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงเขียนว่า “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (4 ต่อ 2) ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือถือเอาว่ากรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไมได้ให้ความเห็นเป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคก็ไม่ทราบนะครับ !!!
ส่วนข้อสังเกตประการต่อมาของ ผมก็คือ วิธีการเขียนความเห็นและการขาดการสรุปความเห็นของการตัดสินที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ในตัวของความเห็นเองว่า ยกคำร้องด้วยเรื่องอะไร เพราะหากจะเอาเรื่องกระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วย กฎหมาย ไม่ว่าจะด้วยเรื่อง 15 วัน หรือเรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ให้ความเห็นของนายจรัญฯ อยู่ในหน้าที่ 9 (จาก 16 หน้า) ของนายสุพจน์ฯ อยู่ในหน้าที่ 9 (จาก 15 หน้า) ของนายนุรักษ์ฯ อยู่ในหน้าที่ 6 (จาก 9 หน้า) และของนายอุดมศักดิ์ฯ อยู่ในหน้าที่ 19 (จาก 25 หน้า) ส่วนในตอนท้ายของความเห็น ก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงนาม ซึ่งเป็นส่วนที่ “สำคัญ” ที่สุดนั้น กลับไม่มีข้อความที่เป็น “ข้อตัดสินชี้ขาด” ของเรื่องดังกล่าวอยู่เลย ด้วยเหตุนี้เองทำให้หนังสือพิมพ์บางฉบับ นักวิชาการ และนักการเมืองบางคนออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างผิด ๆ เพราะจริง ๆ แล้วความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนที่เขียน “ตอนจบ” ของเรื่อง “ไปซ่อน” อยู่ตรงกลางของความเห็นส่วนตนกันหมด ซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยที่ “ตอนจบ” ของเรื่องอยู่ตอนท้ายคำวินิจฉัยครับ !!!
ไม่ทราบว่าจะขอมากเกินไปอีก หรือไม่นะครับ ! เนื่องจากความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนเป็นสิ่งที่มาตรา 216 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ว่าต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่น เดียวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็หมายความว่าต้องเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ คงต้องขอให้ช่วยเขียนให้อ่านง่าย ๆ และต้องตรวจสอบกันให้ดีด้วยว่ามีการอ้างตัวบทกฎหมายถูกต้องและมีบทสรุปตอนจบ ที่ชัดเจนว่าแต่ละคนเห็นว่าอย่างไร จะได้สะดวกกับการอ่าน ไม่ใช่ต้องดูประเด็นในหน้าแรก พลิกไปดูตอนท้ายก็ไม่รู้เรื่องต้องย้อนกลับมาอ่านตอนกลางอีก 3-4 รอบ จากนั้นต้องไปอ่านคำวินิจฉัยกลางอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทราบ “ตอนจบ” ของเรื่อง แล้วต้องย้อนกลับมาดูความเห็นส่วนตนของแต่ละคนซึ่งอยู่สะเปะสะปะไม่ตรงกัน เพื่อที่จะได้ทราบว่าแต่ละคนเห็นว่าอย่างไรใน “ตอนจบ” ของเรื่องครับ
เขียนแบบนี้ ถ้าเป็นนิยายคงเลิกอ่านไปแล้ว ไม่มาทนนั่งอ่านให้เสียเวลาหรอกครับ !!!
ศาล รัฐธรรมนูญยกคำร้องไป 2 เรื่องติดๆกัน นายทะเบียนพรรคการเมืองจะว่าอย่างไรครับ !!! แสดงความรับผิดชอบอะไรออกมาบ้างนะครับ ไม่ใช่เลียนแบบศาสรัฐธรรมนูญ อยู่เงียบๆ มีงานทำ มีเงินใช้ ไม่นานผู้คนก็ลืมไปเอง ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าจะใช้วิธีแบบนี้กันไปหมด แล้วอย่างนี้จะสอนคนรุ่นต่อๆไปให้รู้จักคำว่า “ความรับผิดชอบ” กันได้อย่างไรครับ !!!